รีวิว 5 แอพมีประโยชน์ในชีวิตจริง ที่ควรมีติดมือถือกันไว้ทุกคน
ในปัจจุบันผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวนมากก็ใช้แต่แอพโซเชียลเน็ตเวิร์ค, เล่นเกม, อ่านคอนเทนต์ต่างๆ และดูหนังฟังเพลงกันซะส่วนใหญ่ บางทีผมก็อยากใช้แอพแปลกๆ ใหม่ๆ บ้างแต่ก็ไม่รู้จะใช้อะไรดี เมื่อสัปดาห์ก่อนเว็บไซต์ VentureBeat ได้รวบรวม 10 แอพที่ควรมีประจำเครื่องไว้ ผมเลยเลือกมา 5 แอพที่ชอบแล้วเขียนเป็นรีวิวซะเลยครับ
1. Gallery Doctor (Cleaner)
ผมชอบไอเดียของแอพนี้มาก คือเวลาเราถ่ายรูปด้วยมือถือมักจะมีภาพที่ถ่ายเสียหรือเบลอแล้วเราก็ถ่ายซ้ำใหม่และมักจะลืมลบรูปที่เสียนั้น หรือบางทีมีรูปที่เหมือนหรือคล้ายกันอยู่ในเครื่อง ไฟล์รูปเหล่านี้พอมีเยอะๆ ก็ทำให้กินพื้นที่หน่วยความจำของมือถือโดยไม่จำเป็น ครั้นจะมานั่งไล่ดูทีละรูปก็เสียเวลามากเกินไป แอพตัวนี้ช่วยได้ครับ
หลักการก็คือมันจะสแกนหารูปในเครื่องเราแล้วประมวลผลว่ารูปไหนถ่ายเสีย หรือคล้ายกัน แล้วจัดออกเป็นกลุ่มให้เรารีวิว ระหว่างรีวิวเราก็เลือกได้ว่าจะเก็บหรือลบรูปไหน แล้วกดลบได้ทันที
เปิดแอพครั้งแรกก็สแกนเครื่องก่อนเลย ใช้เวลาพอสมควรเพราะต้องประมวลผลรูปไปด้วย
สแกนเสร็จจะได้หน้าตาอย่างนี้ แบ่งเป็นสามประเภทคือ รูปเสีย, รูปคล้ายกัน และรูปที่แอพไม่แน่ใจ
เริ่มที่รูปเสียก่อนเลย จะเห็นว่ารูปในหมวดนี้จะเป็นรูปมืดๆ, เบลอ, หรือมี noise เยอะๆ (เนื่องจากผมทำรีวิวนี้จากเครื่องส่วนตัว จึงจะมีการเซ็นเซอร์บางรูปนะครับ) เราก็ไล่ดูไปเรื่อยๆ อันไหนที่อยากเก็บไว้ก็กดตรงวงกลมสีแดงรูปถังขยะ เมื่อไล่ดูหมดแล้วก็กดปุ่มเหลืองด้านล่างได้เลย จากที่ลองดูพบว่ารูปที่ถ่ายเสียจริงๆ ก็ตรวจพบทั้งหมด แต่รูปที่ไม่เสียก็ดันโดนเลือกมาด้วย ตรงนี้เราต้องคอยกดเลือกเองครับ
รูปที่มันตรวจพบว่าเสียก็ประมาณนี้
ประเภทที่สองคือรูปคล้ายกัน อันนี้จะสแกนหารูปที่เหมือนหรือคล้ายกันแล้วให้เราเลือกเก็บไว้รูปเดียว (หรือหลายรูปก็ได้) เนื่องจากบางครั้งเราถ่ายหลายรูปเพื่อ “กันเหนียว” แต่สุดท้ายก็มีรูปเหมือนกันเก็บอยู่เต็มเครื่อง
รูปแถวบนสุดเป็นรูปที่ผมถ่ายบริเวณเดียวกันมาสองรูป แอพจะคิดให้ว่ารูปไหนเป็นรูปที่ดีและควรเก็บไว้ (ขึ้นว่า Best Photo) และรูปที่เหลือก็จะขึ้นไอคอนถังขยะ ถ้ากด Clean Group ก็จะลบเฉพาะกรุ๊ปนี้ แต่ถ้ากดปุ่มเหลืองด้านล่างก็ลบทั้งหมดที่เลือกไว้
ประเภทสุดท้ายคือรูปที่แอพไม่แน่ใจ และให้เรารีวิวว่าจะเก็บหรือจะลบ เท่าที่ดูคือเป็นพวกสกรีนช็อตครับ อยากเก็บรูปไหนก็กดปุ่มเขียว รูปไหนจะลบก็กดปุ่มแดง โดยถ้ากดลบจะมีปุ่ม undo เล็กๆ ขึ้นนมาพร้อมกับหน่วงเวลาครู่หนึ่ง เผื่อเรากดพลาดครับ
หลังจากใช้เวลากับแอพไปพักใหญ่ๆ แอพรายงานว่า Gallery Health ขึ้นไปอยู่ที่ 69% แล้ว จาก 39% ในตอนแรก จะเห็นว่ารูปที่รอการรีวิวยังเหลืออีก 400 กว่ารูป แต่ขี้เกียจทำต่อซะก่อน
ข้อดี
- ใช้เคลียร์รูปเสียๆ ได้ดี ไม่ต้องนั่งไล่ดูใน Gallery ทีละรูป
- รูปที่ถ่ายเสียจริงๆ ก็ตรวจเจอทั้งหมด
ข้อเสีย
- รูปที่ดีแต่โดนตรวจว่าเสียก็มี ยังต้องปรับปรุง
Gallery Doctor มีให้ใช้ทั้งสองแพลตฟอร์ม Android และ iOS
2. SpeakerPhoneEx
อันนี้แนวคิดง่ายมาก แต่มีประโยชน์ นั่นคือการเปิด speakerphone โดยอัตโนมัติครับ การใช้งานก็ง่าย พอมีสายเข้าแล้วกดรับ ถ้าเอามือถือแนบหูก็คุยตามปกติ พอเอาออกมาก็จะเปิดลำโพงให้ทันที หรือถ้าโทรออกแล้ววางมือถือไว้บนโต๊ะก็จะเปิดลำโพงให้อัตโนมัติ อาจจะใช้เวลาโทรออกแล้วรอสายนาน พอมีคนรับค่อยยกมาแนบหู หรือสั่งให้ Google Now โทรออก ลำโพงก็จะเปิดทันที ไม่ต้องแตะเครื่องเลย
หน้าจอในแอพเรียบง่าย ในเวอร์ชันฟรีจะใช้ได้แค่ Auto Answer กับ Speakerphone นะครับ
ข้อดี
- เปิด speakerphone ได้เร็วและง่ายมาก เวลาโทรอยู่แล้วต้องจดข้อมูลอะไรสามารถทำได้ทันที
ข้อเสีย
- ไม่เหมาะในการใช้งานในออฟฟิศหรือที่เงียบ เพราะจังหวะที่จะวางสายต้องยกมือถือออกจากหูแล้วกดวางสาย ลำโพงจะเปิดแล้วอาจมีเสียงจากอีกฝั่งดังออกมาได้
SpeakerPhoneEx มีเฉพาะบน Android
3. Shush!
แอพนี้น่าจะมีหลายๆ คนใช้อยู่แล้ว แต่อยากเขียนถึงเพราะมีประโยชน์มากทีเดียว สิ่งที่แอพนี้ทำได้คือช่วยเปิดเสียงริงโทนและเสียงแจ้งเตือนต่างๆ กลับคืนมาหลังจากผู้ใช้ปิดไว้ครับ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือเราเข้าประชุม มีกำหนดเสร็จภายใน 2 ชั่วโมงข้างหน้า เราก็กดปุ่มลดเสียงจนแถบเสียงลดลงสุดตามปกติ แล้วแอพนี้จะเด้งขึ้นมา เราสามารถตั้งเวลาไว้ได้ว่าให้เปิดเสียงทุกอย่างกลับมาภายในเวลา 2 ชั่วโมง และตั้งได้ด้วยว่าให้เสียงดังแค่ไหน
อันที่จริงแอพนี้มีประโยชน์มาก แต่ใน Android 5.0 Lollipop ก็มีการใส่ฟีเจอร์คล้ายๆ กันเข้ามา (Priority) ทำให้หลังๆ ความฮิตอาจจะลดน้อยลงไปบ้าง
หน้าตาเป็นแบบนี้ เพิ่ม-ลดระยะเวลาโดยการกดที่ปุ่ม + / - สามารถแตะค้างตรงมุมล่างซ้ายเพื่อตั้งระดับเสียงเมื่อครบเวลา
ตั้งเวลาได้ละเอียดระดับ 15 นาที คือ 15 / 30 / 45 / 60 นาที ไปเรื่อยๆ สูงสุดที่ 12 ชั่วโมง
ข้อดี
- สะดวก ไม่ต้องกลัวลืมเปิดเสียงหลังจากเสร็จธุระ
Shush! มีเฉพาะบน Android
4. Truecaller
แอพตัวนี้เอาไว้บล็อคเบอร์ที่เราไม่ต้องการรับสาย และหากเบอร์ใดถูกรายงานเยอะๆ ก็จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลกลางของแอพเป็นเบอร์ blacklist ได้ รวมถึงสามารถโชว์ชื่อผู้ที่โทรเข้ามาก่อนจะรับสายได้ด้วย ในตลาดมีแอพแนวนี้อีกตัวที่เป็นที่นิยมคือ LINE Whoscall นั่นเอง
หน้าหลักของแอพจะเป็นหน้า call log ของเครื่องเรา สามารถมาไล่ดูประวัติการโทรและกดบล็อคเบอร์จากตรงนี้ได้เลย ด้านบนมีช่องค้นหา พิมพ์ชื่อหรือเบอร์และดูข้อมูลได้ทันที
ซ้ายสุดเป็นหน้า Discover อันนี้ไม่แน่ใจว่าประโยชน์ของมันคืออะไร กดเข้าไปตามชื่อต่างๆ ก็ไม่มีข้อมูลเบอร์หรืออะไรขึ้นมาให้เลย
ขวาสุดเป็นหน้าจัดการการบล็อคเบอร์ มีให้เลือกด้วยว่าจะบล็อคเบอร์ที่ผู้ใช้รายงานกันเยอะๆ ว่าเป็นเบอร์หลอกลวง, ธนาคาร, สแปม, ตามทวงหนี้ หรืออะไรก็แล้วแต่ พอผมลองกดเปิดก็มีเบอร์ที่ถูกบล็อคทันที 72 เบอร์ ส่วนวิธีการบล็อคสามารถเลือกได้สองแบบคือให้ตัดสายเข้าทิ้งไปเลย หรือปล่อยไว้แต่ปิดเสียงริงโทน และยังสามารถบล็อคสายเข้าที่ไม่โชว์เบอร์ได้ด้วย
เมื่อกดปุ่มบล็อคที่มุมขวาล่าง จะเป็นการเพิ่มเบอร์ที่ต้องการบล็อค ตรง Number series คือการ “บล็อคเป็นชุด” ครับ คือบล็อคเบอร์ได้เป็นช่วงเลย โดยการใส่เลขเริ่มต้นของชุดเบอร์ที่ต้องการบล็อค เช่นใส่ไปว่า 02-111-11 ก็จะบล็อคตั้งแต่ 02-111-1100 ถึง 02-111-1199 เลย
อันนี้เป็นรายการเบอร์ที่ถูกบล็อคทันทีเมื่อเปิดฟีเจอร์ Common Spammers จะเห็นได้ว่าของไทยเป็นพวกธนาคารซะส่วนใหญ่
ข้อดี
- UI ของแอพสะอาด ใช้ง่าย ทำงานได้ตามที่ควรจะเป็น
- มีฐานข้อมูลของเบอร์ที่ถูกบล็อคเยอะๆ
ข้อเสีย
- ต้องลงทะเบียนด้วยเบอร์ของเราก่อนเข้าใช้งาน ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าจะโดนเอาเบอร์ขึ้นฐานข้อมูลด้วยหรือไม่
Truecaller มีให้ใช้ทั้งสองแพลตฟอร์ม Android และ iOS
5. Link Bubble
มาถึงแอพสุดท้ายที่ผมว่ามีประโยชน์มากๆ คืออยากได้แบบนี้มานานแล้ว อันที่จริงแอพตัวนี้คือ “เว็บเบราว์เซอร์” ธรรมดาๆ นี่แหละ แต่เป็นเบราว์เซอร์ที่ “ลอย” อยู่เหนือแอพอื่นอีกที เช่นเวลาเราอ่านทวิตเตอร์อยู่ แล้วเจอลิงก์น่าสนใจ
ถ้ากดเข้าไปอ่านก็จะโดนสลับไปที่เบราว์เซอร์ของเครื่อง และเสียเวลารอโหลดอีก พออ่านเสร็จถึงจะกด back กลับมาใช้ทวิตเตอร์ต่อ ตรงนี้ Link Bubble เข้ามาช่วยโดยการโหลดเว็บนั้นไว้เบื้องหลัง และโผล่ขึ้นมาเป็น bubble ตามชื่อ ไอเดียตรงนี้เหมือน chat head ของ Facebook Messenger เปี๊ยบ นั่นคือพอเรากดลิงก์ก็จะไม่โดนสลับไปไหน ยังอ่านทวิตเตอร์ต่อได้เหมือนเดิม และรอบๆ bubble จะมีวง progress ให้ดูว่าโหลดเสร็จหรือยัง พอเต็มวงก็พร้อมเปิดเว็บขึ้นมาอ่านได้เลย
ตอนแรกคืออ่านทวิตอยู่ แล้วเจอลิงก์น่าสนใจ ยกตัวอย่างของ Spiegel Online เป็นหนังสือพิมพ์ของเยอรมนี
กดลิงก์แล้วจะมี bubble ลอยขึ้นมาพร้อม favicon ของเว็บไซต์ วงรอบๆ แสดงให้เห็นว่าโหลดเสร็จหรือยัง ระหว่างนี้ยังเล่นทวิตเตอร์ต่อได้ตามปกติ
เมื่อโหลดเสร็จแล้วกดเปิดขึ้นมา มีหน้าตาแบบนี้ พร้อมปุ่มแชร์ไปแอพอื่น พออ่านเสร็จกด back จะปิด bubble ไปเลย แต่ถ้ากดที่ bubble จะพับเก็บไว้เหมือนตอนโหลดเสร็จ ในเวอร์ชันฟรีจะเปิดได้เพียง 1 bubble แต่ถ้าเสียเงินจะเปิดได้ไม่จำกัด
ประโยชน์อันใหญ่หลวงอีกประการคือมันทำตัวเป็น “ผู้จัดการลิงก์” ได้ด้วย ตัวอย่างเช่นถ้าเรากดลิงก์ Instagram ที่พบบนแอพทวิตเตอร์ โดยปกติมันจะเด้งไปที่เบราว์เซอร์ก่อน แล้วเด้งไปแอพ Instagram อีกที ตรงนี้เสียเวลามาก ยิ่งถ้าอินเทอร์เน็ตช้าหรือเครื่องช้ายิ่งไปกันใหญ่ แต่ Link Bubble จะรู้ได้เองตอนกดลิงก์ และส่งเราเข้าแอพ Instagram ทันที ตรงนี้ใช้ได้กับหลายแอพ ที่มีมาให้แต่แรกก็ตามรูป
ผมใช้มาสองวัน มันประหยัดเวลาชีวิตผมไป 16 วินาทีต่อลิงก์ และ 8.8 นาทีตั้งแต่เริ่มใช้มา
ข้อดี
- ทำอย่างนึงระหว่างรอเว็บโหลดไปพร้อมกันได้
- เอามาใช้ฟังเพลงจากยูทูบระหว่างทำอย่างอื่นไปได้ด้วย แต่ต้องปิดไม่ให้มันส่งเราเข้าแอพ
ข้อเสีย
- อาจต้องมีการปรับนิสัยการใช้มือถือนิดหน่อย คือมันสะดวกขึ้นแต่อาจไม่ชินในช่วงแรก
Link Bubble มีเฉพาะบน Android
หวังว่ารีวิวนี้จะช่วยแนะนำแอพใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ได้นะครับ หากมีคำถามก็ทิ้งไว้ในคอมเมนท์ได้เลย