สงกรานต์นี้ เดินทางง่ายขึ้นด้วยแอพช่วยนำทาง ที่ไม่ได้มีแค่ Google Maps
สำหรับคนที่ชอบเดินทาง นอกจากของใช้จำเป็นเช่นอุปกรณ์ไอที แบตเตอรี่สำรอง หรือของจำเป็นที่ช่วยให้การใช้งานอุปกรณ์ได้ยาวนานขึ้นแล้ว คนที่ใช้รถหรือเดินทางบ่อย ๆ อาจจะยังชอบอาศัยเครื่องมือช่วยในการค้นหาเส้นทาง การเดินทางที่ขาดการวางแผน บางครั้งก็สร้างความยุ่งยากให้ได้เหมือนกัน
ลองนึกภาพว่า คุณต้องการเดินทางจากจุด A เพื่อไปจุด G แต่อยากจะแวะที่จุด B, C, D, E และ F ก่อน แล้วค่อยตามเส้นทางไปยังที่หมาย ซึ่งปกติ คุณก็จะต้องคาดการณ์ว่า เดี๋ยวต้องไปที่ B ก่อน แล้วไป C ซึ่งความจริงแล้วอาจมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ เช่น จุด C ปิด หรือจุด D ยังไม่พร้อม หรือต้องแวะไปรับใครที่จุด E เสียก่อน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในการเดินทาง
ข้อดีของแอพฯ นำทางคืออะไร ?
สำหรับคนที่ใช้สมาร์ตโฟนอยู่เป็นประจำ น่าจะเคยใช้แอพฯ นำทางนี้ เพียงแต่บางท่านอาจจะไม่เคยได้ใช้ลูกเล่นที่มีอยู่มากมายนัก ซึ่งใช้แค่การค้นหาสถานที่หรือดูการจราจร ซึ่งจุดเด่นของแอพฯ บางตัวอย่างเช่น Google Map จะใส่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องของสถานที่เข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การลิงก์ไปยังร้านหรือสถานที่ที่มีลักษณะใกล้เคียง หรือจะเป็นการวัดระยะทาง เลือกเส้นทางอื่น หรือจะเลือกการเดินทางด้วยรถสาธารณะในแบบต่าง ๆ ได้ ที่สำคัญยังดูภาพในแบบ 3 มิติหรือเป็นภาพของเส้นทางจริงบนถนนจริง ๆ ได้ผ่าน Google Street View อีกด้วย
ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกได้ไม่น้อย ลองนึกภาพว่า คุณกำลังมองหาร้านอาหารสักแห่งหนึ่งที่ยังไม่เคยไป ไม่เพียงแค่คุณใช้แอพฯ ในการค้นหาที่ตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังทราบได้ถึงประเภทของอาหาร เสียงตอบรับและความนิยม หรือเช็กโปรโมชันได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น คุณสามารถแชร์ข้อมูล ที่ตั้งให้กับเพื่อน ๆ ในกลุ่มได้ทราบอีกด้วย ซึ่งนี่เป็นข้อดีสำหรับการใช้แอพฯ บนสมาร์ตโฟนนั่นเอง
มีข้อดี ก็ต้องมีข้อจำกัด…?
อย่างไรก็ดี การใช้งานด้วยแอพฯ นำทางบนสมาร์ตโฟน ก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน เรื่องหลัก ๆ คือการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่มากขึ้น ทำให้แบตลดลงอย่างรวดเร็ว อย่าลืมว่าเราอาจต้องใช้สัญญาณดาวเทียมและ Wi-Fi หรือบางทีก็ต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต 3G/4G จากผู้ให้บริการ นอกจากนี้ หน้าจอสมาร์ตโฟนมีความละเอียดที่สูงกว่า GPS Navigation อยู่มาก บางรุ่นมาพร้อมความละเอียด Full-HD หรือ 2K การเปิดหน้าจอทิ้งไว้นาน ๆ ย่อมทำให้การใช้พลังงานสูงขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจพบกันบ่อยคือ สัญญาณ GPS ขาด ๆ หาย ๆ จุดนี้ขึ้นอยู่กับสมาร์ตโฟนแต่ละรุ่นและชิปเซต รวมถึงพลังงานในตัวเครื่อง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการเชื่อมต่อสัญญาณ ซึ่งปัญหาเรื่องสัญญาณส่งผลต่อความแม่นยำในการเดินทางเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อกำลังอยู่ในช่วงทางแยกหรือต้องเลี้ยว แต่สัญญาณขาดไปดื้อ ๆ คุณก็อาจจะต้องเลยไปหรือยูเทิร์นกลับมาใหม่อีกครั้ง ถ้าเป็นต่างจังหวัดรถไม่เยอะก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าวิ่งในกรุงเทพแล้วล่ะก็ หนังชีวิตเลยล่ะคุณ นึกถึงตอนกลับรถเส้นบางนา-ตราดก็พอ
เรื่องความถึกทน แม้ว่าจะดูใกล้กันระหว่างสมาร์ตโฟนกับ GPS Navigation แต่ถ้ามองกันจริง ๆ แล้ว GPS ออกแบบมาเพื่อให้รองรับกับสภาพอากาศหรือการติดตั้งบริเวณหน้ากระจกรถยนต์ที่มีความร้อนสูงได้ดีกว่า แต่สมาร์ตโฟนปกติใช้เป็นโทรศัพท์ แต่พอต้องมาติดตั้งไว้บริเวณเดียวกัน ความร้อนทั้งจากการทำงานและหน้ากระจก ก็อาจจะทำให้ระบบทำงานผิดปกติหรือแฮงก์ได้ง่าย ๆ
แต่ด้วยความหลากหลายของแอพฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงไม่ได้มีเพียง Google Map ที่เป็นแอพฯ พื้นฐาน และใช้กันอยู่โดยทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีอีกมากมายให้ได้ลองใช้กัน ไม่ว่าจะเป็น Sygic, HERE WeGo, iGO Navigation หรือ Thailand Offline Map เป็นต้น
วางแผนการเดินทางแบบง่าย ๆ ด้วย Google Map
หากคุณมีแผนในการเดินทางอยู่แล้วในใจ แต่อยากจะตั้งไว้ให้เป็นกิจจะลักษณะ และแชร์ให้คนอื่น ๆ ได้ทราบเหมือนกัน Google Map ยังมีฟังก์ชันที่ช่วยให้การวางแผนเส้นทางแบบจุดต่อจุดให้คุณได้อีกด้วย กับวิธีที่แสนจะง่าย
• เริ่มต้นด้วยการเปิด Google Map แล้วเลือกสถานที่ที่ต้องการจะไปทีละจุด ด้วยการพิมพ์ในช่อง Search
• เมื่อได้จุดที่ต้องการ ให้แตะ Save และเลือก Starred places หรือปักหมุดเอาไว้
• เลือกจุดต่อไป ด้วยการค้นหา และ Starred places ในจุดอื่น ๆ ตามที่ต้องการ ด้วยการแตะที่ปุ่ม : ที่อยู่มุมบนขวา เลือก Add stop
• เมื่อได้ตำแหน่งครบตามต้องการ ให้แตะที่ Done ก็จะเห็น Route หรือเส้นทางทั้งหมดในภาพรวม
• ทีนี้หากต้องการเปลี่ยนสถานที่แวะ ซึ่งปรากฏอยู่ด้านบนของแผนที่ในรูปแบบของจุด A > B > C > D หากต้องการเปลี่ยนจุดใด ให้แตะค้างไว้ แล้วเลื่อนขึ้น-ลง เพื่อย้ายจุดให้แวะก่อนหรือหลังได้ทั้งนั้น
• เมื่อพร้อมแล้ว แตะที่ Start เพื่อเริ่มการเดินทางได้ทันที
Offline map นำทางได้โดยไม่ต้องพึ่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ถ้าคุณใช้งาน Google Map ยังมีฟีเจอร์ที่เรียกว่า Offline map สำหรับช่วยนำทางได้โดยไม่ต้องพึ่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างง่าย คือเลือกพื้นที่บริเวณจุดหมายที่เราจะไป จากนั้นปรับระยะให้เหมาะสม แล้วเลือก Save ระบบจะบันทึกจุดหมายให้เรา และสามารถนำทางได้ทันที ใช้สำหรับกรณีที่ไม่รู้ว่าปลายทางมีสัญญาณหรือไม่ แต่วิธีนี้ต้องใช้พื้นที่ในการบันทึกแผนที่มากพอสมควร เพราะระบบจะโหลดข้อมูลบริเวณนั้นมาเก็บไว้ในเครื่อง บางครั้งอาจใช้พื้นที่ 400-500MB เลยทีเดียว
ในวันนี้เรามาลองใช้แอพฯ เหล่านี้ในการเดินทางจริง ๆ กัน โดยครั้งนี้มี Google Map, Sygic, HERE WeGo ว่าจะช่วยให้เราสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยเริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพฯ แล้วแวะไปเรื่อย ๆ จุดหมายปลายทางคือที่จังหวัดระยอง โดยใช้ร่วมกับอุปกรณ์นำทาง GPS Navigation ที่ใช้แผนที่ iGO แบบเดิม ๆ
เริ่มการเดินทางจากบริเวณใจกลางเมือง มุ่งหน้าสู่พระราม 9 ออกไปยังมอเตอร์เวย์ ด้วยความเร็วพอประมาณในช่วงเช้า ทั้งอุปกรณ์และแอพฯ นำทาง ยังคงให้ความแม่นยำและตอบสนองได้ใกล้เคียงกันมาก เพียงแต่ GPS Navigation ที่ติดตั้งอยู่บนรถค่อนข้างจะเร็วกว่าเล็กน้อย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสมาร์ตโฟนที่ใช้ เราต้องติดตั้งแอพฯ นำทางมากถึง 3 แอพฯ ด้วยกัน ยังไม่รวม Google Map ที่เราเตรียมเอาไว้ด้วย เพื่อลดภาระของการทำงานบนสมาร์ตโฟน เราจึงขอใช้ Sygic และ HERE WeGo มาเป็นตัวแทนในการนำทางครั้งนี้ แต่ก็จะขอกล่าวถึงแอพฯ อื่น ๆ ที่เรานำมาใช้งานในครั้งนี้แบบคร่าว ๆ
HERE WeGo
แอพฯ มีขนาดประมาณ 46MB ใช้งานได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รองรับการใช้งานร่วมกับการเดินทางอื่น ๆ ไว้อย่างครบถ้วน ลูกเล่นอาจจะไม่หรูหรา แต่กลับใส่รายละเอียดของภาพและฟังก์ชันการใช้งานได้เป็นอย่างดี หน้าตาดูง่าย ไม่ซับซ้อน ในแผนที่มี POI เพิ่มเติมเข้ามาให้ และยังดาวน์โหลดเพิ่มได้ในภายหลัง สามารถแตะเลือกดูและนำทางได้ทันที อินเทอร์เฟซไม่ซับซ้อน มาพร้อมเสียงช่วยในการนำทาง รวมถึงบอกสถานะความหนาแน่นของการจราจรบริเวณโดยรอบได้อีกด้วย สำหรับใครที่ชอบความง่าย ไม่มีฟีเจอร์ล้นหลามซับซ้อน เน้นใช้งานง่ายและรวดเร็ว ไม่เปลืองแรง แอพฯ HERE WeGo ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีทีเดียว
iGO Navigation
เป็นอีกหนึ่งแอพฯ นำทางยอดนิยม ที่มีอยู่ในอุปกรณ์นำทาง GPS Navigation และเป็นแอพฯ บนสมาร์ตโฟน ถ้าพูดถึงความครบเครื่อง เรื่องฟังก์ชันการใช้งาน ลูกเล่นและการอัพเดตที่ทันสมัย ระบบการค้นหาที่ดูง่าย รวมถึงแผนที่มีการอัพเดตสม่ำเสมอ ทำให้แอพฯ จาก iGO ได้รับความนิยมอย่างมาก ใช้งานร่วมกันได้หลายแพลตฟอร์ม สนนราคาราว ๆ พันกว่าบาท จะถูกลงมากน้อยก็แล้วแต่สิ่งที่ดาวน์โหลดมาใช้ ซึ่งถูกกว่าการซื้ออุปกรณ์นำทางมาใช้อยู่พอสมควร สำหรับคนที่ถนัดการใช้งานบนสมาร์ตโฟนน่าจะถูกใจไม่ใช่น้อย
โดยเวอร์ชันทดลองใช้บน Android จะมีตัวแอพฯ หลักขนาดประมาณ 40MB มาให้ติดตั้ง และแยกแผนที่สำหรับการใช้งานขนาดราว ๆ 440MB อีกชุดหนึ่ง ซึ่งคงต้องบอกว่า อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นคือ ต้องมีสมาร์ตโฟนที่เตรียมพร้อมในการใช้งานไว้ด้วย เพราะต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 500MB สำหรับการใช้งานในเบื้องต้น ยังไม่รวมการอัพเดตต่าง ๆ ในภายหลัง นอกจาก ROM แล้ว RAM ควรจะต้องมีพอให้เหลือใช้อยู่บ้าง ขณะที่ใช้ในการนำทางนั่นเอง
Sygic
เป็นแอพฯ นำทางอีกค่ายหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว ลูกเล่นค่อนข้างเยอะ แต่ขนาดไม่ใหญ่มาก มองง่าย ค้นหาสะดวก มีด้วยกัน 3 เวอร์ชันให้เลือก
Basic มีแผนที่ออฟไลน์จาก TomTom พร้อมการอัพเดตให้ตลอดการใช้งาน ส่วนฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น ตำแหน่งปั๊มน้ำมัน สั่งงานด้วยเสียงหรือการบอกความเร็วและบอกช่องทางที่เหมาะสมจะไม่มีให้ แต่ใช้งานนำทางได้ฟรี
Premium ให้แผนที่ Offline พร้อมการสั่งงานด้วยเสียง และลูกเล่นอื่น ๆ เช่น ความเร็ว ช่องทางจราจร ปั๊มน้ำมันและอื่น ๆ สนนราคาอยู่ที่ 16.99 ยูโรหรือราว ๆ 630 บาทไทยเท่านั้น
Premium + Traffic จะมีครบทุกสิ่ง รวมถึงการบอกปริมาณการจราจร เพื่อหาช่องทางการเดินทางที่ดีที่สุดให้มาด้วย ในราคา 23.99 ยูโร หรือประมาณ 890 บาท สำหรับโซนเอเชีย ซึ่งก็ไม่ถือว่าแพงเลย
แน่นอนว่าในครั้งนี้เป็นการทดลองใช้งาน เราจึงเลือกเวอร์ชันฟรีหรือ Basic สำหรับการใช้งานในเบื้องต้น ส่วนใครที่ลองแล้วชื่นชอบ ก็สามารถซื้อออนไลน์ได้ตามเวอร์ชันที่ต้องการ สนนราคาถูกกว่าซื้อที่เป็น GPS Navigation อยู่เยอะเลย
จากจุดพักที่มอเตอร์เวย์ เราใช้การค้นหาปลายทางคือ หาดน้ำใส แสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระบบแจ้งว่าใช้เวลาประมาณ 2.20 ชั่วโมง (รถหยุดนิ่ง) ด้วยระยะทาง 125 กิโลเมตร และจะถึงปลายทางเวลาประมาณ 9 โมงครึ่ง ซึ่งก็ถือว่าบอกรายละเอียดได้ดี เส้นทางถูกกำหนดให้วิ่งจากมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี และตัดออกที่แสมสาร แต่เรายังเลือกการเดินทางด้วย Route Computing ได้อีกด้วย ว่าจะใช้เส้นทางที่เป็น Fastest route (เร็วที่สุด), Shortest (สั้นที่สุด) และ Economic route หรือประหยัดที่สุด ในทริปนี้เรามองที่ความปลอดภัย เน้นการเดินทางสะดวกบนเส้นทางหลัก จึงใช้เส้นทาง Fastest route เป็นหลัก และใส่เงื่อนไขที่เป็นทางด่วนที่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับผู้ที่คิดจะใช้แอพฯ นำทางบนสมาร์ตโฟนแล้ว ในเบื้องต้นอาจจะต้องเตรียมความพร้อมในระดับหนึ่ง เช่น การมีแบตสำรอง กรณีที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัวที่ชาร์จไฟได้ หรือถ้าขับขี่จักรยานยนต์เพื่อออกทริป เลือกติดตั้งที่ชาร์จไฟเพิ่มเติมเข้ามาก็จะดี หรือถ้าต้องเดินทางรถสาธารณะ และเดินเท้าต่อ ก็อย่างที่ได้บอกไป หาพาวเวอร์แบงก์ดี ๆ สักตัว ให้ชาร์จได้สัก 2-3 รอบ ก็ช่วยได้เยอะ เผื่อเวลาที่ต้องใช้งานต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ เรื่องของแพ็กเกจ Wi-Fi หรืออินเทอร์เน็ตมีเผื่อเอาไว้ กรณีที่ใช้งานในร่มหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
เราสามารถค้นหาด้วยชื่อตรง ๆ ได้ทันที กรณีที่เป็นภาษาไทยจะค่อนข้างง่ายและคุ้นเคย ไล่ไปตั้งแต่ ประเทศ จังหวัดและสถานที่ เพื่อความแม่นยำ แต่ถ้าได้ภาษาอังกฤษเพิ่มด้วยแล้ว ใครที่พอทราบเรื่องศัพท์หรือคีย์เวิร์ดบางคำอยู่บ้าง จะช่วยให้การค้นหาทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อค้นหาเจอแล้ว ก็สามารถระบุตำแหน่งและเริ่ม Start เพื่อเดินทางได้ทันที นอกจากนี้ ถ้าต้องการภาพเพื่อยืนยันว่าปลายทางเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องจริง ๆ ก็ยังเลือกแตะเข้าไปดูที่เราปักหมุดเอาไว้ได้
อีกหนึ่งจุดเด่นที่แอพฯ บนสมาร์ตโฟน สามารถอำนวยความสะดวกให้กับการใช้งานก็คือ การค้นหาสถานที่ พร้อมกับบอกรายละเอียดเกี่ยวกับที่ที่เราจะไป อย่างเช่น ช่องทางการติดต่อหรือเบอร์โทรศัพท์ พร้อมกับเวลาทำการเปิด-ปิดในเบื้องต้น เพื่อให้เราตัดสินใจได้ว่าไปได้ทันหรือไม่ รวมถึงเรตติ้งและรีวิว ที่ให้เราสามารถพิจารณาในการใช้บริการได้เช่นกัน ซึ่งจะต่างจาก GPS ทั่วไป แต่ถ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ก็อาจจะทำได้ใกล้เคียงกัน
เนื่องจากเป็นการเดินทางมาหาดน้ำใสครั้งแรก แต่ผ่านเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง บ่อยครั้ง จึงใช้ Google Map ช่วยเก็บ History หรือประวัติการค้นหาร้านอาหารและจุดแวะพักเอาไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์พอสมควร เช่น ที่พัก ร้านอาหารหรือปั้มน้ำมัน เนื่องจากบริการดี บางร้านราคาถูก สะอาด และบางแห่งพิเศษขึ้น ก็ใช้วิธี Save หรือปักหมุดเก็บใน Favorite เพื่อใช้ในโอกาสต่อไป ไม่ต้องเปิดหาบ่อยครั้ง
POI จุดสำคัญที่ควรทราบ
“POI เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำหรับการใช้ GPS นำทาง ยิ่งมีรายละเอียดเยอะ ฐานข้อมูลอัพเดตบ่อย ก็ยิ่งทำให้แผนที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะคุณจะสามารถมองหาสิ่งที่ต้องการได้ตลอดการเดินทาง โดยเฉพาะ อู่ซ่อมรถ ร้านขายยา แหล่งชอปปิง ที่จอดรถ ที่พัก หรือแม้กระทั่งป้ายรถเมล์ก็ตาม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรจะนำมาใช้ในการพิจาณาเลือกใช้แอพฯ นำทางด้วยเช่นกัน”
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการใช้แอพฯ นำทางบนสมาร์ตโฟน ในเมื่อมีการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว และยังลิงก์กับอินเทอร์เน็ตได้ด้วยแล้ว จึงควรต้องเชื่อมต่อกับบรรดาบริการต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น การเชื่อมต่อกับแอพฯ ที่ช่วยในการค้นหาหรือแนะนำ หรือแอพฯ ด้านสุขภาพ ค้นหาร้านอาหาร หรือบางครั้งยังติดต่อกับบริการแท็กซี่ส่วนบุคคลได้อีกด้วย จากตัวอย่างของแอพฯ Sygic ที่เชื่อมต่อข้อมูลร่วมกับ Uber ให้คนที่ทานอาหารหรือนัดสังสรรค์นอกบ้านบ่อย สามารถเรียกรถกลับบ้านพร้อมบอกข้อมูลค่าใช้จ่ายให้เสร็จสรรพ
กลับมาสู่การเดินทาง ระหว่างทางที่มาถึง เราสามารถมองเห็นจุดต่าง ๆ ซึ่งเป็น POI ที่เราตั้งค่าให้แสดงผล จึงสามารถแวะเติมน้ำมันและรับประทานอาหาร ซื้อยาเตรียมไว้เผื่อฉุกเฉิน เพราะอาจไม่สบายปวดหัวปวดท้องระหว่างออกทริปนี้ เช่นเดียวกับการบอกรายละเอียดของทางแยกต่าง ๆ ช่วยให้เราเข้าเลนได้อย่างถูกต้อง ไม่หลงทาง เพราะถนนบางช่วงที่แยกและมี Interchange สลับเส้นทางกันวุ่นวายเลยทีเดียว
ระหว่างทาง ก็อยากได้ภาพหน้ารถเป็นวิดีโอเส้นทางที่ผ่านมา เพราะบางจุดวิวสวย หรือบางแห่งมีจุดสังเกตที่น่าสนใจ ลูกเล่นที่เรียกว่า Dash cam ก็ช่วยบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้ารถได้อย่างชัดเจน แถมกำหนดความละเอียดได้ตามใจชอบอีกด้วย อย่างวันนี้ที่ผ่านมา แสงแดดสวยและเส้นทางน่าสนใจ เราเลยถือโอกาสเก็บวิดีโอเอาไว้เป็นที่ระลึก หรือใครจะนำมือถือเก่ามาเป็นกล้องหน้ารถ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ตอนแรกเรากำลังสาละวนกับการใช้งานแอพฯ GPS อยู่เล็กน้อย ทำให้เรามองข้ามเรื่องของเสียงนำทางที่ตั้งค่าเริ่มต้นเป็นภาษาอังกฤษ ที่เราฟังไปจนเกือบจะถึงที่หมายแล้ว แต่พอสังเกตดี ๆ ในส่วนของ Settings บน Sygic มีเสียงภาษาไทยให้เลือกใช้ และยังมีให้เลือกอีกมากกว่า 10 ภาษา ใครที่ใช้แอพฯ เหล่านี้ลองสังเกตดี ๆ จะช่วยให้คุณฟังเสียงการแนะนำเส้นทางเป็นภาษาไทย ที่ฟังง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อถึงจุดหมายปลายทางคือหาดน้ำใส เรายังสามารถปักหมุดและแชร์ที่อยู่ของเราให้เพื่อน ๆ ได้ทราบ ด้วยการแชร์ผ่านฟีเจอร์ของแอพฯ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, IG, LINE หรือช่องทางอื่น ๆ เพื่อบอกให้เพื่อนได้ทราบ เผื่อเพื่อนคนไหนที่สนใจจะตามมาเที่ยวในภายหลัง ก็สามารถเลือก Location ที่ปักหมุดนี้ได้เลย
อีกลูกเล่นหนึ่งที่น่าสนใจ ที่เรียกว่า Photo Navigation คือการใช้ภาพถ่ายที่เราถ่ายไว้ ณ สถานที่นั้น ๆ มาเป็นตัวระบุตำแหน่งได้อีกเช่นกัน ครั้งต่อไปถ้าจะมาอีก เราสามารถเลือกตำแหน่งการเดินทางด้วยภาพถ่ายได้ทันทีอีกด้วย
พอมาถึงริมหาด หลายคนเลือกปั่นจักรยานเพื่อชมบรรยากาศโดยรอบ ฟีเจอร์หนึ่งที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนักอย่าง Head-up Display จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการใช้ยานพาหนะสองล้อแบบนี้ หรือใครที่สายตาไม่ดี ไม่ชอบหน้าจอที่รกวุ่นวาย เพราะจะบอกทั้งตำแหน่ง ความเร็ว ตรงหรือเลี้ยวและระยะทาง ด้วยตัวอักษรและลูกศรขนาดใหญ่ ให้สังเกตได้ง่ายกว่า ไม่ต้องละสายตาไปมองนาน ๆ เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวาก็สะดวกทีเดียว
ในภาพรวมต้องถือว่าแอพฯ นำทางบนสมาร์ตโฟน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ชอบการเดินทาง แต่ไม่ใช่เฉพาะการออกไปท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ก็ยังใช้ประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ แอพฯ เหล่านี้ไม่เพียงแค่บอกเส้นทางไปยังจุดหมาย แต่ยังให้รายละเอียดข้อมูลและสิ่งน่าสนใจรายรอบเส้นทาง รวมถึงความเห็นที่มีต่อบริการเหล่านั้น เช่นเดียวกับการแชร์หรือแบ่งปันสิ่งที่คุณได้พบให้กับเพื่อน ๆ และคนรอบข้าง เกี่ยวกับความประทับใจและข้อเสนอแนะผ่านทางแอพฯ เหล่านี้ ซึ่งมีการเชื่อมโยงในโลกของโซเชียล ดังนั้นอย่ารอช้า ถ้าคุณให้ความสำคัญกับเวลาและรายละเอียดในการเดินทาง ลองใช้แอพฯ ในสมาร์ตโฟนที่คุณมี อาจจะพบว่าโลกดูแคบลงและชีวิตง่ายขึ้นอีกเยอะ