โรงงานผลิตสัญชาติเกาหลีใต้ในจังหวัดระยองถูกดำเนินคดี ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มต้นปีนี้ด้วยการเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพียง 4 สัปดาห์แรก เพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้น และดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจมากกว่า 20 แห่งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
โดยตรวจค้นครั้งใหญ่ที่โรงงานผลิตของชาวต่างชาติในจังหวัดระยอง พบซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิของบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) และบริษัทไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ (ThaiSoftware Enterprise) บนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 64 เครื่อง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ออกแบบ และโรงงานผลิตอีกหลายแห่งในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2560 ในจังหวัดปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ พบการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของบริษัทซอฟต์แวร์อื่นอีกเจ็ดแห่ง ซึ่งการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกต้องครบถ้วน คือเรื่องผลประโยชน์ขององค์กรธุรกิจที่ผู้บริหารต้องพิจารณา
บก.ปอศ. กำหนดให้ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปี สำหรับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์ ในปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มกำลังในส่วนของการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในปี 2559 บก.ปอศ. เข้าตรวจค้นและดำเนินคดีองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ รวมทั้งหมด 268 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2558
โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 503 ล้านบาท จากสถิติ กรุงเทพฯ คือจังหวัดที่มีการเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจมากที่สุดถึง 125 คดี ตามมาด้วยสมุทรปราการ 30 คดี และชลบุรี 20 คดี ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่พบมากที่สุด ได้แก่ ซอฟต์แวร์ของบริษัท ออโต้เดสก์ (Autodesk) พีทีซี (PTC) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซีเมนต์ พีเอ็มแอล ซอฟต์แวร์ (Siemens PML Software) และไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ (ThaiSoftware Enterprise) เนื่องจากซอฟต์แวร์บางรายการมีมูลค่าสูงทำให้แม้จะมีการติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่เครื่องแต่มูลค่าความเสียหายจะสูงกว่าซอฟต์แวร์อื่นๆ
นอกจากนั้น การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์ในทุกภาคอุตสาหกรรม ในปี 2559 ภาคอุตสาหกรรมที่มีองค์กรธุรกิจถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือ ก่อสร้าง ซึ่งมากถึง 98 ราย โรงงานผลิต 86 ราย สถาปัตยกรรมและออกแบบ 36 ราย บริษัทตัวแทนจำหน่าย 20 ราย และวิศวกรรม จำนวน 14 ราย
สำหรับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ โฆษณา บริการให้คำปรึกษา ยานยนต์ ค้าปลีก วิดีโอเกมส์ และซอฟต์แวร์ การเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีครั้งสำคัญในปี 2559 เกิดขึ้นที่โรงงานผลิตในจังหวัดสมุทรสาคร พบซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิของบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) และบริษัทออโต้เดสก์ (Autodesk) บนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 173 เครื่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้านบาท
“ในปีนี้ บก.ปอศ. วางแผนที่จะเพิ่มความเข้มงวดต่อไป สำหรับการปราบปรามและลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย โดยจะใช้ผลการดำเนินงานของปีที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์มาตรฐาน” จำนวนของผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ประเทศไทยมีสิ่งแวดล้อมบนโลกไซเบอร์ที่ปลอดภัยมากขึ้น ท่านสามารถแจ้งเบาะแสผ่านทางสายด่วนที่ 02-714-1010 หรือผ่านระบบออนไลน์ และสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th