เรื่องต้องระวัง สำหรับชาวมิลเลนเนียมในการแอดเพื่อนบนโซเชียลมีเดีย
การมาถึงของโซเชียลมีเดียในยุคที่สังคมมีความหลากหลายสูงนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ง่าย ๆ ซึ่งนอกจากความแตกต่างทางด้านความคิดและพฤติกรรมของคนแต่ละเจเนอเรชันจะเป็นตัวก่อปัญหาแล้ว หลาย ๆ ครั้ง การรับแอดเพื่อนที่แตกต่างกันทั้งสถานะทางการงาน อายุ สังคม ฯลฯ ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาชวนปวดหัวบนโซเชียลมีเดียได้เช่นกัน
โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2012 พบว่า ชาวมิลเลนเนียมมีเพื่อนเป็นคนในที่ทำงานเดียวกันเฉลี่ยแล้ว 16 คน แต่ด้วยพฤติกรรมการย้ายงานถี่ ทำงานแต่ละที่ได้ไม่นาน ทำให้ โซเชียลมีเดียของชาวมิลเลนเนียมบางรายเต็มไปด้วยเพื่อนที่มาจากทั้งบริษัทเก่า บริษัทใหม่มากมายเต็มไปหมด
ซึ่งการแอดเพื่อนที่ทำงานที่เดียวกันเข้ามานี้ ส่วนหนึ่งอาจมีประโยชน์ต่อบริษัทในด้านการสร้างทีมให้มีความแข็งแกร่ง และขับเคลื่อนองค์กรต่อไปได้ แต่ก็มีสิ่งที่ควรระวังเอาไว้เช่นกัน นั่นคือ
1. ต้องระมัดระวังคำพูด
การโพสต์สเตตัสอย่างที่ใจต้องการบนโซเชียลมีเดีย อาจนำมาซึ่งความเสียใจในภายหลัง หรืออาจมีผลกระทบต่องานได้ หากเพื่อนร่วมงานเห็นข้อความนั้นแล้วนำไปพูดต่อในทางเสียหาย ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง สิ่งที่ชาวมิลเลนเนียมเห็นว่า เป็นเพื่อนกันน่าจะเข้าใจ แต่บางครั้งในฐานะเพื่อนร่วมงาน เขาอาจไม่เข้าใจอย่างที่เพื่อนสมัยเรียนเข้าใจคุณก็เป็นได้
2. ระวังเรื่องความเป็นส่วนตัว
การตั้งค่าการโพสต์เป็นส่วนตัว มองเห็นได้แค่คนเดียว หรือแค่ในกลุ่มเพื่อน อาจฟังดูดี แต่อย่าลืมว่า ระบบของโซเชียลมีเดียบางรายเช่น Facebook ก็มีการโชว์โพสต์ของคุณไปยังหน้าจอของใครบางคนที่คุณไม่รู้จัก หากคนที่คลิกไลค์โพสต์นั้น ๆ เป็นเพื่อนของเขาด้วย และด้วยความสามารถนี้ ภาพต่าง ๆ หรือความรู้สึกต่าง ๆ ที่คุณตั้งค่าไว้เป็นส่วนตัว หากถูกคลิกไลค์โดยเพื่อนร่วมงาน มันก็อาจหลุดรอดไปถึงหูผู้บริหารของบริษัทได้ด้วยนั่นเอง
3. ระวังดราม่าในที่ทำงาน
ปัญหาการเมืองในที่ทำงานโดยมีต้นเหตุจากโซเชียลมีเดียนั้นมีให้พบเห็นอยู่ไม่น้อย เช่น การชื่นชอบทีมฟุตบอลเดียวกันของหัวหน้ากับลูกน้องเข้าใหม่ เมื่อมีการโพสต์ อีกฝ่ายก็อาจหมั่นไปคลิกไลค์ หมั่นไปคอมเม้นต์ เรียกว่าคุยกันถูกคอ กรณีเช่นนี้ พนักงานเก่าที่ทำงานมานานกว่าก็อาจเกิดความไม่พอใจได้
จากข้อควรระวังที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้หลายคนหวั่นใจว่าถ้าเช่นนั้นแล้วจะจัดการอย่างไรกับการที่เพื่อนร่วมงานมาขอแอดเฟรนด์ ซึ่งก็คงต้องบอกว่า 3 ข้อข้างต้นนั้นเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนควรใช้สัญชาตญาณส่วนตัวในการตัดสินใจ ว่าจะรับหรือไม่รับเพื่อนคนนี้เข้ามาเป็นหนึ่งในลิสต์
หรือบางคนอาจเลือกปฏิเสธการรับแอดเพื่อนใหม่โดยบอกว่าไม่ค่อยได้เล่นโซเชียลมีเดียเท่าไรนักก็ยังได้
ที่มา Forbes
สนับสนุนเนื้อหา: thumbsup.in.th