“4G” พันธกิจเพื่อชาติ เติมเต็มทุกการใช้งาน (ตอนที่ 1)
ประเทศไทยกำลังจะเกิดเหตุการณ์สำคัญ อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ซึ่งจะเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้กับเครือข่าย การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G สำหรับความเป็นมาและผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ครั้งนี้ทางทีมงานของบริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ได้รับเกียรติจากผู้ทรงวุฒิผู้ดูแลการประมูลคลื่นความถี่ มาไขข้อข้องใจทั้งหมด ก็คือ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการ (กสทช) ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
เออาร์ไอพี: ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ 900MHz
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ : ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่าประเทศไทยไม่ได้ประมูลเทคโนโลยี แต่เป็นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ 900MHz ซึ่งผู้รับใบอนุญาตฯ นั้น จะสามารถใช้เทคโนโลยีใดในการให้บริการเครือข่ายก็ได้หรือที่เรียกว่า Neutral Technology ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะต้องให้บริการเฉพาะเทคโนโลยี 4G เพียงเท่านั้น การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ 900MHz นั้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้บริการประชาชน ถือเป็นการต่อยอดการให้บริการทางดิจิทัล
จากการขยายเครือข่ายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G ของประเทศไทยในอนาคต ทำให้เกิดการสร้างบริการในรูปแบบใหม่ๆรูปแบบการซื้อขาย และการสร้างความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในรูปแบบดิจิทัล ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการ บรอดแบนด์และบริการทางดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล ซึ่งปรากฏออกมาด้วยตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมต่างๆที่เพิ่มมากขึ้น เกิดอัตราการจ้างงานมากขึ้น ถือเป็นการผลักดันเศรษฐกิจและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ส่งผลให้ตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการจัดสรรทรัพยากรความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม มีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและการ สื่อสาร และส่งผลต่อเนื่องสู่ภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก
เออาร์ไอพี : เทคโนโลยี 4G จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจและศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างไร
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ : ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เติบโตมาก ขึ้นนั้น ได้ส่งผ่านความเติบโตไปยังตัวเลขเศรษฐกิจและขีดความสามารถการแข่งขันทาง ICT ของประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี 4G LTE ทำให้พัฒนาการของตลาดบรอดแบนด์เคลื่อนที่ในประเทศไทยดีขึ้น และหากประเทศไทยมีบรอดแบนด์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากขึ้นจะช่วยให้รัฐบาล บรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลและเอื้อต่อการผนวกรวมดิจิทัล
Analysys Mason ได้รับมอบหมายจากสมาคม GSM (GSMA) ได้ศึกษาและพบว่านโยบายที่เหมาะสมสามารถเพิ่มอัตราการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ภาย ในประเทศ จากที่มีเพียง 52% ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 133% ในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีโดยรวมของประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.3 แสนล้านบาท
โปรดติดตามตอนต่อไป ………..
สนับสนุน: www.aripfan.com