คนไทยใช้เน็ตผ่านมือถือพุ่ง โทร.น้อยลง-ติดสังคมออนไลน์
เพื่อให้ได้ข้อมูลในการกำหนดนโยบาย แผนและมาตรการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง สำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย พ.ศ. 2557
"รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง" นักวิจัยอาวุโส ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่าง 4,719 รายทั่วประเทศพบว่า การใช้มือถือกลายเป็น "สินค้าจำเป็น" ต่อการดำเนินชีวิต ต่างจากผลสำรวจปี 2555-2556 เป็น "สินค้าฟุ่มเฟือย" ขณะที่การใช้โทรศัพท์ประจำที่อยู่ที่ 25.7% ลดจากปีก่อน 2.2% ส่วนโทรศัพท์สาธารณะลดลง 3.7% เหลือ 20.2% หรือ 1.2 ครั้ง/เดือน
ส่วนโทรศัพท์ทางไกลในประเทศมีผู้ใช้ใกล้เคียงปีที่ผ่านมาที่ 7.6% เนื่องจากมือถือสะดวกกว่า ประหยัดกว่า ทำให้โทรศัพท์ประจำที่กว่า 92.8% มีไว้เพื่อรับสาย และ 66.4% ใช้ต่อเน็ต ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2555-2556 ที่มี 16.8% แสดงว่าครัวเรือนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นใช้เฉลี่ย 5 ชั่วโมง/วัน
ขณะที่การใช้มือถือเพื่อต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มเป็น 59.5% จาก 31.9% ต่างจากการใช้โทร.ออกที่ลดลง 1.3% อยู่ที่ 98.6% ส่วนการส่ง SMS/MMS ลดจาก 32.3% เหลือ 20% ค่าบริการเฉลี่ย 454 บาท/เลขหมาย/เดือน ลดลงจาก 480 บาท ปีที่แล้ว
ปัจจัยในการเลือกผู้ให้บริการมือถือในปี 2557 พบว่า กว่า 64% ให้ความสำคัญกับความครอบคลุมของโครงข่ายอันดับ 1 ส่วนค่าบริการที่ถูกกว่าขยับขึ้นมาเป็นที่ 2 ที่ 52.1% แซงหน้า "สัญญาณเสียงคมชัด และสะดวกในการติดต่อ" ที่เคยเป็น
อันดับ 2 ส่วน "คำแนะนำของเพื่อน, คนรู้จัก และครอบครัว" มีปัจจัยถึง 20.8% แซง"บริการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ" ที่ลดความสำคัญลงไปเหลือ 13.1% ต่างจากปีที่แล้วที่ผู้บริโภคให้น้ำหนักถึง 26.6%
กลุ่มตัวอย่าง 10.3% เคยเปลี่ยนผู้ให้บริการ ด้วยเหตุผลดังนี้ 41.6% ประหยัดค่าใช้จ่าย 40.3% คุณภาพบริการ 2G 3G LTE ไม่ดี มีปัญหาทางเทคนิค และ 38.9% เครือข่ายไม่ครอบคลุม ต่างจากครั้งก่อนที่เหตุผลเรื่องเครือข่ายไม่ครอบคลุมเป็นอันดับ 1 (49.3%) รองลงไปคือช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และปัญหาทางเทคนิค
เมื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของกลุ่มตัวอย่างพบว่า 53.8% ใช้เพิ่มขึ้นจากปี 2555-2556 ถึง 17% โดย 64.6% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ขณะที่พื้นที่ที่มีการใช้งานน้อยที่สุดอยู่ในภาคอีสาน 48.2% แต่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจหนก่อนถึง 16.8% โดยช่องทางการเข้าถึงบริการนี้เปลี่ยนไปสู่การใช้บนเครือข่ายไร้สายถึง 63.7% มากกว่าอินเทอร์เน็ตประจำที่ ขณะที่ประชากรช่วงอายุ 15-29 ปี เป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากกว่า 73% โดยวัย 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์ประจำที่มากที่สุด ส่วนวัย 20-29 ปี ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตมากที่สุด
ขณะที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายประจำที่ กว่า 81% ยังใช้ผ่าน ADSLมีค่าใช้จ่าย 584.9 บาท/เดือน ไม่ต่างจากการสำรวจหนก่อน แต่ใช้เพิ่มเป็น 4 ชั่วโมง 22 นาที/วัน จาก 1 ชั่วโมง 44 นาที/วัน
อีก 20% ใช้ผ่านสายเคเบิล ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 671.4 บาท/เดือน ใช้งานเฉลี่ยเพิ่มเป็น 7 ชั่วโมง 42 นาที/วัน กลุ่มสำรวจอีก 10.6% ใช้ WiFi Hotspot ค่าใช้จ่าย 314.4 บาท/เดือน ใช้ 217.5 นาที/วัน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมีค่าใช้จ่าย 231.5 บาท/เดือน การใช้งานเฉลี่ย 104.9 นาที/วัน ลดจากปีก่อนที่มีการใช้ 152.3 นาที/วัน เนื่องจากมีการเข้าถึงบริการ WiFi มากขึ้น
เมื่อเข้าอินเทอร์เน็ตได้แล้วการใช้ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น facebook, twitter, instagram โดย 85.4% ใช้ทุกวัน อันดับ 2 แชต เช่น LINE, whatsApp 75.6% ใช้ทุกวัน อันดับ 3 ค้นหาข้อมูล เช่น google มีถึง 69.8% ใช้ทุกวัน กลับกัน 85% ไม่เคยใช้เน็ตซื้อขายหุ้น 69% ไม่ฝากข้อมูลออนไลน์ 63.6% ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และ61.8% ไม่เคยใช้ซื้อสินค้าออนไลน์เลย
ขณะที่ปัญหาในการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโครงข่ายประจำที่ (71.2%) และโมบาย (81.9%) คือความเร็วไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ และ 60% พบปัญหาเครือข่ายล่มบ่อย รองลงไปคือค่าใช้จ่ายสูงเกินไป หรือคิดค่าบริการผิดพลาด