การแก้ปัญหาเบื้องต้น เมื่อ มือถือ ตกน้ำ จะทำอย่างไรดี เมื่อ มือถือตกน้ำ ?
น้ำคือสิ่งที่เป็นศัตรูตัวฉกาจสำหรับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด โทรศัพท์มือถือ ก็เช่นกัน หากต้องเผชิญกับน้ำเมื่อไหร่ แม้เพียงจำนวนอันน้อยนิด ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้มากอย่างคาดไม่ถึง
แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดอุบัติเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ มือถือ ตกน้ำ หรือต้องเจอกับน้ำขึ้นมา ก็ยังพอมีวิธีแก้ไขเบื้องต้นอยู่บ้างเหมือนกัน และทำได้ไม่ยาก ดังนี้
1. พยายามตั้งสติให้ดี อย่าตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะคงไม่เป็นผลดีนัก
2. เมื่อนำ มือถือ ออกมาจากแหล่งน้ำได้แล้ว พึงจำไว้เสมอว่าอย่าเพิ่งกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องโดยเด็ดขาด เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ ยังเปียกน้ำ หรือยังมีความชื้น การกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องอาจทำให้เกิดการลัดวงจรและเสียหายหนัก หรือเสียหายถาวรได้
3. ให้รีบถอดส่วนประกอบต่างๆ ของ มือถือ ออกจากกันอย่างรวดเร็ว (ส่วนประกอบที่สามารถถอดได้เองตามปกติ) ไม่ว่าจะเป็น ซิมการ์ด, แบตเตอรี่, หน้ากาก, ฝาหลัง, ฯลฯ
4. เมื่อถอดส่วนประกอบต่างๆ เท่าที่สามารถถอดได้เรียบร้อยแล้ว อาจจะใช้การสลัดน้ำด้วยแรงพอประมาณ รวมถึงให้นำผ้า (ชนิดที่ไม่มีขน) หรือกระดาษทิชชู (คุณภาพดี ไม่เป็นขุย) มาซับน้ำที่เกาะอยู่ตามจุดต่างๆ ให้แห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรืออาจจะใช้พัดลมช่วยเป่าด้วยก็ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน
5. สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ ไม่ควรใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้งเด็ดขาด เนื่องจากลมจากไดร์เป่าผมมีความร้อนสูง อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในได้โดยง่าย
6. และสิ่งสำคัญอีกประการคือไม่ควรนำ มือถือ และอุปกรณ์ต่างๆ ไปตากแดด เพื่อหวังให้แห้งเร็วขึ้น เพราะความร้อนจากแสงแดดนั้นสูงเกินไปสำหรับ มือถือ และอุปกรณ์ต่างๆ
7. เมื่อสังเกตุว่า มือถือ และอุปกรณ์ต่างๆ แห้งพอสมควรแล้ว ก็ให้นำ มือถือ และอุปกรณ์ต่างๆ ไปวางทิ้งไว้ในถังข้าวสาร หรือในถุงพลาสติกที่มีซิลิก้าเจลบรรจุไว้ ทั้งนี้เพื่อช่วยดูดความชื้นที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่ในส่วนของอุปกรณ์ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยอาจทิ้งไว้เป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าความชื้นได้หายไปหมดแล้วจริงๆ
8. เมื่อทุกขั้นตอนข้างต้นผ่านพ้นไปด้วยดี และแน่ใจว่าตัวเครื่อง, อุปกรณ์ทุกอย่าง รวมถึงทุกซอกทุกมุม ทั้งภายใน และภายนอก ปราศจากน้ำและความชื้นแล้ว ก็ให้นำซิมการ์ด, แบตเตอรี่, หน้ากาก, ฝาหลัง, ฯลฯ มาประกอบกลับเข้าที่ตามเดิม
9. หลังจากประกอบตัวเครื่องเรียบร้อยดีแล้ว ยังไม่ควรชาร์จแบตเตอรี่ทันที เนื่องจากวงจรภายในอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับกระแสไฟฟ้า
10. จากนั้นให้ลองเปิดเครื่อง หากสามารถเปิดได้ก็ให้ตรวจสอบอาการผิดปกติอื่นๆ ในการใช้งานพื้นฐานทันที เช่น หน้าจอติดหรือไม่, โทรออกโทรเข้าได้หรือไม่, ลำโพงดังหรือไม่, ปุ่มกดใช้งานได้ทุกปุ่มหรือไม่, กล้องถ่ายได้หรือไม่, ตรวจเจอการ์ดหน่วยความจำหรือไม่, ยังใช้งานเมนูหรือฟังก์ชันต่างๆ ได้ปกติหรือไม่ ฯลฯ
11. หากลองใช้งานดูแล้วไม่พบปัญหาใดๆ สามารถใช้งานได้ตามปกติ ก็ถือว่าเป็นโชคดีอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะโชคดีไม่เกิดปัญหาใดๆ หรือโชคร้ายต้องเจอกับปัญหาตามมา ทางที่ดีก็ควรจะต้องนำเครื่องไปไปให้ศูนย์ หรือช่างผู้ชำนาญ ช่วยจัดการให้อีกครั้งหนึ่ง
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว แม้จะมีการดูแลดีและรวดเร็วแค่ไหน หลังจากที่ มือถือ สัมผัสกับน้ำ ผู้ใช้ก็มักจะพบกับปัญหาที่ตามมาอยู่เสมอ อาจจะน้อยหรือมาก ไปอาจโชคร้ายจนถึงขั้นเสียถาวร ซึ่งก็คงจะต้องทำใจกันเอาไว้ล่วงหน้าด้วยว่าคุณอาจจะไม่โชคดีก็ได้ ดังนั้นจึงควรระวังไม่ให้ มือถือ ตกน้ำ หรือสัมผัสกับน้ำ เสียตั้งแต่แรกก็จะดีที่สุด