เปิดความเห็น 3 กสทช. ต่อร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ และชุดกฎหมายดิจิทัล
เราอ่านความเห็นของนักวิชาการหลายรายเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจ-ความมั่นคงไซเบอร์ 10 ฉบับกันมาเยอะแล้ว คราวนี้มาดูความเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคือกรรมการ กสทช. 3 ท่าน ได้แก่
1. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
2. นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์
3. ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์
ที่ร่วมกันแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ชุดนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของ กสทช. คือ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่, ร่าง พ.ร.บ.กองทุนดิจิทัลฯ และความสัมพันธ์ระหว่าง กสทช. กับคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติฯ ครับ
ความเห็นของ กสทช. อ่านได้จากเอกสารฉบับเต็มท้ายข่าว ประเด็นโดยสรุปมีดังนี้
ปัญหาของกระบวนการออกกฎหมาย
- กระบวนการแก้ไขกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กสทช. ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรับทราบกระบวนการร่างกฎหมายเลย
- กสทช. เป็นหน่วยงานตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งตอนนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ระหว่างกระบวนการยกร่าง ดังนั้นยังไม่ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะกำหนดบทบาทหน้าที่ของ กสทช. อย่างไร
ปัญหาจากคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติฯ
- คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ ไม่มีกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจน รวมถึงมีกรรมการจาก TOT, CAT, สภาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช.
- ความเป็นอิสระของ กสทช. ย่อมถูกแทรกแซงโดยคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติที่มีอำนาจลงโทษทางวินัยต่อ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ทำตามนโยบาย รวมคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง โดยเฉพาะคณะกรรมการฮาร์ดอินฟราสตรัคเจอร์ ที่ทำเรื่องเดียวกับ กสทช.
- กสทช. มีแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่บังคับใช้ภาคเอกชนอยู่แล้ว ถ้าอนาคตแผนแม่บทถูกคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติเปลี่ยนแปลง ย่อมมีผลกระทบต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะ TOT/CAT ที่มีตำแหน่งในคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ อาจสั่งให้ไม่ต้องคืนคลื่นตามกำหนดได้
- กสทช. ถูกริบอำนาจเรื่องการบริหารคลื่นความถี่ไม่ให้รบกวนกัน งานด้านนี้เป็นงานเทคนิคที่ กสทช. มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถ้ารัฐบาลรับไปทำก็อาจทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่
- ร่างกฎหมายฉบับใหม่ กำหนดให้ กสทช. ต้องจัดสรรคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ "ให้เพียงพอสำหรับการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ" ขัดต่อหลักการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม
- ร่างกฎหมายฉบับใหม่ ไม่บังคับต้องประมูลคลื่น เปลี่ยนมาใช้วิธีคัดเลือกโดยดุลพินิจเจ้าหน้าที่ ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่ให้แสวงหาผลประโยชน์
- ร่างกฎหมายฉบับใหม่ ริบอำนาจของ กสทช. ด้านการจัดสรรความถี่สำหรับวิทยุคมนาคม แต่ไม่กำหนดอำนาจให้หน่วยงานอื่น จึงเป็นช่องว่างในการกำกับดูแล
ประเด็นเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ
- ร่างกฎหมายใหม่มีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกันเอง เพราะยังคงมาตราที่ระบุให้ กสทช. ส่งเงินเข้ากองทุน USO เดิม แต่กลับยกเลิกมาตราที่เกี่ยวกับกองทุน USO ไปทั้งหมด
- กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ กสทช. ต้องทำแผนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง ซึ่งเมื่อยกเลิกกองทุน USO ไป กสทช. ไม่สามารถทำตามภารกิจนี้ได้
ประเด็นที่ควรแก้ไขกฎหมาย กสทช. ฉบับเดิม แต่กลับไม่ถูกแก้ไข
- กลไกตรวจสอบการทำงานของ กสทช. ที่ของเดิมกำหนดให้มี "ซูเปอร์บอร์ด" (คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือ กตป.) ที่ทำงานได้ยากเพราะ กสทช. ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งข้อเสนอของโครงการ Thai Law Watch และ NBTC Policy Watch คือกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีอำนาจเปิดเผยการตรวจสอบบัญชี กสทช. โดยตรง
- ปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่มีอำนาจตัดสินเอง ต้องยื่นเรื่องเสนอบอร์ด กสทช. ซึ่งทำให้กระบวนการล่าช้า ทางแก้ที่เสนอคือตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. โดยมีอำนาจดำเนินการมากขึ้น
- กสทช. ใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส สาเหตุเป็นเพราะ กสทช. มีอำนาจอนุมัติงบประมาณตัวเองโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ดังนั้นทางแก้คือปรับกฎหมายให้ผ่านกระบวนการตามกฎหมายงบประมาณปกติ ที่ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา
- กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ กสทช. ต้องเผยข้อมูลการประชุม และข้อมูลการดำเนินการทั้งหมดภายใน 30 วัน แต่ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นควรกำหนดให้ กสทช. เป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ และกำหนดบทลงโทษกรณีไม่เปิดเผยข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนด
- กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ กสทช. รับฟังความเห็นสาธารณะก่อนออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมา กสทช. ทำไปเพื่อให้ครบกระบวนการตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้นำมาใช้งานเท่าที่ควร ดังนั้นควรแก้กฎหมายให้ กสทช. ต้องศึกษาผลกระทบจากการกำกับดูแลมากขึ้น และต้องเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะด้วย
ประเด็นด้านการรวมบอร์ด กทค. และ กสท.
- การแยกบอร์ดอาจยังจำเป็น โดยเฉพาะฝั่งวิทยุโทรทัศน์ที่เพิ่งเริ่มกระบวนการกำกับดูแล ดังนั้นถ้าจะรวมบอร์ดจริงๆ ต้องการันตีว่างานเหล่านี้ต้องไม่สะดุด
- การรวมบอร์ดเป็นชุดเดียวแล้วคงจำนวนคณะกรรมการ 11 คน อาจมากเกินไป ควรปรับลดจำนวนกรรมการให้เหมาะสมตามไปด้วย
ที่มา - NBTC Rights
ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย: mk