วัฒนธรรม "หยุดคลิก"

วัฒนธรรม "หยุดคลิก"

วัฒนธรรม "หยุดคลิก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทรนด์การ "เสพข่าว" ของคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนที่อาจไม่ใช่รุ่นใหม่ แต่หันมาใช้อุปกรณ์ หรือดีไวซ์อื่น ๆ อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บเลต ในการอ่านข่าวกำลังเป็นที่นิยม

เมื่อใช้อุปกรณ์ทันสมัยเสพข่าวแล้ว "ช่องทาง" ที่จะเห็นข่าว สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมอ่านข่าวอยู่ 2 ด้าน คือ แบบเข้าไปในเว็บไซต์ข่าวของสื่อหรือสำนักข่าวที่สนใจโดยตรง กลุ่มนี้ยังอ่านข่าวจากสื่อกระแสหลัก รวมถึงกลุ่มซื้ออ่านแบบอิเล็กทรอนิกส์จ่ายรายเดือน

แต่การอ่านข่าวอีกกระแสหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยม คือ อ่านข่าวแบบอิสระตามโซเชียลมีเดีย อาทิ บนฟีดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แม้กระทั่งอ่านตามกลุ่มห้องแชตในไลน์

นี่เองจึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการอ่านข่าวแบบ "คลิก" ของคนยุคโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มที่อ่านข่าวลักษณะนี้แยกย่อยได้อีกว่า กลุ่มหนึ่งสนใจข่าวเชิงฮาร์ดนิวส์ กับอีกกลุ่มสนใจข่าวแบบโซเชียลฯ คือ ไม่ได้สนใจข่าวไหนเป็นพิเศษ แต่อ่านสิ่งที่เป็นกระแสและถูกแชร์มา

เมื่อระบบโซเชียลมีเดียใช้วิธีประมวลผลและจับกระแสข่าวที่ถูกแชร์ ถูกแสดงความเห็น กดไลก์มาก ทำให้พบเห็นเตะตาง่ายสุด ทำให้ผู้ใช้โซเชียลฯเห็นข่าวนั้นได้มากกว่าข่าวเชิงคุณภาพที่อาจมีคนสนใจน้อย แน่นอนว่า ข่าวจำพวกสีสัน และอื้อฉาวจึงตอบโจทย์กระแสโซเชียลมีเดียนั่นเอง

และเมื่อยิ่งเห็นง่าย ก็ยิ่งถูกกระพือไปง่าย ทำให้เห็นปรากฏการณ์ข่าวที่ไม่น่าจะเป็นข่าวโด่งดังบนสื่อกระแสหลักได้เลย อย่างข่าว "เหนียวไก่หาย"

ในโลกโซเชียลฯ หลายครั้งที่ข่าวที่ถูกกดคลิกอ่านมากที่สุด กลายเป็นข่าวที่ไม่มีเนื้อหาสาระอะไรเลย (เว้นบางกรณีที่ข่าวฮาร์ดนิวส์มีแรงพอจะกระเทือนสังคมได้) บางข่าวก้าวข้ามจากการรายงานข่าวไปเป็นการยุยงก็มี

นี่จึงเป็นที่มาของไอเดียที่น่าสนใจคือ แนวคิด "หยุดคลิก" เพื่อหยุดวงจรข่าวไม่เป็นสาระ เป็นการหยุดที่ตัวคนอ่าน ไม่ได้หยุดที่คนรายงานข่าวนั่นเอง

ไอเดียนี้มาจาก "แซลลี่ คอห์น" นักวิเคราะห์ข่าวอิสระชาวอเมริกันที่แนะนำว่าอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข่าวใด ๆ ที่พยายามจะให้คุณเสียสติ ในทางกลับกัน ควรใช้การคลิกอันมีค่าของคุณกดเข้าดูข่าวที่คุณเชื่อถือได้อย่างแท้จริง

เธอพูดสั้น ๆ แต่ชัดเจนว่า "ไม่ชอบโดนล่อให้คลิกก็จงอย่าคลิก"

ผู้อ่านต้องตระหนักให้ได้ว่า การคลิก คือการกระทำเชิงสาธารณะ เช่นเดียวกับทุกสิ่งที่เขียนในอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งสาธารณะ แปลว่านับวันผู้อ่านก็เปรียบเสมือน "สื่อ" ทั้งหมดนั่นเอง

เมื่อคิดได้ว่า พวกเราคนอ่านก็คือสื่อทั้งหมดด้วย ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคลิก ไม่คลิกอ่านข่าวโคมลอย ข่าวกระแสที่ไร้สาระจนไม่น่ากดส่งต่อ เพราะเมื่อทำให้ข่าวประเภทนั้นมียอดคลิกมาก ก็ยิ่งส่งเสริมข่าวแบบนั้นให้เป็นกระแสอีกเช่นกัน

แซลลี่บอกแบบชัดเจนเลยว่า "เลิกคลิกลิงก์อ่อยเหยื่อ ไม่อยากดู ก็อย่าคลิก ถ้าไม่ชอบการแสดงความเห็นสาดโคลนไม่จบก็หยุดคลิก เรียกว่าไม่ต้องสุมไฟ ถ้าผู้ชนะคือผู้ที่ถูกคลิกมากที่สุด เราต้องเปลี่ยนด้วยคลิกของเรา ให้ถือว่าการคลิกเป็นการกระทำอย่างเปิดเผย และต้องคลิกอย่างรับผิดชอบ" แซลลี่ คอห์นสรุป

ฟังแล้วแม้จะทำยากมาก เพราะหลักสื่อสารมวลชน คำว่า Human Interest ยังใช้ได้อยู่ ด้วยข่าวสารที่ไร้สาระแต่พาดหัวเร้าใจชวนให้กดคลิก

แต่ขอเสริมว่าแม้จะกดคลิกอ่านแล้ว ก็ต้องอ่านแบบมีวิจารณญาณ ถ้าเจอข่าวสารที่ดูหมิ่นเหม่กับข้อเท็จจริง อย่าเพิ่งเชื่อหรือรีบส่งแชร์ต่อ การคิดว่าแค่แชร์ต่อไม่ได้เสียหาย จริง ๆ แล้วเรากำลังอยู่ในวงจรกระพือข่าวผิด ทำให้สังคมสับสน หากไม่แน่ใจสิ่งที่อ่านก็จงอย่าแชร์ แต่จงหาข้อเท็จจริง หรือรอที่จะมีคำตอบที่น่าเชื่อถือมาอธิบายจะดีกว่าส่งแชร์ต่อไป

วิจารณญาณสำคัญมากสำหรับการเสพข่าวแบบคลิกแบบแชร์ในโลกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook