ปรากฏการณ์ “เหนียวไก่หาย” และ “ไลล่า” ที่ไม่น่าเป็นห่วง
ปรากฏการณ์ “เหนียวไก่หาย” และ “ไลล่า” ที่ไม่น่าเป็นห่วง
มีผู้เป็นห่วง "ไลล่า" สาวน้อยวัย 15 ปีแห่งจังหวัดสตูลผู้โด่งดังจากคลิป "เหนี่ยวไก่หาย" ซึ่งมียอดแชร์ทะลุแสนเพียงชั่วข้ามคืน ว่าเธอจะรับมือกับความดังไม่ไหว และบ้างก็บ่นว่าความตื่นเต้นเรื่องคลิปนี้ของคนไทยสะท้อนความห่วยของสังคมไทยและโดยเฉพาะสื่อไทย
เห็นด้วยเฉพาะเรื่องสื่อไทยในแง่ที่ว่าดูเหมือนไม่เคยทุ่มเทความสามารถทำข่าวเจาะลึกที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างนี้เลยแต่กับข่าวนี้นั้นหลายสำนักแทบจะระดมทุกสรรพกำลังไปตามล่าหาตัว "ไลล่า" แล้วแข่งกันเสนอข่าวราวกับไม่มีเรื่องอื่นใดในโลกสำคัญกว่าไลล่าและเหนียวไก่ของเธอ
ความจริงการเสนอข่าว "เหนียวไก่และไลล่า" ของสื่อนั้นไม่ผิด ยิ่งในแง่ "คุณค่าข่าว" ยิ่งไม่ผิด เนื่องจากข่าวนี้เป็น " a human interest story" หรือเป็นเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจของผู้คนร่วมสังคม การฟันธงว่าข่าวนี้ไม่มีคุณค่าเลยจึงอาจเข้าข่าย "เยอะไปหน่อย" ในด้านของความพยายามจะอยู่ในโลกแห่งความ "ดีงาม" เชื่อว่าทุกอย่างต้องจริงจัง หนักแน่น มีประโยชน์
"คุณค่า" ไม่จำเป็นต้องแปลว่า "เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อสังคม" เสมอไป ความสนใจใดๆของปัจเจกย่อมมี "คุณค่า" ต่อปัจเจกผู้นั้น และการยอมรับรวมถึงเคารพความสนใจอันแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ที่เป็นเพื่อนร่วมสังคมกับเราแม้เราจะไม่เห็นว่ามันน่าสนใจเลยถือเป็น"คุณค่า" อย่างหนึ่ง
ข้ออ่อนด้อนของสื่อไทยที่ควรต้องพิจารณาตนเอง จึงเป็นเรื่องความคิดและความสามารถในการนำเสนอข่าวสารต่างๆ มากกว่า
สิ่งที่สื่อไทยควรคิดและทบทวนก็คือ ทุกวันนี้ได้ทำงานในบทบาทสื่ออย่างเต็มที่แล้วหรือยัง ได้ทุ่มเทความสามารถในการคิดค้นสืบหาความจริงต่างๆ ที่สังคมควรรับรู้มานำเสนอหรือยัง ตระหนักหรือไม่ว่ามีข่าวอะไรบ้างที่ควรต้องติดตามสืบค้นข้อมูลมาทำเป็นข่าว หรือทำเป็นแต่ข่าวประเภท "human interest" ซึ่งก็ไปได้ไม่ไกลว่าความสนใจระดับผิวเผิน วูบวาบ ไม่สามารถเข้าถึง "เบื้องหลัง" ปรากฏการณ์ตามที่เป็นจริง
น่าคิดเหมือนกันว่า ทั้งๆ ที่สื่อสำนักต่างๆ แข่งกันทำข่าวไลล่า เราๆท่านๆ ที่ติดตามข่าวก็ไม่ยักได้ข้อมูลที่พอจะบอกได้อย่างชัดเจนว่า ไลล่ามีชีวิตอย่างไร แบบไหน เพราะตามคลิปและตามคำให้สัมภาษณ์ซึ่งอ้างโดยหนังสือพิมพ์บางฉบับ เมื่อ "เหนียวไก่" หายไป เธอก็ไปขอเงินแม่มาซื้อใหม่ และเธอมีเงินอยู่ในกระเป๋า "ไม่อยากอิโม้"
ส่วนหนังสือพิมพ์บางฉบับอ้างคำให้สัมภาษณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลว่าเธอยากจนอยู่กับยายต้องลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้น ม.2 มารับจ้างรีดผ้า ดูแลยายพร้อมกับเรียนการศึกษานอกโรงเรียนไปด้วย
ด้านหนึ่ง "สื่อ" และผู้คนที่มีสถานภาพค่อนข้างดีในสังคม มักมองเห็นเด็กๆ ในสื่อที่ไม่ได้มาจากตระกูลดังหรือตระกูลนักธุรกิจ เป็นเด็กยากจนและ "เหยื่อ" ผู้เผชิญอุปสรรคมากมายในชีวิตให้ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แต่ในหลายๆ กรณี นั่นคือภาพลวงตาที่ไม่ใกล้เคียงความจริง
ไลล่าในคลิปไม่ใช่เหยื่อ ถ้าเชื่อคำให้สัมภาษณ์ของเธอจากสำนักข่าวอีกแห่งหนึ่งก็คือ เธอเจ็บใจที่ "เหนียวไก่" หาย เธอจึงทำคลิปลงเฟสบุ๊คของเธอเอง และเมื่อให้แม่ดู แม่ก็ขำ ใครๆ ก็ขำ แต่เธอตกใจบ้างที่มันกลายเป็นข่าวดัง เพราะเธอไม่ได้อยากดัง
ทั้งหมดที่เธอทำลงไปในคลิป คือบ่นและต่อว่าใครก็ตามที่ขโมยเหนียวไก่ที่เธอตั้งใจซื้อมากินให้สบายใจ จริงๆแล้วเธอเป็น "ฝ่ายกระทำ" เพื่อตอบโต้ใครก็ตามที่ขโมยเหนียวไก่ เธอไม่ได้ทำคลิปด้วยความรู้สึกเก็บกดไม่มีทางต่อสู้ แต่เธอกำลังต่อสู้ด้วยการบ่นและสบถในคลิปเพื่อระบายความโกรธออกมาดังๆ ซึ่งด้านหนึ่งเป็นชัยชนะของเธอ
นั่นคือ ใครก็ตามที่ขโมยเหนียวไก่ไปกำลัง "เสียเปรียบ" เพราะถูกประจานต่อสาธารณะ แม้ไลล่าจะยังไม่สามารถรู้ได้ว่าใครก็ตามนั้นคือใคร แต่การที่ไลล่าได้ด่าว่าหัวขโมย ย่อมถือว่าได้ตอบโต้หัวขโมยแล้ว อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง
น่าสนใจว่าเหตุใดผู้คนจึงชอบคลิปของเธอแม้เธอจะสบถ? เหตุใดคำสบถของเธอ จึงมิได้ทำให้คนอื่นๆ จำนวนมากที่ได้ยิน ฟังแล้วรู้สึกหยาบคาย?
แน่นอนว่ามีคนตกใจและรังเกียจคำสบถของเธอถึงขั้นเอามือปิดปากด้วยความตกใจว่าเธอช่างหยาบคายแท้แต่คนกลุ่มหลังนี้ซึ่งดูเหมือนจะมาจากกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองโดยเฉพาะเมืองบางกอกผู้ปรารถนาเพียงโลกแห่งความดีพร้อมอาจหลงลืมชีวิตปกติของสามัญชน ไม่เช่นนั้นก็เติบโตขึ้นมาในโลกสวยจนไม่รู้จักชีวิต
คำตอบของคำถามข้างบนนั้นอยู่ที่บริบทและสถานะของคำสบถ
ไลล่ามิได้กำลังด่ากราดเอาเป็นเอาตายหรือประกาศจะเข่นฆ่าใครให้ตายเหมือนหลายๆคลิปที่มีผู้สบถออกอากาศแช่งชักหักกระดูกหรือขู่ฆ่าคนคิดต่าง แต่เธอกำลังบ่นไปสบถไป ด้วยความขุ่นเคืองปกติในชีวิตปกติของชาวบ้าน
การบ่นของเธอเป็นเรื่อง "ขำๆและน่ารัก" สำหรับผู้ได้รับฟังคนอื่นๆ ซึ่งมิใช่ขำว่าคนบ่น "ด้อยกว่า ตลกกว่า" เหมือนคนไทยจำนวนมากชอบขำ (อย่างที่ไม่ควรขำ) กับมุกภาษา "แตกต่างที่ตลก" ของเพื่อนบ้านต่างชาติ กรณีนี้ขำเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การขโมยปกติที่ "จริงจัง" และ "เสียหาย" อย่างจริงจัง มันไม่ใช่การขโมยรถ ไม่ใช่การขโมยเงิน หากเป็นการขโมยข้าวเหนียวไก่ ซึ่งมีราคาเพียง 30 บาท
กรณีนี้ขำเพราะหน้าตาและเสียงบ่นของไลล่าที่ได้อารมณ์หงุดหงิดแบบคนเจ็บใจว่าอุตส่าห์ซื้อเหนียวไก่มากินมาแล้วอดกิน
ที่สำคัญคือภาษากลางสำเนียงใต้ที่เรียกกันว่า "ทองแดง"และอารมณ์"บ่น" ของไลล่า ซึ่งต่างจากการ "ด่าอย่างเหี้ยมเกรียม มุ่งร้ายหมายชีวิต" ทำให้คำสบถ "เหยดแหม่" กลายเป็นคำขำๆ ที่ลดทอนความรู้สึก "ด่าแม่" อย่างจริงจัง ให้เป็นความรู้สึกธรรมดาๆ สำหรับสร้อยคำอย่างธรรมดาที่คนใต้จำนวนมากใช้กันอยู่ในชีวิตปกติ
ไลล่ารู้ตัวว่าคำสบถของเธอ"หยาบคาย"สำหรับคนทั่วไปในการให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่ทางคลิป เธอขอโทษที่พูดคำหยาบและบอกว่าไม่คิดว่าคลิปจะเผยแพร่ไปเยอะขนาดนี้
เราไม่อาจรู้ได้ว่าไลล่าเติบโตมาอย่างไรแต่จากคลิป"เหนียวไก่หาย"และคลิปคำให้สัมภาษณ์ของเธอภายหลัง รวมทั้งจากข่าวต่างๆ ที่พอประมวลมาได้ น่าเชื่อว่าเธอเป็นเด็กสาวที่มีสติสัมปชัญญะและมีความรับผิดชอบ เธอมิได้แสดงตัวเป็นคนดัง เมื่อมีผู้ไปขอถ่ายรูปขณะเธอกำลังทำงานที่ร้านขายไก่ เธอก็บอกชัดเจนว่าเธอขอทำงานก่อน
นอกจากนั้น เธอยังมีญาติผู้ใหญ่ที่จะคอยดูแลในกรณีที่มีข่าวว่าจะมีบริษัทมือถือไปติดต่อขอให้เธอเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา
ในฐานะคนปักษ์ใต้คนหนึ่งผู้เขียนเห็นว่าสังคมปักษ์ใต้โดยทั่วไปยังคงมีความเข้มแข็งของสังคมเครือญาติ คนในครอบครัวยังดูแลกันและกันเสมอ
ปรากฏการณ์ "เหนียวไก่หาย" ไม่ได้ทำให้ไลล่าน่าเป็นห่วง และไม่ได้ทำให้สังคมไทยเสื่อมทราบลงด้วยคำสบถ "เหยดแหม่" ที่คนจำนวนมากพูดกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวันโดยไม่มีนัยถึงการ "ด่าแม่"
ที่น่าห่วงกว่ากลับเป็นสติของคนทำสื่อและเราๆ ท่านๆ ในการเต้นตามข่าว รวมถึงบรรดาผู้โหนกระแสไลล่าที่ตามเกาะไลล่าราวกับตัวเห็บ
หากต้องการโหนกระแสกันจริงๆน่าจะช่วยกันตามหาว่าเหตุใดจึงมีการขโมยเกิดขึ้นได้ต่อหน้าต่อตาหน้าร้านเซเว่นอิเลฟเว่นกลางเมืองสตูล เพียงข้าวเหนียวไก่ยังขโมยกันได้แล้วชีวิตจะปลอดภัยหรือ
ความสนใจตามกระแสเป็นเรื่องปกติ มิใช่ความผิดหรือน่าอับอาย แต่หากรู้จักเพียงตามกระแสจนไม่เคยมองเห็นเรื่องราวใดๆ ด้วยตัวเองเลย ได้แต่วิ่งตามแห่ไปเรื่อยๆ นั้น ถือเป็นการบ่อนทำลายความสามารถของสมองชนิดหนึ่ง