เรียนรู้เกี่ยวกับ…ภาพถ่ายที่คมชัด
Marcus Hawkins อธิบายเทคนิคและเคล็ดลับเพื่อภาพผลลัพธ์ที่คมชัดจากกล้องถ่ายภาพของคุณ…
- นี่อาจเป็นคำถามเชยๆ แต่เราจะตรวจดูได้อย่างไรว่าภาพของเรามีความคมชัด?
มันไม่ได้เป็นคำถามที่เชยเลย มันอาจจะตัดสินได้ยากว่าภาพนั้นชัดหรือไม่เวลาที่คุณดูด้วยขนาดเต็มจอ คอมพิวเตอร์หรือในจอ LCD หลังกล้องของคุณ จอความละเอียดสูงที่อยู่ในกล้อง SLR รุ่นใหม่ๆ เหล่านี้สามารถทำให้ภาพดูคมชัดและมีสีสันที่สดใส
วิธีเดียวที่คุณจะสามารถบอกได้ถึงความคมชัดของภาพก็ด้วยการซูมภาพเพื่อ ตรวจเช็ครายละเอียด มองบริเวณขอบของวัตถุที่คุณคาดว่าจะคมชัด ส่วนภาพเหล่านั้นคมชัดหรือฟุ้งเบลอ? ถ้าคุณถ่ายภาพชุดของวัตถุเพียงวัตถุเดียว ลองดูภาพสลับกันขณะที่คุณซูมภาพ วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถหาภาพที่คมชัดที่สุดได้
- ถ้ารายละเอียดนั้นไม่คมชัด สาเหตุน่าจะมาจากอะไร?
มีสาเหตุจำนวนมากที่ส่งผลให้ภาพไม่คมชัด มันอาจจะเกิดจากคุณภาพของเลนส์เอง เลนส์ซูมราคาถูกมักจะมีคุณภาพของชิ้นเลนส์ที่ต่ำและส่งผลให้ความคมชัดลดน้อย ลง หรือแม้แต่การเลือกใช้ช่องรับแสงและความไวชัตเตอร์
แน่นอนว่าการโฟกัสก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ถ้าคุณปล่อยให้กล้องทำการเลือกจุดโฟกัสอัตโนมัติในเวลาที่คุณถ่ายภาพ มันก็มีโอกาสที่กล้องจะล็อกโฟกัสบริเวณฉากหลังหรือในส่วนของภาพที่คุณไม่ ต้องการ (อย่างเช่นบริเวณปลายจมูกแทนที่จะเป็นดวงตา) ข้อผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์น่าจะเป็นสาเหตุหลักของภาพถ่ายที่มีคมชัด อย่างไรก็ตามอาการกล้องสั่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักด้วยเช่นกัน
- ช่วยบอกวิธีการรับมือกับอาการกล้องสั่นให้ฟังหน่อย?
ถ้าคุณใช้มือถือกล้องถ่ายภาพในขณะที่ถ่ายภาพและไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง คุณก็มีความเสี่ยงในความไม่มั่นคงที่จะส่งผลให้ภาพเบลอ ความเบลอที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเริ่มตั้งแต่ความนุ่มของภาพเพียงเล็กน้อยไล่ไป จนถึงความฟุ้งเบลอโดยสิ้นเชิง และนั่นก็ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของกล้องและการเลือกใช้ค่าความไวชัตเตอร์
เพื่อภาพถ่ายที่คมชัดเวลาที่คุณใช้มือถือกล้อง กฎง่ายๆ ก็คือการใช้ค่าความไวชัตเตอร์ที่ไม่ต่ำกว่าค่าความยาวโฟกัสที่คุณใช้ ดังนั้นเลนส์ 200 มม.บนกล้องฟูลเฟรม SLR จึงควรจะให้ภาพที่คมชัดที่ค่าการเปิดรับแสงที่ 1/200 หรือสูงกว่านี้ ส่วนในกล้อง SLR ที่มีเซ็นเซอร์ขนาด APS-C นั้น เลนส์ตัวเดิมนั้นก็จำเป็นต้องใช้ค่าความไวชัตเตอร์ที่ 1/320 วินาที เนื่องจากค่าอัตราคูณ 1.6X ของเซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็กลงจะทำให้เลนส์ 200 มม. เทียบเท่ากับเลนส์ 320 มม. แต่ก็แน่นอนว่าระบบลดการสั่นสะเทือนรุ่นใหม่ๆ ช่วยทำให้คุณสามารถได้ภาพที่คมชัดมากยิ่งขึ้น
- เวลาที่ผู้ผลิตระบบลดการสั่นสะเทือนกล่าวว่า ระบบนี้สามารถลดการสั่นสะเทือนได้ “ถึงสี่สต็อป” นั้นหมายความว่าอย่างไร?
สต็อปคือ หน่วยในการวัดค่าการเปิดรับแสง ซึ่งแต่ละสต็อปจะหมายถึงแสงเพิ่มขึ้นสองเท่า (เวลาที่เพิ่มค่าการเปิดรับแสง) หรือมีแสงลดลงครึ่งหนึ่ง (เวลาที่ลดค่าการเปิดรับแสง) ตัวอย่างเช่น ค่าความไวชัตเตอร์ 1/25 วินาทีนั้นช้ากว่า 1/50 วินาทีอยู่หนึ่งสต็อป เนื่องจากเซ็นเซอร์จะเปิดรับแสงนานกว่าสองเท่า ส่วนค่าความไวชัตเตอร์ 1/100 วินาทีนั้นก็จะเร็วกว่า 1/150 วินาทีอยู่หนึ่งสต็อปเนื่องจากเซ็นเซอร์ได้รับแสงเพียงครึ่งเดียว
ระบบลดการสั่นสะเทือนที่สามารถลดการสั่นสะเทือนได้สี่สต็อปจึงหมายถึงว่า คุณสามารถใช้ค่าความไวชัตเตอร์ได้ต่ำลงกว่าที่แนะนำใช้มือถือกล้องถ่ายถึง สี่สต็อป ดังนั้น เลนส์ 200 มม. จึงสามารถให้ภาพที่คมชัดด้วยค่า 1/13 วินาทีได้ สังเกตให้ดีกว่านี่คือเทคนิคสำหรับการถือกล้องถ่ายภาพเท่านั้น การวางกล้องบนพื้นผิวที่มั่นคงอย่างเช่นโต๊ะ กำแพง หรือแม้แต่พื้นดินเพื่อถ่ายภาพนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างมากในด้าน ความคมชัด
ช่องรับแสงและ ISO ก็นับด้วยหน่วยสต็อปเช่นกัน คุณสามารถใช้ข้อได้เปรียบของระบบลดการสั่นสะเทือนเพื่อเลือกใช้ค่า ISO ที่ต่ำลงเพื่อคุณภาพของภาพที่สูงขึ้นและใช้ช่องรับแสงที่เล็กลงได้
STEP BY STEP เทคนิคการใช้ขาตั้งกล้อง
วิธีการตั้งขาตั้งกล้องให้มั่นคงที่สุด
แม้กล้องจะตั้งอยู่บนขาตั้งกล้องก็ยังสามารถให้ผลลัพธ์ที่ไม่คมชัดได้ใน หลายๆ สถานการณ์ อย่างเช่นในการถ่ายภาพในวันที่มีลมแรงหรือคุณอาจจะไม่ได้ตรวจสอบว่าจุดยึด ทุกจุดถูกขันจนแน่นแล้ว ถ้าค่าความไวชัตเตอร์นั้นต่ำเกินกว่าที่จะหยุดตัวแบบที่เคลื่อนไหว ขาตั้งกล้องก็แทบจะไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรเลย แม้แต่จังหวะการลั่นชัตเตอร์ก็สามารถก่อให้เกิดการสั่นไหว ดังนั้นให้คุณใช้คำสั่งล็อกกระจกสะท้อนภาพและใช้รีโมทคอนโทรลสำหรับลั่น ชัตเตอร์
ใช้ขาใหญ่ก่อน
ขาตั้งกล้องมักประกอบด้วยขาจำนวนสาม สี่ หรือห้าส่วน ยิ่งขาตั้งกล้องแบ่งส่วนมากเท่าไร ขาชุดเล็กก็มักจะบางมากเท่านั้น ให้คุณเลือกใช้ขาที่มีขนาดหนาเป็นอันดับแรก
ขาแบบพิเศษ
ถ้าคุณถ่ายภาพนอกสถานที่บ่อย ลองหาอุปกรณ์เสริมสำหรับยึดเกาะบนสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย (อย่างเช่นปลายขาตั้งของ Gitzo ตัวนี้) เพื่อเพิ่มความมั่นคงในสภาพที่ดินมีความนุ่มหรือแม้แต่ในหิมะและทราย
ขันให้แน่น
ก่อนที่คุณจะถ่ายภาพ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณขันจุดยึดทุกจุดอย่างแน่นหนาแล้ว และอย่าลืมตรวจสอบบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างกล้องและหัวขาตั้งกล้องด้วยเช่น กัน
เพิ่มน้ำหนักให้กับขาตั้งกล้อง
ในสภาพอากาศที่มีลมแรง แม้แต่ขาตั้งกล้องที่มั่นคงก็สามารถสั่นไหวได้เมื่อเราใช้งานด้วยการยืดขา ตั้งกล้องออกจนสุด ขาตั้งกล้องจำนวนมากจะมีตอขอบริเวณปลายแกนกลาง คุณสามารถใช้ตะขอนี้ห้อยกระเป๋ากล้องที่มีน้ำหนักเพื่อช่วยเสริมความมั่นคง ให้กับขาตั้งกล้องได้
อธิบายการตั้งค่ากล้องวิธีถ่ายภาพให้คมชัด
เปิดระบบลดการสั่นสะเทือน
ไม่ว่าระบบนี้จะอยู่ในกล้องหรือในเลนส์ที่คุณใช้ ระบบลดการสั่นสะเทือนจะสร้างความแตกต่างระหว่างภาพที่นุ่มกับภาพที่คมชัดได้ ให้เลือกโหมดการทำงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งมักจะมีให้เลือกระหว่างโหมดวัตถุที่อยู่นิ่งและโหมดวัตถุเคลื่อนไหว
ตรวจค่าความไวชัตเตอร์
ถ้าคุณถ่ายด้วยโหมด Aperture Priority คุณก็อาจจะละเลยค่าความไวชัตเตอร์ได้ คุณจำเป็นต้องตรวจดูว่าค่าความไวชัตเตอร์ที่ใช้นั้นไวพอที่จะหยุดการเคลื่อน ไหวของคุณและตัวแบบ อย่างในภาพนี้ เราใช้ค่า 1/250 วินาทีที่ไวพอสำหรับเลนส์ 200 มม.
ถือให้มั่นคง
ประทับกล้องให้ติดกับหน้าผากของคุณ และใช้มือประคองเลนส์ (เราหมุนฐานเสียบขาตั้งกล้องไว้ด้านบน เพื่อที่จะถือกระบอกเลนส์ได้ถนัดมากขึ้น) วางข้อศอกบนพื้นที่มั่นคง และวางนิ้วบนปุ่มลั่นชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ
- ช่องรับแสงส่งผลต่อความคมชัดอย่างไร?
การเลือกช่องรับแสงจะมีผลต่อระยะชัดลึกภายในภาพ หรือสัดส่วนของภาพที่จะปรากฏเป็นความคมชัดจากจุดที่คุณโฟกัส ช่องรับแสงขนาดใหญ่ (ตัวเลขเอฟนัมเบอร์ต่ำ อย่างเช่น f/2.8 หรือ f/4) จะลดระยะชัดลึกลง ขณะที่ช่องรับแสงเล็ก (ตัวเลขเอฟนัมเบอร์สูง อย่างเช่น f/16 และ f/22) จะเพิ่มระยะชัดลึก
ช่องรับแสงขนาดเล็กต้องใช้ค่าการเปิดรับแสงที่นานขึ้นในสภาพแสงน้อย สิ่งนี่ทำให้คุณต้องใช้ขาตั้งกล้องเพื่อรักษากล้องให้นิ่ง อย่างไรก็ตามช่องรับแสงที่เล็กมากๆ ก็อาจทำให้เกิดภาพที่ฟุ้งเบลอเนื่องจากเอฟเฟ็คท์ความฟุ้งแสง (Diffraction) ซึ่งแสงจะหักเหกระจัดกระจายเมื่อต้องลอดผ่านรูที่มีขนาดเล็กมากๆ
สิ่งที่ควรทำเมื่อถ่ายภาพด้วยการใช้มือถือกล้องก็คือการเพิ่มค่า ISO เพื่อให้เซ็นเซอร์มีความไวแสงมากขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถใช้ช่องรับแสงที่มีขนาดเล็กและความไวชัตเตอร์ที่ สูงพอที่จะให้ภาพที่ไม่สั่นไหว อย่างไรก็ตามคุณภาพของภาพก็จะลดลงตามค่า ISO ที่สูงขึ้น
- เราควรเพิ่มค่า Sharpness ในเมนูกล้องถ่ายภาพหรือไม่?
ถ้าคุณถ่ายภาพด้วยไฟล์ JPEG วิธีที่ดีที่สุดก็คือการตั้งค่า Sharpness ในกล้องให้ต่ำเพื่อเก็บรายละเอียดทุกอย่างให้มากที่สุด จากนั้นค่อยเพิ่มความคมชัดในขั้นตอนการปรับแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop หรือโปรแกรมตกแต่งภาพอื่นๆ ถ้าคุณตั้งค่าความคมชัดในขั้นตอนการถ่ายภาพสูงเกินไป ภาพของคุณก็อาจจะเกิดจุดดวงที่น่าเกลียดภายในภาพ รวมถึงคุณภาพโดยรวมที่จะลดต่ำลงซึ่งคุณไม่สามารถแก้ไขได้ในภายหลัง
เพื่อคุณภาพที่ดีที่สุด คุณจึงควรถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถควบคุมความคมชัดในขั้นตอนการปรับแต่งภาพได้อย่าง ละเอียด นอกจากนั้นคุณยังสามารถย้อนกลับไปยังภาพต้นฉบับได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการลอง ปรับแต่งภาพด้วยค่าที่แตกต่างออกไป
คำแนะนำการถ่ายภาพ วิธีการสร้างภาพที่คมชัดยิ่งขึ้นจากเลนส์ทุกๆ ตัว
เทคนิคง่ายๆ ที่จะรับประกันภาพถ่ายที่คมชัดที่สุดจากเลนส์โฟกัสเดี่ยวและเลนส์ซูม
ช่องรับแสงค่ากลางๆ
ช่องรับแสงที่กว้างที่สุดของเลนส์จะให้ระยะชัดลึกที่ตื้นมากๆ (เต็มไปด้วยความเบลอ) ขณะที่ช่องรับแสงที่เล็กที่สุดจะนำไปสู่ภาพที่นุ่มเนื่องจากการฟุ้งตัวของ แสง โดยทั่วไปแล้วเลนส์จะให้ภาพที่คมชัดที่สุดในค่าช่องรับแสงกลางๆ ซึ่งก็จะอยู่ที่ f/8 และ f/11
ซูมค่ากลาง
เมื่อเปรียบเทียบกับเลนส์โฟกัสเดี่ยว เลนส์ซูมนั้นจะมีคุณภาพที่ด้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเลนส์ซูมที่มีช่วงซูมกว้างมากๆ เลนส์ซูมจำนวนมากจะให้ภาพที่คมชัดที่สุดในตำแหน่งที่ห่างจากช่วงปลายทั้งสอง ของช่วงซูม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายของระยะเทเลโฟโต้
กลางเฟรมภาพ
ถ้าคุณได้อ่านบททดสอบเลนส์บ่อยๆ คุณก็จะพบว่าความคมชัดบริเวณขอบภาพจะลดต่ำกว่าบริเวณกลางภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ค่าช่องรับแสงกว้าง ดังนั้นถ้าเป็นไปได้พยายามวางจุดโฟกัสหลักของภาพไว้ตรงกลางเฟรมภาพเพื่อความ คมชัดที่สูงที่สุด
อธิบาย ข้อได้เปรียบของระบบลดการสั่นสะเทือน
มาดูถึงความแตกต่างที่ระบบลดการสั่นสะเทือนสามารถทำได้ ไม่ว่าระบบนั้นจะอยู่ในกล้องหรือเลนส์ก็ตาม
เทคโนโลยีลดการสั่นสะเทือน (Image Stabilization) สามารถช่วยชีวิตคุณได้เวลาที่คุณต้องถือกล้องถ่ายภาพ แม้ว่าระบบนี้จะไม่สามารถรักษาความนิ่งได้ในทุกสถานการณ์ แต่มันก็สามารถให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมในเวลาที่คุณสามารถสร้างความแตกต่าง ระหว่างความคมชัดและความเบลอที่อยู่ห่างกันเพียงไม่กี่สต็อปได้
อย่างในภาพนี้ที่เราใช้ค่าการเปิดรับแสง 1/60 วินาที ที่ f/11 โดยใช้เลนส์ซูม 70-200 มม.ที่มีขนาดใหญ่และหนัก ภาพแรกถ่ายโดยเปิดระบบลดการสั่นสะเทือน (ใช้โหมดตัวแบบที่อยู่นิ่ง) ส่วนภาพที่สองเราปิดระบบนี้เพื่อเปรียบเทียบความคมชัดของภาพทั้งสอง ภาพทั้งสองนี้ดูไม่ต่างกันเวลาดูภาพจากจอ LCD หลังกล้อง แต่เมื่อเราขยายภาพดูเราก็สามารถเห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
สนับสนุนเนื้อหา: www.digitalcamera-thailand.com