พื้นฐานในการควบคุมกล้องถ่ายภาพ
พื้นฐานในการควบคุมกล้องถ่ายภาพ
การปรับค่าแสง หรือที่นักถ่ายภาพรุ่นเก่าๆ เรียกว่า "การตั้งหน้ากล้อง" หมายถึงการปรับให้แสงผ่านเข้าไปกระทบฟิล์มถ่ายภาพ หรือเซนเซอร์รับภาพของกล้องดิจิตอล เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสว่างพอดี ไม่มืดเกินไป หรือสว่างเกินไป การปรับค่าแสง
ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นๆ แล้วว่า การถ่ายภาพก็เหมือนกับการนำเอาแก้วน้ำไปรองน้ำ จะต้องให้น้ำเต็มแก้วพอดี ไม่มากจนล้นแก้ว หรือ น้อยเกินไปจนไม่เต็มแก้ว ซึ่งเหมือนกับการถ่ายภาพที่มีความสว่างพอดี ไม่สว่างมากเกินไป หรือมืดเกินไป การที่จะปรับให้ภาพที่ถ่ายมีความสว่างพอดี ก็จะต้องเปิดรูรับแสง ให้สัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ เช่น ถ้าใช้ขนาดรูรับแสงกว้าง แสงผ่านเข้าไปได้มาก ก็จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง คือเปิดแล้วปิดเร็ว ถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ คือเปิดอยู่นาน ภาพที่ถ่ายก็จะสว่างมากเกินไป แต่ตรงกันข้าม ถ้าเปิดรูรับแสงเล็ก แสงผ่านเข้าไปได้น้อย ก็จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เปิดรับแสงนานๆ เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสว่างพอดี เช่นเดียวกัน
การปรับค่าแสง หรือการตั้งหน้ากล้อง อย่างไรภาพจึงจะมีความสว่างพอดีนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 อย่าง คือ ความไวแสง ของฟิล์ม หรือ ความเร็วในการรับภาพของเซนเซอร์กล้องดิจิตอล ความสว่างของแสงในขณะนั้น ขนาดรูรับแสง และ ความเร็วชัตเตอร์ ทั้ง สี่อย่างนี้จะสัมพันธ์กันหมด ความไวแสงที่ต่างกันก็เหมือนแก้วน้ำที่มีขนาดต่างกัน เช่น ความไวแสงต่ำ เหมือนแก้วน้ำใหญ่ๆ ถ้าความไวแสงสูงขึ้น ก็เหมือนแก้วน้ำเล็กลง ความสว่างของแสง เหมือนกับน้ำจากก๊อกน้ำ ที่ไหลแรงบ้าง อ่อนบ้าง ถ้าแดดจัดก็เหมือนน้ำไหลแรง เวลาที่มีเมฆครึ้ม แสงน้อยลง ก็เหมือนน้ำที่ไหลอ่อน การเปิดรูรับแสง ก็เหมือนกับเปิดน้ำ ถ้าเปิดมากน้ำก็จะไหลแรง เปิดน้ำใส่แก้ว ก็จะเต็มเร็ว ต้องรีบปิด ถ้าเปิดหรี่ๆ น้ำก็ไหลน้อย ต้องเปิดนานกว่าน้ำจะเต็มแก้ว ถ้าใช้แก้วใหญ่ ต้องเปิดน้ำมาก หรือเปิดนานกว่าน้ำจะเต็มแก้ว ใช้แก้วเล็ก จะต้องเปิดน้ำน้อยกว่า หรือปิดเร็ว เป็นต้น
ในกล้องปัจจุบัน จะมีเครื่องวัดแสงในตัว เมื่อตั้งค่าความไวแสงไว้แล้ว ก็จะวัดความสว่างของแสง และบอกว่าถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไร จะต้องปรับรูรับแสงขนาดไหน จึงจะได้ภาพที่สว่างพอดี การปรับหน้ากล้องจะมีทั้งแบบปรับอัตโนมัติ หรือจะวัดแสงปรับตั้งเองก็ได้ ทำให้ได้ภาพที่มีความ
สว่างพอดีเสมอทุกภาพ
ความไวแสง (ISO) หมายความว่าอะไร?
ความไวแสง คือ ความสามารถในการรับแสงของฟิล์มสำหรับถ่ายภาพ หรือเซนเซอร์รับภาพของกล้อง International Standards Organization ใช้ตัวย่อว่า ISO ตัวเลขความไวแสงจะบอกไว้ทั้งสองอย่าง เช่น ความไวแสง ISO 100/21 หรือ ISO 200/24 เป็นต้น
ความไวแสงของฟิล์มที่สูงๆ จะทำให้รับแสงได้เร็ว เปรียบเทียบกับแก้วน้ำขนาดต่างๆ ความไวแสงสูงก็เหมือนกับแก้วน้ำใบเล็กๆ ส่วนความไวแสงน้อยๆ ก็เหมือนกับแก้วใบใหญ่ๆ เมื่อเอาไปรองน้ำ แก้วเล็ก น้ำจะเต็มเร็ว แต่แก้วใหญ่ต้องเปิดน้ำนานกว่า เพื่อให้น้ำเต็มแก้วพอดี ไม่ล้น หรือพร่อง ภาพถ่ายที่เราถ่ายมาก็เช่นเดียวกันจะต้องได้รับแสงที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ภาพ ที่มีความสว่างพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป ถ้าเราให้กล้องเปิดชัตเตอร์แล้วปิดเร็ว ภาพก็จะมืด ถ้าเปิดนานมากๆ ก็จะสว่างเกินไป เป็นต้น
การปรับความไวแสงอัตโนมัติ (Auto ISO) ช่วยให้ผู้ใช้ที่ถ่ายภาพทั่วๆ ไป มีความสะดวกสบายมาก เพราะไม่ต้องคอยปรับความไวแสงเอง
รูรับแสง หมายถึงอะไร?
รูรับแสง ก็คือช่องสำหรับให้แสงผ่านเข้าไปกระทบฟิล์มถ่ายภาพ หรือเซนเซอร์รับภาพของกล้องดิจิตอล เลนส์ทุกตัวจะมีช่องรับแสงหรือบางคนก็เรียกว่ารูรับแสง รูรับแสงนี้ สามารถปรับให้กว้างหรือแคบได้ตามต้องการ โดยปรับที่แหวนปรับขนาดรูรับแสงที่ขอบเลนส์ หรือกล้องรุ่นใหม่ๆ จะมีแป้นปรับจากตัวกล้อง (โดยจะต้องปรับขนาดรูรับแสงที่แหวนปรับรูรับแสงที่ขอบเลนส์ไว้ที่เล็กที่สุด เสมอ) แสงสว่างจะผ่านเข้าไปได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความกว้างหรือแคบของรูรับแสง ถ้าเปิดกว้าง แสงจะผ่านเข้าไปได้มาก ถ้าปรับรูรับแสงเล็ก แสงก็จะผ่านเข้าไปได้น้อย
ขนาดของรูรับแสงจะบอกเป็นตัวเลขต่างๆ เรียกว่า factor คือเป็นผลลัพธ์จากการนำเอาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของรูรับแสง ไปหารขนาดความยาวโฟกัสของเลนส์ ผลที่ได้จะเรียกว่าเป็นค่า f stop ตัวอย่างเช่น ความยาวโฟกัสของเลนส์เท่ากับ 50 mm เส้นผ่าศูนย์กลางของรูรับแสงเท่ากับ 30 mm เมื่อนำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของรูรับแสงไปหารความยาวโฟกัส จะได้เท่ากับประมาณ 1.7 ก็จะเขียนว่า f/1.7 ถ้าขนาดรูรับแสงเล็กลงไป ผลลัพธ์จะได้ตัวเลขมากขึ้น เช่น เส้นผ่าศูนย์กลางของรูรับแสง 10 mm หารแล้วจะได้ประมาณ f/5 เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 mm จะได้เท่ากับ f/10 หรือ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 mm จะได้เท่ากับประมาณ f/17 เป็นต้น จะเห็นว่าเมื่อตัวเลขมาก หมายถึงขนาดรูรับแสงเล็กลง ถ้าตัวเลขน้อยคือรูรับแสงกว้าง
รูรับแสงกว้าง ทำให้แสงผ่านเข้าไปได้มาก ถ้าเปิดรับแสงนาน ภาพที่ได้ก็จะสว่างเกินไป แต่ถ้าใช้ขนาดรูรับแสงเล็ก และเปิดรับแสงโดยใช้เวลาน้อยๆ คือ ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ ก็จะได้ภาพที่มืดเกินไป ดังนั้น การใช้ขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์จะต้องให้สัมพันธ์กัน เมื่อเปิดรูรับแสงกว้าง ก็จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง คือเปิดแล้วปิดเร็ว แต่ถ้าใช้ขนาดรูรับแสงเล็ก ก็จะต้องเปิดรับแสงนานมากขึ้น เพื่อให้ภาพที่ถ่ายมามีความสว่างพอดี นั่นเอง
ความเร็วชัตเตอร์ หมายความว่าอะไร?
กล้องถ่ายภาพทุกตัว จะมีม่านสำหรับกันแสงสว่างเข้าไปกระทบฟิล์มถ่ายภาพ หรือเซนเซอร์รับภาพของกล้องดิจิตอล ก่อนที่จะถ่ายภาพ เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ ม่านชัตเตอร์ก็จะเปิดให้แสง (คือภาพที่จะถ่าย) ผ่านเข้าไปกระทบฟิล์ม หรือเซนเซอร์รับภาพ และปิดตามเวลาที่กำหนดไว้ เราเรียกว่า "ความเร็วชัตเตอร์" คือช่วงเวลาในการที่ม่านชัตเตอร์เปิดรับแสงแล้วปิด จะใช้เวลานานมากน้อยเท่าไร
ตัวเลขเวลาที่บอกความเร็วจะใช้เป็นวินาที และเศษส่วนของวินาที เช่น บนแป้นบอกตัวเลขความเร็วชัตเตอร์ เลข 1 คือ 1 วินาทีเต็ม ตัวเลข 2 คือ 1/2 วินาที ตัวเลข 4, 8, 15, 30, 60, 125, 250, 500 เหล่านี้ก็คือ 1/4, 1/8, 1/15, 1/30, 1/60, 1/125 , 1/250 และ 1/500 วินาที ที่เขาไม่เขียนบอกเต็มๆ ก็เพราะเนื้อที่มีน้อยไม่มีที่จะเขียนให้เต็มๆ ได้ กล้องที่บอกความเร็วชัตเตอร์ในจอ LCD ก็จะบอกเช่นเดียวกัน นอกจากกล้องดิจิตอลเล็กๆ มีเนื้อที่ให้เขียนตัวเลขบอกความเร็วชัตเตอร์ได้มาก ก็จะเขียนเต็มๆ ให้รู้ คือ 1/60, 1/125 หรือ 1/250 ถ้าตัวเลขบอกความเร็วชัตเตอร์เปิดนานมากกว่า 1 วินาที ก็จะมีเครื่องหมายรูปฟันหนูอยู่ด้วย เช่น 2", 4", 8", 15" หรือ 30" ตัวเลขเหล่านี้ก็คือ 2 วินาที , 4 วินาที , 8 วินาที, 15 วินาที หรือ 30 วินาที เป็นต้น
การพูดบอกความเร็วชัตเตอร์จะต้องพูดให้เต็มๆ เช่น 1/125 sec. ก็ต้องบอกว่า "เศษหนึ่งส่วนหนึ่งร้อยยี่สิบห้าวินาที" เป็นต้น ถ้าบอกว่า หนึ่งร้อยยี่สิบห้าวินาที ก็เท่ากับ 2 นาทีกว่า ความหมายมันผิดกันมากทีเดียวนะครับ
ในกล้องรุ่นใหญ่ ที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ (Single Lens Reflex หรือ เรียกย่อๆ ว่า SLR) และ กล้องระดับกึ่งโปร (Prosumer) นอกจากโหมด Programmed Auto แล้ว ก็ยังมีระบบ Shutter-Priority Auto ระบบนี้ผู้ใช้กล้องจะเป็นผู้ปรับความเร็วชัตเตอร์เองตามต้องการ กล้องจะปรับขนาดรูรับแสงให้อัตโนมัติ
การทำงานของระบบถ่ายภาพแบบ Shutter-Priority Auto ก็คือ เมื่อผู้ใช้กล้องปรับความเร็วชัตเตอร์ ตามต้องการแล้ว กล้องจะปรับขนาดรูรับแสงให้โดยอัตโนมัติ ผู้ใช้เพียงแต่ยกกล้องขึ้นเล็ง และจัดกรอบภาพตามต้องการ แล้วกดชัตเตอร์ถ่ายภาพเท่านั้น ก็จะได้ภาพที่มีความสว่างพอดีเสมอ แต่ถ้าแสงสว่างน้อย เมื่อปรับความเร็วชัตเตอร์สูงเกินไป กล้องปรับรูรับแสงกว้างสุดแล้วยังไม่พอ ก็จะบอกว่า "LO" คือความสว่างน้อยเกินไป ภาพที่ถ่ายจะมืด จะต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำลงบ้าง จนกว่าคำว่า "LO" หายไป หรือจะถ่ายภาพในที่ที่สว่างมากๆ เช่น กลางแดดจัดๆ พื้นเป็นทราย หรือคอนกรีต หรือหิมะ ถ้าปรับความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากๆ จนกล้องปรับรูรับแสงเล็กสุดแล้วยังไม่พอ จะบอกว่า "HI" คือภาพที่ถ่ายมาจะสว่างมากเกินไป ก็ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้นบ้าง จนคำว่า "HI" หายไป
ระบบถ่ายภาพแบบนี้ เหมาะสำหรับการปรับความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อถ่ายภาพสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวเร็วๆ ให้เห็นหยุดนิ่ง หรือเวลาที่ใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมากๆ หรือปรับซูมเลนส์ไปที่ช่วงยาวๆ ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อไม่ให้ภาพเป็นรอยไหว ส่วนการถ่ายภาพน้ำตกให้เห็นสายน้ำไหลเป็นสาย ก็จะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ และการแพนกล้องตามสิ่งเคลื่อนไหว ก็ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ เช่นเดียวกัน เป็นต้น
โหมด Shutter-Priority Auto แล้ว ยังมีโหมดอะไรอีก ?
ในกล้องรุ่นใหญ่ ที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ (Single Lens Reflex หรือ เรียกย่อๆ ว่า SLR) และ กล้องระดับกึ่งโปร (Prosumer) นอกจากโหมด Shutter-Priority Auto แล้ว ก็ยังมีระบบ Aperture-Priority Auto ระบบนี้ผู้ใช้กล้องจะเป็นผู้ปรับขนาดรูรับแสงเองตามต้องการ แล้วกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้อัตโนมัติ
การทำงานของระบบถ่ายภาพแบบ Aperture-Priority Auto ก็คือ เมื่อผู้ใช้กล้องปรับขนาดรูรับแสง ตามต้องการแล้ว กล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้โดยอัตโนมัติ ผู้ใช้เพียงแต่ยกกล้องขึ้นเล็ง และจัดกรอบภาพตามต้องการ แล้วกดชัตเตอร์ถ่ายภาพเท่านั้น ก็จะได้ภาพที่มีความสว่างพอดีเสมอ แต่ถ้าแสงสว่างน้อย เมื่อปรับรูรับแสงเล็กเกินไป กล้องปรับความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดแล้วยังไม่พอ ก็จะบอกว่า "LO" คือความสว่างน้อยเกินไป ภาพที่ถ่ายจะมืด ก็ต้องปรับรูรับแสงให้กว้างขึ้นบ้าง จนกว่าคำว่า "LO" หายไป หรือจะถ่ายภาพในที่ที่สว่างมากๆ เช่น กลางแดดจัดๆ พื้นเป็นทราย หรือคอนกรีต หรือหิมะ ถ้าปรับรูรับแสงกว้างมากๆ จนกล้องปรับความเร็วชัตเตอร์สูงสุดแล้วยังไม่พอ จะบอกว่า "HI" คือภาพที่ถ่ายมาจะสว่างมากเกินไป ก็ต้องปรับรูรับแสงให้เล็กลงบ้าง จนคำว่า "HI" หายไป
ระบบถ่ายภาพแบบนี้ เหมาะสำหรับการปรับรูรับแสงให้กว้าง เพื่อให้มีช่วงความชัดลึกน้อยๆ เวลาถ่ายภาพบุคคล ที่ต้องการให้ชัดเฉพาะบุคคลที่จะถ่าย และให้ฉากหลังพร่ามัว ทำให้ภาพบุคคลที่ถ่ายเห็นเด่นขึ้น หรือปรับรูรับแสงเล็กๆ เพื่อให้ภาพมีช่วงความชัดลึกมากๆ เช่น การถ่ายภาพทิวทัศน์ ถ่ายภาพหมู่บุคคล หรือภาพบุคคลร่วมกับทิวทัศน์ที่สวยงาม ต้องการให้ภาพชัดตลอดตั้งแต่ใกล้ๆ ไปถึงไกลสุด เป็นต้น