"แบล็คเบอร์รี่" รอปาฏิหาริย์ จุดจบ นวัตกรรมสมาร์ทโฟน ?

"แบล็คเบอร์รี่" รอปาฏิหาริย์ จุดจบ นวัตกรรมสมาร์ทโฟน ?

"แบล็คเบอร์รี่" รอปาฏิหาริย์ จุดจบ นวัตกรรมสมาร์ทโฟน ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"แบล็คเบอร์รี่" รอปาฏิหาริย์ จุดจบ นวัตกรรมสมาร์ทโฟน ?

อดีตผู้เคยยืนอยู่บนจุดสูงสุดของสมรภูมิธุรกิจสมาร์ทโฟน "แบล็คเบอร์รี่" ตกอยู่ในภาวะยากลำบากยิ่งจนต้องออกมาหาผู้สนใจซื้อธุรกิจ

เดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า บริษัท รีเสิร์ช อิน โมชั่น (ริม) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน "แบล็คเบอร์รี่" เตรียมเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัท "จำกัด" จากดีลมูลค่า 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หากตกลงกับ "แฟร์แฟ็กซ์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป" สำเร็จ

ปัจจุบันแฟร์แฟ็กซ์เป็นถือหุ้นใหญ่ที่สุดครองสัดส่วนหุ้น 10% หากดีลซื้อครั้งนี้ราบรื่น แฟร์แฟ็กซ์จะจ่ายเงินให้ผู้ถือหุ้นอีก 90% ที่เหลือหุ้นละ 9 เหรียญสหรัฐ

การตัดสินใจทางธุรกิจในครั้งนี้ทำให้ "แบล็คเบอร์รี่" ต้องออกจากตลาดหุ้นแนสแดค กลายเป็นบริษัทจำกัดทั่ว ๆ ไป
บริษัทเคยมีมูลค่าหุ้นสูงถึงหุ้นละ 148 เหรียญสหรัฐ ในมิถุนายนปี 2551 แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 8 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศสัญญาการขายบริษัทให้ "แฟร์แฟ็กซ์" มูลค่าหุ้นขยับขึ้น 2% มาอยู่ที่ 8.85 เหรียญสหรัฐทำให้มูลค่ารวมของปัจจุบันอยู่ที่ 4,650 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้กระนั้น สัญญาซื้อขายบริษัทก็ยังไม่ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 เดือนจากนี้ในการตรวจสอบข้อมูลสถานะทางการเงินของแบล็คเบอร์รี่ กระบวนการน่าจะเสร็จสิ้นในต้นพฤศจิกายน แต่ "ริม" ก็ยังเปิดรับข้อเสนอการซื้อที่ดีกว่าหากมีผู้สนใจรายใหม่

เวลานี้สัญญาระหว่างแฟร์แฟ็กซ์และแบล็คเบอร์รี่ยังเป็นแค่ "จดหมายแสดงความจำนง" เท่านั้น ยังห่างจากการเป็นสัญญาควบรวมอีกหลายขั้น ทั้งแฟร์แฟ็กซ์ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการหาเงินทุน

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า แบล็คเบอร์รี่จะพลิกสถานการณ์ให้ตนเองได้หรือไม่ โดยพวกเขาคาดการณ์ในเชิงลบไว้ก่อนที่แบล็คเบอร์รี่จะประกาศขายบริษัท

ขณะที่ "แบล็คเบอร์รี่" ออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า รายได้รวมน่าจะห่างจากที่เคยคาดการณ์ไว้พอสมควร อาจทำได้แค่ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ คลาดเคลื่อนจากเป้าที่ 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

"สจ๊วต เจฟฟรี่" นักวิเคราะห์ บริษัทโนมูระแสดงความเห็นว่า นี่อาจเป็นการพลาดเป้าที่แย่ที่สุดในรอบ 17 ปีของวงการเทคโนโลยี ทั้งแบล็คเบอร์รี่ยังลงบัญชีหนี้สูญเป็นมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากแบล็คเบอร์รี่ 10 ทำยอดขายได้น่าผิดหวัง พร้อมเผยแผนปลดพนักงานอีก 4,500 ตำแหน่ง

"มาร์ค ซู" นักวิเคราะห์ บริษัท อาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ ให้ข้อมูลกับนักลงทุนว่า แบล็คเบอร์รี่อาจสูญเงินทั้งหมดในอีก 12-24 เดือนข้างหน้า หากไม่เดินหน้าปลดพนักงานอีกครั้ง โดยมองว่าบริษัทใช้เงินเป็นจำนวนมาก ขณะที่มูลค่าสิทธิบัตรลดค่าลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคู่แข่งเริ่มลดความสนใจในการเข้าซื้อบริษัทเพื่อหวังประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาเพียงอย่างเดียว

"ไมเคิล เกโนวีส" บริษัท เอ็มเคเอ็ม พาร์ตเนอร์ส คาดการณ์ว่า แบรนด์แบล็คเบอร์รี่จะหายไปจากตลาดโทรศัพท์มือถือในไม่ช้าพร้อมกับระบบปฏิบัติการ "บีบี" ส่วนชื่อ "แบล็คเบอร์รี่" จะปรากฏในฐานะ "แอปพลิเคชั่น" สนทนา "แบล็คเบอร์รี่เมสเซนเจอร์" บน "ไอโอเอสและแอนดรอยด์" เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชั่นดังกล่าวเพิ่งจะเลื่อนการเปิดตัวจากปัญหาข้อมูลรั่วไหล ทำให้มีผู้ดาวน์โหลดแบล็คเบอร์รี่เมสเซนเจอร์ไปใช้ก่อนกำหนดการกว่า 1 ล้านคน

"ไมเคิล" ประมาณการว่า มูลค่าหุ้นที่แท้จริงของแบล็คเบอร์รี่ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐ/หุ้น แบ่งเป็นส่วนธุรกิจบริการของบริษัทประมาณ 5 เหรียญสหรัฐ/หุ้น มูลค่าของระบบปฏิบัติการประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ และมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาอีก 1 เหรียญสหรัฐ

"เดอะ การ์เดี้ยน" ยังตั้งข้อสงสัยว่า การขายบริษัทให้แฟร์แฟ็กซ์ในครั้งนี้จะเป็นทางออกของแบล็คเบอร์รี่และปูทางไปสู่อนาคตได้จริงหรือไม่ ถึงแม้เหตุการณ์นี้จะแสดงให้เห็นว่า แบล็คเบอร์รี่ยังคงมีผลงานดึงดูดให้บริษัทอื่นสนใจ สวนกระแสความเชื่อของนักวิเคราะห์ในวงการ แต่สัญญาครั้งนี้ก็ยังดูไม่มีน้ำหนัก และไม่ช่วยทำให้ตลาดมองเห็นความแน่นอนของบริษัทมากขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นประโยชน์แค่เรื่องการดึงดูดให้มีคนสนใจเข้าซื้อแบล็คเบอร์รี่มากกว่าเดิมเท่านั้น

"มาร์คัส โวลเซ่น" คอลัมนิสต์ เว็บไซต์และนิตยสารไอที "ไวร์ด" แสดงความคิดเห็นว่า การที่แบล็คเบอร์รี่จะออกจากตลาดหุ้นเพื่อยืนสถานะบริษัทจำกัดไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเขามองว่า แบล็คเบอร์รี่เสียจุดยืนในตลาดไปเรียบร้อยตั้งแต่วันที่แอปเปิลประกาศเปิดตัว "ไอโฟน" แล้ว เนื่องจากไอโฟนได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในตลาดสมาร์ทโฟน และแบล็คเบอร์รี่ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใหม่กว่าออกมาแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าการหายไปของแบรนด์แบล็คเบอร์รี่เป็นสัญญาณให้เห็นถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในตลาดโทรศัพท์ต่อจากนี้ พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่า จุดจบของแบล็คเบอร์รี่อาจเป็นเหมือนจุดจบของยุคการพัฒนานวัตกรรมโทรศัพท์มือถืออย่างก้าวกระโดด สังเกตได้จากแม้แต่แบรนด์ที่เข้ามาตีแบล็คเบอร์รี่อย่าง "แอปเปิล" เริ่มถึงทางตันแล้ว โดย "ไอโฟน" รุ่นใหม่ที่ออกมาคล้ายกับไอโฟนรุ่นก่อนหน้าเป็นอย่างมาก จนอาจเป็นจุดบ่งชี้ว่า "โทรศัพท์ได้เดินมาถึงจุดอิ่มตัวของเทคโนโลยี" จนไม่เหลือพื้นที่ให้พัฒนาต่อไปมากนัก

แม้กระนั้น ข้อดีของการที่เทคโนโลยีของตลาดใดตลาดหนึ่งถึงจุดอิ่มตัวก็คือ เป็นการเปิดตัวโอกาสธุรกิจให้มีผู้ประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ เช่น อุปกรณ์ไอทีที่เหมาะกับการสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา "กูเกิลกลาส" หรือ "สมาร์ทวอตช์" ที่เปรียบเป็นเหมือน "ไอโฟนสำหรับสวมตา" หรือ "นวัตกรรมใหม่" ลงมาบ้าง ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคและหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่า เราดึงศักยภาพของสมาร์ทโฟนในมือออกมาใช้งานได้คุ้มค่าสมกับสเป็กเครื่องและราคาค่าตัวของมันหรือยัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook