สิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น1800 MHz เหตุที่ไม่ใช้มาตรการอื่นแทนป้องกันซิมดับ (ตอน 2)

สิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น1800 MHz เหตุที่ไม่ใช้มาตรการอื่นแทนป้องกันซิมดับ (ตอน 2)

สิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น1800 MHz เหตุที่ไม่ใช้มาตรการอื่นแทนป้องกันซิมดับ (ตอน 2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น1800 MHz เหตุที่ไม่ใช้มาตรการอื่นแทนป้องกันซิมดับ (ตอน 2)

ซิมดับ - ตอนที่แล้วเราได้กล่าวถึงเหตุและผลที่กสทช.ต้องออกมาตรการป้องกันซิมดับ เพื่อคุ้มครองประชาชนกว่า 17 ล้านคนที่อยู่ในระบบคลื่น 1800 MHz ที่กำลังจะหมดสัญญาในวันที่ 15 กันยายน นี้ โดย กสทช.มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายรองรับครบถ้วน


ในตอนนี้จะมาทำความเข้าใจว่าทำไมจึงต้องใช้ประกาศป้องกันซิมดับ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แทนที่จะเป็นมาตรการอื่นๆ ที่น่าจะเหมาะสมหรือแก้ที่ต้นเหตุโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเร่งปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่, การเร่งรัดประมูล หรือการเร่งรัดการโอนย้ายของประชาชน และผู้ให้บริการ

การแก้ไขปัญหาก่อนออกประกาศป้องกันซิมดับนั้น กสทช.พิจารณาในทุกหัวข้อที่กล่าวมาทั้งหมด แต่พบว่ามีปัญหาแตกต่างกันไปทั้งเงื่อนไขเวลา และการปฏิบัติ อาทิ ข้อเสนอให้ปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แทนการออกประกาศนั้น ก็มีความเสี่ยงสูง แม้แต่นักวิชาการที่เสนอความเห็นในเรื่องนี้ก็มีความเห็นขัดแย้ง แตกต่างกันไป เพราะการแก้ไขแผนแม่บทฯมีขั้นตอนตามกฎหมายที่จะต้องจัดประเมินผลและจะต้องปรับปรุงในภาพรวม หากไปแก้ไขเฉพาะบางประเด็นก็จะถูกโจมตีว่าเลือกปฏิบัติและช่วยเหลือผู้ประกอบการบางรายทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

กรณีเร่งรัดประมูลคลื่น 1800 MHz นั้น หากกสทช. ปฏิบัติตามแนวทางนี้ก็ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ในขณะที่ปัจจัยต่างๆ ไม่พร้อม ซึ่งจะเป็นการจัดสรรคลื่นที่ขาดประสิทธิภาพ ส่วนคำถามว่าเหตุใดกสทช.จึงไม่เร่งจัดประมูลก่อนหรือทันทีที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยข้อเท็จจริงแล้วกสทช.สามารถประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ทันที แต่หากใช้ห้วงเวลาดังกล่าวเป็นตัวตั้งโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อาจทำให้ประเทศชาติเสียหายและประชาชนไม่ได้ประโยชน์สูงสุด

ประกอบกับไม่ปรากฏทั้งในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ที่กำหนดให้เร่งประมูล"ทันที"หลังหมดอายุสัมปทานหรือ "ก่อน" สัญญาสัมปทานสิ้นสุด มีเพียงมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ "ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด" ฉะนั้นการจะจัดประมูลเมื่อใด อย่างไรจึงอยู่ในดุลพินิจของ กสทช. ซึ่งต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญเป็นประการสำคัญ

หาก กสทช. เห็นว่าถ้าเร่งจัดประมูลเร็วเกินไป ทั้งๆที่เพิ่งออกใบอนุญาต 3 จี ยังไม่ถึงปี หากประมูลไปแล้วไม่เกิดประโยชน์สูงสุด กสทช. ย่อมไม่สามารถจัดประมูลได้ ตัวอย่างเช่น หากมีการประมูล 1800 MHz ทันที ณ ปัจจุบัน และผู้ชนะประมูลได้เลือกไม่ทำ 2G หรือ 3G เพราะมีอยู่แล้วในตลาด แต่ก้าวข้ามไปทำ 4G ที่มีลักษณะการบริการที่เน้นการรองรับข้อมูล (data) อย่างเดียว ขณะที่การให้บริการเสียง (voice) ใช้งานได้ไม่ดีนักเพราะเป็น VoIP ซึ่งในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกก็ทราบข้อจำกัด และยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

ดังนั้น หากกสทช. เห็นว่าเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยังไม่พร้อม อันจะก่อให้เกิดผลกระทบไปยังผู้บริโภค แต่ยังเร่งรัดจัดประมูลอาจเกิดความเสียหายตามมา เช่น ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล หรือผู้เข้าประมูลล้วนเป็นรายเดิม ประมูลได้แต่ไม่สามารถ roll out การให้บริการได้ ฯลฯ ประชาชนก็จะไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

นอกจากนี้การเร่งประมูลโดยยึดเอาวันเข้ารับตำแหน่งของกสทช. เป็นการตั้งโจทย์ที่ไม่ถูกต้อง เพราะควรนับตั้งแต่ กสทช. ปฏิบัติภารกิจประมูลคลื่น 2100 MHz (3G) เหตุผลที่ให้เริ่มนับตั้งแต่การจัดประมูล 3G เพราะเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเดินหน้าออกใบอนุญาต 3G เมื่อเดือนธันวาคม 2555 กสทช. ก็เร่งพิจารณาการดำเนินการกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานบนคลื่น 1800 MHz ทันที

ที่สำคัญการประมูลคลื่นความถี่ในกรณีที่ไม่มีปัญหาการขาดแคลนคลื่นและปัจจัยต่างๆไม่พร้อม จะทำให้การจัดสรรคลื่นไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะกสทช. เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดประมูลคลื่น 2100 MHz ที่แต่ละค่ายนำไปให้บริการ 3G จึงถือว่าคลื่นใหม่ที่เพิ่งประมูลมีอยู่ในตลาด ณ ขณะนี้ 45 MHz รวมกับที่ทศท. ถือครองอยู่อีก 15 MHz รวมเป็น 60 MHz จึงมีคลื่นอยู่เพียงพอสำหรับให้บริการแก่ประชาชนจำนวน 60 ล้านคน

นอกจากนี้คุณลักษณะของคลื่น 1800 MHz เป็นคลื่นที่มีขนาด 25 MHz และมีช่วงละ 12.5 ที่ไม่ติดกัน ทำให้มีเศษคลื่น 2.5 ใช้งานได้ไม่เต็มที่ โดยใช้งานจริงได้ข้างละ 10 MHz เท่านั้น จึงควรศึกษาให้รอบคอบว่าจะออกแบบการประมูลอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด และจัดสรรได้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับมาตรการเร่งการโอนย้ายโดยมีผู้อ้างข้อมูลว่า หากขยายศักยภาพการโอนย้ายให้ได้จาก 40,000 เลขหมาย/วัน ซึ่งกำลงดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็น 300,000 เลขหมาย/วันแล้ว จะสามารถโอนย้ายลูกค้าได้ทันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยไม่ต้องออกประกาศป้องกันซิมดับ ถือเป็นความเข้าใจผิดถึงที่สุด

เพราะแม้จะเพิ่มความจุของระบบใน clearing house ได้ถึง 300,000 เลขหมาย/วันแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ให้บริการสามารถเพิ่มขีดความสามารถระบบของตนตามไปได้ด้วย เพราะขีดความสามารถของแต่ละค่ายไม่เท่ากัน ตัวเลข ณ ปัจจุบันผู้ประกอบการจำนวน 5 ค่าย สามารถโอนย้ายเฉลี่ยค่ายละ 60,000 เลขหมาย/วัน เท่านั้น

นอกจากนี้การเร่งประชาสัมพันธ์โอนย้ายลูกค้าก่อนหมดสัญญาสัมปทานอาจไปกระทบสิทธิตามสัญญาสัมปทานที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญจนถึงวันที่สัมปทานหมดอายุ

เพราะตามบทเฉพาะกาล มาตรา 305 ของรัฐธรรมนูญกำหนดคุ้มครองสิทธิการใช้คลื่นความถี่ของคู่สัญญาสัมปทานจนกว่าสัมปทานนั้นจะสิ้นผล ดังนั้น หาก กสทช. ไปเร่งการโอนย้ายลูกค้าก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2556 ก็จะสุ่มเสี่ยงว่าไปกระทบสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐเสียรายได้ ขณะที่จะมีผลเป็นการไปเอื้อผู้ประกอบการที่อยู่นอกสัญญาสัมปทาน

กสทช. จึงต้องดำเนินมาตรการต่างๆด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงฐานอำนาจตามกฎหมายที่รองรับไว้โดยครบถ้วน ไม่ไปก้าวล่วงหรือกระทบสิทธิผู้ใด เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ด้วยเหตุและผลดังกล่าวทำให้กสทช. ต้องออกประกาศฯเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หาก กสทช. ไม่ออกประกาศรองรับเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งๆ ที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าจะเกิดผลกระทบ แล้วเกิดความเสียหายขึ้น บอร์ด กสทช. ก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือแม้จะเร่งรัดการประมูล หรือเร่งรัดการโอนย้ายได้รวดเร็วก่อนหมดสัญญาสัมปทานก็ตาม แต่ในข้อเท็จจริงแล้วยังต้องมีมาตรการป้องกันซิมดับอยู่ดี เพราะจะมีช่วงเวลาสุญญกาศระหว่างเปลี่ยนผ่านจากระบบเก่าเป็นสัญญาสัมปทาน ไปเป็นระบบใหม่แบบใบอนุญาต สาเหตุสำคัญคือเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค นั่นเอง

มาตรการป้องกันซิมดับโดยให้ผู้รับสัมปทานเดิมให้บริการต่อไปจนกว่าการโอนย้าย หรือประมูลคลื่นความถี่จะแล้วเสร็จ ไม่ใช่การขยายสัญญาสัมปทานและไม่ใช่การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ อย่างที่มีความเข้าใจผิด หรือพยายามอธิบายโดยบอกข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะเหตุผลหลักของประกาศฯนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำคัญมีกำหนดเวลาสิ้นสุดแน่ชัดภายใน 1 ปี และผู้ให้บริการ "ห้ามรับลูกค้าใหม่" เพิ่มด้วย

ทั้งหมดนี้คือเหตุและผลสำคัญว่าเหตุใดกสทช.จึงต้องมีประกาศป้องกันซิมดับ แทนที่จะใช้มาตรการหรือขั้นตอนอื่นๆ

ตอนหน้าเรามาทำความเข้าใจว่าการประกาศห้ามซิมดับ นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอย่างที่มีความกังวลกัน และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง หรือให้ใช้คลื่นความถี่ฟรีแต่อย่างใด หากแต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตกแก่ประชาชนนั่นเอง

(ติดตามตอนต่อไป >>> สิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น1800 MHz พันธกิจกสทช.-ป้องกันซิมดับ (ตอน 1) )

โดย.... อัญชัญ พัฒนประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook