สิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น1800 MHz พันธกิจกสทช.-ป้องกันซิมดับ (ตอน 1)
สิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz พันธกิจกสทช.-ป้องกันซิมดับ (ตอน 1)
ซิมดับ - ยังเป็นปัญหาและข้อติดใจสงสัยของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเครือข่าย 1800 MHz ซึ่งถือว่าเป็นระบบคลื่นความถี่ที่มีผู้ใช้บริการราวๆ 17 ล้านคน กรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน นี้ ว่าจะเกิดปรากฎการณ์ "ซิมดับ" หรือไม่? รวมไปถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีอำนาจออกมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้บริการหรือไม่?
กรณีซิมดับ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่มีความพยายามต่อรองให้ กสทช. ที่มีพันธกิจจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ยืดอายุสัมปทานออกไป เพราะก่อนหน้านี้กสทช.ดำเนินการประมูลเครือข่าย 2100 MHz เพื่อนำไปใช้ในบริการ 3จี เป็นผลสำเร็จ จนสามารถออกใบอนุญาต 3จี ได้ในเดือนธันวาคม 2555 จากนั้นเตรียมการนำคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่กำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทาน กลับมาจัดสรรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
แต่เนื่องจากระบบ 1800 MHz ซึ่งจะจัดสรร มีความซับซ้อนและมีเงื่อนไขอื่นๆ มากกว่า จึงต้องใช้เวลาและขั้นตอนยาวนานกว่าการประมูลเครือข่าย 2100 MHz เพราะเครือข่าย 2100 MHz เป็นเครือข่ายใหม่ไม่มีผู้ใช้บริการอยู่ในระบบ แต่คลื่น 1800 MHz เป็นคลื่นที่มีการนำไปใช้ให้บริการ 2 จี ยังมีผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านคนอยู่ในระบบ
รวมทั้งช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต 3จี กำลังเร่งสร้างโครงข่ายและแข่งขันเปิดให้บริการ 3จี ระบบต่างๆ จึงต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและเกิดประสิทธิภาพตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับคลื่น 1800 MHz เนื่องจากผู้ให้บริการเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มเดียวกัน
ด้วยเงื่อนไขของระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านนี้เอง ทำให้ประชาชนตระหนกกับข้อมูลคลาดเคลื่อนต่อการดำเนินการของ กสทช. การได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนและนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เกิดความกระจ่าง เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดจนนำไปสู่การโต้แย้งคัดค้านการดำเนินการของ กสทช. อันจะทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตฯ เกิดอุปสรรคและเกิดผลเสียหายต่อประชาชน
ด้านกสทช.ยืนยันว่าปัญหาซิมดับไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะออกมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองไว้แล้ว โดยผู้ให้บริการทั้งหมดยังให้บริการต่อไปแม้สิ้นสุดสัมปทาน จนกว่าผู้ใช้บริการทั้งหมดกว่า 17 ล้านคนจะย้ายค่ายแล้วเสร็จ
การที่กสทช.ออกมาตรการป้องกันซิมดับ เพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนผ่านสิทธิ์ในคลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจมาเป็นของ กสทช.ตามกฎหมาย อีกทั้งปัญหาการประมูลมีความซับซ้อนมากกว่าการจัดประมูลคลื่น 3 จี ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีบางฝ่ายยกประเด็นข้อกฎหมายและมีเรื่องผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบขึ้นมาเป็นเงื่อนไข
ฉะนั้นหาก กสทช.ดำเนินการจัดประมูลคลื่นไปอย่างเดียว หรือเร่งการโอนย้ายเลขหมายไปอย่างเดียว หากเกิดฟ้องร้องคดีทำให้ไม่สามารถจัดประมูลได้เสร็จสิ้นก่อนสัมปทานสิ้นสุด หรือไม่สามารถโอนย้ายผู้ใช้บริการได้แล้วเสร็จก่อนสัมปทานสิ้นสุด จะมีผู้ใช้บริการคงค้างอยู่ในระบบ ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงเรื่องซิมดับที่มีแนวโน้มอย่างสูงที่จะเกิดขึ้น และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ กสทช.จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายเยียวยาไว้ พร้อมๆกับดำเนินการประมูลแบบคู่ขนานกันไป
การออกประกาศห้ามซิมดับ เป็นมาตรการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ให้บริการ และภาครัฐ
การออกประกาศห้ามซิมดับ เป็นมาตรการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ให้บริการ และภาครัฐท้ายสุดที่ยังมีข้อมูลคลาดเคลื่อนคือ กสทช.มีอำนาจออกประกาศห้ามซิมดับ โดยมีกฎหมายรับรองหรือไม่?
ยืนยันได้ว่ากสทช.มีอำนาจตามมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ต้องกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมทั้งอำนาจตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่ต้องกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ กำกับดูแลการใช้เลขหมายอันเป็นทรัพยากรโทรคมนาคม และคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้บริโภค
และตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่กำหนด "หน้าที่" ห้ามหยุดให้บริการโดยพลการ หน้าที่นี้ทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนล้วนมีอยู่แล้วในฐานะที่เป็นผู้รับใบอนุญาต โดยต้องแยกเรื่อง "คลื่น"และ "การเยียวยาลูกค้า" พิจารณาแยกจากกันคนละส่วน เพราะแม้สิทธิการใช้คลื่นสิ้นสุดไปแล้วแต่หน้าที่ของผู้ให้บริการยังคงมีอยู่
นอกจากนี้ตามหลักกฎหมายปกครอง บริการโทรคมนาคมที่เป็นการบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลง เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายปกครอง และ กสทช. เป็นองค์กรฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่กำกับดูแลการจัดทำบริการสาธารณะให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่กระทบกับประชาชนที่คงค้างในระบบหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
การคุ้มครองผู้ใช้บริการในลักษณะเดียวกันนี้เป็นแนวทางบังคับใช้ทุกกรณีที่เมื่อหมดอายุสัญญาสัมปทาน เพราะที่ไม่ว่าคลื่นใด ค่ายใดก็ตาม เมื่อหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ทุกกรณีจะมีผู้ใช้บริการเดิมเหลือคงค้างอยู่ในระบบ การป้องกับซิมดับตามประกาศที่ออกมาจึงจำเป็นกับทุกกรณีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่การขยายระยะเวลาให้กับค่ายใดค่ายหนึ่งเป็นพิเศษ
ทำสำคัญประกาศฯนี้เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติของทุกฝ่ายให้ชัดเจน ตามอำนาจที่มีอยู่ก่อนแล้ว หาใช่การสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมาลอยๆ ให้ กสทช. โดยไร้ที่มาที่ไปทางกฎหมายแต่อย่างใด
ส่วนตอนหน้ากสทช.จะทำความเข้าใจว่าเหตุใดจึงออกมาตรการป้องกันซิมดับ แทนที่จะเร่งประมูลคลื่น 1800 MHz หรือเร่งรัดให้ผู้ใช้บริการรีบย้ายค่ายก่อนหมดสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่พอสมควร
(ติดตามตอนต่อไป >>> สิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น1800 MHz เหตุที่ไม่ใช้มาตรการอื่นแทนป้องกันซิมดับ (ตอน 2))
โดย.... อัญชัญ พัฒนประเทศ