คิดก่อนคลิก ! "โหลด-แชร์-ช็อป" เสี่ยงละเมิดลิขสิทธิ์-แฮกข้อมูล

คิดก่อนคลิก ! "โหลด-แชร์-ช็อป" เสี่ยงละเมิดลิขสิทธิ์-แฮกข้อมูล

คิดก่อนคลิก ! "โหลด-แชร์-ช็อป" เสี่ยงละเมิดลิขสิทธิ์-แฮกข้อมูล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คิดก่อนคลิก ! "โหลด-แชร์-ช็อป" เสี่ยงละเมิดลิขสิทธิ์-แฮกข้อมูลต้น

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนที่แพร่หลายและถกเถียงกันอย่างหนักในโซเซียลเน็ตเวิร์กว่าเป็น เรื่องจริงหรือไม่ กรณีคนไทยโดนจับที่สนามบินในสหรัฐอเมริกา เพราะเปิดไอแพดดูหนังที่โหลดมาจากเว็บไซต์ยูทูบระหว่างรอขึ้นเครื่องบิน ทำให้ต้องโทษจำคุกนานถึง 6 เดือน แต่ภายหลังครอบครัวส่งทนายไปประกันตัวมาด้วยเงินประมาณ 1 ล้านบาท


"ประชาชาติธุรกิจ" จึงเคลียร์ข้อข้องใจนี้กับ "อ.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ" ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์และลิขสิทธิ์ โดย อ.ไพบูลย์ระบุว่าเป็นเรื่องจริง แต่อาจมีข้อมูลบางอย่างคลาดเคลื่อนเกินจริงไปบ้าง

"กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ของสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดโทษเกี่ยวกับการดาวน์โหลดเพลง หนัง ซอฟต์แวร์จากแหล่งที่ผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมบันเทิงและซอฟต์แวร์ของอเมริกา แต่กฎหมายนี้ไม่มีโทษจำคุก มีแต่โทษปรับตั้งแต่ 750-30,000 เหรียญสหรัฐ กฎหมายฉบับนี้เริ่มใช้เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว มีคนโดนจับด้วยกฎหมายนี้แล้วไม่น้อย กรณีล่าสุดคาดว่าจะมีไฟล์ข้อมูลในเครื่องมากพอสมควรด้วย"

ประเทศอื่นก็มีกฎหมายที่เข้มงวดเรื่องนี้เช่นกัน แต่ไม่มากเท่าในสหรัฐอเมริกา ฉะนั้น ผู้ที่เดินทางไปอเมริกาต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการนำสื่อลามกอนาจารเกี่ยวเด็กเข้าไปยังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นเรื่องซีเรียสมาก มีคนไทยหลายรายโดนดำเนินคดีมาแล้ว ขณะที่ฝั่งยุโรปให้ความสำคัญกับการละเมิดตราสินค้า หรือสินค้าปลอมมากกว่า

"พฤติกรรมนักท่องเน็ตจำนวนมากสุ่มเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ในส่วนการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เช่น ใครส่งอะไรมาให้แล้วเรานำไปแชร์ต่อ ๆ หลายคนเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท"

และอาจโดนโยงกับมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพ์ ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้ด้วย

"อ.ไพบูลย์" ย้ำว่า สิ่งที่หลายคนคุ้นชินและมักทำกันแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการนำคลิปเพลงหรือหนังจากเว็บไซต์ยูทูบมาแปะเพื่อให้ดูได้บนเว็บตัวเองแบบ Embed VDO หรือการตัดต่อข้อความจากทวิตเตอร์คนอื่นนำมาแปะในโซเซียลเน็ตเวิร์กของตัวเอง หรือดึงรูปจากอินสตาแกรมคนอื่นโดยไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มา ล้วนแต่เสี่ยงคุกทั้งนั้น เพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น ยิ่งถ้าเป็นรูปหรือคลิปวิดีโอล้อเลียนเสียดสีผู้อื่น อาจโดนความผิดฐานหมิ่นประมาทร่วมไปกับคนที่เป็นต้นตอปล่อยคลิป

ถ้าเจ้าของข้อความหรือรูปนั้น ๆ ไม่ได้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในอินสตาแกรม เฟซบุ๊กเป็นแบบสาธารณะ (Public) คนนำรูปไปใช้ อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ เกี่ยวกับการเข้าสู่ระบบโดยไม่ได้รับอนุญาตพ่วงอีกข้อหา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ที่พบว่าทำกันมาก และมีกรณีที่โดนฟ้องร้องแล้ว คือการนำรูปหรือข้อความของคนอื่นมาใช้ในเว็บหรือโซเซียลเน็ตเวิร์กของตนโดยไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มา ตอนนี้มีบริษัทต่างชาติหรือแม้แต่บริษัทในไทยเองยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ล่าสุด กรณีนำรูปนักเทนนิสมาเรีย ชาราโปว่า ไปแปะในเว็บ โดนเรียกค่าเสียหายรูปละ 50,000 บาท"

ฉะนั้น สิ่งที่ชาวออนไลน์พึงจำและทำเสมอ คือเมื่อใดที่นำข้อมูลหรือรูปภาพมาจากที่อื่น "จงอ้างอิงแหล่งที่มา" ทุกครั้ง ยิ่งถ้าในพื้นที่ออนไลน์ที่นำไปแปะ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ บล็อก หรือเฟซบุ๊ก ทำขึ้นเพื่อการค้า บทลงโทษจะยิ่งหนัก

"การนำไปใช้เพื่อการค้า แค่ในเว็บมีแบนเนอร์โฆษณา ก็เข้าข่ายแล้ว หรือถ้าในชื่อเว็บเป็นชื่อบริษัท ชื่อเพื่อให้ค้าขาย ถือเป็นการนำไปใช้เพื่อกิจการของตัวเอง พวกนี้โทษหนักขึ้น แต่ที่อยากให้ระวังมาก ๆ คือการ embed คลิป และการดาวน์โหลดจากยูทูบ เพื่อความปลอดภัย ให้ใช้เป็นการแปะลิงก์ ให้คลิกเข้าไปดูได้ที่ยูทูบดีกว่า อีกทั้งให้เปิดดูออนไลน์ อย่าโหลดเก็บไว้"

"อ.ไพบูลย์" ยังฝากเตือนนักช็อปปิ้งออนไลน์ด้วยว่า ต้องระวังเรื่องการโดนดักข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลบัตรเครดิต บัญชีธนาคาร ดังนั้น ก่อนซื้อสินค้า และกรอกข้อมูลต่าง ๆ ต้องมั่นใจว่าเป็นเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ มีระบบรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ดี และอย่าเข้าไปกรอกข้อมูลในเว็บที่มีการซื้อขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสินค้าประเภท sex toys สื่อลามกอนาจาร รวมถึงเว็บไซต์ที่มีต้นทางจากมาเลเซีย เนื่องจากเป็นเป้าหมายสำคัญของบรรดาแฮกเกอร์ ซึ่งในมาเลเซียเองมีการทำธุรกิจซื้อขายข้อมูลเหล่านี้เป็นล่ำเป็นสัน แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook