มือถือเฮาส์แบรนด์ปรับตัวสู้ศึก ขายความแปลกสเป็กดีไม่แพง

มือถือเฮาส์แบรนด์ปรับตัวสู้ศึก ขายความแปลกสเป็กดีไม่แพง

มือถือเฮาส์แบรนด์ปรับตัวสู้ศึก ขายความแปลกสเป็กดีไม่แพง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มือถือเฮาส์แบรนด์ปรับตัวสู้ศึก ขายความแปลกสเป็กดีไม่แพง

มือถือเฮาส์แบรนด์ปรับตัวสู้ศึก น้องใหม่สารพัดยี่ห้อ-ค่ายยักษ์สั่งผลิตเครื่องติดแบรนด์ตัวเอง ตบเท้าชิงเค้กเพียบ "จีเนท" คลอดสมาร์ทโฟนราคาถูก-เพิ่มโฟกัสแท็บเลต ฟาก "ไอ-โมบาย" ชู "สเป็ก-ราคา" ขยายฐาน ขณะที่ "อินฟินิตี้" ขายความแปลก จับตลาดเฉพาะกลุ่ม


นายฑิตพล จันทรอุไร ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยนำโทรศัพท์มือถือ ทั้งฟีเจอร์โฟนและสมาร์ทโฟนแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบางรายที่มีการสั่งซื้อฮาร์ดแวร์และเคสแยกกัน แล้วนำมาประกอบเป็นเครื่องใส่แบรนด์ตัวเอง ส่วนกรณีโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือหันมาสร้างแบรนด์ตัวเอง เชื่อว่าแต่ละค่ายน่าจะโฟกัสเครื่องที่มีระดับราคา 3,000-4,000 บาทเป็นหลัก เพื่อให้สเป็กเครื่องได้ตามมาตรฐานการตลาด เนื่องจากเป้าหมายหลักคือผลักดันให้ลูกค้าเปลี่ยนจากการใช้บริการเครือข่าย 2G มาเป็น 3G คลื่น 2.1 GHz

สำหรับไอ-โมบายเอง ในส่วนของสมาร์ทโฟนจะวางราคาไว้ในช่วง 2,500-9,900 บาท ที่เป็นเซ็กเมนต์กึ่งกลางของตลาดระหว่างสมาร์ทโฟนสั่งผลิต (โออีเอ็ม) ของโอเปอเรเตอร์ที่เน้นราคาถูกกับสมาร์ทโฟนของอินเตอร์แบรนด์ที่เน้นเครื่องราคามากกว่าหมื่นบาท โดยมีจุดต่างคือมีสเป็กเครื่องค่อนข้างสูง แต่ราคาแข่งขันได้ เช่น สมาร์ทโฟน "ไอคิวเอ็กซ์" รุ่นต่าง ๆ ที่มีกล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล, หน้าจอความละเอียดสูง น้ำหนักเบา ราคา 9,000 บาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันจะดุเดือดขึ้นมากในช่วงไตรมาส 4 เนื่องจากเป็นช่วงจับจ่าย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องปิดยอดขาย ทั้งปัญหาซัพพลายสมาร์ทโฟนน่าจะดีขึ้นทำให้ราคาสมาร์ทโฟนมีโอกาสปรับตัวลดลงกว่านี้อีก

"ปีนี้เราตั้งเป้ายอดขายไว้3.5 ล้านเครื่อง เป็นสมาร์ทโฟนและแท็บเลตประมาณ 2 ล้านเครื่อง อีก 1.5 ล้านเครื่อง เป็นฟีเจอร์โฟน คาดว่าในภาพรวมจะมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 23% ขึ้นเป็นอันดับ 2 ในตลาดสมาร์ทโฟนประเทศไทย ส่วนยอดขายตลาดรวมน่าจะอยู่ที่ 15 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจาก 13-14 ล้านเครื่อง เมื่อปีที่ผ่านมา"

ด้านนายฑัศ เชาวนเสถียร ประธาน บริษัท จีเนท เอ็กซ์เพรส จำกัด แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักอาจทำให้แบรนด์ใหม่ไม่ได้เน้นการทำตลาดที่จริงจังนัก แต่แบรนด์

เล็ก ๆ ที่นำสินค้าจากจีนเข้ามาทำตลาดคงมีให้เห็นเป็น 100 ราย ระดับราคาเครื่องจะถูกกว่า 2,000 บาท และส่วนใหญ่ไม่มีการสร้างแบรนด์หรือบริการหลังการขาย สำหรับจีเนทในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะให้ความสำคัญกับตลาดแท็บเลตราคาต่ำกว่า 5,000 บาท และเตรียมนำสมาร์ทโฟนรองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และ 3G ราคา 1,200-1,300 บาท เข้ามาทำตลาดในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยร่วมกับผู้จัดจำหน่ายมือถือในอินโดนีเซียและอินเดียรวมกันสั่งผลิตเครื่องปริมาณมากเพื่อลดต้นทุน

"ปีนี้เราเน้นประคองยอดขายให้เท่าปีที่แล้วซึ่งมีรายได้รวม100 ล้านบาทต่อเดือน มาจากแท็บเลตและมือถืออย่างละครึ่ง เราเป็นที่หนึ่งในตลาดแท็บเลตหากมองในแง่ยอดขาย ราคาอยู่ที่ 3,000-4,900 บาท ส่วนสมาร์ทโฟนยังทำยอดขายได้น้อยกว่าฟีเจอร์โฟน รุ่นที่ขายดีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาท ตนมองว่าปีนี้ซัพพลายสมาร์ทโฟนมีมากกว่าความต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยลดลง แต่ในภาพรวมไม่น่าลดต่ำไปกว่านี้ เพราะจะทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อ เนื่องจากกังวลเรื่องคุณภาพสินค้า"

ด้านนายพิทักษ์ไทย มุ่งเมฆา หัวหน้าผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท นิวเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด เจ้าของแบรนด์ "เวลล์คอม" กล่าวว่า ขณะนี้มีแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเปิดตัวเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ของโรงงานจีนที่เข้ามาบุกตลาดด้วยตนเอง อาทิ แบรนด์เชอร์รี่โมบายล์และยูทู เป็นต้น

ในภาพรวมจึงมีแบรนด์โทรศัพท์มือถือมากถึง 65 ราย จากปีที่แล้วซึ่งมีอยู่ประมาณ 52 ราย ในแง่การแข่งขันคงไม่รุนแรงมากนัก และจากผลสำรวจของจีเอฟเคระบุว่า ซัมซุงครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในไทย 60% รองลงมาเป็นโนเกีย 15-17% ขณะที่ ไอ-โมบายล์ 12-15% เป็นอันดับ 3 และปีนี้น่าจะมียอดขายรวม 14-15 ล้านเครื่อง เป็นสมาร์ทโฟน 7 ล้านเครื่อง

"แบรนด์มือถือน่าจะเน้นการรักษาฐานลูกค้า เพราะสามารถทำธุรกิจได้บนส่วนแบ่งตลาดระดับนี้ ทั้งการที่โอเปอเรเตอร์เข้าทำแบรนด์ตนเองไม่น่าส่งผลกระทบต่อตลาด เนื่องจากพยายามทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด ส่งผลให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่ดีเพียงพอ ทั้งผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ต้องการเปลี่ยนจากการใช้ฟีเจอร์โฟนเป็นสมาร์ทโฟน"

นายสุรินทร์ อมรชัชวาลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีเดีย อินฟินิตี้ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ "อินฟินิตี้" หรือที่รู้จักในชื่อ "อาม่า" กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้ตลาดมีแบรนด์ใหม่ ๆ

เข้ามาเป็นจำนวนมาก เหมือน 4-5 ปีที่แล้วที่มีเฮาส์แบรนด์มากกว่า 30-40 แบรนด์ เพราะเห็นโอกาสที่ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องจากฟีเจอร์โฟนไปเป็นสมาร์ทโฟน คาดว่าจะมีแบรนด์จากต่างประเทศและแบรนด์ที่คนไทยซื้อเครื่องจีนเข้ามาทำตลาดด้วยตนเอง ทำให้มีแนวโน้มว่าจะเกิดสงครามราคาในตลาดสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการแข่งขันจากคู่แข่งรายใหม่ ๆ บริษัทจะเน้นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสมาร์ทโฟนให้มากขึ้น จากเดิมเน้นฟีเจอร์โฟนตั้งแต่ปลายไตรมาส 3-ต้นไตรมาส 4 จะมีเข้ามาทำตลาด 5-6 รุ่น เน้นเครื่องที่มีหน้าจอขนาด 3-6 นิ้ว ใช้งานได้ง่าย แสดงผลด้วยไอค่อน, แอปพลิเคชั่นและตัวอักษรขนาดใหญ่ ฯลฯ ราคาตั้งแต่ 2,500-8,000 บาท

ปัจจุบันบริษัทมีสมาร์ทโฟนเพียงรุ่นเดียวคือรุ่น YAAK เป็นสมาร์ทโฟนที่รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 มีจุดเด่นเรื่องแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน 3 วัน ที่ราคา 7,490 บาท อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงยึดจุดยืนเดิม คือมีโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีความแปลกและแตกต่างกว่าคู่แข่ง เช่น รุ่นคิมหันต์ เป็นโทรศัพท์ที่ต่อกับพัดลม, รุ่นมานะ สำหรับเด็กนักเรียน เป็นต้น โดยจะให้ความสำคัญกับตลาดฟีเจอร์โฟนและสมาร์ทโฟนเท่า ๆ กัน และจะมีการเพิ่มเติมฟีเจอร์บางอย่างในฟีเจอร์โฟนมากขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่าง และตั้งเป้าการเติบโต 20%

ที่มาภาพประกอบ imobizone.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook