ภัยร้าย "โลกออนไลน์" เอาชนะได้ แค่ "จับมือ" ไปด้วยกัน

ภัยร้าย "โลกออนไลน์" เอาชนะได้ แค่ "จับมือ" ไปด้วยกัน

ภัยร้าย "โลกออนไลน์" เอาชนะได้ แค่ "จับมือ" ไปด้วยกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภัยร้าย "โลกออนไลน์" เอาชนะได้ แค่ "จับมือ" ไปด้วยกัน"

ผมกลัววันที่เทคโนโลยีมีความสำคัญเหนือกว่าการโต้ตอบปฏิสัมพันธ์ของเราเอง เมื่อนั้นโลกเราจะอยู่ในช่วงยุคแห่งความโง่เขลา" คำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนกดแชร์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก

คงเป็นอย่างที่นักฟิสิกส์สติเฟื่องกล่าวไว้ เพราะไม่ว่าจะเดินไปทางไหน มักเห็นผู้คนก้มหน้าก้มตาจ้องมองที่หน้าจอโทรศัพท์และแท็บเล็ตของตัวเอง ละเลยการสนทนากับคนข้างๆ กระทั่งเกิดคำพูดล้อเลียนว่า "ระวัง สมองจะเล็กเท่านิ้วโป้ง"

พฤติกรรมจ้องมองหน้าจอโทรศัพท์และพูดคุยกับผู้คนในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานเท่านั้น แต่แพร่กระจายไปยังกลุ่มเด็กเล็กด้วย กระทั่งหน่วยงานหนึ่งตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ คือ "โรงพยาบาลมนารมย์" ได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "การดูแลลูกในยุค Social Network" เพื่ออธิบายถึงการเลี้ยงดูและตอบคำถามคาใจของผู้ปกครองหลายคน ว่าจะดูแลลูกในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กได้อย่างไร

เป็นการสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันประโยชน์และโทษจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ลดช่องว่างระหว่างวัย และสร้างความเข้าใจ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับลูกหลานในโลกที่การสื่อสารไร้พรมแดน

"อัจฉรา บุนนาค" นักจิตบำบัด เริ่มต้นการบรรยายด้วยคำถามว่า "ทำไมเราถึงอยากมีลูก" ผู้ปกครองหลายคนตอบว่า เพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูลบ้าง ไว้เป็นเพื่อนยามแก่ชราบ้าง บ้างก็บอกว่า ลูกเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิตคู่ เมื่อสังเกตจากคำตอบส่วนใหญ่ สะท้อนว่าพ่อแม่มีลูกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง

"ในปัจจุบัน เราอยากมีลูก สิ่งที่ต้องคิดต่อคือจะเลี้ยงลูกอย่างไร เพราะสังคมสมัยใหม่ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กดิจิตอล นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองคอยเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนเด็กแล้ว ยังมีเพื่อนในโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริง ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักคอยอบรมสั่งสอน หากเป็นไปในทางที่ไม่ดีก็ยากที่ผู้ปกครองจะดูแลอย่างทั่วถึง เพราะโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและควบคุมยากมาก" อัจฉราแสดงความเป็นห่วง

บรรยากาศการเเลกเปลี่ยนตอบคำถาม

การใช้สังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ไลน์, อินสตาแกรม ล้วนเป็นพื้นที่สาธารณะ สามารถให้ข้อมูลหรือความคิดเห็นต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความบันเทิง หรือการเรี่ยไร เป็นต้น แน่นอนว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย

อัจฉราบอกว่า ผลเสียที่ตามมาจากการอยู่ในโลกเสมือนจริงมากเกินไป คือพฤติกรรมก้าวร้าวและการกลั่นแกล้งทางอินเตอร์เน็ต (Cyber Bullying) เช่น การโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม การนำเรื่องราว ชื่อ-นามสกุล หรือภาพต่างๆ ของผู้เสียหายมาโพสต์เพื่อให้เกิดความอับอายหรือเสียชื่อเสียง ทั้งยังเป็นช่องทางในการหาประโยชน์ทางเพศจากผู้เยาว์ เช่น ประเทศแถบยุโรปที่มีคนฆ่าตัวตายเพราะโดนกลั่นแกล้งทางเฟซบุ๊ก

สำหรับการใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ การเล่นเกมออนไลน์ จากผลการวิเคราะห์พบว่าเหตุผลที่คนเล่นเกมออนไลน์ก็เพื่อคลายความเหงา การขาดวินัย การขาดเอกลักษณ์หรือบุคลิกส่วนตัวและมีปัญหาครอบครัว เช่น ไม่พูดจากับพ่อแม่ หรือคุยกันไม่รู้เรื่อง เป็นต้น

"เกมเป็นเหรียญ 2 ด้าน ด้านดีคือ ทำให้เกิดความสนุกสนาน คลายเครียด ฝึกทักษะ ฝึกการประสานกันระหว่างมือกับตา ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อ และเป็นตัวช่วยฝึกสมาธิที่ดีสำหรับเด็กสมาธิสั้น"

"ส่วนด้านที่เป็นผลเสีย คือ ด้านกายภาพ จะมีโรคภัยต่างๆ เข้ามาเยือน การเสพติด เกิดความตื่นเต้นเกินธรรมชาติ ขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว มีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวต่ำ เพราะอยากชนะจนหงุดหงิดจนไม่สามารถแบ่งแยกโลกได้ ความฉลาดทางปัญญาหรือไอคิวก็ต่ำ เพราะขาดการเรียนรู้ไปช่วงหนึ่ง ขาดการติดต่อกับคนอื่น ไม่มั่นใจในตัวเอง เด็กจึงหลีกเลี่ยงสังคมด้วยการเล่นเกม" นักจิตบำบัดกล่าว และว่า สาเหตุที่เด็กติดเกม มาจากการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่กว้างขวางและสามารถเข้าถึงง่าย สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจของเด็ก ครอบครัวขาดวินัย

วิธีการแก้ปัญหาเด็กติดเกมสำหรับผู้ปกครอง คือ สร้างวินัยและความรับผิดชอบ, ลดโอกาสการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต, มีการสื่อสารที่ดีต่อกัน, ใช้มาตรการการเงิน เช่น ลดค่าขนม และมีทางออกที่สร้างสรรค์แก่เด็ก เช่น กีฬา เล่นดนตรี เป็นต้น

อัจฉราแนะว่า วิธีการป้องกันเด็กติดเกม คือ 1.ควรกำหนดกติกาและเวลาเล่นว่านานแค่ไหน แต่ไม่ควรเคร่งครัดจนเกินไปเพราะเด็กอาจหนีไปเล่นนอกบ้าน 2.ไม่วางคอมพิวเตอร์ในห้องส่วนตัว เพราะจะเล่นได้ตลอดเวลา และการกระทำต่างๆ จะไม่อยู่ในสายตาของผู้ปกครอง เช่น การดาวน์โหลดสิ่งไม่ดีต่างๆ 3.ตอบแทนและลงโทษอย่างเหมาะสม เมื่อทำตามคำสั่งก็ควรให้รางวัลตอบแทนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติซ้ำ 4.ฝึกระเบียบวินัยให้เด็ก ไม่ใช่การสั่ง และ 5.พ่อแม่เองควรมีความรู้เกี่ยวกับเกมออนไลน์ เช่น เข้าใจภาษาที่ลูกใช้ เพื่อรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ

"ผู้ปกครองอย่าสั่งเด็กจนเกินไป เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะเถียงและสั่งเรากลับ เป็นการไม่เชื่อคำสอนและไม่เชื่อในตัวพ่อแม่ จึงควรพูดจากับเด็กดีๆ ส่วนเรื่องกฎระเบียบต่างๆ นั้นพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก เมื่อลูกทำได้ดีก็ควรกอดเขาและย้ำว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีแล้ว เด็กจะเกิดความภูมิใจในตัวเองและเป็นการสร้างความเป็นตัวเองของเด็ก" อัจฉรากล่าว

ในส่วนประเด็นเกมออนไลน์ "วิชาญ หวังปิติพาณิชย์" เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Support) ที่คุ้นเคยกับสังคมออนไลน์ตั้งแต่เริ่มเล่นเพจเจอร์จนถึงเฟซบุ๊กและเกมออนไลน์ต่างๆ กล่าวว่า ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีเหล่านี้ ต้องวิเคราะห์ว่าเด็กต้องการอะไร เช่น เกมออนไลน์ จะสร้างความเป็นส่วนตัวแก่ผู้เล่น ให้สามารถบริหารจัดการโลกของตัวเองได้ ส่วนเด็กหรือวัยรุ่นคิดว่าเกมนั้นเป็นโลกเสมือนจริง เขาจะพาตัวเองเข้าไปและคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ ซึ่งต่างกับโลกของความเป็นจริง เด็กจึงติดเกมเพราะมันเหมือนโลกแห่งความฝันและสนุกสนาน

ด้าน "ศรีสุรางค์ อธิวัฒน์ประชากุล" ผู้ปกครอง ที่นำปัญหาของลูกชายมาปรึกษา บอกว่าเพื่อนที่โรงเรียนของลูกมีแท็บเล็ตส่วนตัวและเล่นกันสนุกสนาน เมื่อลูกชายกลับบ้านจึงขอเล่น จึงให้เล่น แต่เล่นพอประมาณ และสร้างกติกากับลูกว่าหากมาขอเล่นต้องทำความดีก่อนจึงจะให้เล่น ซึ่งลูกชายก็ทำตาม กระทั่งผ่านมาระยะหนึ่งลูกชายมาถามว่าเพื่อนๆ เขาทำความดีอะไรถึงได้เล่นแท็บเล็ตตลอดเวลา คำถามนี้ทำให้ตระหนักได้ว่าผู้ปกครองต้องสร้างความภูมิใจแก่ลูก เด็กจึงมั่นใจในตัวเองแม้จะอยู่ในสังคมที่ห้อมล้อมไปด้วยแท็บเล็ตก็ตาม

อัจฉรากล่าวทิ้งท้ายว่า การวางกฎระเบียบนั้นต้องสร้างข้อตกลงไปด้วยกัน คือ การมอบโอกาสให้เด็กได้พูดและรับฟังความคิดเห็นกันและกัน อาจเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่คุ้นเคยแต่มันไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะการมีข้อตกลงร่วมกันทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการสร้างกฎระเบียบ เมื่อเด็กเป็นเจ้าของกฎก็ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังถูกสั่ง การทำตามกฎจึงได้ผลดี

"สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มทำ คือ การเปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้ปกครองทันที" อัจฉรากล่าว

หากแต่ละครอบครัวมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานในการเข้าใจสภาพสังคมที่แตกต่าง เราคงสามารถก้าวผ่านสังคมออนไลน์ซึ่งมีอิทธิพลต่อเด็กได้ง่ายขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook