5 ปี พ.ร.บ.คอมพ์ ถอดบทเรียนเว็บดัง "พันทิปดอตคอม"
ถ้าพูดถึงเว็บบอร์ดพื้นที่สาธารณะสำหรับแสดงความคิดเห็น "www.pantip.com" คือเว็บแรก ๆ ที่คนส่วนใหญ่นึกถึง และปีนี้เดินก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 แล้วสำหรับการยืนหยัดในวงการไซเบอร์สเปซเมืองไทย
"วันฉัตร ผดุงรัตน์" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิป บอกว่า สมัยนี้คนในวงการไอทีจะวัดว่าดีกรีใครเก๋าไม่เก๋าไม่ได้ดูที่อายุ แต่ดูที่จำนวนคดีความที่ต้องรับมือ และสำหรับ "พันทิปดอตคอม" อยู่ระดับ
"4 อาญา 1 แพ่ง" นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2550 ที่ผ่านมาส่งผลผู้ให้บริการ "เว็บบอร์ด" อย่างพันทิปเข้าข่ายการเป็น "ผู้ให้บริการ" ตามนิยามของ พ.ร.บ.คอมพ์ จึงมักโดนหางเลขกลายเป็นจำเลยร่วม โทษฐาน "จงใจหรือยินยอม" ให้มีการโพสต์รูปหรือข้อความที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. ซึ่งจะว่าไปหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง เพราะพันทิปเป็นพื้นที่สาธารณะ หมายความว่า แต่ละวันมีคนเข้ามาโพสต์รูป และโพสต์ข้อความเป็นจำนวนมาก
ทั้ง ๆ ที่หลายเรื่อง "พันทิป" ต้องรับหมายศาลมาแบบงง ๆ ทั้งหมดล้วนเป็นคดี "หมิ่นประมาท" ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไซเบอร์แท้ ๆ แต่อย่างใด
"วัน ฉัตร" เล่าถึงเมื่อครั้งที่ต้องตกเป็นจำเลยร่วมครั้งแรกว่า เหตุเกิดเพราะมีข้าราชการระดับสูงในไทยไปให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ แต่ไม่พอใจกับข่าวที่ตีพิมพ์ออกมาจึงลุกขึ้นมาฟ้องดะ ไล่ไปตั้งแต่หนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ นักข่าว ส่วน "พันทิป" โดนหางเลขไปด้วย เพราะมีคนเอาลิงก์ข่าวที่มีข่าวนั้นมาโพสต์แปะไว้
"คดี นี้เป็นคดีแรก และเรามั่นใจมากว่าเราชนะแน่ ตอนที่ทนายแจ้งให้เราเอาลิงก์ออกจึงตัดสินใจไม่ลบออกเพราะเป็นข่าวหนังสือ พิมพ์ แต่สุดท้ายแล้วคดีนี้ไม่ได้สู้กันในศาล และทำให้เราได้เรียนรู้ด้วยว่า ถ้าจำเลยเป็นชาวต่างประเทศและอยู่ต่างประเทศ กระบวนการในการดำเนินคดีจะคืบหน้าไปได้ช้ามาก กว่าจะแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษส่งไป ถ้างบฯหมดก็หยุดแปล ผ่านไปปีกว่าไปไม่ถึงไหน ขณะที่เราเป็นจำเลยร่วมต้องไปรายงานตัวที่ศาลทุกเดือน แรก ๆ อีโก้สูงมาก มั่นใจว่าชนะแน่ ผ่านไปปีครึ่งเริ่มทนไม่ไหว สุดท้ายเดินเข้าไปคุยกับโจทก์ให้เอาเราออกมาจากคดี"
อีกคดีที่น่า สนใจยังคงเป็นคดีหมิ่นประมาท "บริษัทอสังหาริมทรัพย์" เป็นอีกคดีที่ "พันทิป" มั่นใจว่าชนะแน่เช่นกัน เพราะเรื่องเกิดขึ้นจากลูกค้าซื้อบ้านแล้วไม่ได้ตามที่บริษัทโฆษณาไว้ เลยมาโพสต์ระบายความรู้สึกที่ได้รับสินค้า
ไม่เป็นธรรม เมื่อ "พันทิป" ได้รับจดหมายแจ้งจากสำนักงานทนายความก็ได้ติดต่อไปยังผู้โพสต์ทันที เพื่อให้ยืนยันว่าได้รับความเสียหายเองจริง และข้อมูลที่นำมาโพสต์ทั้งหมดเป็นความจริง เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 มีข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ สำหรับการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับ ความเดือดร้อนเสียหาย
"ตอนแรกก็จับมือกับผู้โพสต์ว่าจะสู้คดีไปด้วย กัน สุดท้ายผ่านไป 6 เดือน ผู้โพสต์ไกล่เกลี่ยเจรจายอมความกับบริษัทอสังหาฯ กลายเป็นว่าเราต้องสู้คนเดียว จะอ้างถึงข้อเท็จจริงก็ไม่มีใครมาเป็นพยานยืนยันให้แล้ว ซึ่งเราก็เข้าใจฝั่งผู้โพสต์นะว่าเขาเป็นแค่ผู้บริโภค จะให้ต้องมาศาล ต่อสู้กันไป ถึงมั่นใจว่าชนะแต่ค่าใช้จ่ายระหว่างทางมันมี สู้ไปทำมาหากินเลี้ยงชีพดีกว่า"
จากกรณีนี้ทำให้การพิจารณากระทู้ที่โพสต์เตือนภัยผู้บริโภคต่าง ๆ ของ
"พัน ทิป" ต้องคิดให้มากขึ้น บางครั้งทำให้รู้สึกเสียดายประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับ แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพ์ไม่ได้มีข้อยกเว้นเรื่องหมิ่นประมาทเหมือนที่ประมวลกฎหมายอาญา เปิดช่องให้ทำได้ในเรื่องความเสียหายของผู้บริโภค เป็นการถ่วงดุลระหว่างการหมิ่นประมาทกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น จึงกลายเป็นความลักลั่นด้านการแสดงความเห็น
"ที่สำคัญโทษหมิ่นประมาท ตาม พ.ร.บ.คอมพ์มีโทษสูงกว่าด้วย พวกทนายความชอบกันมาก ไม่ใช่ว่าโทษสูงแล้วจะทำให้โอกาสชนะคดีมีมากขึ้น แต่มันกลายเป็นเครื่องมือในการต่อรองที่ทนายนำมากดดันจำเลยได้"
จาก บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ "พันทิป" ตัดสินใจ ตั้ง 3 กฎเหล็กไว้รับมือ พ.ร.บ.คอมพ์โดยเฉพาะ เริ่มจากเมื่อได้รับการแจ้งเตือนให้ลบกระทู้ใดกระทู้หนึ่ง 1.การคงข้อมูลเอาไว้ต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 2.กระทู้นั้นต้องติดต่อผู้โพสต์ข้อความได้ ซึ่งทางทนายความของพันทิปจะส่งหนังสือให้ผู้โพสต์ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง ว่าเคยใช้บริการแล้วเกิดความเสียหายจริง เพื่อใช้ต่อสู้ในชั้นศาลว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพราะตนเองมีส่วนได้เสีย และเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พึงกระทำ ตามกฎหมายอาญามาตรา 329 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
แต่ที่สำคัญ สุดคือ กฎข้อ 3 คือ ต้องเช็กว่าพันทิปยังมีเงินเหลือสำหรับการต่อสู้คดีในช่วงนั้นหรือไม่ เพราะแต่ละปีจะมีโควตากันไว้สำหรับสู้คดีในศาลได้ 3 คดี เพราะต่อให้มั่นใจว่าชนะแน่ ก็ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกไม่น้อย ดังนั้นหากเงินในโควตาไม่เหลือแล้ว แม้เรื่องนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็คงต้องตัดใจ