แฉ "กสทช." เมินผู้บริโภค สูญ 7 หมื่น ล.ต่อปี

แฉ "กสทช." เมินผู้บริโภค สูญ 7 หมื่น ล.ต่อปี

แฉ "กสทช." เมินผู้บริโภค สูญ 7 หมื่น ล.ต่อปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฉ "กสทช." เมินผู้บริโภค สูญ 7 หมื่น ล.ต่อปี

ไม่เฉพาะแต่นักวิชาการภายนอก คนในกันเองก็สับเละไม่แพ้กัน กับการทำงานของ "กสทช." โดยเฉพาะ กทค. และสำนักงาน กสทช. ภายใต้ส่วนงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (รท.)

"สารี อ๋องสมหวัง" ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม ระบุว่า หลังได้รับการแต่งตั้งจาก กสทช. ให้รับตำแหน่งตั้งแต่ พ.ย.2554 ได้เร่งทำงานเต็มที่ แต่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกมาตรการคุ้มครองรวมถึงจัดการกับปัญหาการร้องเรียนได้ เพราะกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. (รท.) ส่งเรื่องให้ตรวจสอบ 40 เรื่อง ทั้ง ที่มีเรื่องร้องเรียนมากถึง 1,804 เรื่อง

ไม่ใช่แค่นั้น การส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ยังยุ่งยากและล่าช้า เนื่องจากผู้บริหารเพิกเฉยต่อการจัดการปัญหา

กรณีล่าสุดเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 2.1 GHz "สารี" บอกว่า ได้เสนอให้ปรับเพิ่มราคาตั้งต้น และกำหนดบทลงโทษให้มีความชัดเจนกว่านี้ แต่ กทค.ยังยืนยันคงราคาเดิม และไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน ขณะที่บางเรื่องใช้เวลานานมาก เช่น การร้องเรียนของผู้บริโภคเรื่องตู้เติมเงินอัตโนมัติ ทั้งที่มีการทวงถามไปบ่อยครั้ง แต่กลับต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือน

"การตั้งเราขึ้นมาอาจแค่ทำตาม พ.ร.บ. กสทช. ที่จำเป็นต้องมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเราแทบไม่มีบทบาทอะไรเลยทั้งที่เสนอเรื่องขึ้นไปเยอะ แต่ข้างบนกลับนิ่ง ส่วนข้างล่างที่เป็นคนรับเรื่องก็ไม่ทำเรื่องขึ้นมาให้เราพิจารณา ทุกคนรู้ว่ามีเรื่องเป็นพัน แต่ทำส่งมาแค่ 6 เรื่อง หากนับถึงครึ่งปีแรกแม้ช่วงหลังจะเพิ่มขึ้นแต่เป็นเรื่องซ้ำ ๆ กัน ทำให้เรามองว่า

ผู้บริหารไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ รท. เป็นแค่บุรุษไปรษณีย์คอยรับเรื่อง"

ขณะเดียวกัน การร้องเรียนทั้งหมดที่ไม่ได้มีการแก้ไขภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้อง กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 679 เรื่องที่เกินระยะเวลาแล้ว ถ้าเจาะไปยังกลุ่มบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมากกว่า 553 เรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,327 เรื่อง จำนวนมากที่สุดคือ การกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ

ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างเดียว คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้เตรียมมาตรการเร่งด่วนเพื่อเสนอต่อผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนี้

1.รท. ควรรีบเปลี่ยนบทบาทตนเองให้ทำงานไปในทิศทางที่ดีขึ้น 2.กทค. ควรปฏิบัติงานเชิงรุก หลังคอยให้เกิดปัญหาเกิดแล้วค่อยหาทางแก้ เพื่อกำหนดหลักการคุ้มครองที่รัดกุมกว่าเดิม และ 3.การทำงานโดยรวมของทั้งสองฝ่ายควรลดขั้นตอน เพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา

และจากนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯจะจัดแถลงข่าวทุกครั้งหลังการประชุม เพื่อให้ทุกฝ่ายรับรู้ว่าได้ทำงาน ไม่ใช่เพิกเฉย

"เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม เสริมว่า การที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยต่อการกระทำ และการเสนอเรื่องทำให้

ผู้บริโภคสูญเงินไปกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นปัญหาตู้เติมเงินเก่าที่กินเงินผู้บริโภค 10-15% จากการให้บริการทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท และเรื่องค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge) ที่คิดครั้งละ 1 บาท แทนที่จะเป็น 25 สตางค์ ซึ่งเหมาะสมกว่าทำให้เสียไปกว่า 4 หมื่นล้านบาท รวมถึงเรื่องปัญหาของระบบพรีเพดที่ผู้ใช้โดนยึดเงินไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากการหมดอายุของเลขหมาย นอกจากนั้นยังมีเรื่องอื่นที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลข เช่น ปัญหาเอสเอ็มเอสที่เรียกเก็บจากคอนเทนต์ต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับการกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดราคาค่าบริการ 15-20% จากปกติหลังการประมูลใบอนุญาตบริการ 3G นั้น ทางคณะอนุกรรมการคุ้มครองบริโภคฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าทุกฝ่ายลดราคาลงจริง ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นราคาที่สมเหตุผลหรือไม่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนระหว่างใบอนุญาตกับการจ่ายค่าสัมปทานถูกกว่า 15 เท่า จาก 4 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น การปรับลดราคาต้องทำได้มากกว่านี้ ซึ่ง กสทช.ควรกำหนดให้เป็นอัตราต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียนเหมือนประเทศสิงคโปร์จะดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook