ประเทศไทยได้อะไร... จากการรอใช้ 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์
ประเทศไทยได้อะไร... จากการรอใช้ 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์
เหลือไม่ถึงเดือนแล้วสำหรับการประมูลใบอนุญาต 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ กำหนดวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นที่จับตากันว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะสามารถได้ใช้ประโยชน์จาก 3จี จริงๆ สักที
จากเริ่มต้นประเทศไทยเป็นประเทศแถวหน้าในภูมิภาคอินโดจีนที่ตื่นตัวกับเทคโนโลยี 3จี แต่ปัจจุบันประเทศไทยเกือบจะเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคที่จนถึงเดี๋ยวนี้ยังไม่มี 3จี ใช้ ขณะที่บางประเทศในภูมิภาคก้าวกระโดดไป 4จี แล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน มหากาพย์ 3จี ที่เกือบจะได้ใช้ในประเทศแต่สุดท้ายการประมูลก็ล้มครืนในนาทีสุดท้าย
สมัยนั้นสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้เตรียมจัดการประมูลใบอนุญาต 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ครั้งแรกของประเทศไทย ในวันที่ 20 กันยายน 2553 มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในตำแหน่ง กรรมการ กทช. เป็นผู้รับหน้าที่จัดประมูล 3จี ทั้งหมด
แต่สุดท้ายการประมูลไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจาก กทช. ถูก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ฟ้องศาลปกครองว่า กทช. ไม่มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัทพ์เคลื่อนที่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองพิพากษาให้ระงับการประมูล 3จี ในวันที่ 16 กันยายน 2553
แม้ กทช. ได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ แต่ศาลได้ยืนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับประมูล 3จี โดยให้เหตุผลว่า "การที่ไม่มี 3จี ไม่ได้ถือว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณประโยชน์ แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความชอบด้วยกฎหมาย"
จวบจนปัจจุบัน ประเทศไทยเลยยังไม่สามารถใช้ 3จี ในความถี่มาตรฐาน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ได้!!
ภายหลังการทำหน้าที่ของ กทช. สิ้นสุดลง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงเกิดขึ้น โดยมีกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ภายใต้การนำของ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กทค. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการประมูล 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ขึ้นใหม่
พร้อมทั้งดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เขียนขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2553 และประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ที่มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ประกาศฉบับเดิมสมัยยังเป็น กทช. ไม่มีผล
สำหรับการจัดประมูลรอบใหม่นี้ ดูเหมือนผู้จัดได้นำบทเรียนครั้งก่อนมาปรับแก้ปิดช่องโหว่ต่างๆ เพื่อให้เดินหน้าได้อย่างราบรื่น มีการเช็กเรตติ้งจากผู้ประกอบการด้วยการพรีเซลส์ จัดงาน "เคาต์ดาวน์ การประมูล 3จี ร่วมสานฝันภารกิจเพื่อชาติ" เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากเอกชนรายใหญ่ๆ ทั้งเอไอเอส ดีแทค ทรู หรือแม้แต่ กสท และทีโอที ที่เคยฟ้องล้มประมูลครั้งก่อน ต่างมาร่วมงานกันพร้อมหน้า
ด้านกระบวนการจัดประมูลใบอนุญาต 3จี ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าประมูล โดยเปิดให้ผู้สมัครเข้ามาส่งเอกสาร พร้อมวางเอกสารรับรองทางการเงินจากธนาคาร เช็คเงินสด 13,500 ล้านบาท พร้อมเงินมัดจำ 5 แสนบาท และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติให้ทราบอย่างเป็นทางการวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ก่อนเข้าร่วมประมูลจริงในวันที่ 16 ตุลาคม
และรู้ผลช่วงปลายเดือนตุลาคม หรืออย่างช้าต้นเดือนพฤศจิกายน
สําหรับประเทศไทยยุคนี้ หันซ้ายแลขวาไปทางไหนจะเห็นภาพคนนั่งจิ้ม ยืนจิ้มสมาร์ทโฟน ทั้งซัมซุงกาแล็กซี่ ไอโฟน ไอแพด
เพราะไม่เพียงแต่สะดวกใช้ ยังรวมถึงการโทร.พูดคุยกันที่ไหลลื่น จากปัจจุบันผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมักพบปัญหาโทร.ติดยาก สายหลุดบ่อย เปิดเล่นเน็ตช้า สาเหตุจากช่องทางการสื่อสาร (แบนวิธ) ขณะนี้แน่นเกินกว่าที่คลื่นในระบบเก่าจะรองรับไหว
เปรียบเสมือนถนนที่มีเพียง 3 เลน แต่หากคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ได้ใช้บริการเต็มรูปแบบ จะเปรียบเสมือนถนนถูกขยายเป็น 6 เลน พร้อมทางยกระดับอยู่ด้านบนด้วย
ส่วนระยะเวลาที่คนไทยจะได้สัมผัส 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์จริงๆ น่าจะอยู่ในช่วงไตรมาตร 2 ปี 2556 หรือช่วงเดือนเมษายนหน้า ซึ่งสิ่งที่คนไทยจะได้รับจากการได้ใช้คลื่น 3จี แน่ๆ คืออัตราการใช้บริการที่ถูกลง อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มมากขึ้นเพราะไม่ต้องนำรายได้แบ่งส่วนไปให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของสัญญาสัมปทาน คือ กสท หรือทีโอที สัดส่วน 20% หรือ 30% ของรายได้ การแข่งขันทำตลาดของผู้ประกอบการแบบดุเดือดเลือดพล่าน
อีกสิ่งที่คาดว่าจะได้เห็นหลังประมูลใบอนุญาต 3จี แล้ว คือการเร่งขยายโครงข่ายกระจายลงทั่วถึงทั่วประเทศ นั่นหมายถึงว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือจะทรงประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ให้ภาพที่จะเกิดขึ้นหลังเกิดการประมูล 3จี ว่า จากนี้ไปตัวอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีการพัฒนาไปอย่างมาก ผู้ให้บริการด้านนี้จะแข่งขันการสร้างโครงข่ายและบริการ จะมีการลงทุน และการจ้างงานเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งมีการผลิตแอพพลิเคชั่นหรือโปรโมชั่นต่างๆ มาทำตลาดกันมากขึ้น ไปจนถึงการสามารถผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การแข่งขันด้านโทรคมนาคมในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ได้อย่างทัดเทียมประเทศอื่นๆ
ขณะที่ นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เล่าว่า ประโยชน์ของ 3จี จะช่วยให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถติดต่อธุรกิจกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้นแบบไร้พรมแดน มีสัญญาณที่มีความคมชัดครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในไทย การเปิดเว็บ หรืออัพโหลด-ดาวน์โหลด จะสามารถทำได้รวดเร็ว
ซึ่งแนวโน้มจากนี้ไปเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น แทนการใช้โทรศัพท์ และการส่งข้อความแบบดั้งเดิม สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมในยุคต่อไป
นอกจากการให้ความเห็นของ 2 ผู้บริหารค่ายใหญ่แล้ว กสทช. ยังได้เปรยๆ มาแล้วว่าผู้ที่จะใช้บริการ 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ที่เปิดเบอร์ใหม่ จะได้ใช้เลขหมายเชิงสัญลักษณ์เฉพาะของบริการ 3จี ที่นำหน้าด้วย "093" ให้ดูเท่ๆ อีกด้วย
ในส่วนของเทคโนโลยี แอลทีอี หรือ 4จี คนไทยคงต้องกัดฟันรอไปก่อน...อีกพัก
แต่ที่ไม่ต้องรอก็การเกิด 3จี (จริงๆ) ครั้งแรกในประเทศไทย ก็ขอให้คนได้ลิ้มรสการใช้บริการ 3จี บนคลื่นหลักกันอย่างเต็มอิ่ม ให้สมกับการรอคอยที่เนิ่นนานนนน...
(ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 23 ก.ย.-4ต.ค.55)