"อ.ดาว" ผศ.ดาริน โต๊ะกานิ เผยเคล็ดลับคว้าทุน

"อ.ดาว" ผศ.ดาริน โต๊ะกานิ เผยเคล็ดลับคว้าทุน

"อ.ดาว" ผศ.ดาริน โต๊ะกานิ เผยเคล็ดลับคว้าทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟิตภาษา วิชาการดี คว้าทุนพัฒนาบุคลากร สกอ. ไม่ยาก

ฉบับนี้คว้าตัว "อ.ดาว" อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มานั่งพูดคุยถึงเคล็ด(ไม่)ลับในการสอบชิงทุน "ทุนพัฒนาอาจารย์และบุคลากรสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้" มาฝากกัน ขอย้ำว่าทุนนี้เหมาะสำหรับอาจารย์ที่ทำงานอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ อยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้ ติดตามต่อไปรับรองไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

"อ.ดาว" ผศ.ดาริน โต๊ะกานิ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สำเร็จการศึกษา พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลแม่และเด็ก จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับ "ทุนพัฒนาอาจารย์และบุคลากรสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งทุนนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท คือ 1.ทุนปริญญาเอกต่างประเทศ 2.ทุนปริญญาเอกในประเทศ และ 3. ปริญญาเอกร่วมใน-ต่างประเทศ) ทุนที่พี่ดาวได้รับคือ "ทุนระดับปริญญาเอก เพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ" ในสาขาพยาบาลศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยน๊อตติ้งแฮม (The University of Nottingham) ประเทศอังกฤษ

พี่รู้จักทุนนี้จากการที่ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ส่งหนังสือสมัครรับทุนมาที่มหาวิทยาลัย และจากการค้นหาทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับทุนต่างๆ "ทุนพัฒนาอาจารย์และบุคลากรสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้" เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2552 โดยมุ่งผลิตและพัฒนาอาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและความสามารถในการสอน โดยเฉพาะในสาขาที่รองรับการพัฒนาพื้นที่และเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย และเมื่อสิ้นสุดโครงการในปี 2558 อาจารย์และบุคลากรจะมีวุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้น มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีความสามารถในการสอน และมีผลงานวิจัยในการช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมๆกับช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนใต้อีกทางหนึ่งด้วย

จุดเด่นของทุนนี้เป็นทุนเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาในเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา และมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ข้อดีของทุนนี้ก็คือ การสอบแข่งขันเพื่อรับทุนจะแข่งขันกันเฉพาะอาจารย์และบุคลากรในเขตเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ต้องแข่งขันกับอาจารย์และบุคลากรจากทั่วประเทศ ทำให้คู่แข่งมีจำนวนจำกัด โอกาสที่จะได้รับทุนก็มีเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของการเตรียมตัวสมัครทุน พี่จะเน้นที่เรื่องของภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ทั้งทักษะในการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน นอกจากนี้พี่ต้องเขียน essay ประกอบการสมัครด้วย โดยเขียนเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงานของเรา งานวิจัยที่เราสนใจทำ เหตุผลที่เราเลือกไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ เช่น ที่มหาวิทยาลัยนั้นๆมีส่วนสนับสนุนงานวิจัยของเรายังไงบ้าง ทั้งในเรื่องของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย (Ranking) นอกจากนี้ยังต้องเขียนแผนการหลังจากสำเร็จการศึกษาด้วยว่าเราจะนำความรู้ที่ได้รับกลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติอย่างไรบ้าง

ทุนนี้สอบคัดเลือกโดยการสอบข้อเขียนเพียงอย่างเดียว เมื่อทาง สกอ. ได้ประกาศว่าเป็นผู้ผ่านการสอบข้อเขียนแล้ว ทาง สกอ. ได้กำหนดให้ผู้รับทุนเข้าร่วมโครงการทำวิจัยกับผู้ทรงคุณวุฒิเป็นระยะเวลา 5 เดือนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการวิจัยในการเรียนต่อระดับปริญญาเอก เมื่อเสร็จสิ้นโครงการผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลว่าผ่านแล้ว ทาง สกอ. จึงจะประกาศว่าเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อรับทุนศึกษาต่อต่างประเทศ

สิ่งที่ต้องเตรียมตัวในการสอบข้อเขียนคือ ต้องสามารถอ่านและเข้าใจภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ประกอบด้วย ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ 30 ข้อ ความสามารถด้านตัวเลข 30 ข้อ และความสามารถด้านการใช้เหตุผล 40 ข้อ รวมทั้งหมด 100 ข้อ นอกจากนี้ควรเตรียมความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มาด้วย ควรท่องจำสูตรที่สำคัญต่างๆ เนื่องจากข้อสอบทางด้านนี้มักเป็นข้อสอบคำนวณ ควรฝึกทำข้อสอบเชิงเหตุและผลหรือตรรกศาสตร์อยู่สม่ำเสมอ เพื่อจะได้ทำข้อสอบด้านการใช้เหตุผลได้ง่ายและเร็วขึ้น

งานวิจัยที่พี่สนใจศึกษาคือ เรื่อง "หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมุสลิม" เนื่องจากปัจจุบันพบว่าอุบัติการณ์หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมุสลิมในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพบว่าหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความรู้น้อย และยังมีความเชื่อทางศาสนาบางอย่างที่มีผลต่อการปฏิบัติตัว ทำให้พฤติกรรมการดูแลตนเองในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอดไม่ดี เกิดภาวะแทรกซ้อนในแต่ละระยะได้ง่าย จึงสนใจที่จะศึกษาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อภาวะสุขภาพและการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมุสลิม เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดในการจัดทำโปรแกรมการดูแลสุขภาพเฉพาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมุสลิมในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตั้งใจว่าหลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้วจะกลับมาถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยแม่และเด็กและการผดุงครรภ์เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ รวมถึงนำความรู้ที่ได้จากการศึกษามาประยุกต์ใช้ในการบริการวิชาการแก่ชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กในในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้น

สุดท้ายอยากฝากคำแนะนำถึงผู้ที่สนใจจะสมัครทุนนี้บ้าง คุณจะต้องเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ (TOEFL, IELTS) ให้ดี และมีใบตอบรับจากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองจาก ก.พ. ก่อนที่จะสมัครรับทุนนี้ เพราะหลังจากได้รับการประกาศว่าเป็นผู้รับทุนแล้ว จะมีเวลาเตรียมภาษาและหามหาวิทยาลัยที่จะศึกษาเพียง 1 ปี หากเลยกำหนดนี้จะถือว่าสละสิทธิ์

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ปิยะนุช zorau123@hotmail.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook