"๑๐ ราชาศัพท์ พึงใช้ให้ถูก" เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา "พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

"๑๐ ราชาศัพท์ พึงใช้ให้ถูก" เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา "พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"

"๑๐ ราชาศัพท์ พึงใช้ให้ถูก" เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา "พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๗ พรรษา Sanook! Campus จึงได้นำเสนอ ๑๐ ราชาศัพท์อย่างถูกต้องสำหรับ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

๑. การขานพระนาม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

(คำอ่าน) พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-ปะ-ระ-เมน-ทะ-ระ-รา-มา-ทิบ-บอ-ดี สี-สิน-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-มะ-หิ-สอน-ภู-มิ-พน-ราด-ชะ-วะ-ราง-กูน กิ-ติ-สิ-ริ-สม-บูน-อะ-ดุน-ยะ-เดต สะ-หยาม-มิน-ทรา-ทิ-เบด-ราด-วะ-โร-ดม บอ-รม-มะ-นาด-ถะ-บอ-พิต พระ-วะ-ชิ-ระ-เกล้า-เจ้า-อยู่-หัว

๒. ต้องใช้ "เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา" ไม่ใช่ "เนื่องในวโรกาส"

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา..." ไม่ใช่ "เนื่องในวโรกาส..." มีคนจำนวนมากกล่าวถึงการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาว่า "เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา" ซึ่งใช้ผิด เพราะคำว่า "วโรกาส" มีธรรมเนียมการใช้เฉพาะเมื่อ "ขอโอกาส" จากพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ กล่าวคือ หากจะขอโอกาสพระมหากษัตริย์ ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส

๓. ควรใช้ "ถวายชัยมงคล" หรือ "ถวายพระพรชัยมงคล"

"ถวายพระพร" เป็นคำที่พระสงฆ์ใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์ ฉะนั้น สำหรับเราทั้งหลายซึ่งเป็นสามัญชนโดยทั่วไป จึงแนะนำให้ใช้ว่า "ถวายชัยมงคล" แต่คนทั่วไปก็ชอบที่จะพูดและเขียนว่า "ถวายพระพร" ซึ่งผิด ปัจจุบัน อนุโลมให้ใช้เพื่อกล่าวโดยรวม หากว่าการนั้น มีผู้แสดงความจงรักภักดีและร่วมลงนาม มีทั้งพระและสามัญชน จึงให้ใช้คำว่า "ถวายพระพรชัยมงคล"

๔. คำว่า "อายุ" สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้ "พระชนมพรรษา" ไม่ใช่ "พระชนมายุ"

คำว่า พระชนมพรรษา (พฺระ-ชน-มะ-พัน-สา) แปลว่า ขวบปีที่เกิด อายุ เป็นคำราชาศัพท์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ใช้ว่า มีพระชนมพรรษา หรือ ทรงเจริญพระชนมพรรษา

๕. ต้องใช้คำว่า "แสดงความจงรักภักดี" อย่าใช้ผิดเป็น "ถวายความจงรักภักดี"

ควรทราบว่า การใช้คำว่า “ถวายความจงรักภักดี" เป็นการใช้คำผิด ที่ถูกต้องใช้คำว่า “เพื่อแสดงความจงรักภักดี” หรือ “เพื่อแสดงพลังความจงรักภักดี” ควรทราบว่า "ความจงรักภักดี" จะนำมาถวายกันไม่ได้ หรือ ยกให้กันไม่ได้ เพราะเป็นนามธรรม เป็นคุณลักษณะส่วนบุคคล

๖. คำขึ้นต้นเมื่อกราบบังคมทูล เบื้องพระพักตร์หรือเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์

ใช้คำว่า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

๗. ใช้คำว่า "ราชัน" ไม่ใช่ "ราชันย์"

สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องเขียนว่า "ราชัน" "องค์ราชัน" "เทิดไท้องค์ราชัน" ทั้งนี้ ควรทราบว่า "ราชัน" แปลว่า พระราชา หรือ พระมหากษัตริย์ ส่วน ราชันย์ หากเติม ย์ จะแปลว่า "เชื้อสายพระมหากษัตริย์" จึงควรระวังในการเขียน เพราะหากเราใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ราชันย์ นอกจากจะใช้ผิดแล้ว ก็เท่ากับว่า เราไปลด พระราชอิสริยยศของพระองค์ท่าน

๘. ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ"

เป็นคำลงท้ายที่ใช้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลัง "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" จะต้องวรรค ทุกครั้ง แล้วจึงตามด้วย "ขอเดชะ" เพราะเป็นคำสองคำมาใช้รวมกัน

ซึ่งแปลเข้าใจง่ายๆ ว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" แปลว่า คุ้มหัวเรา "ขอเดชะ" แปลว่า ขอบุญญาบารมีจากเจ้านาย รวมความได้ว่า ขอบุญญาบารมีจากเจ้านาย (เจ้านาย-เป็นคำโบราณเมื่ออ้างถึงพระบรมวงศานุวงศ์) คุ้มหัวเราให้มีความสุขความเจริญ

๙. สรรพนามบุรุษที่ ๑ หรือการใช้คำแทนตน

ใช้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า นาย/นาง/นางสาว............. หลังคำแทนตน ข้าพระพุทธเจ้า ต้อง ใช้ว่า นาย/นาง/นางสาว, ยศ (ไม่ต้องใส่ ตำแหน่งวิชาการ อาจารย์ ศาสตราจารย์, ด๊อกเตอร์) แล้วตามด้วย ชื่อสกุลจริง หรือเป็นคณะบุคคล เช่น คณะผู้บริหารและพนักงาน บริษัท............. หรือ คณะกรรมการและข้าราชการ กรม................

๑๐. คำขึ้นต้นเมื่อกราบบังคมทูล เบื้องพระพักตร์หรือเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook