วิธีเป็นเด็กใหม่ที่น่าประทับใจ เมื่อเริ่มงานใหม่

วิธีเป็นเด็กใหม่ที่น่าประทับใจ เมื่อเริ่มงานใหม่

วิธีเป็นเด็กใหม่ที่น่าประทับใจ เมื่อเริ่มงานใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“กรี๊งงงง กรี๊งงงง” เสียงนาฬิกาปลุกแบบวิทเทจกรีดร้องซ้ำๆ จนกระทั่งมีมือหนึ่งยื่นมากดปิด

ชายหนุ่มคนหนึ่งลุกขึ้นจากเตียง สะบัดหน้าครั้งสองครั้ง ความงัวเงียที่มีก็พลันหายไปและถูกทดแทนด้วยความรู้สึกที่เขาเองก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เขาควรจะตื่นเต้นหรือกังวลดี เพราะวันนี้เป็นวันทำงานวันแรกกับบริษัทที่เขาอยากร่วมงานด้วยมาตลอด แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่ร่าเริง แต่ก็เป็นกับคนสนิทเท่านั้น เขาจึงมีความกังวลใจลึกๆ ว่าควรจะต้องวางตัวหรือทำตัวอย่างไรดีจึงจะเหมาะสม เขาได้แต่ภาวนาว่าขอให้วันนี้ผ่านไปได้ด้วยดี

เมื่อเริ่มทำงานในที่ใหม่ การที่เราต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยอยู่ ไปอยู่ร่วมกับคนที่ไม่เคยรู้จัก อาจทำให้ได้เจอทั้งปัญหาและโอกาส การสร้างความประทับใจกับคนรอบข้างในช่วงแรกที่มาทำงานนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นสำหรับใครหลายคน และการภาวนาหรือขอพรให้ผ่านไปด้วยดีอาจได้ผลไม่ทันใจเท่าไหร่นัก JobThai.com/REACH จึงขอแนะนำ 8 สิ่งที่ควรทำเมื่อเริ่มงานใหม่ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่เพื่อร่วมงาน รุ่นพี่ รวมไปถึงเจ้านายด้วย ซึ่งจะทำให้การทำงานในที่ใหม่นั้นเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

1. ให้ความสำคัญกับเรื่องเวลา
เมื่อเริ่มงานที่ใหม่ อย่ามัวแต่ตื่นเต้นกังวลและคิดมากจนทำให้ไปทำงานสาย เพราะเรื่องเวลาเข้าและออกงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พฤติกรรมการมาทำงานเป็นสิ่งที่หัวหน้างานรวมถึงเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ มองเห็นได้ชัดเจน การมาถึงบริษัทให้ตรงเวลานั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งขึ้นหากเรามาก่อนเวลางานสัก 15-30 นาที และออกจากบริษัทหลังหัวหน้างาน หรือเลยเวลาเลิกงานไปแล้ว รวมไปถึงช่วงพักกลางวัน ก็ควรรักษาเวลาให้เป็นไปตามกฎของบริษัท แม้ว่าบางบริษัทอาจจะไม่เคร่งครัดเรื่องเวลา เพราะการรักษาเวลาไม่เคยให้ผลเสียกับใคร

2. แนะนำตัวเอง และทำความรู้จักเพื่อนร่วมงาน
เมื่อไปถึงแล้ว การแนะนำตัวและทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เราอาจเริ่มต้นทำความรู้จักคนในแผนก หรือคนที่ต้องทำงานร่วมกันก่อน ทักทายเวลาเจอพวกเขาในที่ต่างๆ เข้าไปพูดคุยในช่วงพัก หรือก่อนเริ่มงาน ในกรณีที่บริษัทมีพนักงานเป็นจำนวนมาก เราไม่จำเป็นต้องจำคนในบริษัทให้ได้ทุกคน แต่อย่างน้อยก็ควรพยายามจำชื่อเพื่อนในทีมหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง ให้ได้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้

3. เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร
เมื่อรู้จักเพื่อนร่วมงานแล้ว เราก็ควรจะต้องรู้จักองค์กรของเราให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฏระเบียบ หรือระบบการทำงาน แม้ว่าเราอาจศึกษาวัฒนธรรมของบริษัทมาก่อนแล้วในตอนที่จะต้องมาสัมภาษณ์งาน แต่นั่นเป็นข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นวัฒนธรรมคร่าวๆ ที่สามารถหาข้อมูลได้ทั่วไป ทุกบริษัทจะมีวัฒนธรรมองค์กรหรือการปฏิบัติตัวต่างๆ ซึ่งไม่ได้เขียนอยู่ในคู่มือพนักงานด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องขวนขวายเรียนรู้เอง ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุย สอบถามจากเพื่อนร่วมงาน หรือสังเกตจากการกระทำของพวกเขา

4. กระตือรือร้นและขวนขวาย
ส่วนใหญ่แล้ว งานที่เราได้ทำในวันแรกของการทำงานที่ใหม่ มักจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ใช้เวลาทำไม่นาน หากเราทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว แทนที่จะนั่งรอหัวหน้าเดินมาที่โต๊ะเพื่อมอบหมายงานชิ้นอื่น เราควรจะเป็นคนที่ไปถามเขาเองว่ามีงานอะไรให้ทำต่อ หรือไปถามเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ว่ามีอะไรที่เราพอจะช่วยได้บ้าง รวมทั้งอย่าลืมแสดงทักษะ และความสามารถต่างๆ ที่เราเคยพูดไว้ในตอนสัมภาษณ์ออกมาให้คนที่เลือกเราเข้าทำงานได้เห็นด้วย

5. ถามและขอความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา
ไม่มีใครคาดหวังว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่วันแรกที่มาทำงาน ดังนั้นเมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหาอะไรก็ตาม การถามหรือขอความช่วยเหลือจึงไม่ใช่เรื่องผิด มันดีกว่าการที่เราทำงานไปจนเสร็จเรียบร้อย แต่ผิดพลาด ซึ่งทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ

6. สร้างความสัมพันธ์นอกที่ทำงาน
สิ่งที่ควรทำยังไม่ได้จบเพียงเพราะถึงเวลาเลิกงานเท่านั้น เพราะนอกเหนือจากในเวลาทำงานแล้ว การพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานนอกเวลางานก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน เล่นกีฬา หรือสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานในตอนเย็นหลังเลิกงานบ้างเมื่อมีโอกาส สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราและเพื่อนร่วมงานรู้จักกันมากขึ้น และเมื่อทำงานไปได้สักพัก หรือผ่านช่วงทดลองงานแล้ว โซเชียลมีเดียก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ

7. หลีกเลี่ยงการนินทาและเรื่องการเมืองในที่ทำงาน
ข่าวลือหรือการนินทาเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกสังคม สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ไม่พูดถึงคนอื่นลับหลังในทางที่ไม่ดี อยู่ให้ห่างจากกลุ่มคนที่ชอบนินทา และอย่าทำอะไรที่จะเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิดว่าเราเป็นคนชอบนินทา รวมทั้งอย่าข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในที่ทำงานด้วย

8. แต่งกายให้เหมาะสม
การแต่งกายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อาจดูไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วสำคัญมาก เราควรแต่งตัวให้สุภาพ และเป็นทางการ ถึงแม้บริษัทที่เราทำงานด้วยจะอนุญาตให้พนักงานแต่งตัวแบบไม่เป็นทางการได้ก็ตาม พนักงานในบริษัทนั้นแต่งตัวมาทำงานลักษณะไหน เราควรแต่งตัวให้เรียบร้อยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระดับ เช่น บริษัทให้ใส่เสื้อยืดมาทำงานได้ เราก็ควรใส่เสื้อคอปก หรือเสื้อเชิ้ตมา เมื่อทำงานไปได้สักพัก เราจึงค่อยปรับเปลี่ยนการแต่งตัว หรือบางครั้ง ในวันแรกที่เราไปทำงาน หัวหน้างานอาจเป็นคนบอกให้แต่งตัวสบายๆ มาทำงานได้ เมื่อนั้นก็ยังไม่สายเกินไปที่จะลดความเป็นทางการลง

ด้วย 8 ข้อข้างต้น จะต้องทำให้ใครหลายคนแอบประทับใจเราอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องรักษาความประทับใจและความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานเหล่านี้เอาไว้ เพราะนอกจากจะทำงานได้ราบรื่นแล้วเราก็จะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสบายใจอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook