"แก้วกัลยา กมุลทะลา" : การต่อสู้เพียงลำพังของหญิงไทยคนแรกที่ได้แชมป์วอลเลย์บอลลีกญี่ปุ่น

"แก้วกัลยา กมุลทะลา" : การต่อสู้เพียงลำพังของหญิงไทยคนแรกที่ได้แชมป์วอลเลย์บอลลีกญี่ปุ่น

"แก้วกัลยา กมุลทะลา" : การต่อสู้เพียงลำพังของหญิงไทยคนแรกที่ได้แชมป์วอลเลย์บอลลีกญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ตัวเล็ก ว่องไว ใจสู้" นี่คือคุณสมบัติที่อยู่ในดีเอ็นเอของ นักตบลูกยางสาวไทย ที่คนทั้งโลกรับรู้และให้การยอมรับในความสามารถ

อานิสงส์จากพัฒนาการของ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ในเวทีระดับนานาชาติ ทำให้ นักตบสายเลือดไทย ได้รับโอกาสออกไปเล่น ลีกอาชีพในต่างแดนหลายต่อหลายคน อย่างไรก็ตาม นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมี นักวอลเลย์บอลหญิงชาวไทย ก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ วี.ลีก ญี่ปุ่น 

กระทั่งประวัติศาสตร์หน้าใหม่เกิดขึ้น ในฤดูกาล 2019-20 เมื่อสโมสร เจ.ที. มาร์เวลลัส (JT Marvalous)

ต้นสังกัดของ "ทิพย์ - แก้วกัลยา กมุลทะลา" ผงาดซิวแชมป์ลีกสูงสุดได้ในรอบ 9 ปี ส่งผลให้ นักวอลเลย์สาวจากจังหวัดกาฬสินธุ์ จารึกชื่อตัวเองในฐานะ นักวอลเลย์หญิงชาวไทยคนแรกที่เป็นแชมป์ วี.ลีก ญี่ปุ่น 

มันคงเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากเธอคือผู้เล่นขาประจำของทีมชาติไทย ที่มีโอกาสโชว์ฝีมืออย่างสม่ำเสมอ ในทัวร์นาเมนต์ระดับโลกบ่อยครั้ง จนถูกทาบทามจากทีมชั้นนำในต่างแดน 

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเธอ มันเป็นไปได้ยาก เพราะ "แก้วกัลยา" ไม่ใช่ผู้เล่นขาประจำของทัพนักตบลูกยางสาวไทย อันที่จริงถ้าจะพูดให้ถูก เธอไม่ได้ถูกเรียกตัวเข้าอยู่ในทีมชาติมานานหลายปี 

โอกาสเดียวที่เธอจะได้แสดงฝีมือ นั่นคือ การแข่งขันวอลเลย์ลีกภายในประเทศเท่านั้น ทว่าเหตุใดเธอถึงได้รับโอกาสไปเล่นวอลเลย์อาชีพที่ญี่ปุ่น นานถึง 2 ฤดูกาล.. ติดตามเรื่องราวการผจญภัยของ แก้วกัลยา กมุลทะลา หญิงแกร่งกับหลายเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับเธอ ในช่วงเวลาที่อยู่บนแผ่นดินญี่ปุ่น

สนามบิน

ทุกๆ การเดินทางย่อมมีเหตุผลเสมอในการไปถึงจุดหมายนั้น สำหรับนักกีฬาไทย การได้ออกไปเล่นลีกอาชีพในระดับที่สูงกว่า ให้ค่าตอบแทนได้ดีกว่าอยู่ในประเทศ ย่อมเป็นปลายทางที่ใครหลายคนใฝ่ฝันถึง

ปลายเดือนตุลาคม 2018 แก้วกัลยา หอบกระเป๋าเดินทางใบใหญ่มายังสนามบิน เพื่อเตรียมออกเดินทางไปเล่น ลีกอาชีพที่ญี่ปุ่น กับสโมสร เจที มาร์เวลลัส ตามที่ตกลงเซ็นสัญญายืมตัว 1 ปี จากทีม ไทย-เดนมาร์ก ขอนแก่น สตาร์ วีซี

1

ความรู้สึกมากมายวนเวียนอยู่ในหัวเธอ ก่อนก้าวเท้าขึ้นไปยัง นกเหล็ก ที่จะนำเธอไปส่งที่ ประเทศญี่ปุ่น เพราะนี่ไม่ใช่แค่ครั้งแรกในการไปเล่นอาชีพต่างแดน แต่ครั้งนี้เป็นการย้ายทีมหนแรกในชีวิตของเธอ จากสโมสรที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่เรียนระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย

นี่ยังไม่รวมความวิตกกังวล เกี่ยวกับการปรับตัวเข้าสังคม วัฒนธรรมใหม่ เพื่อนร่วมทีมที่ไม่มีใครพูดภาษาเดียวกับเธอ รวมถึงความมั่นใจที่เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองดีพอที่จะเล่นให้สโมสร เจที มาร์เวลลัส ที่จัดเป็น ทีมชั้นนำระดับลุ้นแชมป์ของ วี.ลีก หรือเปล่า?

"การไปเล่นในต่างประเทศ มันเคยเป็นความฝันของหนู ในตอนที่หนูเริ่มมีชื่อติดทีมชาติใหม่ๆ ไม่ว่าจะลีกญี่ปุ่น หรือลีกในอาเซียน หนูอยากลองออกไปหาประสบการณ์สักครั้ง" 

"แต่หลังจากหลุดทีมชาติมาได้พักใหญ่ๆ หนูก็ไม่ได้คาดหวัง ที่จะได้ไปเล่นต่างประเทศอีกแล้ว เพราะคิดว่าความฝันของหนู คงไม่มีโอกาสเป็นไปได้แล้ว" แก้วกัลยา กล่าว

เธอใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง นั่งเครื่องบินออกจากแผ่นดินแม่ ไปสู่ญี่ปุ่น แต่บนเส้นทางนักวอลเลย์บอล แก้วกัลยา ผ่านระยะเวลายาวนานในการอดทน ต่อสู้มานานนับสิบปี กว่าจะได้รับโอกาสครั้งสำคัญ ในการพิสูจน์ตัวเองครั้งนี้ ...

เธอรู้ดีว่านี่อาจเป็นตั๋วเพียงเที่ยวเดียวในการได้เล่นอาชีพที่ต่างประเทศ เพราะโอกาสแบบนี้ อาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในชีวิตเธอ

ใจสลาย

"หนูเป็นเด็กผู้หญิงที่สูงสุดในชั้นเรียน ตอนประถมฯ ครูจึงชักชวนให้หนูฝึกเล่นวอลเลย์บอล บอกว่าถ้าหนูเป็นนักกีฬาที่เก่ง จะได้ทุนเรียนฟรีในระดับมัธยมฯ และมหา'ลัย"

"ช่วงประมาณ ม.5 หนูถูกเรียกติดเยาวชนทีมชาติไทย รุ่นเดียวกับ ทัดดาว (นึกแจ้ง) ควบคู่การเล่นอาชีพให้ สโมสร ไอเดีย ขอนแก่น (ชื่อเดิม) หลังจบ ม.6 หนูถูกเรียกเข้าไปเก็บตัวฝึกซ้อมอยู่กับ ทีมชาติไทย มาตลอดหลายปี ได้มีชื่อเป็น 14 คนตลอด แต่ไม่ค่อยได้ลงสนามสักเท่าไหร่"

2

มันเป็นความรู้สึกตื่นตาตื่นใจไม่น้อย สำหรับเด็กสาวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้เข้าเก็บตัว กินนอน ฝึกซ้อม อยู่ในสนามเดียวกัน ทำทุกอย่างเหมือน ๆ กัน ในแคมป์ทีมชาติไทย ร่วมกับสุดยอดนักตบขาประจำรุ่นพี่ อย่าง นุศรา, ปลื้มจิตร์, วิลาวัลย์, อรอุมา ฯลฯ

แก้วกัลยา ในวันนั้น มีความฝันที่จะได้เดินตามรอยรุ่นพี่หลายๆ คน ในทีมที่ได้โบยบินออกไปเล่นต่างแดน แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น สิ่งแรกที่เธอต้องทำ คือการสอดแทรกขึ้นมาเป็น ผู้เล่นตัวหลัก ที่ได้ลงสนามอย่างสม่ำเสมอ 

น่าเสียดาย ชีวิตจริงไม่เคยง่ายดายขนาดนั้น เธอได้มาซ้อมอยู่ทีมตลอด 4-5 ปี แต่ดูเหมือนว่าเธอยังไม่สามารถเอาชนะใจโค้ช จนเบียดเพื่อนร่วมทีมชาติขึ้นมาได้

"ในช่วงมหา'ลัย หนูแทบไม่ได้เรียนเลยตลอด 4 ปี เพราะต้องใช้ส่วนใหญ่อยู่ในแคมป์ ตอนนั้นทั้งรู้สึกเครียดและท้อ กดดันด้วยที่เรายังซ้อมไม่ได้อย่างที่โค้ชต้องการ หนูก็พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ก็ยังโดนตำหนิ และไม่ค่อยได้เล่น ทั้งที่เราก็ซ้อมเท่ากับคนอื่น แต่ไม่มีโอกาส"

ถึงกระนั้น แก้วกัลยา ยังถูกเรียกเข้ามามีชื่ออยู่ตลอด โดยเธออยู่ในทีมชุดเหรียญทองแดง เอเชียนเกมส์ 2014 ที่เกาหลีใต้ 

จนมาถึง ทัวร์นาเมนต์รายการสำคัญอย่าง ศึกวอลเลย์บอลโอลิมปิก 2016 รอบคัดเลือก ในช่วงก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น แก้วกัลยา ยังคงได้รับเลือกเป็น 14 ผู้เล่นทีมชาติไทย ชุดล่าตั๋วโอลิมปิก โดยทีมได้วางโปรแกรมก่อนแข่ง บินไปเก็บตัวที่ประเทศจีน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเตรียมทีมในขั้นสุดท้าย ซึ่งเธอไม่รู้เลยว่า ตนเองต้องพบกับฝันร้ายที่ยากลืมเลือน ในการออกเดินทางครั้งนี้

3

"ตอนที่มีชื่อติดทีมชุดคัดโอลิมปิก หนูรู้สึกดีใจมาก ทางทีมมีแผนไปเก็บตัวที่จีน 1 สัปดาห์ ก่อนเดินทางไปแข่งที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นหนูคิดว่ามาถึงขนาดนี้แล้ว คงไม่น่าหลุดออกจากทีม หนูคิดว่าตัวเองซ้อมค่อนข้างโอเคนะ ตามโปรแกรม"

"จนก่อนวันเดินทางไปญี่ปุ่น โค้ชมาบอกกับหนูว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อนักกีฬา 2 คน โดย หนู กับพี่แป้ง (วณิชยา หล่วงทองหลาง) จะหลุดออกจากทีม แล้วให้คนที่อยู่เมืองไทย บินมาแข่งแทน" 

"ความรู้สึกตอนนั้นมันช็อกมาก ตอนที่เดินทางกลับ หนูกับพี่แป้ง ต่างคน ต่างพูดอะไรไม่ออก เพราะไม่คิดว่าจะเป็นเราที่ถูกเปลี่ยนรายชื่อ สภาพจิตใจตอนนั้นย่ำแย่มาก หลังจากกลับมาที่สโมสร หนูกลายเป็นคนที่ขาดมั่นใจในการเล่นไปเลย"

ไลน์ปริศนา?

เส้นทางของเธอกับทีมชาติไทย แทบจะยุติลงแค่ตรงนั้น ... เพราะหลังจากเหตุการณ์วันที่เธอ หลุดจากทีมชุดคัดเลือก โอลิมปิก เกมส์ 2016 แก้วกัลยา ก็ไม่เคยถูกเรียกตัวกลับเข้าไปอยู่ในแคมป์ทีมชาติอีกเลย 

วันเวลาค่อย ๆ เยียวจิตใจ จากที่ทำใจไม่ได้ เธอเริ่มค่อย ๆ ยอมรับการทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตนเอง และเดินหน้าต่อไป แก้วกัลยา ไม่ปล่อยให้เรื่องนั้นกลับมาบั่นทอนจิตใจ เธอหันมาโฟกัสกับการเล่นให้ สโมสรขอนแก่นฯ ในศึกวอลเลย์บอลหญิง ไทยแลนด์ ลีก โดยที่ไม่รู้เลยว่า กำลังมีทีมต่างแดนมองเห็นความพยายามของเธออยู่ 

4

"หนูทำใจกับทีมชาติแล้ว เพราะมองไม่เห็นโอกาสที่จะได้เข้าไปอีก ตอนนี้ในทีมชาติก็มีน้องๆ รุ่นใหม่ขึ้นมาเยอะแล้ว หนูก็ตั้งเป้าแค่พยายามเล่นให้เต็มที่กับทีมขอนแก่น ส่วนเรื่องการไปเล่นต่างประเทศ หนูลืมไปหมด มันไม่มีทางเป็นไปได้หรอกค่ะ"

"จนวันหนึ่ง มีคนทักข้อความในไลน์เข้ามาบอกว่า 'เจที มาร์เวลลัส อยากได้ตัวหนูไปร่วมทีม' หนูตกใจมาก หนูถามกลับเลยว่า 'ทำไมต้องเป็นหนูด้วยพี่ ตำแหน่งบอลกลาง มีตัวเลือกตั้งเยอะแยะ' เอาจริงๆ ตอนนั้นหนูไม่มีความมั่นใจเลยว่า ตัวเองจะเล่นลีกที่ญี่ปุ่นได้ หนูไม่อยากไปเล่น แล้วทำให้เขาผิดหวัง ต้องถูกส่งตัวกลับก่อนกำหนด"

"เขาก็บอกว่า หนูมีสไตล์การเล่นที่น่าจะเข้ากับทีมได้ ขอแค่ให้หนูมั่นใจในตัวเองก็พอ หนูจึงเข้าไปคุยกับทางสโมสรขอนแก่นฯ และคนรอบข้าง ทุกคนเชียร์ให้หนูไปเล่นที่ญี่ปุ่น หนูมีเวลาเตรียมตัวแค่ 2 อาทิตย์ ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น เพราะลีกที่นั่นจะเปิดฤดูกาลแล้วในสัปดาห์หน้า"

5

แก้วกัลยา แทบไม่อยากเชื่อตัวเอง เมื่อได้รับการติดต่อจากล่ามของ อรอุมา สิทธิรักษ์ สมัยเล่นให้ เจที มาร์เวลลัส ถึงข้อเสนอจากสโมสรชั้นนำของญี่ปุ่น ที่ให้ค่าเหนื่อยเธอมากกว่าตอนอยู่เมืองไทยเกือบ 10 เท่า 

เธอทราบดีว่าตัวเองไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่สโมสรเจทีฯ ต้องการตัว เพราะก่อนหน้านี้ สโมสรได้เจรจา ดึง หัตถยา บำรุงสุข ผู้เล่นดีกรีทีมชาติไทย ในโควต้าผู้เล่นต่างชาติอาเซียน โชคร้ายที่ หัตถยา มีอาการบาดเจ็บหนัก ทำให้สโมสรต้องมาเจรจากับผู้เล่นตัวเลือกรองลงมานั่นคือเธอ ที่ได้รับโอกาสอันน่าเหลือเชื่อนี้

ไม่ได้เล่นมากีฬา แต่มาทำงาน

วี.ลีก ดิวิชั่น 1 ญี่ปุ่น ฤดูกาล 2018-19 มีการแข่งขันที่รูปแบบคล้ายกับบาสเกตบอล NBA นั่นคือ ในฤดูกาลปกติ จะมีการออกเป็น 2 สาย คือ ตะวันตก (Western Conference) และ ตะวันออก (Eastern Conference) 

6

ต้นสังกัดของ แก้วกัลยา อยู่ในฝั่งตะวันตก มีทั้งหมด 5 ทีม (ฝั่งตะวันออก มี 6 ทีม) แข่งแบบพบกันหมด 5 เลก จำนวน 20 นัด เพื่อหา 4 ทีมที่ดีสุดจากสองฝั่งมาแข่งรอบ ไฟนัล 8 แบบพบกันหมด 7 นัด 

ก่อนนำเอาทีมที่มีคะแนนอันดับ 2-3 มาแข่งรอบ ไฟนัล 3 ผู้ชนะในรอบนี้ จะได้เข้าชิงชนะเลิศ กับทีมที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1 ที่รออยู่ก่อนหน้า เพื่อหาแชมป์ประจำฤดูกาล (นัดชิงแข่งแบบ Best of 3 ใครชนะ 2 เลกก่อนเป็นแชมป์ 

"หนูปรับตัวกับญี่ปุ่นได้เร็ว ไม่ค่อยมีอาการโฮมซิกสักเท่าไหร่ เพราะเวลามันผ่านไปเร็วมากในแต่ละวัน มีแข่งทุกเสาร์อาทิตย์ ถ้าไม่ใช่วันแข่งก็หมดเวลาไปกับการฝึกซ้อม การประชุมทีม การดูวิดีโอ คือที่นี่เขามีวัฒนธรรมการทำงานที่จริงจัง และละเอียดมาก เหมือนทุกคนไม่ได้มาเล่นกีฬา แต่มาทำงานจริงๆ เหมือนเป็นพนักงานบริษัทเลย"

แก้วกัลยา กมุลทะลา รับมือกับการปรับตัวเรื่องนอกสนามได้ดี เธอใช้จักรยานในการปั่นไปฝึกซ้อม เพราะที่พักของเธอ อยู่ห่างไม่ไกลจากสนาม เรื่องอาหารการกินก็ไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่เธอต้องใช้เวลาปรับตัวอย่างมาก คือ ภาษา และวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นที่เธอไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

7

"สโมสรในลีกญี่ปุ่น มีความเป็นอาชีพแบบร้อยเปอร์เซนต์ เขาจะทำให้นักกีฬาโฟกัสแค่เรื่องวอลเลย์ อย่างเดียวพอ สโมสรดูแลเราหมดทุกอย่าง อาหาร 3 มื้อ ที่พัก ถ้าเทียบกับความแตกต่างที่เมืองไทย อย่างแรก สโมสรทุกทีมจะมีสตาฟฟ์เยอะมาก แต่ละคนก็จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง และมีการประชุมทีมบ่อยมาก ซึ่งเขาจะพยายามให้นักกีฬาออกความเห็นด้วย"

"อย่างต่อมา เวลาซ้อม เขาซ้อมกันจริงจังมาก ไม่มีเล่น ต้องละเอียดทุกลูก ไม่มีคำว่ารีแลกซ์ แล้วนักกีฬาทุกคนจะมาถึงสนามก่อน เพื่อซ้อมกันเอง หลังซ้อมเสร็จ นักกีฬาจะยังไม่กลับบ้าน ขอโค้ชซ้อมกันต่อจนมืดค่ำ" 

"นักกีฬาที่นี่ สามารถเรียกสตาฟฟ์คนไหนก็ได้ มาช่วยซ้อมเพิ่มในส่วนที่ตัวเองต้องการ เพราะสตาฟฟ์แต่ละคน จะดูแลคนละอย่างกัน เช่น โค้ชคนนี้ดูแลเกมรุก อีกคนดูแลเกมรับ เขาก็จะมาโยนบอล ตีลูกให้นักกีฬาที่ต้องการซ้อมเพิ่มเติม"

"จนบางที เฮดโค้ช ถึงกับต้องบอกว่า วันนี้ห้ามซ้อมแยกนะ เพื่อให้เก็บแรงไว้ ถ้าโค้ชไม่บอก เขาก็ซ้อมแยกทุกวัน บางทีหนูก็สงสารสตาฟฟ์โค้ช ที่ไม่ได้กินข้าวเย็น เพราะต้องมาซ้อมกับนักกีฬา หนูก็เลยต้องปรับตัวตามเพื่อนร่วมทีม มาซ้อมก่อนเวลา และขอโค้ชซ้อมต่อ ยิ่งหนูมาร่วมทีมช้ากว่าคนอื่น มีเวลาปรับตัวน้อย ก็ต้องอาศัยซ้อมให้เยอะ เพื่อจะได้ช่วยทีม"

10 เกมผ่านไปในฤดูกาลปกติ แก้วกัลยา ยังไม่ได้รับโอกาสลงสนามจากโค้ช เธอเข้าใจดีว่า ตนเองยังต้องใช้เวลาเพื่อปรับตัว เรียนรู้ระบบ และเพื่อนร่วมทีม โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารที่สำคัญมาก สำหรับการไปเล่นอาชีพที่ญี่ปุ่น

8

"หนูพยายามฝึกพูดและฟังภาษาญี่ปุ่น เพราะวอลเลย์บอลที่นี่ เขาใช้เสียงในการเล่นเยอะมาก ต้องบอกกันทุกช็อต ทุกลูกว่าจะเล่นอย่างไร ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ถ้าลูกไหนเสีย เขาจะมาจี้เลยว่า ทำไมถึงพลาด? ใครเป็นคนรับผิดชอบ? เวลาอยู่ในสนามเขาจะพูดทุกอย่างเป็น ภาษาญี่ปุ่นหมด หนูก็ต้องเรียนรู้พวกศัพท์เทคนิคที่ใช้ในการเล่น"

"ตอนอยู่เมืองไทย หนูเป็นคนที่ไม่ค่อยออกเสียงในการเล่น พอมาอยู่ที่ญี่ปุ่น หนูต้องกล้าที่จะตะโกนบอกเพื่อนเป็นภาษาญี่ปุ่น เพราะไม่อย่างนั้น โค้ชก็ยังไม่มั่นใจที่จะส่งหนูลงสนาม จนผ่านไปได้สัก 10 แมตช์ โค้ชเลือกเปลี่ยนหนูลงสนาม 6 คนแรก ในสถานการณ์ทีมกำลังจะเสียเซทสอง แต่หนูช่วยให้ทีมได้เซทนั้น และชนะไป หลังจากนั้นก็ได้ลงเป็น 6 คนแรกมาตลอด จนจบฤดูกาล"

แก้วกัลยา ยึดตำแหน่งตัวจริงของสโมสร เจที มาร์เวลลัส และพาทีมทะลุเข้าสู่รอบ ไฟนัล 3 ก่อนจบซีซั่นด้วยตำแหน่งอันดับ 3 โดยมีผลงานส่วนตัวที่น่าประทับใจ ทำให้สโมสร เจทีฯ ตัดสินใจขยายสัญญากับ แก้วกัลยา ออกไปอีก 1 ปี พร้อมกับขึ้นค่าเหนื่อยเธอเป็นปีละประมาณ 2,000,000 บาท

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ 

"ปีที่สอง หนูมีเวลาเตรียมตัวมากกว่าเดิม ได้ไปซ้อมกับทีมก่อนเปิดฤดูกาลถึง 2 เดือน หนูชินกับการใช้ชีวิตที่นี่แล้ว 2-3 เกมแรก หนูได้ลงสนามเป็น 6 คนแรก แต่หนูฟอร์มไม่ดี หลังจากนั้นหนูไม่ได้ลงสนามยาวเลย"

"หนูรู้สึกกดดัน และถูกคาดหวังมากขึ้นจากโค้ช เพราะหนูอยู่กับทีมมาสองปีแล้ว เวลาซ้อมจุดไหนที่พลาด เขาก็ถามหนูซ้ำๆว่า ทำไมยังพลาดอีก? ประกอบกับตอนนั้น ทีมชนะรวด โค้ชเจอชุดที่ลงตัว จึงไม่ค่อยอยากเปลี่ยนทีม พอไม่ได้ลงสนามติดต่อกันนานๆ ก็ส่งผลต่อเรื่องสภาพจิตใจของหนู ก็ได้ครอบครัวนี่แหละที่คอยเป็นกำลังใจให้ตลอด"

9

จากซีซั่นแรกที่เธอได้รับโอกาสลงสนามอย่างต่อเนื่อง ในปีที่สองบนลีกอาชีพญี่ปุ่น เธอต้องเฝ้ารอโอกาสอย่างไม่มีกำหนด เกมแล้วเกมเล่าที่เธอทำได้แค่มองดูชัยชนะของทีมจากข้างสนาม และกลับไปตั้งใจพิสูจน์ตัวเองในสนามซ้อม, อดทนรอวันที่เธอจะได้ลงสนามในวันแข่งขัน 

ฤดูกาล 2019-20 ของ วี.ลีก มีการเปลี่ยนกฏมากมาย ทั้งการเพิ่มทีมเป็น 12 ทีม พร้อมเปลี่ยนการกำหนดสายในฤดูกาลปกติใหม่ภายใต้ชื่อ พรีเมียร์ และ สตาร์ โดยไม่อิงกับสถานที่ตั้งทีมอีกต่อไป (แบบเดียวกับ อเมริกันฟุตบอล NFL) แต่ถึงกระนั้น เจที มาร์เวลลัส ก็ยังผ่านเข้าสู่รอบ ไฟนัล 8 ได้อีกครั้ง

ในเกมแรกของรอบ ไฟนัล 8 (แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม หาทีมอันดับ 1-2 ของกลุ่มเข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้าย และชิงชนะเลิศต่อไป)

เจที มาร์เวลลัส ลงสนามพบกับ ฮิซามิซึ สปริงส์ (Hisamitsu Springs) ที่มีศักดิ์ศรีเป็นแชมป์เก่า เซทแรก เจที ต้านทาน ฮิซามิซึ ไม่ไหว พ่าย 14-25 คะแนน ก่อนที่เซทสอง แก้วกัลยาที่ร้างสนามไปนานจะถูกส่งไปพลิกสถานการณ์ และช่วยให้กลับมาแซงชนะได้ 3-1 เซท 

"แมตช์นั้นหนูอยากลงเล่นมาก เพราะไม่ได้ลงสนามมานาน หนูซ้อมเหนื่อยมาตลอด  ก็อยากลงไปโชว์ให้โค้ชได้เห็น ดีใจที่ช่วยให้ทีมพลิกกลับมาชนะได้ หลังจบเกมทุกคนก็เข้าชื่นชมหนูที่ลงไปในสถานการณ์ลำบาก และเล่นได้ดี หลังจากแมตช์นั้นหนูก็ไม่ได้ลงสนามอีก จนมาถึงนัดชิง" 

10

จบรอบแรกของ ไฟนัล 8 เจที มาร์เวลลัส เข้าป้ายอันดับ 1 ของกลุ่มบี ก่อนเอาชนะ ไซตามะ เมดิกส์ (Saitama Ageo Medics) ในรอบ 4 ทีมสุดท้าย ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับ โอกายาม่า ซีกัลส์ (Okayama Seagulls) ซึ่งเคยอยู่กลุ่มเดียวกันในรอบแรกของ ไฟนัล 8

2 เซทแรก เจที กับ ไซตามะ สู้กันได้อย่างสูสี เบียดกันไปมา ผลัดกันแพ้-ชนะคนละ 1-1 เซท 25-22, 24-26 ในเซทที่สาม สถานการณ์ของ เจที ตกเป็นรองไซตามะ และเป็นอีกครั้งที่ แก้วกัลยา ที่มีสไตล์แตกต่างกับผู้เล่นตัวจริง ถูกเปลี่ยนลงสนามในฐานะตัวสำรอง 

"นัดนั้นคนดูเยอะมาก รู้สึกกดดัน แมตช์นี้ไม่มีใครอยากแพ้ เพราะทุกคนอุตส่าห์ทำงานหนักกันมาทั้งปี ฝ่าฟันมาถึงนัดสุดท้าย คู่แข่งวันนั้นเล่นได้เหนียวแน่นมาก เกมก็เบียดกันมาตลอด พอเข้าเซท 3 โค้ชเปลี่ยนหนูลงสนาม ก็แพ้ไป แต่มาไล่คืนในเซท 4 ทำให้ต้องไปตัดสินในเซท 5"

"ปกติโค้ช เขาหน้านิ่งๆ ไม่ค่อยยิ้ม แต่ช่วงที่วางแผนก่อนเข้าเซท 5 อยู่ดีๆ แกก็ยิ้มไม่หยุด บอกทุกคนว่า 'เซทนี้ เราชนะได้แน่นอน ผมเชื่อใจพวกคุณ' มันก็เลยทำให้ นักกีฬาทุกคนที่กำลังเครียดและกดดัน รู้สึกผ่อนคลายลง ขนาดโค้ชเขายังมั่นใจเลย"

"เซท 5 ทีมหนูเสิร์ฟจี้ได้ดี แต้มเลยค่อนข้างห่าง พอลูกสุดท้ายลง (ชนะ 15-7) เราได้แชมป์ หนูจำได้ว่าทุกคนวิ่งมากอดกันร้องไห้ มันเป็นความรู้สึกที่ได้ปลดปล่อย หลังจากทำงานหนักมาทั้งปี ที่สำคัญ เจทีฯ ไม่เคยได้แชมป์มานานถึง 9 ปี จบอันดับ 2-3 ตลอด เขาก็รอคอยวันนี้มานานแล้ว ทุกคนในสโมสรจึงดีใจมากที่เราทำสำเร็จ" 

11

น้ำตาของเธอที่ไหลออกในวันนั้น ต่างจากน้ำตาที่เคยไหลในวันวาน เธอไม่ได้เสียใจ ผิดหวัง แต่ร้องไห้เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ต่างๆ และมีความสุขเกินกว่าที่จะกั้นมันไว้ได้

แก้วกัลยา หมดสัญญากับ เจที มาร์เวลลัส หลังจากฤดูกาล 2019-20 แต่ประวัติศาสตร์ที่เธอจารึกไว้ ในฐานะผู้เล่นไทยคนแรกที่ได้แชมป์วอลเลย์บอลลีกสูงสุดญี่ปุ่น (วี.ลีก) คือสิ่งที่ไม่มีใครสามารถพรากไปจากเธอได้

ความสำเร็จบนแผ่นดินญี่ปุ่นของเธอ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคชะตา หรือวาสนา แต่มันแลกมาด้วยหงาดเหงื่อ ความพยายาม และการต่อสู้ของ นักกีฬาคนธรรมดา ที่อยากทำให้ดีที่สุดกับโอกาสที่ ผ่านเข้ามาในชีวิต 

หากเธอยอมแพ้ให้กับ อุปสรรค, ความยากลำบาก ในสังคมการทำงานและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ตั้งแต่ปีแรกที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเฮียวโงะ เธอก็คงไม่มีทางได้มาลิ้มรสชาติของชัยชนะในปีที่สองอย่างแน่นอน 

12

"วันที่หนูได้แชมป์ หนูย้อนกลับไปมองตัวเองในวันแรกที่มาญี่ปุ่นได้ ตอนนั้นหนูเป็นนักกีฬาธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีความมั่นใจ ไม่คิดว่าตัวเองจะเล่นที่ญี่ปุ่นได้ แต่ตอนนี้หนูกลายเป็นแชมป์ วี.ลีก เป็นคนไทยคนแรกที่ทำสำเร็จ หนูคิดว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสดีกว่าหลายๆ คน ที่อยากมายืนจุดนี้"

"หนูรู้สึกเติบโตขึ้น ทั้งความคิด การใช้ชีวิต การเล่นวอลเลย์บอล และความมั่นใจ หนูคิดว่า ความมั่นใจเป็นส่วนที่สำคัญมาก หากอยากจะประสบความสำเร็จ ถ้าเรามีความมั่นใจในความสามารถ มั่นใจในตัวเราเอง มันก็จะผ่านทุกสิ่งที่ยากๆ ไปได้" 

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ "แก้วกัลยา กมุลทะลา" : การต่อสู้เพียงลำพังของหญิงไทยคนแรกที่ได้แชมป์วอลเลย์บอลลีกญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook