ธนาธร vs อนุทิน: คำถาม-คำตอบ 5 ข้อ แลกหมัดปมวัคซีนโควิด-19

ธนาธร vs อนุทิน: คำถาม-คำตอบ 5 ข้อ แลกหมัดปมวัคซีนโควิด-19

ธนาธร vs อนุทิน: คำถาม-คำตอบ 5 ข้อ แลกหมัดปมวัคซีนโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ลงเฟซบุ๊กวันนี้ (26 ม.ค.) เพื่อตอบคำถาม 5 ข้อ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สงสัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนโรคติดเชิ้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนี้

คลิกอ่านทีละประเด็น วัคซีน (ที่) ไม่ครอบคลุมวัคซีนมาช้าไทยไร้แผนสู้โควิดความโปร่งใสคัดเลือกผํู้ผลิตเปิดเผยสัญญา

ยก 1
วัคซีนที่ (ไม่) ครอบคลุม

 สรุป  วัคซีนไม่ครอบคลุมทุกคน

"ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จนถึงวันนี้เรามีวัคซีนที่เจรจาเสร็จ มีความชัดเจนในการส่งมอบ ครอบคลุมเพียงแค่ 21.5% ของจำนวนประชากรเท่านั้น ในจำนวนนี้ มาจาก AstraZeneca 26 ล้านโดส (หรือ 20% ของจำนวนประชากร) และ Sinovac 2 ล้านโดส (หรือคิดเป็น 1.5% ของจำนวนประชากร)

การจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรเพียง 21.5% ต่ำกว่าและช้ากว่าหลายประเทศในโลก การฉีดวัคซีนเพียง 21.5% ของจำนวนประชากรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไม่ได้"

 สรุป  ไทยไม่ระบาดแรง ไม่ต้องสั่งให้ครบทุกคน ทยอยฉีดได้

"การจัดหาวัคซีน ในระยะแรก จำนวน 26 ล้านโดส จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ และ จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัทไซโนแวคฯ เพื่อฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง เป็นจำนวนที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้วิเคราะห์แล้วว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีการระบาดรุนแรง และไม่มีผู้ป่วย หรือ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เช่นในบางประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยด่วน แม้ว่าจะเกิดผลข้างเคียงที่ยังไม่รู้แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้จองซื้อวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ เพิ่มขึ้นอีก จำนวน 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส สำหรับประชากร 31.5 ล้านคน คิดเป็น 63% ของประชากรที่ควรรับวัคซีนได้ ซึ่งมีประมาณ 50 ล้านคน (ตัดกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ ออก) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทย

ประกอบกับจำนวนวัคซีนที่จะทยอยส่งมอบต้องดำเนินการให้เกิดคุณภาพการจัดการ และการเก็บข้อมูลด้านความปลอดภัย การวางแผนจัดหาและฉีดวัคซีน จึงต้องคำนึงปริมาณที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสูญเสียและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น อีกทั้ง UNICEF คาดการณ์ปริมาณวัคซีนที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จนเพียงพอต่อความต้องการ และมีแนวโน้มที่วัคซีนจะราคาถูกลงกว่าในขณะนี้ เราจะประหยัดงบประมาณไปได้อีกมาก

โดยสรุป การจัดหาวัคซีน เป็นไปตามหลักการคำนวณของคณะแพย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดในประเทศ และความปลอดภัยของประชาชน เป็นสำคัญ และไม่ได้วางแผนดำเนินการล่าช้าตามที่กล่าวหากัน ตามที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หนึ่งในคณะอนุกรรมการอำนวยการบริการจัดการให้วัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 ได้ตอบคำถามของประชาชน ที่ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกับคุณธนาธร แล้ว"

ยก 2
วัคซีนมาช้า

 สรุป  วัคซีนมาช้า ต้องผวาโควิดอีก 3 ปี

"นอกจากการจัดหาวัคซีนจะครอบคลุมคนจำนวนน้อยแล้ว การฉีดวัคซีนยังล่าช้ากว่าช่วงเวลาที่ควรจะเป็น

ตามกรอบเวลาที่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้อธิบายกับกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาฯ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า รัฐบาลวางแผนจะฉีดวัคซีนให้กับประชากร 11 ล้านคนในปี 2564 อีก 11 ล้านคนในปี 2565 และอีก 10.5 ล้านคนในปี 2566

รวมกันเท่ากับ 32.5 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรจะได้รับวัคซีนแล้วเสร็จในปี 2566

นั่นหมายความว่า หากผมไม่ออกมาตั้งคำถาม รัฐบาลเดินหน้าตามแผนนี้ ประชาชนจะต้องอดทนกับสถานการณ์กึ่งปิดกึ่งเปิดอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี และอีกสามปีนี้อาจจะมีความเสี่ยงแพร่ระบาดครั้งที่สามครั้งที่สี่ต่อไปได้ คนที่ต้องแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หนักที่สุดคือคนหาเช้ากินค่ำ คือแรงงานนอกระบบ คือคนที่ชีวิตมีความเปราะบาง ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ คนเหล่านี้ต้องอยู่กับความกลัวและความไม่แน่นอนในชีวิตไปอีกสามปี

ประชาชนต้องการ์ดอย่าตกไปอีกสามปี ขณะที่รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าเข้าใจประชาชน และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและฉับไว"

 สรุป  กฎหมายขวางรัฐซื้อวัคซีนที่ยังไม่ผลิต

"ผู้ผลิตทุกราย ต้องการให้เราจ่ายเงินจองซื้อวัคซีน ในขณะที่เขาเพิ่งเริ่มต้นการทดลอง ยังไม่มีการผลิตวัคซีนจริง หากเขาผลิตไม่สำเร็จ เงินที่เราจองซื้อ จะไม่ได้รับคืน ถือว่าเป็นการลงทุนร่วมกัน รับความเสี่ยงร่วมกัน

กฎหมายไทย ไม่อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินจองซื้อสินค้าที่ยังไม่มีการผลิต และ การมีเงื่อนไขว่า หากไม่สำเร็จ จะไม่ได้รับเงินคืน ก็ไม่สามารถทำได้

แม้จะมีเงื่อนไขว่า ถ้าเราจ่ายเงินจองซื้อล่วงหน้า หากเขาผลิตวัคซีนได้สำเร็จ เราจะมีโอกาสซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาที่เราซื้อเมื่อเขาผลิตได้แล้วก็ตาม หน่วยงานของรัฐ ไม่สามารถทำสัญญาเช่นนั้นได้"

ยก 3
ไทยไร้แผนสู้โควิด

 สรุป  จับได้รัฐไร้แผนสู้โควิด ข้อมูลสุดย้อนแย้ง

"การมีวัคซีนคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนในกับประชากรได้ในจำนวนที่มากพอ เราก็ยังอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิดอยู่ ประชาชนยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวอยู่ นักท่องเที่ยวจะไม่กลับเข้ามา ภาคธุรกิจไม่มีความแน่นอน การเจรจาการค้ากับต่างประเทศก็ชะงักชะงัน และที่สำคัญ เราจะเสียเปรียบทางการแข่งขันกับประเทศที่ฉีดวัคซีนเสร็จก่อนเรา

วันนี้ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์น่าจะพอพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประเทศอื่นกำลังดำเนินการเช่นไร อิสราเอลประกาศจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่ทุกคนภายในไตรมาสแรกของปีนี้ อินโดนีเชียเริ่มฉีดวัคซีนแล้วในต้นเดือนมกราคม ประเทศที่ทำสัญญาที่ผูกพันทางกฎหมายกับ COVAX (โคแวกซ์) จะได้วัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์

การไม่พยายามจัดหาวัคซีนนี้ อาจเกิดจากรัฐบาลประมาท คิดว่าสามารถรับมือกับโควิดได้ จึงไม่รีบจัดหาวัคซีน ซึ่งการแพร่ระบาดรองสองปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลจัดการการแพร่ระบาดไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จตามที่คาดไว้

(ถึงแม้ว่าจะมีการแถลงภายหลังว่าภายในปีนี้รัฐบาลจะฉีดวัคซีนให้ครอบจำนวนร้อยละ 50 ของประชากร แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะเอาวัคซีนมาจากไหน และจะฉีดอย่างไร
แผนนี้ออกมาแถลงเมื่อไม่นานมานี้ และดูแล้วไม่น่ามีความเป็นไปได้ ดังนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าแผนจริงๆ ของรัฐบาลเป็นอย่างไร เพราะข้อมูลขัดแย้งกันเอง)"

 สรุป  โควิดเป็นโรคใหม่ ทุกคนไร้ประสบการณ์

"ทุกท่านที่วิจารณ์และตำหนิการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ต่อการบริหารสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ต้องให้ความเป็นธรรมต่อคนทำงาน ด้วย เนื่องจาก โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ไม่มีใครรู้จัก และไม่มีประสบการณ์ ทุกประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทย ต่างใช้ประสบการณ์ในอดีตที่ใกล้เคียงที่สุด มาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำงาน คนทำงานอาจจะมีถูกบ้างผิดบ้าง และต้องติดตาม ปรับปรุงแผนการทำงานกันทุกวัน ตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา การนำข้อมูล และตัวเลขต่างๆ มากล่าวอ้าง จึงขอให้พิจารณาตรวจสอบข้อมูล และแหล่งที่มา ณ วันที่นำมาอ้างอิง ด้วย

กระทรวงสาธารณสุข พยายามทำงานเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในประเทศไทย ให้ดีที่สุด ทั้งในช่วงเวลาที่ไม่มีวัคซีน และ มีวัคซีนแล้ว ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการทางการแพทย์ทุกประการ และการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคนด้วยความสมัครใจ จะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2565 เป็นอย่างช้า

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า การฉีดวัคซีน ไม่ใช่การปลดล็อกทุกอย่าง และจะทำให้เรากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ได้โดยเร็ว ในระยะแรกของการฉีด วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือควบคุมโรค และ ป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยหนัก และเสียชีวิต หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ทุกคนยังต้องใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และไม่ไปที่แออัด เพื่อลดการติดและการแพร่เชื้อ อีกสักระยะ เราต้องติดตามผลการศึกษาวัคซีน ว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานแค่ไหน กันต่อไป"

 สรุป  ไทยไม่ร่วม COVAX

"กรณีที่ประเทศไทยไม่รวมโครงการวัคซีนของ COVAX นั้น เราได้เจรจากับ COVAX มาตลอด แต่เราไม่อยู่เกณฑ์ที่เขาจะให้ฟรี COVAX ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่ WHO และ GAVI ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทย ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีฐานะปานกลาง หากเราจะร่วมกับ COVAX เราต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้ง ชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้วัคซีน เมื่อไร การที่เรา"จัดหาเอง และได้วัคซีนที่เหมาะสมกับการใช้ มีเงื่อนไขด้านราคาและเวลาที่ชัดเจนกว่า จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า"

ยก 4
ความโปร่งใสการคัดเลือกผู้ผลิต

 สรุป  หวั่นกระบวนการคัดเลือกผู้ผลิตวัคซีนไม่โปร่งใส

"การจัดหาวัคซีนไม่ครบนี้ อาจมาจากการฝากความหวังไว้ที่บริษัทบริษัทเดียว ผมจำเป็นต้องย้ำในที่นี้อีกครั้งว่าผมเห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัคซีนในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ และผมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่พยายามทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ

แต่สิ่งที่ผมกำลังตั้งคำถามคือกระบวนการคัดเลือกบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งมาทำภารกิจนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการเปรียบเทียบคุณสมบัติกับรายอื่นๆ อย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

หลายฝ่ายพยายามลดความน่าเชื่อถือของผมโดยพยายามพูดให้สังคมคล้อยตามว่าผมไม่รู้จริงหรือทำการบ้านมาไม่ดีพอ ผมยืนยันในที่นี้อีกครั้งว่าจากเอกสารของหลายหน่วยงานและการให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ สัญญาซื้อวัคซีนระหว่างรัฐบาลกับ AstraZeneca, สัญญาจ้างผลิตระหว่าง AstraZeneca กับบริษัท Siam Bioscience และสัญญาการสนับสนุนงบประมาณระหว่างรัฐบาลและ Siam Bioscience เจรจาในเวลาพร้อมๆ กัน มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกันไปมา ไม่ได้เจรจาเป็นเอกเทศ เป็นอิสระจากกันและกัน และไม่ปรากฏว่ามีตั้งคณะกรรมการเฟ้นหาผู้ที่เหมาะสมในการผลิตหรือกำหนดคุณสมบัติการคัดเลือกอย่างเป็นระบบ"

 สรุป  แอสตร้าเซนเนก้าราคาต่ำ วัคซีนปลอดภัย

"เมื่อพิจารณาข้อมูลด้านเทคนิคการผลิตและการจัดการวัคซีนจากแหล่งผลิตไปจนถึงประชาชน แล้ว เราต้องเลือกวัคซีนที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน สูงสุด รวมถึง การใช้เงินงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่าที่สุด จึงเป็นที่มาของการเลือกซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่น และเหมาะสมกับการจัดการฉีดในประเทศไทย มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนอื่นๆ"

 สรุป  แอสตร้าเซนเนก้าเลือกไทยเป็นฐานผลิตวัคซีน ใช้โอกาสนี้รับเทคโนโลยี

"การได้รับข้อเสนอจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ ใช้โรงงานในประเทศไทย ซึ่งบริษัทเลือกเอง เป็นฐานการผลิตวัคซีน ของบริษัท เพื่อจำหน่ายให้แก่ภูมิภาคอาเซียน อีกด้านหนึ่งต้องนับเป็นความมั่นคงทางด้านวัคซีนของประเทศไทย เป็นสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อศักยภาพของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่รัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนในประเทศไทยหลายราย ทั้งสถาบันการศึกษา และ ผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาวัคซีนของคนไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ"

ยก 5
เปิดเผยสัญญา

 สรุป  จี้รัฐเปิดเผยสัญญา

"ในเมื่อรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทั้งงบประมาณและการเจรจาให้เกิดสัญญาต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมา อย่าอ้างว่าเป็นสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน ประชาชนย่อมมีความชอบธรรมที่จะขอเปิดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาทั้งหมดของทุกหน่วยงานและเอกสารสัญญาเหล่านี้

ผมตั้งคำถามเหล่านี้ด้วยความปรารถนาดีต่อประชาชนไทย ด้วยหวังว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการจัดหาวัคซีน ปรับเปลี่ยนแผนเดิมและมุ่งมั่นจัดหาและฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกับจำนวนประชากรมากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ปราศจากความกลัว เศรษฐกิจไทยกลับมาเดินหน้าอย่างมีพลัง ลดความไม่แน่นอนให้กับผู้ประกอบการ ลดงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่อนาคตไม่ชัดเจน"

 สรุป  รัฐไม่ผูกขาดวัคซีน เปิดเผยสัญญาได้แต่คู่สัญญาต้องยอมด้วย

"รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะผูกขาดการจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตรายหนึ่งรายใด แต่เราต้องเลือกวัคซีนที่มีความเหมาะสมกับการใช้ในประเทศไทยมากที่สุด ขอยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าฯ จำนวน 61 ล้านโดส และจากบริษัทไซโนแวคฯ จำนวน 2 ล้านโดส เป็นการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่คนไทย และประเทศไทย ซึ่งมีการตอบรับข้อเสนอของประเทศไทย และ เสนอเงื่อนไขการขายวัคซีนให้แก่ประเทศไทย ดีกว่าผู้ผลิตรายอื่น

หากในอนาคตมีผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ มาขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าที่จัดซื้ออยู่ในขณะนี้ ก็เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะพิจารณาจัดซื้อ และ สนับสนุนให้เอกชนจัดซื้อไปให้บริการประชาชน

ส่วนกรณีสัญญาต่างๆ นั้น ในส่วนของสัญญาภาคเอกชน หรือ สัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน ก็ตาม คุณธนาธร เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจภาคเอกชน น่าจะทราบดีว่า การจะเปิดเผยข้อความในสัญญา ทำได้หรือไม่ อย่างไร จะต้องได้รับการยอมรับจากคู่สัญญาด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ผมได้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับไปพิจารณาดำเนินการตามกรอบกฎหมายแล้ว"

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook