เปิดปูมหลัง 4 เลือดใหม่ คุม พปชร. “บิ๊กป้อม-เสี่ยแฮงค์-อ.แหม่ม-บุญสิงห์”

เปิดปูมหลัง 4 เลือดใหม่ คุม พปชร. “บิ๊กป้อม-เสี่ยแฮงค์-อ.แหม่ม-บุญสิงห์”

เปิดปูมหลัง 4 เลือดใหม่ คุม พปชร. “บิ๊กป้อม-เสี่ยแฮงค์-อ.แหม่ม-บุญสิงห์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ส่องปูมหลัง 4 ตำแหน่งใหญ่ “พลังประชารัฐ” ทั้ง “บิ๊กป้อม-เสี่ยแฮงค์-อ.แหม่ม-บุญสิงห์” ประวัติแต่ละคน ไม่ธรรมดา

ไม่ได้พลิกโผอะไรมาก สำหรับการประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไฮโลท์หลักคือการประกาศว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ที่ปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค ตั้งรัฐบาล และบริหารการเงินการคลังของประเทศในนามของพรรคเช่นกัน

แต่ชื่อตามตำแหน่งที่สมาชิกพรรคพลังประชารัฐจะต้องโหวตเลือก เหมือนกันกับการเลือกพล.อ.ประวิตร ไปเป็นหัวหน้าพรรค คือตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” “เหรัญญิกพรรค” และ “นายทะเบียนพรรค” ผลปรากฏว่า ตำแหน่งตามลำดับปรากฏชื่อเป็น “อนุชา นาคาศัย” “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์“ และ “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์”

บางชื่ออาจจะคุ้นอยู่บ้าง บางชื่อเกิดเครื่องหมายคำถามว่า “ใคร” แต่ทั้งหมดคือ 4 อรหันต์ใหม่ที่จะมาทำงานในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคนไทยในฐานะที่ต้องติดตามการเมือง ก็ไม่แปลกที่จะต้องทำความรู้จักกันบ้าง และ ThaiQuote ขอเอาประวัติของทั้ง 4 คน นำมาให้ผู้อ่านได้ทรรศนากัน

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก้าวแรกของนักการเมืองเต็มตัว

ไม่ต้องสืบประวัติให้มากกับผู้มากบารมีในวัย 75 ปี เพราะ พล.อ.ประวิตร พาตัวเองเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในแต่ละสถานการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะการถูกเลือกใช้งานเมื่อยามที่เกิดการปฏิวัติ เพียงแต่ว่ารอบนี้ นับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 และเซ็ตอัป “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช.ขึ้นมา ชื่อของ พล.อ.ประวิตร ก็เข้ามาทำงานร่วมกับน้องรักมาตลอด และยาวนานมาถึงปัจจุบัน

ก่อนที่จะได้สวมรอยเป็น “นักการเมืองประชาธิปไตย” เมื่อตัดสินใจมาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ คอยคุมการเลือกตั้งให้กับพรรค หลังประกาศอย่างชัดเจนในขณะนั้นว่าพรรคเลือดใหม่ที่ชื่อพลังประชารัฐ จะหนุนนำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ต่อไปเมื่อสิ้นสุดอำนาจของ คสช.

จากนั้น หน้าที่หลักของ พล.อ.ประวิตรในพลังประชารัฐ ก็คอยคุม และพูดคุยกับบรรดา ส.ส.ในพรรค ที่เป็นนักการเมืองอาชีพ เหมือนกับว่าถูกวางตัวให้ดูแลคนของพรรคให้ดี ส่วนงานนโยบายก็ปล่อยให้ทีม 4 กุมารเดินหน้าทำงาน แต่สุดท้ายก็ได้มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประวิตร ก้าวเข้ามาทำงานพรรคการเมืองเต็มตัว หลังจากทั้งชีวิตทหาร ชีวิตนักการเมือง เขาไม่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวเลยแม้แต่ครั้งเดียว

“เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย “พ่อบ้านพลังประชารัฐ”

ตำแหน่งสำคัญของพรรคการเมือง นอกจากหัวหน้าพรรค คงหนีไม่พ้นหน้าที่“เลขาธิการพรรค” และพลังประชารัฐเลือกให้ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย นักการเมืองมากประสบการณ์ และเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มสามมิตร กลุ่มการเมืองกลุ่มใหญ่ในพลังประชารัฐที่เร่ิมจะคืบครองอำนาจภายในมากขึ้นเรื่อยๆ

กระนั้น อนุชา แม้ว่าจะเหมือนอกหักเล็กๆ เพราะไม่มีตำแหน่งในขวบปีแรกที่พลังประชารัฐชนะเลือกตั้งและได้ทำงาน แต่ความไว้วางใจที่มีเป็นทุนเดิมก็ยังคงอยู่กับพรรคไม่ไปไหน กระทั่งมาได้ตำแหน่งใหญ่หลังพ้นไป 1 ปี และถือเป็นตำแหน่ง ที่กลุ่มสามมิตร “ต้องการ” อย่างมาก และคอการเมืองยังวิจารณ์ด้วยว่า แรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐที่ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นจนนำไปสู่ความวุ่นวาย ก็เพื่อต้องการให้ “เสี่ยแฮงค์” ได้ตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ปัจจบัน อนุชา เป็น ส.ส.ของพรรค พื้นที่ชัยนาท แต่ก่อนหน้านั้นเขาเองก็ช่ำชองการทำงานพื้นที่ โดยประวัติก็ไม่ธรรมดา เมื่อปี 2550 เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบพรรคไปก่อนหน้าหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม อนุชา นับว่าเป็นนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย ทุกพรรค ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของกลุ่มสามมิตรที่คุยได้กับทุกฝ่าย

“อาจารย์แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เช็กคลังการเงินได้เป็น “เหรัญญิก”

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หรืออาจารย์แหม่ม กลายเป็นภาพลักษณ์สำคัญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเสียแล้ว เพราะขณะนี้เธอทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่คอยเป็นกระบอกเสียงสำคัญส่งต่อจากรัฐบาลไปยังประชาชน

ก่อนหน้านั้น อาจารย์แหม่มที่เป็นทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และบริหารองค์กรการเงินหลายแห่ง ก่อนจะขยับเข้ามาทำงานการเมืงเพราะแววดี มีความสามารถ และถูกดึงเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจของ คสช.ในขณะนั้น ด้วยตำแหน่งผู้ช่วย รมว.คลัง และเมื่อเลือกตั้งเสร็จสิ้นพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล นฤมลจึงได้ตำแหน่งใหญ่เป็นโฆษกรัฐบาล ส่วนตำแหน่งในพรรคก็ได้เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพลังประชารัฐ

แต่ภาพล่าสุดก่อนประชุมใหญ่พรรคราวเกือบ 1 สัปดาห์ อาจารย์แหม่มก็เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มกว่าสิบชีวิตของรักษาการกรรมการบริหารพรรคที่ไปส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร ถึงที่มูลนิธิป่ารอยต่อ และตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่าเธอยังคงเป็นกำลังหลักในยุคการบริหารพรรครูปแบบใหม่ที่มี พล.อ.ประวิตรกุมบังเหียน ด้วยตำแหน่งดูแลการเงินของพรรค “เหรัญญิก” ที่ว่ากันว่าเป็นตำแหน่งใหญ่พอตัวเลยทีเดียว

“มือขวาผู้กอง” บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียน มือกฎหมาย พปชร.คนใหม่

แวบแรกที่เห็นชื่อ “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์” ก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า “เขาเป็นใคร” แต่ท้ายสุดเมื่อมองให้ดี ในแต่ละครั้งที่มีการประชุมพรรคพลังประชารัฐ หากว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ตำแหน่งในพรรคคือกรรมการบริหาร ติดภารกิจมาประชุมไม่ได้ เราจะได้เห็นภาพบุญสิงห์ ทำหน้าที่แทนในทุกครั้ง

บุญสิงห์ เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค และยังเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย รวมไปถึงยังเป็นมือกฎหมายชั้นเซียนที่ทำงานใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส ผลงานการลงพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.ภาคเหนือตอนล่าง คนที่น่าจะได้เครดิตด้วยก็ต้องมีชื่อของบุญสิงห์ และเป็นที่ทราบกันดีว่าบุญสิงห์ คือคนที่ทำงานใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส

ที่ผ่านมาบุญสิงห์มีประสบการณ์ทำงานทางการเมืองมาบ้าง โดยเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการเมืองท้องถิ่น ด้วยการเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ในปี 2543 เรื่อยมา ส่วนงานสภาใหญ่ของประเทศก็มีบ้าง เคยดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา ในปี 2553 และเคยเป็นเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในปี 2559 - 2561

ก่อนที่ชีวิตของบุญสิงห์จะก้าวกระโดดในอาชีพนักการเมืองมากที่สุด เมื่อก้าวขึ้นเป็น ส.ส.ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 13 ก่อนที่ล่าสุดจะได้งานใหญ่เป็นนายทะเบียน ที่ต้องเชี่ยวและชาญในงานด้านกฎหมายอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook