“ไม่ได้กลิ่น – ไม่รู้รส” สัญญาณพาหะไม่แสดงอาการของ “COVID-19”

“ไม่ได้กลิ่น – ไม่รู้รส” สัญญาณพาหะไม่แสดงอาการของ “COVID-19”

“ไม่ได้กลิ่น – ไม่รู้รส” สัญญาณพาหะไม่แสดงอาการของ “COVID-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูกจากสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า ผู้ที่สูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรส อาจกลายเป็นพาหะของ “COVID-19” แม้ว่าจะไม่แสดงอาการอย่างอื่น โดยในเกาหลีใต้ จีน และอิตาลี ราว 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวก มีภาวะเสียการรู้กลิ่น (anosmia) คือสูญเสียความสามารถในการรับรู้กลิ่นหรือรส โดยไม่ได้มีอาการไข้สูงหรือไอเพิ่มมากขึ้น

“ในเกาหลีใต้ ที่มีการตรวจวินิจฉัยในวงกว้างพบว่า 30% ของผู้ป่วย มีอาการสูญเสียการรับรู้กลิ่น เป็นอาการหลักในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่หนัก” ศาสตราจารย์แคลร์ ฮอปกินส์ ประธานสมาคมนาสิกแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร (The British Rhinological Society) และศาสตราจารย์นิรมัล กุมาร ประธานสมาคมโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา กล่าวในแถลงการณ์ร่วม

ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูกทั้งสองระบุว่า การที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการอื่นๆ อาจส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้เข้ารับการตรวจและกักตัวเอง ซึ่งจะทำให้ยิ่งเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วทั่วโลก

เพราะฉะนั้น ทั้งศาสตราจารย์ฮอปกินส์และศาสตราจารย์กุมาร จึงเรียกร้องให้ผู้ที่มีอาการสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นและรส เข้าตรวจหาเชื้อและกักตัวเองเป็นเวลา 7 วัน เพื่อชะลอการระบาดของโรค นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน เมื่อต้องรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะสูญเสียการรับกลิ่น และแนะนำไม่ให้ใช้กล้องส่องโพรงจมูกโดยไม่ใช่เหตุจำเป็น เนื่องจากเชื้อไวรัสจะแฝงตัวอยู่ในจมูกและลำคอ และการตรวจอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอหรือจาม ส่งผลให้แพทย์เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส

“ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูกของสหราชอาณาจักร 2 คน ติดเชื้อไวรัสและมีอาการอยู่ในขั้นวิกฤต และยังมีรายงานก่อนหน้านี้จากอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการแพร่ระบาดครั้งแรก เตือนว่าผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก รวมทั้งจักษุแพทย์ ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก” ศาสตราจารย์ฮอปกินส์กล่าว

เช่นเดียวกับสถาบันโสตนาสิกลาริงซ์วิทยาอเมริกัน ที่โพสต์ข้อมูลลงในเว็บไซต์ โดยระบุว่า หลักฐานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชี้ชัดว่า การสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นและรส เป็นอาการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 และพบอาการนี้ในผู้ป่วยที่มีผลการตรวจเป็นบวก โดยไม่มีอาการอื่นๆ

และจากรายงานที่ระบุว่า การแพร่เชื้อของ COVID-19 สู่แพทย์หูคอจมูกที่อยู่ในอัตราสูงในจีน อิตาลี และอิหร่าน ส่งผลถึงชีวิต นักวิชาการจึงแนะนำว่า แพทย์จะต้องตื่นตัวในการคัดกรองผู้ป่วย และแนะนำให้มีการแยกตัวและตรวจผู้ป่วยเหล่านี้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งเตือนให้สมาชิกของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคกระตุ้นให้แพทย์ฝ่ายรักษาทั้งหมดให้ความสำคัญกับการตรวจเยี่ยมเร่งด่วนและฉุกเฉินในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า

นอกจากนี้ แพทย์ศึกษาคลัสเตอร์ของผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีภาวะสูญเสียการรับกลิ่นและรส และการสูญเสียสัมผัสนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีอาการที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่ง ดร.เคลเมนส์ เวนท์เนอร์ ศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์จาก Academic Teaching Hospital of Ludwig-Maximilians มหาวิทยาลัยมิวนิค กล่าวว่า ผู้ป่วยจะมีความสามารถในการรับกลิ่นกลับมา หลังจากผ่านไป 2 – 3 วัน หรือหลายสัปดาห์ และภาวะนั้นจะเกิดขึ้นได้โดยไม่เกี่ยวว่าจะป่วยมากหรือน้อย หรือคัดจมูกหรือไม่ การใช้ยาหยอดจมูกหรือยาพ่นก็ไม่ช่วยอะไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook