ฝรั่งตะลึง เจอปลาชำแหละเหลือครึ่งตัวที่สมุย หวั่นเป็น "ฉลามวาฬ" สัตว์ป่าสงวน

ฝรั่งตะลึง เจอปลาชำแหละเหลือครึ่งตัวที่สมุย หวั่นเป็น "ฉลามวาฬ" สัตว์ป่าสงวน

ฝรั่งตะลึง เจอปลาชำแหละเหลือครึ่งตัวที่สมุย หวั่นเป็น "ฉลามวาฬ" สัตว์ป่าสงวน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกโซเชียลกระหน่ำแชร์ ภาพปลาครึ่งตัวที่เกาะสมุย หวั่นเป็น “ฉลามวาฬ” สัตว์ป่าสงวนสุดหายากในท้องทะเลไทย

วันที่ 31 ธ.ค.62 ในโลกโซเชียลได้มีส่งต่อเรื่องราว ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Antonio Giurlanda” ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ได้โพสต์ภาพปลาชนิดหนึ่งถูกชำแหละ ระบุว่าเกิดขึ้นที่เกาะสมุย พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็น “ฉลามวาฬ” สัตว์ทะเลหายาก

ซึ่งโพสต์ดังกล่าวเมื่อถูกเผยแพร่ออกไปได้มีการส่งต่อและมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมาก

ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat”

โดยระบุว่า ปลาครึ่งตัวในภาพไม่น่าจะเป็น “ฉลามวาฬ” แต่อาจเป็น “ปลาโรนัน” มากกว่า สังเกตได้จากกระโดง 2 อัน ที่ เหมือนกับปลาโรนัน และสำหรับฉลามวาฬนั้นจะมีมีสันข้างตัว ซึ่งปลาในภาพไม่มี

นอกจากนี้ ปลาในภาพตัวเล็ก ซึ่งหากเป็นฉลามวาฬ ต้องเป็นลูกเพิ่งเกิดจริงๆ โดยเมืองไทยไม่มีรายงานฉลามวาฬตัวเท่านี้มาก่อน

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุอีกว่า ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่คุ้มครองปลาโรนัน ซึ่งแม้เป็นปลาหายากแต่ก็ยังทำการซื้อ-ขาย อย่างไรก็ตาม ปลาโรนันถือเป็นปลาถูกคุกคามอย่างหนัก โดยเฉพาะการประมงจากเรืออวนลาก ที่ผ่านมาเคยมีการพยายามผลักดันให้ปลาชนิดนี้เป็นสัตว์คุ้มครองเพราะถูกคุกคาม และเป็นปลาหายาก มีคุณค่าต่อการท่องเที่ยวดำน้ำ แต่ยังไม่สำเร็จ โดยจะมีการเดินหน้าต่อไปสำหรับเรื่องนี้ในปี 2563

ทั้งนี้ สำหรับ “ฉลามวาฬ” ปัจจุบันมีสถานภาพในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พุทธศักราช 2535

ขณะที่ “ปลาโรนัน” (Guitarfishes) คือปลากระดูกอ่อนจำพวกหนึ่ง ในวงศ์ Rhinobatidae มีรูปร่างคล้ายปลาฉลามแต่มีส่วนหัวแบนแหลมเหมือนปลากระเบน ซึ่งเป็นรอยต่อของวิวัฒนาการจากปลาฉลามมาถึงปลากระเบน พบในเขตน้ำอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปแอฟริกา, เอเชีย และออสเตรเลียทางตอนเหนือ

ปลาโรนัน มีปากอยู่บริเวณด้านล่างของลำตัวเหมือนปลากระเบน หรือปลาฉนาก อาศัยและว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูงใหญ่ เป็นปลาที่พบได้น้อยและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์แล้วทุกชนิด ในน่านน้ำของไทย เคยพบอยู่บ้างในอดีตทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทย และเคยถูกเบ็ดหรือแห ของชาวประมงเกี่ยวติดขึ้นมาบ้าง แต่มิได้โดยตั้งใจเพราะมิใช่ปลาเศรษฐกิจ

อีกทั้งยังนิยมตกเป็นเกมกีฬา ได้ถูกพบเห็นบ้างโดยนักดำน้ำ ที่บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน และรอบกองหินริเชริว ปลาโรนันขนาดโตเต็มที่อาจมีขนาดได้ถึง 3 เมตร น้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัม ที่พบในน่านน้ำไทยได้แก่ชนิด Rhynchobatus djiddensis และชนิด Rhinobatos productus

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook