พ.ร.บ. คู่ชีวิตของไทย อยู่จุดไหนแล้ว?

พ.ร.บ. คู่ชีวิตของไทย อยู่จุดไหนแล้ว?

พ.ร.บ. คู่ชีวิตของไทย อยู่จุดไหนแล้ว?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

                แรกเริ่มเดิมทีกฎหมายของทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งของประเทศไทย ได้กำหนดและบังคับให้ประชาชนเลือกเป็นเพียงเพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น แต่เมื่อสังคมมีความเจริญก้าวหน้าและเรียนรู้ว่ายังมีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งควรได้รับสิทธิทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมเฉกเช่นกลุ่มชายหญิง จึงเกิดเป็นการขับเคลื่อนและต่อสู้เพื่อสร้างกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้

                ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกจึงออกกฎหมายที่รองรับสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่เริ่มยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต ฉบับล่าสุด (รวม 40 มาตรา) ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาชุดพิเศษ โดยมีนายประสพสุข บุญเดช เป็นประธาน และได้รับการพิจารณาไปแล้วถึงสามรอบ ก่อนจะส่งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

                อย่างไรก็ดี กฤษฎีกาชุดพิเศษเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม และไม่เพียงพอกับสิทธิที่พึงมีพึงได้ของคนใช้กฎหมาย จึงมีมติส่งร่างดังกล่าวให้ภาคประชาชนแสดงความคิดเห็นและนำกลับสู่กฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง

                งานเสวนาทางวิชาการ “(พ.ร.บ.) คู่ชีวิต มีสิทธิแค่ไหน”  จัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา จึงมีการแสดงความคิดเห็นต่อร่าง  พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับล่าสุด ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจหลายประเด็น Sanook! News จึงขอนำบางส่วนของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตมาฝากทุกคน

                ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับล่าสุดนิยาม “คู่ชีวิต” ว่าเป็นคนสองคนที่เป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด จึงจะมีสิทธิ์ที่จะจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นคำนิยามที่แคบเกินไปหรือเปล่า ซึ่งปัญหานี้ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นว่าการนิยามเช่นนี้จะทำให้เกิดลูกชิ่งทางกฎหมายที่ต้องพึงระวัง โดยดร.มาตาลักษณ์ได้ยกตัวอย่างกรณีหญิงข้ามเพศที่เปลี่ยนแปลงจากชายมาเป็นหญิง หากต้องการจดทะเบียนคู่ชีวิตกับชาย ก็ถือว่าทำได้เพราะเป็นชายโดยกำเนิดทั้งคู่ แต่ถ้าหญิงข้ามเพศคนดังกล่าว มีคู่รักเป็นผู้หญิง ทั้งคู่จะไม่สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ เพราะประเทศไทยยังไม่มีพ.ร.บ.รับรองเพศ ดังนั้นหญิงข้ามเพศคนนี้ยังมีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่ร่างกายเป็นหญิง จึงไม่เข้าตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต อย่างไรก็ดี ทั้งคู่สามารถจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะกฎหมายดังกล่าวกำหนดเพศโดยกำเนิด

                แต่ถ้าหากในอนาคต พ.ร.บ.รับรองเพศที่ให้สิทธิ์กับเพศทางเลือกถูกบังคับใช้ และรับรองเพศใหม่ให้กับคนข้ามเพศจะเกิดปัญหาทันที นั่นคือ ในกรณีหญิงข้ามเพศที่ได้รับสถานะเป็นหญิงตามพ.ร.บ.รับรองเพศ และมีคู่รักเป็นหญิง ทั้งคู่จะไม่สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ เพราะทั้งคู่ไม่ได้มีเพศกำเนิดเป็นเพศเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ เพราะพ.ร.บ.รับรองเพศจะรับรองสถานะใหม่ ดังนั้นทั้งคู่จะมีสถานะเป็นหญิงกับหญิง จึงไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้  

                สิ่งที่น่าสนใจอันดับต่อมาคือในมาตรา 5 ซึ่งว่าด้วย 3 กระทรวงที่มีหน้าที่รักษาการณ์  โดยในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุให้มีกระทรวงต่างประเทศเพิ่มเข้ามา ควบคู่ไปกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรม

                ศาสตราจารย์ ดร. ไพโรจน์ กัมพูสิริ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความคิดเห็นว่า เหตุผลที่ให้กระทรวงต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในพ.ร.บ.นี้ อาจเป็นเพราะการจดทะเบียนคู่ชีวิตได้เพิ่มเงื่อนไขเรื่องสัญชาติเข้ามา พร้อมกันนี้ในสถานทูตต่างประเทศก็ยังต้องมีหน่วยรับจดทะเบียนสำหรับคนต่างชาติที่ต้องการจะจดทะเบียนคู่ชีวิตกับคนไทยในต่างแดน

                เงื่อนไขอายุของผู้ที่สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 7) ได้มีการปรับลงมาเป็น 17 ปี ซึ่งเท่ากับว่าคู่ชีวิตที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับการยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งประเด็นนี้เกิดความกังวลจากหลายฝ่ายว่าอายุ 17 ปีจะน้อยเกินไปหรือไม่และยังไร้กระบวนการการดูแลเด็กกลุ่มนี้

                ในมาตรา 8 ของร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ ระบุว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย หากฝ่าฝืนมาตราดังกล่าว กฎหมายคู่ชีวิตนี้ถือเป็นโมฆะ แต่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยการสมรสไม่มีเงื่อนไขเรื่องสัญชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคคลต่างเพศสามารถแต่งงานกันได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ คำถามก็คือทำไมในพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้จึงกังวลเรื่องสัญชาติและให้เฉพาะในขอบเขตของสัญชาติไทย ซึ่งประเด็นนี้ ดร.มาตาลักษณ์มองว่าเป็นการ Discriminate

                อย่างไรก็ตาม นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ชี้แจงว่า การแต่งงานของชายหญิงเป็นเรื่องที่สากลยอมรับ ทุกประเทศมีการจดทะเบียนสมรสชายหญิง แต่การจดทะเบียนคู่ชีวิตนั้นมีเพียงบางประเทศเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการบัญญัติเรื่องสัญชาติ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้กับคนไทยโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับนี้ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ความคิดเห็นต่าง ๆ ยังต้องกลับไปที่กฤษฎีกาชุดพิเศษอีกครั้ง

                สิ่งที่น่าสนใจอีกข้อของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตฉบับนี้คือมาตรา 19 วรรค 2 ที่ระบุว่าผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายขณะเดียวกันไม่ได้ ซึ่งการใช้คำว่า “บุตรบุญธรรม” ในส่วนนี้ไปขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/26 ระบุว่า ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมจะมีผู้ดูแลได้คนเดียว ยกเว้นผู้ดูแลมีคู่สมรส และคู่สมรสประสงค์ที่จะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของอีกฝ่ายเป็นบุตรบุญธรรมของตัวเอง นั่นแปลว่าคู่สมรสต้องการเป็นครอบครัว

                ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมคู่ชีวิตไม่สามารถเป็นครอบครัวได้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีการกล่าวถึงส่วนที่เป็นเรื่องบุตรเลย แม้จะมีการกล่าวถึงบุตรที่ติดมากับคู่ชีวิต เรื่องบุตรบุญธรรมที่มีข้อสังเกตว่ามีข้อห้ามที่แปลกหรือแม้แต่เรื่องการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งก็เกิดเป็นข้อสงสัยว่าหรือในกรณีนี้จะต้องยกให้เป็นข้อกฎหมายอื่นไป

                ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ได้กล่าวชื่นชมมาตรา 40 ของพ.ร.บ. คู่ชีวิต เนื่องจากเป็นการเอาบรรพ 6 ว่าด้วยเรื่องมรดกมาใช้โดยอนุโลม ซึ่งกำหนดให้คู่ชีวิตเป็นทายาทโดยธรรมประเภทพิเศษ และคุ้มครองคู่ชีวิตที่มีชีวิตอยู่  

                จะเห็นว่าในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีบางข้อบางมาตราที่ยังเป็นที่กังวลของคนทั่วไป และเกิดข้อสงสัยที่นำไปสู่การตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบและทางออกที่ดีที่สุดให้กับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตของประเทศไทย

                โดยสรุปแล้วทุกภาคส่วนล้วนมีเจตนาที่ดีและมีความมุ่งหวังที่จะได้เห็นร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตออกเป็นกฎหมายและถูกบังคับใช้กับประเทศไทย ไม่ว่าประชาชนเพศไหน ล้วนแล้วแต่มีสิทธิ์ที่จะรักและมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook