กทม.-บีทีเอสชี้แจง ทำไมถึงล็อกลิฟต์รถไฟฟ้า

กทม.-บีทีเอสชี้แจง ทำไมถึงล็อกลิฟต์รถไฟฟ้า

กทม.-บีทีเอสชี้แจง ทำไมถึงล็อกลิฟต์รถไฟฟ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.และ บีทีเอส ชี้แจงกรณีล็อกประตูลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก ซึ่งเป็นลิฟต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันคนลักไก่ไม่ซื้อตั๋วแอบขึ้นลิฟต์ไปชานชาลารถไฟฟ้า ยืนยันจะเร่งหารือกับบีทีเอสเพื่อวางมาตรการอำนวยความสะดวกผู้พิการให้ดีขึ้น พร้อมของบกว่า 260 ล้าน สร้างลิฟต์เพิ่ม

กรณี นายมานิตย์ ผู้พิการที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ เจ้าของเฟซบุ๊ก Accessibility Is Freedom นักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการ ชกประตูลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีอโศก เนื่องจากไม่พอใจที่ลิฟต์ถูกล็อกไว้จนไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งที่เป็นลิฟต์สำหรับให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นวีลแชร์

ล่าสุด นายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ลิฟต์ที่สถานีอโศก มีการออกแบบสร้างตั้งแต่บริเวณทางเท้า ขึ้นไปจนถึงชั้นชานชาลา เพื่อให้บริการเฉพาะผู้พิการที่ได้รับการยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า แต่เวลาจะใช้ต้องกดปุ่มเรียกเจ้าหน้าที่เพื่อมาอำนวยความสะดวก

กรณีของนายมานิตย์ พบว่าเกิดเหตุบริเวณทางเชื่อมระหว่างห้าง Terminal 21 กับสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำแม่กุญแจล็อกทางเข้าลิฟต์ไว้ ป้องกันไม่ให้ประชาชนทั่วไปมาแอบใช้บริการ โดยไม่ซื้อตั๋วโดยสาร เพราะลิฟต์ตัวนี้จะขึ้นไปถึงบริเวณชานชาลาได้โดยไม่ต้องผ่านช่องจำหน่ายตั๋ว และยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ดูแลไม่ทั่วถึงด้วย หลังจากนี้ จะเร่งหารือร่วมกับบีทีเอส เพื่อวางมาตรการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้ใช้วีลแชร์

ปัจจุบัน สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. อยู่ระหว่างของบ 262 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างลิฟท์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มเติมให้ครบ 2 ฝั่ง ใน 17 สถานี รวม 19 ตัว ได้แก่ สถานีชิดลม 1 ตัว , สถานีเพลินจิต 1 ตัว , สถานีนานา 1 ตัว , สถานีพร้อมพงษ์ 1 ตัว , สถานีทองหล่อ 1 ตัว , สถานีเอกมัย 1 ตัว , สถานีพระโขนง 1 ตัว , สถานีราชเทวี 1 ตัว , สถานีพญาไท 1 ตัว , สถานีสนามเป้า 1 ตัว , สถานีอารีย์ 1 ตัว , สถานีสะพานควาย 3 ตัว , สถานีราชดำริ 1 ตัว , สถานีศาลาแดง 1 ตัว , สถานีช่องนนทรี 2 ตัว , สถานีสุรศักดิ์ 1 ตัว และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ 1 ตัว

ขณะที่นายอาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ได้นิ่งนอนใจ หากขั้นตอนการปฏิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ก็จะเร่งทบทวนปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติ ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการ รวมทั้งยืนยันว่า ทางบริษัทไม่ได้ดำเนินคดีใดๆกับนายมานิตย์ทั้งสิ้น

สำหรับลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ลิฟต์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ได้แก่ สถานีหมอชิต ช่องนนทรี อโศก และอ่อนนุช ก่อสร้างให้สามารถขึ้นตรงจากชั้นพื้นถนน ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋วไปถึงชั้นชานชาลาได้โดยตรง เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยกับผู้พิการมากที่สุด ซึ่งได้ก่อสร้างและเปิดให้บริการพร้อมรถไฟฟ้าบีทีเอส ในปี 2542

และมีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการใช้งานของผู้พิการ โดย กทม. บีทีเอส และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย หารือร่วมกันในขณะนั้น ตกลงจะมีการปิดล็อกประตูลิฟต์ไว้และเมื่อมีผู้พิการมาใช้บริการ ก็ให้กดปุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อกรอกแบบฟอร์มบันทึกการเดินทาง และให้เจ้าหน้าที่พาขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นชานชาลา โดยจะมีเจ้าหน้าที่มารอรับที่สถานีปลายทางนำลงสู่ชั้นพื้นถนนอย่างปลอดภัย

ลิฟต์ประเภทที่สอง กทม.ได้สร้างลิฟท์เพิ่มเติมจนครบในเส้นทางเดิม และในส่วนต่อขยายทุกสถานี โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งลิฟต์จะมี 2 ส่วน คือ ลิฟต์จากชั้นพื้นถนนไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วจะอยู่นอกเขตชำระเงิน และลิฟต์จากชั้นจำหน่ายตั๋วไปยังชั้นชานชาลา จะอยู่ในเขตชำระเงิน จึงสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกดเรียกเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับผู้พิการเมื่อขึ้นมายังห้องจำหน่ายตั๋วแล้ว ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อกรอกแบบฟอร์มและรับบริการจากเจ้าหน้าที่

ทางบีทีเอสยังระบุว่า พร้อมที่จะพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้แสดงออกถึงข้อเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook