“อังกอร์” ป่ามนต์ดำ คอมมิวนิสต์เขมรแดง ผ่านแฟนตาซีละครไทย

“อังกอร์” ป่ามนต์ดำ คอมมิวนิสต์เขมรแดง ผ่านแฟนตาซีละครไทย

“อังกอร์” ป่ามนต์ดำ คอมมิวนิสต์เขมรแดง ผ่านแฟนตาซีละครไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โอ้โห ฝนฟ้าตกอะไรเบอร์นี้คะคุณกิตติ ตกแล้วตกอีก ตกแบบจะไม่เผื่อปีหน้าเลยเหรอ แต่ความกะเทยอ่ะค่ะ พอเห็นฝนฟ้ามืดครื้มมาทีไร เพลงๆ นึงมันก็ดันแว้บขึ้นมาในหัวเฉยเลย “เสมือนท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนทันใด” และเพื่อนกะเทยก็จะร้องต่อ “อังกอร์” แหม… ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศมรสุมให้ได้เจอกันทุกๆ ปีฉันใด เพลงประกอบละครเรื่องนี้ ก็คงกลายเป็นเสียงแว่วในหูทุกครั้งเวลาเห็นเมฆฟ้ามัวดินมานั่นแหละค่ะ 

ฉะนั้น สัปดาห์นี้เรามาเมาท์ละคร “อังกอร์” กันดีกว่า ดูว่าในเรื่องนี้มีอะไรที่น่าดูชม ชวนขบคิดกันบ้าง

อังกอร์ เป็นละครแนวแอ็กชัน-แฟนตาซี-พีเรียด-ผจญภัย จากบทประพันธ์ของ นอร์แมน วีรธรรม นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ไปแล้ว 3 ครั้งด้วยกัน ประกอบไปด้วย อังกอร์, อังกอร์ 2 และ อังกอร์ (Remake 2018) โดยเป็นเรื่องราวของหญิงสาวชาวเขมร ที่ถูกวิญญาณเสือร้ายยึดครองร่าง ทำให้เธอต้องกลายร่างเป็นเสือเวลาที่เธอขาดสติ จนนำไปสู่เรื่องราวการผจญภัยเพื่อล้างคำสาป ก่อนที่เธอจะกลายเป็นเสือไปตลอดชีวิต

อังกอร์

อังกอร์ ต้องถือว่าเป็นละครที่ได้รับความนิยมสูงมาก จากจำนวนครั้งที่ได้รับการสร้าง เนื่องด้วยเนื้อหาที่แปลกใหม่ เป็นแนวผจญภัย มีความแฟนตาซีเพิ่มเติมเข้ามาอีก แถมยังบู๊สนั่นล้างผลาญ ภายใต้การกำกับของ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ผู้ซึ่งสร้างตำนานละครแนว “ระเบิดภูเขา เผากระท่อม” งานรถจิ๊บ คลุกฝุ่น ยิงสนั่น ตลบอบอวลต้องมา ซึ่งต้องยอมรับว่าเอกลักษณ์ของผู้กำกับอย่างอาฉลองนั้นแน่นอนเด่นชัด เนื่องจากท่านเป็นผู้กำกับหนังใหญ่มาก่อนอย่างเรื่อง “ทอง” ดังนั้นเมื่อมาทำละคร งานกำกับศิลป์และสไตล์จึงชัดกว่างานสร้างเรื่องอื่นๆ ทั่วไป

ในส่วนของ อังกอร์ นั้น ในเนื้อเรื่องก็ยิ่งท้าทายกองโปรดักชั่นมากขึ้นไปอีก ด้วยเนื้อหาที่ต้องบุกป่าฝ่าดง แถมยังมีงานบู๊ และงานกลายร่างเป็นสัตว์เพิ่มขึ้นมาด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นสามส่วนผสมที่ตื่นตาตื่นใจพอตัว สำหรับชาวจอแก้วที่นั่งดูอยู่บ้าน แหม จากละครตบตีกันทั้งหลาย นานๆ จะได้เห็นอะไรแบบนี้ในจอ ใครใครก็ตื่นเต้นด้วยกันทั้งนั้นแหละค่ะ คนดูเลยติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง นี่ยังไม่นับเพลงประกอบละครที่เนื้อหาแปลกประหลาด ดนตรีปลุกใจเร้าอารมณ์ ฟังแล้วฮึกเหิม อยากจะร่วมท่องไพรกันเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียวเชียว

เสืออังกอร์

อีกสิ่งที่ส่งเสริมให้ อังกอร์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็คงต้องไปพูดถึงนวนิยายที่มีกลิ่นคล้ายกัน จนอาจพูดได้ว่า อังกอร์ มีส่วนที่จะได้รับแรงบันดาลใจมา ก็คือ “เพชรพระอุมา” ของ พนมเทียน ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการท่องไพร บู๊ บวกแฟนตาซี เหมือนกัน แต่ด้วยความยาวของตัวนิยาย รวมถึงขนาดของโปรดักชั่นที่คงต้องใช้ทุนสร้างมหาศาลมาก จึงค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่ถูกหยิบยกมาทำเป็นละครหรือซีรีส์โทรทัศน์ ฉะนั้นเมื่อบทประพันธ์ที่เนื้อหาใกล้กัน ถูกหยิบมาสร้าง แฟนๆ ที่ชอบแนวเนื้อเรื่องประมาณนี้ ก็เทครัวตามมาดูอังกอร์กันเพิ่มเติมขึ้นไปอีก

ซึ่งจริงๆ แล้ว ความพงไพร ความมนต์ดำของป่า นับเป็นสิ่งลับลี้ที่คนไทยก็อินง่ายอยู่มากเป็นทุนเดิม เราเห็นได้จากบริบทสังคมทั่วไป ศาลเจ้าพ่อตั่งต่างที่มีชื่อผูกกับป่ากับเขา นับเป็นสิ่งที่คนไทยต่างให้ความเคารพกราบไหว้ กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับสังคมไทยมาช้านาน อังกอร์จึงนับเป็นบทประพันธ์เรื่องแรกๆ ที่หยิบความเชื่อเหล่านี้มาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว จะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องของการถอนคำสาปเสือร้ายนั้น ระหว่างทางจะเป็นการตะลุยไปยังด่านต่างๆ มีภารกิจย่อยให้กลุ่มตัวเอกได้ทำ ความสนุกของคนดูจึงไม่ใช่การมานั่งลุ้นว่าเมื่อไหร่ละครจะไปถึงจุดจบ เมื่อไหร่พระเอกผู้แสนซื่อจะรู้ความจริงซักที แต่มันคือการลุ้นว่า เห้ย ด่านต่อไปพวกเขาจะไปเจออะไรเนี่ย 

เรตติ้งมันถึงได้ขึ้นเอาขึ้นเอา

รวมไปถึงของขลังอย่าง “กริชเงิน” ซึ่งเป็นไอเท็มสำคัญของเรื่อง ที่เอาไว้ใช้แทงหัวใจนางเอกเพื่อฆ่าวิญญาณเสือร้ายในร่างของเธอในตอนจบ ยิ่งเป็นสิ่งที่กลมกลืนกับวัฒนธรรมไทยอย่างแยบยล ความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลัง สมบัติลับที่มีอำนาจซ่อนในป่า มีเพียงคนที่คู่ควรเท่านั้นจะหามันเจอ โดยผ่านการเดินทางอันยากลำบาก สิ่งเหล่านี้ความเป็นไทย และเป็นรสชาติใหม่ของนักดูละครไทยที่พร้อมจะอินกันได้ทั้งสิ้น 

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการใส่สเปเชียลเอฟเฟกต์ให้ตื่นตาเข้าไปอีกนะ

ในส่วนของตัวละครเองก็น่าสนใจ นางเอกกลายร่างเป็นเสือได้ ประหนึ่งกลายเป็นอาวุธที่นางเอกละครไทยไม่กี่คนจะสามารถใช้เป็นพลังวิเศษเอาไว้ตอบโต้ได้บ้าง เพราะตามปกติธรรมดา นางเอกละครไทยก็คือนางเอกอ่ะโนะ จะให้ลุกขึ้นมาสู้คนแบบนางเอกยุค 2019 ก็ไม่ไหว ก็เลยต้องอาศัยพลังวิเศษและอำนาจฟ้าดินเข้าช่วย การกลายร่างเป็นเสือแล้วตอบโต้คนที่เข้ามาทำร้ายเธอ มันก็ได้ฟีลแบบ เอาเลย กัดคอมันเลยลูก ก็ได้ความสาแก่กันไป และในตัวเนื้อบทประพันธ์เอง ถึงแม้ว่า อังกอร์ จะไม่ได้แปลงร่างเป็นเสือ นางก็มีความสามารถในการยิงปืนเก่งและเอาตัวรอดอยู่บ้าง แถมฉลาด พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว ก็ต้องถือว่าเป็นนางเอกยุคใหม่มากทีเดียวสำหรับยุคนั้น

อังกอร์ และ กริชเงิน

ความน่าสนใจอีกอย่างที่เทยอยากชวนเมาท์ คือเนื้อเรื่องที่ดูเหมือนจะแฟนตาซีหลุดโลก แต่ทว่ามันมีประเด็นซ่อนอยู่เหมือนกันค่ะคุณ เพราะว่าเนื้อเรื่องของ อังกอร์ ดันวางตัวเองอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจ นั่นคือปี พ.ศ. 2518 และตัวนางเอกเองก็เป็นชาวเขมร ซึ่งในเขมรตอนนั้น มันมีเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์โลกที่รู้จักกันในชื่อ “Khmer Rouge” หรือ “เขมรแดง” ที่ในประเทศกัมพูชาเกิดการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรได้ โดยจุดประสงค์คือเพื่อสร้างรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพเบ็ดเสร็จ และกลายเป็นคอมมิวนิสต์แบบเต็มรูปแบบ จนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้าย ที่เรารู้จักกันในชื่อ “Killing Field” หรือ “ทุ่งสังหาร” นั่นเอง

ความเลวร้ายของเหตุการณ์นั้น ถูกถ่ายทอดออกมาในบทประพันธ์ อังกอร์ อย่างชัดเจน ตัวละครอังกอร์ เธอเป็นลูกสาวนายพลมิน ซึ่งมีบทบาททางการเมืองชัดเจนก่อนเกิดการปฎิวัติ และเมื่อเกิดเหตุการณ์เขมรแดง อังกอร์ได้หลบหนีมายังชายแดนไทย และใช้ชีวิตอยู่ในค่ายลี้ภัยในตอนต้นเรื่อง ซึ่งในละคร ก็ได้สะท้อนภาพที่ชาวเขมรต้องเดินทางหลบหนีออกจากสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายมาที่ไทยในช่วงเขมรแตก เพราะไม่เช่นนั้น หลายชีวิตก็คงต้องไปจบชีวิตลงที่ทุ่งสังหารในอีกไม่กี่ปีต่อมา

พีท ทองเจือ - เอ็มม่า วรรัตน์ คู่พระนางคู่แรกของ อังกอร์

แต่ในมุมของคนไทย หรือผู้ประพันธ์ที่มองไป ด้วยสภาพภูมิประเทศเอย ด้วยวัฒนธรรมเอย เราเองก็มองพวกเขมรเป็นพวกเล่นของ มีมนต์ดำ บวกกับความเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นที่เดินอยู่ในช่วง พ.ศ. เดียวกันนั้นด้วย เมื่อเห็นคนเขมรเดินเท้าออกมาจากป่า เราก็ดันมองว่าชาวเขมรพวกนี้เขามีของ มีอะไรลี้ลับติดตัวมาด้วย เหมือนที่นางเอกอังกอร์ของเรากลายร่างเป็นเสือได้ เป็นนางสมิง นางไพรตั่งต่าง

แถมร้ายไปกว่านั้น การเมืองในเรื่องก็ใช่ย่อยนะคะคุณขา พระเอกของเราก็ใช่ว่าจะเป็นตาสีตาสา ดันเป็น ผู้กองกาญจน์ ตำรวจหนุ่มที่ทำงานด้วยอุดมการณ์เถรตรง ไม่อ่อนข้อกับการทุจริตคอรัปชั่นในแวดวงตำรวจ จนต้องโดนเด้งมาอยู่หน่วยตำรวจตระเวนชายแดน ยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศต้องรับมือกับผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์เขมรแดงด้วย กองทัพและตำรวจในช่วงนั้น ต่างพยายามหาประโยชน์จากสงครามเย็น ผ่านการขนย้ายอาวุธที่สหรัฐและโซเวียตพยายามใช้เขมรเป็นสงครามตัวแทนระหว่างกัน สังเกตได้จากตัวร้ายในเรื่องจะถูกแบ่งเป็นสามฝ่าย ซึ่งคือรัฐบาลเขมรแดง ข้าราชการตำรวจไทย และผู้ค้าอาวุธ และทั้งสามฝ่าย ก็จะวนเวียนแลกเปลี่ยนค้าขาย และดีลผลประโยชน์ทางการเมืองและอาวุธกันตลอดเรื่อง โดยตัวแปรสำคัญก็คือพระนาง ที่ดันมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้เสียด้วย พระเอกที่ดันรู้นอกในมากเกินไปจนถูกหมายหัว ในขณะที่นางเอกก็เป็นลูกหลานชนชั้นนำเดิมของรัฐเขมรเก่า ที่เขมรแดงจำเป็นจะต้องตามกำจัดให้สิ้นซาก 

จนนำไปสู่การไล่ล่ากัน ยิงกันสนั่นจอ ท่ามกลางการผจญภัยตามหากริชเงินเพื่อล้างคำสาปเสือ แม้เรื่องจะดูนัวๆ เบอร์นี้ แต่ก็อร่อยลื๊มมมม

ในช่วงกลางของเรื่อง คือการบุกตะลุยไปยังป่าอันลี้ลับของประเทศกัมพูชาในช่วงสงครามเย็น จึงเป็นละครที่ไม่ได้เห็นซีนในเมืองนัก เมื่อเดินป่ากันหนัก มันก็ต้องเกิดตัวละคร “นักปิ้งไก่” ชาวป่า ที่อาสาเป็นคนนำทาง ประหนึ่ง NPC ในเกมส์ ที่นำตัวละครให้รอดพ้น บวกกับทำเควสเพื่อเก็บเลเวลอย่างใดอย่างนั้นเลยค่ะ การผจญภัยในช่วงกลางเรื่อง จึงเป็นสิ่งที่ผู้จัดละครสามารถ “ยืดละคร” ได้อีกนิดหน่อยเพื่อโกยเรตติ้ง ด้วยการเพิ่มเส้นเรื่องให้ตัวเอกไปทำภารกิจย่อยระหว่างทางเยอะๆ เดี๋ยวให้ไปเจอคนโน้น ไปเจอเรื่องนี้ ไปเจอเหตุการณ์นั้นไปพลางๆ ก่อน แล้วค่อยลากกลับมาเจอเส้นเรื่องหลัก ด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้อังกอร์ทั้ง 3 เวอร์ชั่น เส้นเรื่องและการเข้าออกของตัวละครไม่เคยซ้ำกันเลย แถมเส้นทางเดินป่าก็ไม่เหมือนเดิมด้วย จนยากที่จะบอกว่า สรุปแล้วทางไปหากริชเงินนี่มันยังไงกันแน่คะคุณ

แต่ที่แน่ๆ คนปิ้งไก่ในตำนาน เขาว่าเป็นคนเดิม เอ๊า พ่อคุณ!!!

นักปิ้งไก่ในตำนาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเส้นทางกลางเรื่องจะไม่เหมือนกัน แต่ทว่าภาคกิจย่อยรายทางที่ตัวละครต้องไปเจอ กลับมีบางอย่างที่คล้ายกัน คือมักจะไปเจอหมู่บ้านอันอบอุ่น เป็นมิตร คอยช่วยเหลือ อยู่กันเป็นคอมมูน เป็นชนกลุ่มน้อย แต่ก็จะค้นพบว่าหมู่บ้านอันน่ารักเล็กๆ เหล่านั้น ถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ กองกำลังบางอย่าง บางคนบางจำพวก ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายในเครื่องแบบ และปัญหาก็มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องการกดขี่ผู้หญิง การหากินกับชาวบ้านตาดำดำ การใช้แรงงานหนัก รวมไปถึงการปิดปากชาวบ้านไม่ให้พูดความจริงในบางเรื่อง เพื่อสร้างอุปสรรคให้กับการเดินทาง

ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงในช่วงการปกครองของเขมรแดงตลอดหลังจากได้รับอำนาจ นั่นคือการกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่นๆ มาบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงาน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ทำนารวม” ซึ่งหากใครไม่ทำ หรือขัดขืน ก็จะมีการยิงทิ้งตรงนั้น เพราะเขาถือว่ากลุ่มชนที่เป็น “ศัตรูทางชนชั้น” เช่น ทหาร ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา หรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะในด้านต่างๆ เขมรแดงก็จะขจัดทิ้งหมด ซึ่งนางเอกอย่าง “อังกอร์” ก็เก็บครบทุกคุณสมบัติที่ถูกหมายหัวเลยค่ะแม่ นางเป็นลูกทหารข้าราชการที่สืบเชื้อสายมาจากเชื้อพระวงศ์ เป็นคนมีการศึกษา พูดได้ทั้งเขมร ไทย อังกฤษ และมีวิชาชีพเฉพาะด้าน คือเป็นหมอ จึงไม่แปลกที่อังกอร์จะถูกตามล่า พูดง่ายๆ ว่าชาวกัมพูชาแบบอังกอร์ต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงาน และความอดอยาก เป็นจำนวนมาก ก็ไม่มีใครเคาะได้เป๊ะๆ ว่าตายไปเท่าไหร่ แต่ในโลกความจริง มีข้อมูลระบุว่าราว 850,000 ถึง 3 ล้านคน ซึ่งแทบจะครึ่งหนึ่งของประเทศ เพราะเวลานั้นประชาชนกัมพูชาทั้งหมดมีจำนวนราว 7.5 ล้านคน ใน พ.ศ. 2518 ตามเนื้อเรื่องอังกอร์

ดังนั้น ชนกลุ่มน้อยรายทางที่พระนางอย่างผู้กองกาญจน์และอังกอร์เข้าไปช่วยไว้ นี่ต้องถือว่าโชคดี 

และละครเรื่องนี้ก็เลยได้นำเสนอภาพว่าทางไทย เป็นฮีโร่ในสถานการณ์นี้ ที่เข้าไปช่วยเหลืออังกอร์ และทำภารกิจรายทางไว้จนสำเร็จลุล่วง และแน่นอนค่ะว่าคณะเดินทางอังกอร์ ตามหากริชเงินจนเจอ ถอนคำสาปให้เธอ และเธอก็ได้แต่งงานกับผู้กองกาญจ์ในที่สุด ตามสเต็ป

ประหนึ่งว่า แก้ปัญหาความขัดแย้ง ความมนต์ดำเขมร ออกจากตัวอังกอร์ให้หมด แล้วก็ครองรักกันได้จ้า

อย่างไรก็ดี ละครอังกอร์ก็ไม่สามารถพูดเหตุการณ์ดังกล่าวออกมาได้ตรงๆ เพราะเดี๋ยวจะเกิดกรณีพิพาทใดใดกันขึ้นมาอีก ฉะนั้นในเรื่องก็มีการปรับชื่อ ปรับสถานที่ ปรับสถานการณ์ตัวละครให้ค่อนไปในทางแฟนตาซีเสียมากกว่า แต่ก็ยังเห็นเป็นกลิ่นจางๆ ให้ได้พอรับรู้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเขมรแตกนั้นเป็นอย่างไร

งานสื่อและบทประพันธ์ขึ้นหิ้งนี่นะคะ ก็มีลูกล่อลูกชน มีงานชงงานตบ ให้เราได้แอบเห็นอะไรแวบๆ ซ่อนอยู่เหมือนกัน แค่รอเวลาวิญญาณร้ายกลายร่าง แล้วเผยความจริงออกมาก็เท่านั้นเอง

คนดูละครอย่างเราๆ นี่แหละค่ะ ที่จะต้องจับตาดูดีดี นั่นแหน่ เธอมีอะไรซ่อนอยู่ ฉันดูออกนะคะ

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 38 ภาพ

อัลบั้มภาพ 38 ภาพ ของ “อังกอร์” ป่ามนต์ดำ คอมมิวนิสต์เขมรแดง ผ่านแฟนตาซีละครไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook