ไตรภพ ลิมปพัทธ์ Reliable Media Will Survive

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ Reliable Media Will Survive

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ Reliable Media Will Survive
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ Interview : ไตรภพ ลิมปพัทธ์ Reliable Media Will Survive
เรื่อง : ณัฐพล ศรีเมือง / ภาพ : กิตตินันท์ จรรยางาม 

ใครจะไปคิด! ว่าวันหนึ่ง ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้ถ่ายทอดสดหรือ ‘Live’ เหตุการณ์อะไรก็ตาม ด้วยอุปกรณ์ในมืออย่างสมาร์ทโฟนที่ทุกวันนี้เรามีกันทุกคน ขณะที่สมัยก่อนเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์ - บางทีโลกก็หมุนเร็วเกินไป และเราก็เคยชินอยู่กับมันเสียจนอาจจะลืมคิดไปว่า เรื่องนี้มันอะเมซิ่งขนาดไหน! 
 
โลกของสื่อสมัยใหม่เจริญรุดหน้าไปถึงเพียงนั้น และยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในยุคของสื่อใหม่ที่เราสามารถเลือกบริโภคสื่ออะไร คอนเทนต์แบบไหนก็ได้ อย่างที่เราต้องการในทันที ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นสื่อเก่าอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ทยอยล้มหายตายจาก สื่อทีวีนั้นเล่า เรามักจะได้ยินคำพูดทำนองว่า ‘เดี๋ยวนี้ไม่ได้ดูทีวีเลย’ หรือ ‘เลิกดูทีวีมานานแล้ว’
 
คำพูดแบบนี้ และในห้วงเวลาแบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้เราอยากฟังความคิดและมุมมอง การอยู่และการยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง จากปากคำของคนทำทีวี โดยเฉพาะคนทำทีวีรุ่นใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ชีวิตในวงการมีทั้งขึ้นและลง อย่าง ไตรภพ ลิมปพัทธ์

เรานั่งสนทนากันกลางสตูดิโอถ่ายรายการของเขา ห้องสตูดิโอขนาดใหญ่ ฉากแสงสีและเวทีตระการตา ทีมงานมากมายหลายชีวิต รวมทั้งเหล่าหน้าม้ารับจ้างตบมือ มันคือการทำงานผลิตรายการทีวีเต็มรูปแบบ ผิดกับวิธีการทำงานของสื่อยุคใหม่ ที่มักใช้กล้องถ่ายรูปตัวเดียว ทีมงานคนสองคน หรือแม้กระทั่งตั้งกล้องถ่ายเองอยู่ในห้องอะไรแบบนั้น เมื่อเราบอกกับไตรภพว่าอยากคุยเกี่ยวกับเรื่อง ‘ยุคเปลี่ยนผ่านของสื่อ’ จากสื่อเก่าไปสื่อใหม่ เขาไม่เออออด้วย พร้อมคำอธิบาย
 
“อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน แต่มันคือการเพิ่มเติมของสื่อ เป็นการขยายตัว เป็นการ Expand ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน ถ้าเปลี่ยนผ่านแปลว่า สื่อเก่าต้องเลิกทิ้งทั้งหมด อย่างคุณทำหนังสือ ตอนนี้หนังสือของคุณถูกเปลี่ยนผ่านหรือยัง? ยัง แต่หนังสือของคุณก็ต้องเพิ่มเติม ถูกมั้ย หนังสือของคุณก็ต้องมีเว็บไซต์ มีแอปพลิเคชัน เขาเรียกว่าเป็นการขยายตัว เพิ่มเติมขึ้นมา ตอนนี้สื่อกำลัง Expand กำลังขยายขอบเขตออกไปอย่างมากมาย ให้เราคิดทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นต่างหาก” และบทสนทนาของเราเริ่มต้นแบบนั้น

คำอธิบายนี้ของเขาอาจเป็นมุมที่หลายๆ คนไม่เคยคิด เช่นเดียวกับอีกหลายประเด็นในเรื่องราวต่อไปนี้ 

GM : ทำไมคลิปรายการของคุณใน YouTube ถึงไม่มีการเปิดให้คนเข้าไปคอมเมนต์ 
ไตรภพ : เพราะว่าต้องการ Communication ฝ่ายเดียว เพราะที่ผมเอาขึ้นมันเป็นรายการอาหาร เป็นสูตรในการทำอาหาร คุณดูไม่ทันคุณก็ทำไม่ได้ เท่ากับว่าออกรายการฟรี ไม่มีประโยชน์อะไร คุณจะดูสูตรอาหารอันนี้ใช่มั้ย ก็เอาสูตรอาหารอันนี้ไป ผมไม่ได้ต้องการ Two-way Communication  
 
GM : มันไม่ผิดธรรมชาติของสื่อสมัยใหม่เหรอ ที่ต้องการฟีดแบ็คในทันที มีการโต้ตอบกัน หรือว่ายังยึดกับความคิดแบบสื่อทีวีอยู่ ที่ไม่มีการโต้ตอบจากคนดูอยู่แล้ว
ไตรภพ : ไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องการยึด ต้องพูดว่าเวลาคุณทำสื่อใหม่คุณมีความคิดอะไรต่างหาก การต้องการความคิดเห็น ต้องการ Suggestion ต้องการ Opinion เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมเอาออกมาให้ดูเฉยๆ ไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่ต้องการก็ไม่รู้จะเอามาทำไม แล้วอีกอย่าง Two-way Communication ก็คือเหมือนกับคุณใส่อะไรเข้ามา ผมก็ต้องตอบกลับไป แล้วทุกอันที่คุณใส่เข้ามา ผมไม่ได้ตอบกลับไป มันจะมีประโยชน์อะไร แล้วผมก็ไม่มีคนที่จะมาคอยนั่งตอบน่ะ

มันจะผิดธรรมชาติของสื่อสมัยใหม่มั้ย ไม่รู้ รู้แต่มีอย่างนี้อยู่เป็นจำนวนมากในโลก สื่อมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือต้องการ Two-way Communication กับอีกประเภทหนึ่งคือแบบผม ไม่ต้องการ Two-way Communication ต้องการแค่นำเสนอ ถามว่าอันไหนมากกว่ากัน ประเภทผมเยอะกว่ามาก ไปเช็กได้เลย 80% Dominate ทีนี้คนรู้ไม่จริง หรือเข้าใจไม่จริงก็จะนึกว่า อ๋อ Two-way Communication นี่เยอะ ไม่เยอะ น้อยที่สุด คุณชอบ Pinterest หรือเปล่า แล้วคุณไปตอบโต้เขาตรงไหน คุณได้ข้อมูลทางเดียวจาก Pinterest ใช่มั้ย เป็นข้อมูลที่คุณต้องการ ที่คุณชอบ คุณดูรองเท้า สวย คลิกเข้าไปดูแบบต่างๆ คลิกลึกเข้าไปอีกเจอผู้ผลิต คลิกเข้าไปอีกเจอ Sale ขาย คลิกลึกเข้าไปอีก โยนไปโน่นแล้ว Amazon มันคือความต้องการของเขาที่เขานำเสนออย่างเดียว
 
GM : โดยเฉพาะในยุคนี้ที่รายการทีวีต้องเอาคลิปรายการไปอัปโหลดขึ้น YouTube น่ะเหรอ
ไตรภพ : การจะอัปขึ้น YouTube หรืออะไรก็ตาม บางทีก็อยู่ที่นโยบายของแต่ละช่อง อย่างเช่นช่อง 7 สี คลิปไม่มีอัปขึ้น YouTube เลย ห้าม เพราะเขาถือว่าทีวีต้องดูในเวลาที่เขากำหนด หมายความว่ารายการนี้ออกอากาศเวลา 9 โมงถึง 10 โมง คุณจะดูได้ก็ต้อง 9 โมงถึง 10 โมง ที่นี่ ฉะนั้น จำนวนเรตติ้งคนดูจึงสูง เพราะว่าดูที่อื่นไม่ได้ อันนี้ก็เป็นวิธีการที่ช่อง 7 สีคิด ส่วนวิธีการที่ช่อง 3 หรือช่องอื่นๆ เอาไปขึ้น YouTube ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง ว่าเวลาที่ดูรายการ เราดูตรงนี้ไม่ทัน ก็จะได้ดูตรงโน้น วิธีการคิดอย่างนี้ มันทำให้มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เป็น User ที่เป็น Viewer ก็เริ่มไม่ดูรายการปกติ เพราะว่าไม่จำเป็นต้องดูในเวลาปกติ ก็เลยไปดูใน YouTube ก็เสียเรตติ้งไป เรตติ้งก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้าคุณยิ่งอัปเท่าไหร่ก็ตาม เรตติ้งคุณก็จะยิ่งน้อย เพราะว่ามันดูในคลิปได้ ดูใน YouTube ได้ วิธีคิดมันแตกต่างกัน
 
GM : ในยุคที่ทุกคนทำรายการของตัวเองขึ้น YouTube ได้ Facebook Live ได้ พลังของสื่อทีวีมันอ่อนแรงลงไปมั้ย
ไตรภพ : แน่นอน, ถ้าเกิดว่าทำไม่เป็น ทำไม่ถูก เรื่องนี้จริงๆ ทีวีด้วยกันเองก็เจอมาก่อนแล้ว คือจากช่องใหญ่ๆ ก็ขยายออกไปเป็นทีวีที่เป็น Niche รายการทอล์กโชว์ดังๆ ทั้งหลายของสหรัฐอเมริกา เช่น O ของ โอปราห์ วินฟรีย์ ตอนแรกก็อยู่ในช่องใหญ่ๆ ทั้งนั้น ก่อนที่จะแตกแยกกันไปเป็นนิช หลังจากนั้นพอมีเดียเจริญขึ้น ตอนนี้ไม่ใช่แค่เฟซบุ๊กแล้ว แต่เป็นเฟซบุ๊กไลฟ์ เฟซบุ๊กซื้ออินสตาแกรมพ่วงกัน เมื่อก่อนไม่พ่วง อินสตาแกรมตอนแรกภาพเคลื่อนไหวไม่ได้ ตอนนี้ภาพในอินสตาแกรมเคลื่อนไหวได้แล้ว คุณเห็นหรือเปล่าว่า ทุกอย่างมันจะแชร์สิ่งที่เรียกว่า ‘นิชพีเพิล’ ไปเรื่อยๆ ทีนี้วิธีการทำทีวีต้องทำอย่างไร เขาก็ต้องทำตัวเขาให้แข็งแรงที่สุดเท่าที่จะแข็งแรงได้ เพราะถือว่าเป็นสื่อใหญ่ วิธีการที่จะทำให้ตัวเองแข็งแรงได้ ทำยังไง เขาก็ต้องทำให้ตัวเองน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ การขายที่สำคัญที่สุดคือขาย Reliable ขายความน่าเชื่อถือ ขายความสัตย์ ขายสัจจะ ขายความถูกต้อง ขายความน่าจะเป็น ไม่ใช่ขายความหวือหวา ขายความหวือหวาไม่ได้

ทีวีจะมีทางรอดได้อย่างเดียว คือคุณน่าเชื่อถือที่สุดใน Category ที่คุณทำ คุณถึงจะอยู่ได้ ไม่งั้นคุณอยู่ไม่ได้ ก่อนผมทำรายการครัวคุณต๋อย มีรายการอย่างนี้มา 50 ปีแล้ว ทำไมไม่มีคนคิดบ้างล่ะว่า พ่อครัวหนึ่งคนจะรู้ทุกอย่างในโลก ทำอร่อยทุกอย่าง แล้วมาสอนทุกคนได้ด้วยคนเพียงหนึ่งคนได้ยังไง เมื่อก่อนมันเป็นอย่างนั้น คือมีพ่อครัวหนึ่งคน แล้ววันนี้จะสอนทำแกงเนื้อ พรุ่งนี้จะสอนทำฝอยทอง มะรืนนี้จะสอนทำพายแอปเปิล คนเดียวเนี่ยนะ เรามีความไม่เชื่อตรงนั้น เราเชื่อว่าคนไหนเก่งตรงไหนก็จะเอกอุตรงนั้น ก็เลยทำรายการที่คิดว่า ถ้าคนนี้เขาเอกอุเรื่องนี้ ไปเอาเขามา แล้วพิธีกร 4 คน เป็นรายการแรกนะที่พิธีกรไม่เคยเคลมว่า ฉันเป็นคนที่รู้เรื่องอาหารดี เราเป็นพิธีกรเฉยๆ เอาเขามาร่วมรายการ แล้วทำไมคนดูดูแล้วคนเชื่อ ทำไมเราเป็นรายการครัวที่เรตติ้งสูงที่สุดในประเทศไทย เพราะเขาเชื่อความจริง และเชื่อสิ่งที่เราทำ

GM : ทุกวันนี้ความน่าสนใจของทีวีมันจะอยู่ตรงไหน ในเมื่อมีสิ่งอื่นๆ ให้เลือกมากมาย
ไตรภพ : คนที่เขาทำธุรกิจทีวีเขาก็มองเห็นแล้วนะคุณ ว่าต่อไปนี้ถ้าเขาทำทีวีแล้วไม่มีแอปพลิเคชันของตัวเอง ไม่มีเว็บไซต์ ไม่มีอินเทอร์เน็ตทีวี ไม่มีไลฟ์โปรแกรมของตัวเอง เขาก็อยู่ไม่ได้ เขารู้ตัวแล้ว แล้วจริงๆ ไอ้ที่เรียกกันว่า ‘มีเดียอื่น’ น่ะ มันไม่ใช่มีเดียอื่นเลย มันคือแค่ ‘มีเดีย’ อย่าได้เข้าใจผิด มันแค่ทางทางหนึ่งที่ทำมาหากินหรือหาตังค์เท่านั้น ไม่ได้เป็นอะไรที่พิสดารเลย คนที่ทำทีวีก็ทำหนังสือพิมพ์ คนที่ทำหนังสือพิมพ์ก็ทำทีวี คนทำนิตยสารก็ทำเว็บไซต์ คุณจะมองโลกไปทางไหนเท่านั้นเอง เพราะกลุ่มผู้บริโภคก็เป็นเงินของคุณน่ะ คุณแค่คิดว่าเขาจะไปทางไหน คุณก็ทำทางนั้น มันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร คุณเคยดู Game of Thrones มั้ย ตอนแรกๆ ออกมาคนก็บอกอะไรก็ไม่รู้ แต่ตอนนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ เป็นซีรีส์ที่มีคนดูมากที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่ในอเมริกานะ เพราะว่ามัน Export ออกไป ทั้งโลกดู Game of Thrones เหมือนกันหมด เขาทำทีวีชัดๆ เลยนะ แล้วทีวีช่อง HBO ด้วย ไม่ใช่ช่องใหญ่ๆ แบบที่เป็น Original ทีวี แต่ถามว่าเงินที่เขาขายได้มากกว่า Original ทีวีเท่าไหร่ เพราะเขาขายทั้งโลก แล้วซีรีส์ดังๆ ในโลกนี้ก็อยู่ในนิชทีวีเกือบทั้งนั้น แล้วมันคือทีวีหรือเปล่า ก็ทีวี! วิธีการมองต่างหากที่ต่างกัน

เพราะฉะนั้นทุกคนก็ใช้ประโยชน์จากการขยายตัวของมัน ถ้าคนมองเห็นตรงนี้ก็จะต้องรู้ว่า อ๋อ! ต้องทำยังไง ก็แค่นั้นเองแล้วที่พูดว่าทีวีมันเจ๊ง ทีวีมันล้มละลาย ลองไม่มีทีวีสิ แล้วสื่อที่คุณเรียกว่าสื่ออื่นหรืออะไรก็ตาม ลองไม่มีสื่อที่เป็นแม่ข่ายหลักเลยสิ ประเทศจะเป็นยังไง จะอยู่ได้มั้ย คุณจะฟังใคร ตอนนี้ใครยังน่าเชื่อถือที่สุดอยู่ เห็นมั้ย เอาเข้าจริงๆ เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือมีเดียอื่นทั้งหลายที่คุณเรียกก็ยังเป็นรองทีวีอยู่ดี เพราะเขาเชื่อไม่ได้ เขาเป็นเรื่องเต้าข่าว เรื่องโกหก เรื่องไม่จริงเยอะแยะ เขาเองยังยอมรับกันเอง ถามว่าที่ดีๆ มีมั้ย มี แต่กับที่ไม่ดี ไม่จริง มั่ว และให้ฮือฮา อันไหนมากกว่ากัน เขาก็รู้ แต่ทีวีทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทีวียังเป็นแม่ข่ายหลักอยู่ดี คุณนึกภาพว่าไม่มีทีวีสิ มีแต่อย่างนี้ ประเทศเป็นไง เช้าขึ้นมาคุณจะฟังใคร เห็นมั้ยล่ะ ทุกวันนี้คุณเช็กข่าวสุดท้าย คุณก็เช็กจากทีวี ว่ามันจริงไม่จริง
 
GM : ถึงแม้ว่ามันจะช้ากว่า?
ไตรภพ : มันช้ากว่าแน่นอนอยู่แล้ว แต่ยังไงที่สุดมันก็ลงที่นี่อยู่ดี พวกขายของเหมือนกัน คุณไปดูราคาที่ลงในเว็บฯ กับราคาที่ลงในทีวี ต่างกันเท่าไหร่ ต่างกัน 10 เท่า! สมมุติว่าคุณไปลงเขาหมื่นนึง ของเราก็แสน คุณไปลงเขาแสน ของเราก็ล้าน Viewer มันต่างกัน ไอ้คลิปที่คุณว่าดังๆ ตอนนี้เท่านั้นวิวเท่านี้วิว สมมุติเพลงสั้นๆ 3 นาทีครึ่ง คุณบอกตอนนี้มีคนชม 100 ล้านวิวแล้ว ปัดโธ่! มันจะไปแตกต่างอะไรกับเมื่อก่อน เมื่อก่อนก็มีคนฟังเท่านี้ แต่มันไม่มีการทำสถิติไว้เท่านั้นเอง สมัยก่อนเพลงที่คุณสุเทพ (วงศ์กำแหง) ร้อง ตอนคุณสุเทพดังมากๆ คนไทยก็มีอยู่ประมาณสัก 40 กว่าล้านคน ถามว่ามีคนรู้จักเพลงของคุณสุเทพสักกี่คน ก็ 80% น่ะ ดังมั้ย โธ่! ดังกว่านี้อีก ดังกว่าเยอะมาก คุณรู้จักเพลง Pen Pineapple Apple Pen ใช่มั้ย ดังมั้ย ดัง แต่ไปถามพ่อถามแม่เราสิ เขาก็ไม่รู้จัก

เรากำลังอยู่ในวงกลมของเราเองต่างหาก Circle ที่เราสร้างขึ้นมาเอง แล้วเราก็นึกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ต่างหาก แล้วเวลาไปขายของ เราก็ไปสร้างความน่าตื่นเต้นตกใจให้คนอื่นดู เท่านั้นเอง แต่ลองนึกภาพไม่มีทีวีสิ คุณจะเชื่อถือใคร แล้วคุณจะเห็นเลยว่าในที่สุด สมมุติว่าไม่มีทีวีจริงๆ แล้ว สิ่งที่คนเขาจะมาดูกันต่อไป ที่จะมาเป็นสื่อหลักได้ ก็ต้องอาศัยสิ่งที่ผมพูด ความน่าเชื่อถือ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ Solution ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จได้คือแค่นี้ คุณก็เคยเห็นพวกที่ทำสื่ออื่น โอ้โห! มี Viewer เป็นล้านๆ พอเรื่องเรื่องหนึ่งมีปัญหาขึ้นมาก็ต้องตกตายไป ตายไปกี่คนแล้ว ล้มตายเป็นใบไม้ร่วง สื่อหลักตายมั้ย ไม่ตาย น้อยมาก สื่อหลักอยู่นานเท่าไหร่ล่ะ ผมอยู่มากี่ปีแล้ว ผมอยู่มาเกือบ 40 ปีแล้ว ทำไมยังไม่ตาย คุณเห็นหรือเปล่า ต่างกันเยอะ
 
GM : ทำไมยังไม่ตายครับ
ไตรภพ : ก็ความน่าเชื่อถือไง! เรื่องฮือฮาอย่างที่พวกคุณทำกัน ผมทำได้มั้ย ทำได้ มีตั้งเยอะ แต่ผมทำมั้ย ไม่ทำ เรื่องนี้พอลูกน้องมาเสนอ บอกทำเลยพรุ่งนี้ดัง ผมบอกดังแน่นอน แล้ววันต่อไปล่ะ หลังจากดังแล้ว หลังจากที่เอาเรื่องนี้มาทำแล้ว คนจะบอก โอ้โห! ไอ้นี่ใจร้าย ไอ้นี่ไม่มีเมตตา ไม่มีศีลธรรม ไม่มีคุณธรรม ไม่รู้จักแยกแยะ วันต่อไปคืออันนั้นไง อย่างดาราที่มาออกรายการแต่ละคน ถามว่ารู้เรื่องส่วนตัวเขามั้ย รู้ ทำไมจะไม่รู้ แต่วันนี้มาคุยเรื่องงาน ไม่ได้มาคุยเรื่องชีวิตเขา สื่ออื่นก็เอาไปพูดว่า เฮ้ย! ไม่แน่จริง ไม่ถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ ประเด็นเขาไม่ได้ถามว่าไปเป็นผัวใครไปเป็นเมียใคร ประเด็นวันนี้เขาถามว่าเล่นละครเรื่องนี้เป็นยังไง ผมก็เลยถามกลับไปบ้างว่า เวลาที่เขาเขียนเขี่ยกันว่า เมียอย่างนั้นลูกผัวอย่างนี้ ทำไมเขาไม่เขียนเรื่องงานล่ะ เขาเองยังรู้ประเด็นตัวเองเลย แต่ทีผมทำเรื่องงานเขาอย่างเดียว ไม่ทำเรื่องผัวเรื่องเมีย เขาด่า เขาโกรธ ปัดโธ่! ถ้าคนอ่านหรือคนรับข่าวสารมีสมองนิดเดียวก็จะเข้าใจ คุณเป็นสื่อ ถ้าคุณเป็นสื่อที่ดีนะ คุณมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้เขาเห็นว่า คุณจะเสพอะไร คุณต้องคิดให้เป็น แล้วคุณต้องรู้จักที่จะเลือก จะเสพ จะสรร และจะหาสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ใส่ตัว สิ่งที่สร้างความเจริญก้าวหน้าในจิตใจของคุณ มันสำคัญกว่า ผมเองโดนตราหน้ามาตั้งแต่ไหนแต่ไร ว่าผมเป็นพวกชอบอวย ชอบเห็นคนโน้นคนนี้ดี ระหว่างหาความดีในตัวคน กับหาความชั่วในตัวคน คุณว่าอันไหนหาง่ายกว่ากัน ปัดโธ่! หาชั่วมันง่ายจะตาย คนนี้ก็ชั่ว คนนั้นก็ชั่ว คนนี้ก็ไม่ดี คนนั้นก็ไม่ดี แล้วมาออกรายการทีวี แล้วก็บอกทุกคนไม่ดีๆๆ เหมือนกันหมดเลย แล้วสังคมมันจะดีตรงไหน

มีอยู่ครั้งหนึ่งทำทอล์กโชว์ ผมตัดสินใจกันอยู่ตั้งนาน หนู เชิญยิ้ม ได้ลูกกตัญญู แต่หนู เชิญยิ้ม ติดยา จะเอาออกรายการดีหรือไม่ดี ทุกคนก็พูดอย่างนี้กันหมด ผมบอกเอาออก เพราะความกตัญญูนี่สำคัญมาก ขนาดติดยายังกตัญญู บางคนไม่ติดยาเลย แต่ไม่มีความกตัญญู อันไหนสำคัญ อันไหนที่ควรชี้ให้คนดูดู การแยกแยะ การนำเสนอ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้น ผมโดนว่าอวย ผมไม่เคยรู้สึกโกรธ ผมดีใจมากที่คุณคิดอย่างนี้ คุณควรจะนำเสนอสิ่งดีๆ ผมไม่ได้ปิดบังหรือเบี่ยงเบนประเด็น เพราะเอาแต่เรื่องที่ผมอยากนำเสนอมาเสนอ ทีเวลาเขาเขียนเรื่องคนนั้นเป็นผัวคนนี้ ทำไมเขาไม่เขียนเรื่องคนนี้กตัญญูบ้างล่ะ ก็ทีคุณยังทำทางเดียวของคุณเลย ทีผมทำทางเดียวของผม ผมโดนด่า ไม่ถูกหรอก คุณคิดหน่อยว่าเขาพยายามแค่ไหนที่จะแสดงให้เห็น ชี้ให้เห็นว่าทุกคนในโลกเลวเหมือนกันหมด แต่ผมพยายามจะแสดงและชี้ให้ทุกคนเห็นว่า เราควรหาความดีของคนในโลก



GM : นอกจากโดนเรื่องชอบอวยแล้วก็ยังมี ชอบเล่นมุกแป้ก ชอบแย่งพูดด้วย
ไตรภพ : หนึ่ง, ผมไม่เคยเล่นมุกแป้ก ผมเป็นพิธีกรที่ตลกมาก ผมรู้ตัว สอง, เรื่องแย่งพูด ผมไม่เคยแย่งใครพูด ผมจะหยุดการพูดของเขา ก็ต่อเมื่อเขาพูดต่อไปเขาจะเสียหาย ซึ่งมันไม่พอใจคนบางคนที่อยากให้เขาเสียหาย อยากให้เขาพูดต่อแล้วเขาดูไม่ดี อีกอย่าง คุณลองนึกภาพความเป็นจริงที่ว่า ทีวีของผมมันไม่ได้สด มันตัดต่อได้หมด แล้วเรื่องอย่างนั้นจะเกิดได้ยังไง เป็นเรื่องจงใจใส่ร้ายมากกว่า สมมุติเล่นไปแล้วมุกมันแป้ก ใช้ไม่ได้จริงๆ ผมก็ตัดทิ้งสิ จะเก็บไว้ทำอะไร ก็ไม่ใช่สดน่ะ หรือถ้าว่าผมแย่งเขาพูดจริง ผมจะเก็บไว้ทำอะไร ผมเชิญคนมาออกรายการ แล้วถ้าพิธีกรไปถามว่า คุณเป็นคนดีมากเลยนะ คุณดียังไงบ้างครับ ใครมันจะตอบได้ อ๋อ! ผมดีอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้นเวลาผมบอก คุณเป็นคนดีมากนะ คุณรู้มั้ย การที่คุณทำอย่างนี้ๆ ถือว่าเป็นคนดี เขาก็ตอบกลับมาว่าขอบคุณมากครับ เสร็จแล้วคนก็ว่าไปแย่งเขาพูด อ๋อ! ให้เขาพูดเรื่องความดีใส่ตัวน่ะเหรอ มนุษย์ที่ไหนมันจะพูด เขาเรียนรู้ศาสตร์ทางด้านนี้มาแค่ไหน แต่ละคนที่วิพากษ์หรือวิจารณ์ เขาเก่งแค่ไหนเหรอ ข้อหนึ่งนะ ข้อสอง เขาคิดว่าถ้าทำอย่างที่เขาต้องการแล้วสังคมจะดีขึ้นมั้ย เขาจะมีแนวคิดอยู่อย่างว่า เปิดเผยความจริง ทุกอย่างคือ Unveil แล้วไอ้ที่ผมทำเรื่องส่วนดีของเขา มันไม่เปิดเผยความจริงตรงไหนเหรอ
 
GM : การที่รายการของคุณทุกวันนี้มีทีมพิธีกรร่วมมาช่วยหลายคน ถือว่าเป็นการพยายามสร้างความแข็งแรงให้กับแบรนด์รายการไตรภพอีกครั้งใช่มั้ย
ไตรภพ : ไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยวเลย ผมไม่มีพวกเขาผมก็อยู่ได้ คุณตั้งใจจะถามอันนั้นใช่มั้ย คุณตั้งใจจะถามว่า ตอนนี้ถ้าผมไปคนเดียวจริงๆ ผมจะตาย เลยต้องเอาคนพวกนี้มา ไม่ใช่ ผมเอาพวกเขามาเพราะความเหมาะสมกับรายการ เป็นความเหมาะสมของคน 4 คนที่อยู่ด้วยกันแล้วเหมาะสมมาก แต่ถามว่าถ้าไม่ได้รวมอยู่ใน 4 คนนี้ แล้วมันจะมี 4 คนอีกแบบหนึ่งมั้ย มี แต่รายการอาหารแบบนี้ ต้องเลือกคนแบบนี้ ถึงจะเป็นอย่างนี้ สมมุติผมเอามาเหมือนผมหมดเลย 4 คน รายการมันจะน่าดูตรงไหน หรือเหมือนโก๊ะ (โก๊ะตี๋) หมดเลย มันก็เฮกันอย่างเดียว ถ้าผมมายืนเป็นพิธีกรคนเดียวในรายการครัวคุณต๋อย พูดอย่างโน้นอย่างนี้ ถามแขกรับเชิญคนเดียว เสร็จแล้วผมก็จะต้องเป็นตลกเอง เล่นเอง รับเอง แล้วผมจะเล่นยังไงล่ะ ผมเล่นเองตบเองไม่ได้! อย่างเวลาผมพูดว่า ร้านนี้ปูมันเป็นจริงๆ เลย เพราะผมไปที่นั่นแล้วผมเลยว่าเห็นปูมันคลานขึ้นมาจริงๆ แล้วก็จะต้องมีโก๊ะคอยบอกว่า ไม่ใช่ครับ เขาไปจับมา ผมจะเล่นเองยังไงล่ะ มีปูคลานขึ้นมาอยู่ยั้วเยี้ย แล้วก็พูดเองว่า ไม่ใช่ครับ เขาไปจับมา คุณบ้าหรือเปล่า!

เพราะฉะนั้น ที่คนจะ Critic น่ะเข้าใจหน่อย ไปหาความรู้มาเยอะๆ หน่อย จะได้เข้าใจว่า เขาทำอย่างนี้เพราะอะไร แทนที่จะมานั่งคิดว่า อ๋อ! ถ้าไม่มีไอ้นี่ ไอ้นี่มันจะต้องตายแน่นอน ไม่ใช่ ผมทำรายการนี้จะต้องมีไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้าผมไม่มีณวัฒน์ (อิสรไกรศีล) ผมก็ต้องไปเองสิ แล้วผมเป็นคนขี้เกียจน่ะ ผมไม่อยากเดินทาง ผมก็เรียกคนมาลำบากแทน เพราะณวัฒน์เขาชอบน่ะ ผมไปเรียกเอ๊าะ (กีรติ เทพธัญญ์) มา สมัยแรกๆ เพื่อนเอ๊าะทุกคนพูดแบบที่คุณพูดนี่แหละ เฮ้ย! อย่าไปอยู่กับมัน อยู่ตายแน่นอน ตอนนี้ถามว่าไล่มัน มันไปมั้ยล่ะ ไม่ไป ทั้งที่มีคนมาชวนเขาเยอะแยะ หรืออย่างโก๊ะ คุณเห็นอย่างนี้ ลองไปชวนเขาทำรายการสิ ลองไปขอเวลาเขาหน่อย เขามีคิวให้คุณมั้ย แต่ถ้าผมจะทำอะไรก็ตามในโลกนี้ ถามว่าโก๊ะมีคิวให้ผมมั้ย เขาจะตอบทันทีว่ามี คุณเข้าใจหน่อย อย่าไปเข้าใจอะไรที่มันตื้นไป มีพิธีกรรายการอาหารรายการไหนบ้างหรือเปล่าที่มี 4 คนน่ะ ไปดูซะก่อน ไม่มี แล้วพิธีกรรายการทีวีทั่วไปที่มี 4 คน ก่อนรายการผมจะเกิด มีหรือเปล่า ไม่มี ตอนนี้ของผม 5 แล้วด้วย มีไอ้แจ๊ส (ชวนชื่น) อีกคน เพราะฉะนั้นจะมาว่ารายการผมอย่างโน้นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันก็มีกันเต็มบ้านเต็มเมืองน่ะ แล้วตามใครล่ะ หรืออยู่ๆ ก็คิดได้เอง คิดทีหลัง แต่คิดเหมือน ตามเราทั้งนั้น เพราะเขาต้องมองเห็นว่ามันดีหรือเปล่า ถ้าสมมุติมันเฮงซวย มันใช้ไม่ได้ โอ๊ย! ไม่เห็นดีเลย แล้วมันอยู่มาได้ยังไงจนป่านนี้
 
GM : มีคนรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากที่พยายามสร้างตัวตนขึ้นมาจากรายการของตัวเองใน YouTube หรืออะไรก็ตาม คุณมองปรากฏการณ์นี้ยังไงบ้าง
ไตรภพ : ฮู้ย! ธรรมดา มีมาตั้งนานแล้ว สมัยก่อนไม่มีสื่อพวกนี้ คนก็ไปทำทีวีช่องเล็กๆ ทำอะไรเล็กๆ หรือว่าก่อนจะเป็นตลกเบอร์ใหญ่ก็เล่นงานวัดมาก่อน ปกติน่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถามว่าจัดรายการใน YouTube แล้วมายืนช่องใหญ่ได้มั้ยล่ะ มีกี่คนที่มายืนช่องใหญ่ได้ คุณจะเห็นเลยว่าไอ้การทำงานแบบที่ง่ายๆ อยู่ในห้องเล็กๆ 5 4 3 2 เอ้า! สวัสดีครับ แล้วก็พูดแม่งอย่างโน้นแม่งอย่างนี้ คือเป็นตัวของตัวเอง สบายๆ ยังไงก็ได้ แล้วก็มีนิชพีเพิลชอบกัน แหม! พี่จริงใจ ชอบมากเลย ลองไปออกช่องใหญ่สิ แล้วนั่งทำแบบนั้น พูดจาด้วยคำพูดอย่างนั้น อยู่ได้หรือเปล่า อยู่ไม่ได้หรอก
 
GM : ทำงานมาเกือบ 40 ปี คุณคิดว่ายังสื่อสารกับคนในยุคปัจจุบันได้เหมือนเมื่อก่อนมั้ย
ไตรภพ : ผมว่าคนปัจจุบัน ชี้แนะและสื่อสารง่ายกว่าคนสมัยก่อนมากๆ เลย คนสมัยก่อนยังมีแนวคิด มีความคิด ความฉลาดหลักแหลม มีการไตร่ตรอง ใฝ่หา และมีรากฐานที่ดีกว่าคนสมัยนี้มาก คือพูดง่ายๆ ถูกสอนมาดี เรียนรู้มาเยอะ แล้วก็ตั้งใจที่จะรับฟัง อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไม่รู้ แต่โดนเคี่ยวกรำมาอย่างนั้น ถ้าไม่ฟังโดนผัวะ! แต่คนสมัยนี้ไม่ใช่ คนสมัยนี้ถูกเลี้ยงมาง่ายมาก แล้วแต่เธอ ฉันพูดแล้วเธอไม่เชื่อก็แล้วแต่ ไอ้ ‘แล้วแต่’ นี่ทำให้คนสมัยนี้ไม่มีจุดยืนเลย คนสมัยนี้ไม่มีอะไรที่เป็นความเป็นของตนอย่างชัดๆ เท่าไหร่ ฉะนั้น คนสมัยนี้ชักจูงง่ายมาก ดึงไปทางไหนก็ได้ คุณสามารถโน้มน้าวได้อย่างสบายๆ โอ๊ย! สื่อสารง่ายกว่าคนสมัยก่อนเยอะมาก
 
GM : แล้วทุกวันนี้คนที่ดูทีวีจริงๆ เป็นคนรุ่นไหน เจเนอเรชั่นไหน
ไตรภพ : สมัยนี้ที่ตั้งใจดูจริงๆ ผมว่า 30 อัป เผลอๆ 35 อัปแล้วด้วยซ้ำ ส่วนเรตติ้งคนดูทีวี-สำหรับผมคนเดียวนะ ผมว่า 40 อัป แล้วอายุที่ดูทีวีสูงที่สุดคือ 50 อัป ส่วนคนรุ่นคุณ พอเขาพูดกันว่ารายการนั้นดีนะ คุณถึงไปเสิร์ชดู ทุกวันนี้คุณก็รู้จักแต่เสิร์ชอย่างเดียว
 
GM : แล้ววันหนึ่งเมื่อคนรุ่นที่ดูทีวีอยู่ทุกวันนี้หมดไป อนาคตของทีวีจะเป็นยังไง
ไตรภพ : โน! คุณเข้าใจผิด เมื่อหมดไปก็จะมีคนที่ 50 เข้ามาแทนที่ คน 50 ก็จะมีคน 40 มาแทน ไล่ไปเรื่อยๆ มันจะ Realize เองในที่สุด ว่าอะไรที่คุณต้องเสพ เรื่องมันเยอะนะคุณ สายตา หู Attention มันแตกต่างมาก คุณไม่เข้าใจหรอก คุณมีมือถือ คุณเปิดดูรู้เรื่อง มองเห็น แต่คนรุ่นนั้นที่เราพูดถึง สายตาไม่เห็นแล้ว ดูทีวีดีกว่า หู มือถือของคุณเปิดเสียงดังให้ตายยังไงก็ยังเบา เขาก็ไปเปิดทีวีดังๆ ดีกว่า แล้ว Attention เหมือนกัน ของคุณจะ Pause ก็ได้อะไรก็ได้ เขาไม่ต้องการ เขาเปิดทีวีไว้เป็นเพื่อนเฉยๆ เปิดแล้วก็เดินไปเดินมา อันไหนสนใจจริงๆ ถึงดู
 
GM : ทีวีดิจิทัลที่ตอนแรกคิดว่าจะทำให้วงการทีวีบ้านเราคึกคักก็ไม่เป็นอย่างนั้น
ไตรภพ : คุณคิดได้ยังไงล่ะ มันไม่มีทาง ผมเป็นคนพูดตั้งแต่เดย์วันเลย คุณไปดูคำพูดผมเมื่อไหร่ก็ได้ ว่าถ้าเกิดทีวี 26 ช่องจริงๆ ประเทศนี้ทีวีจะตกต่ำที่สุดตั้งแต่เคยมีทีวีมา แล้วก็เป็นจริงตามนั้นทุกอย่าง ตอนนี้มันก็ตกต่ำที่สุดตั้งแต่เคยมีทีวีมา มันไม่มีความพร้อม ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีความเหมาะสมที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก
 
GM : ความผิดพลาดมันคืออะไร
ไตรภพ : ปัดโธ่เอ้ย! เค้กมันมีอยู่เท่านี้ เงินที่จะทำให้ทีวีดี สมมุติว่าใช้อยู่เท่านี้บาทสำหรับ 4-5 ช่อง อยู่ดีๆ 26 ช่อง แล้วเงินมันก็ต้องมาจากเค้กก้อนนี้ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยคิดจะลงทุนเท่านั้นเท่านี้ เพื่อทำรายการนี้ ทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะทุนผลิตน้อยลงๆ มันก็ตกต่ำอย่างที่เห็นนี่แหละ เละเทะไปหมด แล้วกติกาที่เขาตั้งไว้เอง กสทช. น่ะ ที่บอกว่าช่องนี้ๆ ต้องเป็นอย่างนี้ ช่องนี้ต้องเป็นช่องข่าว คุณไปดูว่าแต่ละคนรักษากติกากันหรือเปล่า ทำไมเขา Ignore ทำไมเขาทำเฉย หูย! มาตอนแรกๆ ทำแอ็คทีฟอย่างกับบ้า ตอนนี้ทำไมทำเฉย คนนั้นก็ทำนั่นได้ คนนี้ก็ทำนี่ได้ ตัวเองก็รู้ว่าตัวเองทำผิดไง ถ้าไม่ปล่อยให้เขาทำอย่างนั้นเขาก็ไม่รอด ไม่รอดตัวเองก็ไม่ได้ตังค์ แล้วมีอย่างที่ไหน คนเขาบอกเลิกไป 2 เจ้า บอกเลิกไม่ได้ ห้ามเลิก ต้องทำต่อ ขำนะเนี่ย เอ้า! ก็คนมันตายไปแล้ว เลิกไม่ได้ได้ยังไง เออ…มีที่ไหนในโลก คุณจะทำให้ประเทศดีขึ้นหรือจะเอาตังค์กันแน่ ตอนแรกก็บอกเราจะไม่เป็นทีวีเก็บค่าต๋งอีกต่อไป โอ้โห! ค่าใบอนุญาตมันต่างจากค่าต๋งตรงไหน แหม! โดนไปคนละกี่พันกี่หมื่นล้าน
 
GM : แล้วจากนี้มันจะไปยังไงต่อ
ไตรภพ : ผมไม่ทราบเขา ผมไม่ได้เป็นคนที่มีอำนาจพอที่จะไปทำอะไร ผมไม่รู้เขาจะคิดยังไง แต่คนเดี๋ยวนี้มันยื้อไง ผิดก็ไม่ยอมรับว่าผิด ไม่ทำในสิ่งที่ถูก ยังไงก็จะยื้อไปก่อน ถ้าคนทุกคนมีกติกาว่า ผิดแล้วทำใหม่ ทำให้ถูก มันง่ายกว่านี้เยอะเลยชีวิต ตอนนี้ที่คุณเห็นคือยุคดิจิทัลทีวี ต่อไปมันจะเป็นอินเทอร์เน็ตทีวี คุณเข้าใจคำว่าอินเทอร์เน็ตทีวีมั้ย ใครก็มีทีวีได้ ผมอยากรู้ว่า รัฐจะทำยังไงกับอินเทอร์เน็ตทีวี จะต้องเสียค่าต๋งค่าอะไรอีกมั้ย เสียได้ยังไง! อู้หู อินเทอร์เน็ตมีตั้งกี่ช่อง ล้านช่อง! คุณจะทำยังไงกับมัน ต่อไปจะเป็นอย่างนั้น มันจะนิชขึ้นเรื่อยๆ คนที่หากินเป็นก็จะหากินกับนิช ก็จะรู้ว่าอันนี้ต้องไปทางนี้ๆ
 
GM : อยู่ในอาชีพนี้มานาน คุณผ่านวิกฤติต่างๆ ในแต่ละยุคมาได้อย่างไรบ้าง
ไตรภพ : ผ่านมาได้เพราะพุทธะ ผ่านมาได้เพราะความเข้าใจว่าโลกมันเป็นอย่างนี้นี่เอง ไม่โกรธไม่เกลียดใคร ไม่โทษใครเลย เพราะโลกเป็นอย่างนี้นี่เอง และนี่คือกรรมของสัตว์ เข้าใจอย่างชัดเจนด้วย ผมเคยต้องปิดบริษัทนาน 8-9 เดือน ต้องจ่ายเงินเดือนลูกน้องอยู่เฉยๆ เพราะตอนนั้นเขาปิดไอทีวี บริษัทผมก็ไม่มีงานทำไป 8-9 เดือน ลูกน้องผมตั้งกี่ชีวิต แล้วผมต้องจ่ายเงินเดือนไม่รู้ตั้งกี่ล้าน ลูกน้องก็ถามผมว่าจะทำยังไงดี ผมบอกไม่ต้องทำอะไร คนไหนชอบเล่นหมากรุกก็เล่นไป คนไหนชอบถักนิตติ้งโครเชต์ก็ถักไป ผมทำอยู่อย่างนั้น 9 เดือน แล้วคนก็มาถามผมว่าทำได้ยังไง ผมถามว่า แล้วทำไมเวลาตอนได้ สิบยี่สิบปีก่อนที่ได้มา ไม่คิดว่ามันเป็นเงินสะสมเพื่อวันที่เสียบ้างเหรอ คิดว่าต้องได้ตลอดชีวิตงั้นเหรอ ไม่ใช่ วันที่เขาปิดไอทีวี เขาปิดตอนเที่ยงคืน พอปิดเสร็จเรียบร้อย ผมก็ขึ้นไปนอน แล้วผมก็ Realize กับใจตัวเองเลยว่า มันไม่แตกต่างเลย ถ้าผมปิดความคิด ใจผมก็จะว่าง เหมือนที่ไฟหน้าจอทีวีมันดับ แล้วผมจะเปิดจอใจไว้ทำไม ผมก็ปิดสิ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ก็ผ่านมาแล้วทุกๆ วิกฤติ เขาเรียกกันว่าวิกฤติ สำหรับผม ผมเรียกชีวิต

แล้วพื้นฐานที่บริษัทเราอยู่กันง่ายมาก อยู่ด้วยความดี เวลาสอนลูกน้องก็สอนชัดเจนมากว่า งานขายได้ไม่ได้ไม่เป็นไร ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขอให้ทำดี ถ้าทำดีเสร็จแล้ว กลับไปบ้านนอนหลับ มีความสุข คนจะมาออกรายการครัวคุณต๋อย เป็นร้านใหม่ๆ เขาบอกซื้อได้มั้ย เขาให้เลยห้าแสน เราบอกไม่เอา เราไม่ได้ขาย แต่ถ้าคุณอยากออก คุณเอาเมนูดีๆ ของคุณมาเสนอสิ หรือเราให้คนของเราไปกินแล้วถ้าถูกใจ สลึงก็ไม่ต้องเสีย แล้วเราก็เอาเขามาออกรายการจริงๆ เพราะผลปรากฏว่าอร่อยจริง ดีจริง เราทำให้เขาได้ เราดีใจมากเลย เราไม่ได้เสียใจที่ไม่ได้เงินห้าแสนนะ ถ้าเราจะเอา เราได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดเราเอาเงินเขามาห้าแสนวันนั้น เราจะอยู่กับตัวเองยังไง เราเป็นคนที่ไม่มีหลักการ ไม่มีความถูกต้อง ไม่มีความชอบธรรม ผมไม่เลือกอย่างนั้น



GM : คิดว่าตัวเองเลยจุดสูงสุดในอาชีพมาหรือยัง
ไตรภพ : ผมอธิบายอย่างนี้แทนละกัน อันนี้ผมคิดมาตั้งนานแล้ว ผมเคยเป็นคนที่อยู่ตรงตีนเขาเหมือนกับทุกๆ คน แล้วผมคิดว่าวันหนึ่งผมจะต้องไปอยู่บนยอดเขาให้ได้ เมื่อถึงยอดเขาผมก็จะ เย้! ผมก็เดินขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดผมขึ้นไปถึงยอดเขา แต่พอพ้นขั้นสุดท้ายที่เดิน ผมพบว่าบนยอดเขาที่เห็นข้างล่างแหลมๆ จริงๆ มันกว้างใหญ่มาก และมีคนอยู่บนนั้นอีกเป็นแสนเป็นล้าน แล้วหันมามองผมด้วยสายตาเหมือนกับว่า มาอีกคนแล้วเหรอ และเมื่อขึ้นไปข้างบนนั้นแล้ว ยังเห็นยอดเขาอีกยอดหนึ่ง ซึ่งอยู่ข้างล่างไม่เห็น แล้วก็มีคนบางคนที่เดินต่อขึ้นไปยอดเขาอีกลูกหนึ่ง เพราะเขาถือว่ายังไม่ถึง แต่บางคนบอกว่าไม่ไปแล้ว เพราะเขาพบความจริงแล้วว่า เมื่อขึ้นไปถึงยอดนั้น เดี๋ยวก็คงจะเจออีกยอดหนึ่ง อีกยอดหนึ่ง ไม่มีวันจบ ถ้าตราบใดที่ตัณหา ราคะ นันทิของคุณยังอยู่ ความต้องการความทะยานอยากของคุณยังอยู่ ความไม่รู้จักอิ่มเอม ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักเข้าใจว่าโลกเป็นเช่นนี้นี่เอง เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วได้อย่างพอใจเรียบร้อย มันจะดับไป แล้วมันจะเกิดขึ้นใหม่ แล้วมันจะดับไปอีก ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก็จะเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดไป แต่ถ้าเข้าใจตรงนี้เสีย ก็จะอยู่กับมันได้ เพราะฉะนั้นถามว่าจุดสูงสุดมันไม่มี เพราะมันเข้าใจไปแล้ว

ตั้งแต่ผมยังหนุ่มๆ ตอนผมได้รางวัลเมขลาครั้งแรก มันเกิดยูเรก้าขึ้นมาในใจเลย สิ่งนี้เหรอที่จะทำให้ผมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งนี้เหรอที่จะทำให้ผมกลายเป็นคนอีกคนหนึ่งซึ่งแตกต่าง หยิ่งผยอง จองหอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมได้รางวัลนั้นมาก็ไปไว้ใต้บันไดที่บริษัทเลย และทุกๆ รางวัลที่ได้มาหลังจากนั้น อยู่ใต้บันไดบริษัทผมหมด ผมไม่เคยตั้งรางวัลโชว์เลย เพราะมันไม่มีความหมาย ความเป็นตัวตนของ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ เป็นยังไง ไม่มีความหมายสำหรับผม ทุกวันนี้ผมสอนลูกสอนหลานสอนน้องๆ ผมยกตัวอย่างสุดยอดพิธีกรในยุคผม คนนี้ดังมากเลย ใครๆ ก็รู้จัก ผมถามเขาว่ารู้จักมั้ย เขาบอกไม่รู้จัก ผมบอกว่านั่นแหละ วันหนึ่งก็จะถึงตัวผม ไตรภพคือใคร ไม่รู้จัก มันเป็นสัจธรรมของโลก แล้วมันสำคัญตรงไหนกับการรู้จักหรือไม่รู้จัก คนที่เข้าใจตรงนี้และเข้าใจกลไกของโลกว่าเป็นอย่างนี้ต่างหากที่สำคัญ
 
GM : ถ้าอย่างนั้น Passion ในการทำทีวีตอนนี้ล่ะ
ไตรภพ : ไม่มีแล้ว Passion มีแต่ความประสงค์ อันนี้ดีอยากทำ โอเค แค่นั้น แต่ไม่ได้มี Passion อะไรแบบนั้นอีกแล้ว เมื่อก่อนผมพูดเองด้วยซ้ำ มนุษย์ต้องมี Goal และต้องไปสู่ Goal นั้น ต้องทำยังไงๆ แต่เดี๋ยวนี้พูดอย่างนี้และคงไม่เปลี่ยนแล้ว มนุษย์ต้องมีความเข้าใจ มนุษย์ต้องอยู่กับความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นสุข ถ้าใครอ่านตรงนี้จะสังเกตเห็นว่า ผมเปลี่ยนไปเยอะมาก เปลี่ยนไปมหาศาล ตั้งแต่ความเป็นเด็ก เปลี่ยนเป็นคนที่มันกร้าวแกร่งต่อสู้ จนเป็นอย่างในปัจจุบันนี้
 
GM : ในวัยหกสิบกว่า คุณทำตัวยังไงให้ทันยุคทันโลก
ไตรภพ : คุณอ่านหนังสือวันละกี่เล่ม คุณดูสารคดีวันละกี่เรื่อง คุณศึกษาเรื่องที่คุณต้องการรู้วันละเท่าไหร่ ถ้าคุณทำอย่างนั้นคุณก็รู้ ถ้าคุณไม่ทำก็ไม่รู้ กฎกติกามันง่ายแค่นั้นเอง ศึกษาแล้วมีปัญญาเพิ่มขึ้นก็เข้าใจ จบ แต่วันๆ นั่งกระดิกเท้าเปิดโทรศัพท์แล้วก็กดผ่านๆ นั่นเรียกศึกษาเหรอ ไม่ใช่มั้ง 
 
GM : ใช้เทคโนโลยีเยอะมั้ยในชีวิตประจำวัน
ไตรภพ : ใช้เท่าที่จำเป็น ถามว่าใช้นี่เป็นมั้ย (หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา) ก็คงไม่ด้อยกว่าคุณเท่าไหร่
 
GM : คิดเรื่องรีไทร์ไว้ยังไงบ้าง
ไตรภพ : คิดตลอด คิดตั้งแต่อายุ 45 แล้ว อยากจะเลิกตั้งแต่อายุ 45 ไม่ได้เลิกก็เพราะกลไกหลายอย่าง จริงๆ แล้วก็ลูกน้องเป็นหลัก เลิกไปแล้วเขาจะทำอะไรกินกัน ไอ้เรารวยมั้ย รวยตั้งนานแล้ว รวยบ้าบอคอแตกเลยด้วย ทำอะไรในโลกนี้ก็ทำได้แล้วด้วย เดือนๆ หนึ่งผมอยู่เมืองไทยกี่วัน เอาอย่างนี้ดีกว่า คนดูไม่รู้ คนดูไม่เห็น ว่าชีวิตผมเป็นยังไง ไม่ได้อยากทำหรอก แต่ต้องทำเพราะมันมีความจำเป็นส่วนที่หนึ่ง ส่วนที่สองก็คิดว่าถ้ายังทำดีได้ ทำเป็นประโยชน์ได้ก็ทำ คุณสังเกตมั้ย มีแต่คนพูดว่า ทำไมผมไม่เอา ‘ฝันที่เป็นจริง’ กลับมาทำ ไม่เอา ‘เกมเศรษฐี’ กลับมาทำ ผมไม่เอา มันจบแล้ว ผมไม่ใช่คนที่ทำงานเพื่อเงิน ผมทำงานเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ผมจะทำ เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ ผมจะทำ แต่ผมไม่ได้ทำเพื่อเงิน และไม่เคยทำเพื่อเงินมาตั้งแต่แรก มันมีเงินเอง ผมดื้อจะตาย ผมพูดไม่รู้เรื่องจะตาย ผมจองหองหยิ่งยโสจะตาย ตั้งแต่แรกมาแล้ว จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นคนอย่างนั้นอยู่ แต่มันจะแตกต่างกันที่ข้างในเท่านั้นเอง ในใจสมัยก่อนเป็นคนที่เชื่อตัวเองสูงมาก แต่ในใจสมัยนี้เชื่อแล้วว่ามันไม่มีอะไรจริงจัง แต่โชคดีที่ทำดีมาตลอด ผมได้เงินมาทุกบาททุกสตางค์ไม่เคยโกงใคร ไม่เคยมีใครในวงการนี้พูดได้เลยแม้แต่นิดเดียวว่าผมไปโกงเขามา ผมไปหลอกล่อหลอกลวงเขามา ผมเอาเปรียบเขา ผมไม่เคยทำ
 
GM : ก็คือยังเลิกไม่ได้ ทำไปเรื่อยๆ
ไตรภพ : ไม่ทราบจริงๆ ตอบไม่ได้ คือมันไม่ได้อยู่ในกลไกการคิดว่าต้องทำหรือไม่ต้องทำ อยากหรือไม่อยาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook