อเล็กซ์ เรนเดลล์ กับเรื่องราวระหว่างเขา ป่าเขาใหญ่ และค่าย EEC

อเล็กซ์ เรนเดลล์ กับเรื่องราวระหว่างเขา ป่าเขาใหญ่ และค่าย EEC

อเล็กซ์ เรนเดลล์ กับเรื่องราวระหว่างเขา ป่าเขาใหญ่ และค่าย EEC
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

1. ความรู้สึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นจากการปลูกฝังของครอบครัวให้รักธรรมชาติหรือเปล่า หรือใครเป็นคนจุดประกายให้คุณรู้สึก

อเล็กซานเดอร์: พ่อแม่จะสอนเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เขาไม่ได้สอนเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่เขาให้เราทำกิจกรรมเยอะ พาไปออกค่ายบ่อยๆ ทำให้ตอนเด็กๆ เราได้มีโอกาสไปเจอกับครูคนหนึ่งชื่อครู อลงกต ชูแก้ว ส่วนตัวเป็นคนชอบผจญภัยอยู่แล้ว ครูทำเรื่องช้างอยู่ที่เขาใหญ่ เราก็ตามเขาไป เขาไปเดินป่าเราก็ไปกับเขา ช่วยเขาดูแลช้างป่า เลยทำให้เกิดความชอบสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ตอนนั้น

พอโตขึ้นเรียนจบก็ไปเที่ยวเขาใหญ่อีกครั้ง เลยลองโทรหาครูดูเพราะไม่ได้เจอกันนาน ทราบมาว่าครูทำศูนย์อนุรักษ์ช้างอยู่ที่เขาใหญ่ พอไปเจอครูเราก็เห็นเขาทำการกุศลกับเด็กตาบอด จัดโครงการให้เด็กยากจน ก็รู้สึกดี อยากไปร่วมทำกับเขา เลยชวนเพื่อนๆ ไปเป็นอาสาสมัคร ซึ่งพอทุกคนได้ทำก็ดูแฮปปี้ เพราะกิจกรรมของครูไม่เหมือนใคร ไม่ใช่แค่การพาไปเที่ยว แต่มีพอยท์ที่มากกว่านั้น จากนั้นก็ได้ร่วมงานกันอีกเรื่อยๆ จนมีจังหวะหนึ่งเราบอกเขาว่าอยากช่วยช้าง ในใจคิดว่าการช่วยช้างคงเหมือนการไถ่ชีวิตโคกระบือ แต่จริงๆ ไม่ใช่แค่นั้น ครูบอกว่ามีช้างเชือกหนึ่งที่สามารถเอาเขามารักษาเด็กตาบอดได้ เป็นครูได้ ก็ไปดูกัน ได้ช้างเชือกหนึ่งมาเป็นครูให้เด็กตาบอด ซึ่งก็คือ 'ขวัญเมือง'

2. อันที่จริง วัตถุประสงค์ของการช่วยขวัญเมือง ไม่ใช่แค่การคืนอิสระให้กับมัน แต่คือการส่งต่อประโยชน์ให้เด็กด้อยโอกาสด้วยใช่ไหม

อเล็กซานเดอร์: ทุกคนคิดว่าเราแค่ระดมทุนเอาเงินมาช่วยช้างเชือกหนึ่งให้ได้ไปอยู่ในเขาใหญ่ แต่จริงๆ แล้วช้างเชือกนี้เขาสามารถช่วยรักษาเด็กพิการซ้ำซ้อน หรือเด็กตาบอดได้ เขาสามารถเป็น 'ครูช้าง' สอนเด็กๆ ได้ โดยการให้เด็กมาสัมผัสช้าง เปิดเซ้นส์ของเขา มันไม่ใช่แค่การเล่นกับช้าง แต่กล้ามเนื้อบางส่วนที่เขาไม่เคยได้ใช้ ก็จะถูกใช้จนเกิดการพัฒนา มันคือการช่วยเขาในระยะยาว เหมือนที่เมืองนอกทำกับม้า แต่เมืองไทยทำกับช้าง

3. เคยไหมที่เข้าไปในป่าแล้วเห็นต้นไม้ถูกตัด หรือเห็นซากสัตว์ หรือดำน้ำลงไปแล้วเจอแนวปะการังถูกทำลาย

อเล็กซานเดอร์: ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ผมกลับไปที่เขาหลัก ที่สิมิลัน ผมดำน้ำมาประมาณ 3 ปี ปีแรกที่ไปผมประทับใจมาก ทุกวันนี้ก็ยังประทับใจ แต่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันอย่างเร็วมาก ผมเห็นเลย แต่ผมทำอะไรไม่ได้ เวลาดำน้ำลงไปมันมีความสุขไหมมันก็มี แต่มันก็มีพาร์ทนึงที่รู้สึกว่า น่าจะรักษากันให้ดีกว่านี้ มันช้ำจริงๆ คนไปเป็นล้านต่อปี (นิ่งคิด) ผมรู้สึกเสียดาย กับสิ่งที่เมืองไทยมีแล้วต่อไปจะไม่มีแล้ว จากที่เกาะนี้ติดหนึ่งในท็อป 10 ของพื้นที่ในการดำน้ำทั่วโลก ต่อไปอาจจะไม่ติดอันดับแล้ว เพราะว่าเราไม่มีระบบอนุรักษ์ที่ดี ต้องคอยลุ้นต่อไปว่ามันจะเป็นยังไง

4. มันเลยต่อเนื่องมาสู่ความคิดในการทำค่ายเยาวชนเพื่อสิ่งแวดล้อม ในนาม EEC อย่างนั้นใช่ไหม

อเล็กซานเดอร์: ก่อนหน้านี้ผมพยายามคิดว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ผมไม่เห็นว่าตัวเองจะทำอะไรได้มากกว่าถ่ายละคร เพราะผมชอบการแสดงมาก แต่เหตุผลที่ผมอยากทำอย่างอื่นไปด้วยเพราะผมคิดว่าบางทีการอยู่ในวงการบันเทิงอย่างเดียวอาจจะบังคับให้เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เพราะสโคปงานเป็นแบบนั้น ผมเลยรู้สึกว่าอยากหาอย่างอื่นทำบ้าง อยากทำอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง ที่ตัวเองคิดขึ้นมา ตอนดำน้ำ ผมก็จริงจังกับมันมาก จนคิดว่าอยากจะเปิดทัวร์

พอไปอยู่กับครูอลงกต ได้เห็นวิธีการที่เขาสอนเด็กๆ เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ดี เด็กๆ ควรได้ไปเจออะไรแบบนี้ ผมคิดว่าด้วยยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี เด็กที่เติบโตมาในยุคนี้จึงห่างไกลธรรมชาติ ไม่เหมือนตอนที่ผมเด็กๆ ผมยังได้เข้าค่าย แล้วโรงเรียนในเมืองไทย ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เยาวชนไปเรียนรู้กับธรรมชาติเท่าไหร่ เด็กนานาชาติจะเข้าค่ายกันบ่อย แต่โรงเรียนไทยแทบจะไม่มีการเข้าค่ายนอกจากลูกเสือ หรือ รด. เขาไม่มีการไปเข้าค่ายเดินป่า ส่องสัตว์ ทั้งที่มันคือการเพิ่มประสบการณ์ชีวิต ยังไงเขาก็ต้องชอบ เด็กคนไหนไม่ชอบสัตว์บ้าง มันฟังดูแล้วยาก แต่ถ้าเราเข้าใจเด็กแล้ว เราทำอะไรกับเขาได้เยอะ ผมเลยเริ่มลองคิดลองทำ พอยิ่งคิดยิ่งทำ ก็ยิ่งเห็นหนทางที่จะไปต่อเรื่อยๆ นี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่านี่คือทางที่ใช่ ผมได้พาเด็กไปดำน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรัก ได้พาเด็กไปเดินป่า ที่สำคัญคือได้ให้การศึกษากับพวกเขาด้วย

5. เวลาไปออกค่ายครั้งหนึ่งคุณทำอะไรบ้าง

อเล็กซานเดอร์: แล้วแต่นะ เพราะแต่ละค่ายจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับกิจกรรม อาจจะมีพาเด็กไปส่องสัตว์ ซึ่งก่อนส่องสัตว์เด็กๆ ก็ต้องมาเรียนรู้ว่าสัตว์มีกี่ประเภท มีแบบไหนบ้าง สัตว์ที่เราจะเห็นได้คือสัตว์แบบไหน เขากินอะไร อยู่ในหมวดหมู่ไหน หรือถ้าเข้าไปส่องนก ไปดูผีเสื้อ เราก็ต้องรู้ว่าบริเวณที่มีผีเสื้อเยอะๆ นั่นหมายถึง ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) แสดงว่าป่าตรงนี้สมบูรณ์พอ การที่สัตว์หลายขนิดจะมารวมตัวกันได้ในที่ที่เดียวกัน แปลว่าพื้นที่ตรงนี้มีของกินอุดมสมบูรณ์พร้อม เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ คือทุกอย่างจะมีพอยท์ในการสอน ไม่มีกิจกรรมไหนเลยที่ผมรู้สึกว่าทำไปโดยไม่มีแก่นสาระ หรือมีแค่ความเมามันบันเทิง

เราเอาความรู้มาอยู่เหนือความสนุก ซึ่งเด็กที่มา เขาไม่รู้หรอกว่าเขามาเรียนรู้ เขาได้เรียนรู้โดยไม่รู้ตัวมากกว่า เรามีห้องเรียนธรรมชาติ มีกิจกรรมที่ให้เด็กได้มานั่งล้อมวงกินข้าว ได้นั่งรถโฟร์วิลด์ ในขณะที่หลายคนจะบอกว่าเด็กนั่งโฟร์วิลด์ข้างหลังไม่ได้ แต่เราเพิ่มความไว้ใจให้กับเด็ก ให้เขาได้ดูแลตัวเอง โดยที่อยู่ในกระบวนการด้านความปลอดภัยของเรา อย่างจานที่เราให้เขาล้าง จริงๆ เราก็ต้องให้สตาร์ฟมาล้างต่ออยู่ดี แต่ที่ต้องให้เขาทำเพราะต้องการให้เขาเรียนรู้ว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องทำ ต้องรู้จักช่วยเหลือตัวเองหรือช่วยเหลือเพื่อนๆ สิ่งที่เราสอน เราไม่ได้ให้แค่ความรู้ แต่มันคือนิสัยที่จะติดตัวเขาไป

6. ที่ทำอยู่นี้ คุณคาดหวังให้เด็กๆ จะต้องโตมารักธรรมชาติเหมือนคุณหรือเปล่า

อเล็กซานเดอร์: เปล่าเลย ผมไม่ได้หมายความว่าที่ทำอยู่นี้เพื่อให้เขาโตมาเป็นนักสิ่งแวดล้อมในอนาคต หรือต้องรักสิ่งแวดล้อมเหมือนผม ในอนาคตถ้าเขาโตไปเป็นเจ้าคนนายคน แล้วได้รับการปลูกฝังในเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก เขาจะตระหนักในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เขาจะได้รู้จักกับความลำบาก ได้เรียนรู้ว่าชีวิตความเป็นจริงเป็นอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่า ตรงนี้จะช่วยเขาได้ในระยะยาว

7. การปลูกหัวใจสีเขียวให้เด็ก เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเด็กแต่ละคนจะโตขึ้นมาเป็นแบบไหน ต้องผ่านการเลี้ยงดู ซึ่งมันก็นานปีกว่าเขาจะเป็นคนแบบนั้น แต่ค่ายของคุณทำให้เขารู้สึกรักธรรมชาติได้ภายในไม่กี่วัน ทำได้ยังไง

อเล็กซานเดอร์: มันคือจิตวิทยา ทั้งหมดที่เราเล่นกับเด็ก มันคือหลักจิตวิทยา เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมพยายามจะเรียนรู้กับครูอลงกต เขาเก่งมาก ใครเห็นเขาก็จะประทับใจ ยิ่งได้เห็นการสอนของเขาก็อยากให้ลูกมาเรียนด้วย ผมเชื่ออย่างนั้น ผมโชคดีที่มีครูอลงกตเป็นครูและเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาให้กับเรา ก็พยายามจะเรียนรู้จากเขา เวลาที่เขากระซิบกับเด็ก สื่อถึงการให้ความสำคัญกับเขา การบอกเด็กว่าเราภูมิใจในสิ่งที่เขาทำมาก มันคือการสร้างความมั่นใจ ทำให้เขารับรู้ว่าเราเป็นมิตร มันคือจิตวิทยาการเข้ากับเด็ก บางคนเอามีดมา เพราะว่าจะมาเดินป่าเลยพกมา (หัวเราะ) เราก็กลัวว่าเขาจะหกล้มแล้วมีดจะทิ่มเอา หรือไปทิ่มเด็กคนอื่น ก็ต้องค่อยๆ อธิบายให้เขาฟัง

เราไม่เคยใช้อำนาจกับเด็กแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยยึดโทรศัพท์เขา เราปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำ แล้วค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน ให้เขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเกิดเราไม่รู้จัก หรือเด็กไม่เปิดรับเราแล้วเราไปดุเขา เขาก็จะไม่ชอบเรา ไม่เอาเราแล้ว นี่คือสิ่งที่อาจารย์ทุกคนของเรามี คือจิตวิทยาในการเข้าหาเด็ก บางคนอยู่กับห้องแอร์ เหยียบโคลนแล้วร้องอี๋ เราก็ต้องบอกเขาว่า “นี่คือสิ่งที่เท่ที่สุด” เขาก็จะเปลี่ยนความคิดของตัวเอง แต่โดยมากเด็กเขาจะเห็นว่าเพื่อนคนอื่นทำได้ เขาก็อยากที่จะทำได้ ไม่อยากเป็นคนเดียวที่ทำไม่ได้ อยากจะโชว์เด็กที่ไม่มีความรู้เท่าเขาว่าเขารู้ เขาอยากช่วยเหลือเพื่อน บางคนเด็ก 4 ขวบมา ไปนั่งรถโฟร์วิลด์ เด็ก 8 ขวบก็เอาผ้ามาคลุมให้น้อง ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้จักกันมาก่อน แต่มันเป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นในป่า มันเป็นอย่างนี้จริงๆ เด็กพัฒนาจริง มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน

8. ลองเล่าถึงการไปออกค่ายที่คุณประทับใจให้เราฟังหน่อย

อเล็กซานเดอร์: น่าจะเป็นค่ายแรก คือ ค่ายแรกนี่เราทำงานกันมาหนัก ทำรีเสิร์ช ไปทดลองออกค่าย จนกระทั่งเราเชิญคนมาเข้าค่ายแล้วปรากฏว่าทุกคนแฮปปี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเราลุ้นกันมากว่าผู้ปกครองจะมีฟี้ดแบ็กยังไง ค่ายแรกผมประทับใจเพราะทุกอย่างผ่านไปได้อย่างสวย มันดีกว่าที่คิดไว้อีก หลังจากนั้นมีคนถามว่าทริปต่อไปจะเป็นยังไง สมัครทั้งปีเลยได้ไหม มันเป็นกระแสแบบนี้หมดเลย ไม่มีใครที่เนกาทีฟแม้แต่คนเดียว

อีกค่ายคือช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา เราเตรียมไว้แล้วว่าเราจะพาเขาไปที่ยอดเขา จะมีจุดให้ผู้ปกครองพักดื่มกาแฟ วิวดี เด็กๆ จะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติอยู่ข้างหลัง เราจะพาเขาไปเดินป่าในจุดที่คนไม่ค่อยรู้ มันจะเป็นทริปที่แฮปปี้ เราวางทุกอย่างไว้หมดแล้วว่าทริปนี้จะเป็นไฮไลท์ ปรากฏว่า 2 วันก่อนมีแคมป์ ดินถล่ม ปิดทางเข้าออก ทางไปไม่ได้ แผนที่วางไว้ต้องถูกเปลี่ยน กิจกรรมเดียวที่สามารถจะทำได้คือเส้นเดินป่า ที่มันค่อนข้างแอดวานซ์ เด็ก 4 ขวบก็เจ๋งมาก เขาสามารถใส่ถุงกันทาก เหยียบโคลน อยู่กับต้นไม้ เดินออกมาเข้าห้องน้ำในป่า เรียนรู้ถึงชีวิตความลำบากจริงๆ จนผู้ใหญ่งงว่า โอ้โห! มันจัดค่ายกันโหดอย่างนี้เลยเหรอ จนเสร็จเรียบร้อยทุกคนแฮปปี้ เพราะพวกเขาไม่เคยเดินป่าแบบนี้ มันเซอร์ไพรส์ผมมาก จากที่ตอนแรกผมเครียดมาก ทุกคนก็ตื่นเต้นมากที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เขาบอกว่ามันเหมือนอินเดียน่าโจนส์ (หัวเราะ)ผมก็ไม่เคยคิดว่าผมจะได้ฟี้ดแบ็กนี้กับแคมป์นั้น นับเป็นอีกหนึ่งแคมป์ที่ประทับใจ

8. ลองเล่าถึงการไปออกค่ายที่คุณประทับใจให้เราฟังหน่อย

อเล็กซานเดอร์: น่าจะเป็นค่ายแรก คือ ค่ายแรกนี่เราทำงานกันมาหนัก ทำรีเสิร์ช ไปทดลองออกค่าย จนกระทั่งเราเชิญคนมาเข้าค่ายแล้วปรากฏว่าทุกคนแฮปปี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเราลุ้นกันมากว่าผู้ปกครองจะมีฟี้ดแบ็กยังไง ค่ายแรกผมประทับใจเพราะทุกอย่างผ่านไปได้อย่างสวย มันดีกว่าที่คิดไว้อีก หลังจากนั้นมีคนถามว่าทริปต่อไปจะเป็นยังไง สมัครทั้งปีเลยได้ไหม มันเป็นกระแสแบบนี้หมดเลย ไม่มีใครที่เนกาทีฟแม้แต่คนเดียว

อีกค่ายคือช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา เราเตรียมไว้แล้วว่าเราจะพาเขาไปที่ยอดเขา จะมีจุดให้ผู้ปกครองพักดื่มกาแฟ วิวดี เด็กๆ จะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติอยู่ข้างหลัง เราจะพาเขาไปเดินป่าในจุดที่คนไม่ค่อยรู้ มันจะเป็นทริปที่แฮปปี้ เราวางทุกอย่างไว้หมดแล้วว่าทริปนี้จะเป็นไฮไลท์ ปรากฏว่า 2 วันก่อนมีแคมป์ ดินถล่ม ปิดทางเข้าออก ทางไปไม่ได้ แผนที่วางไว้ต้องถูกเปลี่ยน กิจกรรมเดียวที่สามารถจะทำได้คือเส้นเดินป่า ที่มันค่อนข้างแอดวานซ์ เด็ก 4 ขวบก็เจ๋งมาก เขาสามารถใส่ถุงกันทาก เหยียบโคลน อยู่กับต้นไม้ เดินออกมาเข้าห้องน้ำในป่า เรียนรู้ถึงชีวิตความลำบากจริงๆ จนผู้ใหญ่งงว่า โอ้โห! มันจัดค่ายกันโหดอย่างนี้เลยเหรอ จนเสร็จเรียบร้อยทุกคนแฮปปี้ เพราะพวกเขาไม่เคยเดินป่าแบบนี้ มันเซอร์ไพรส์ผมมาก จากที่ตอนแรกผมเครียดมาก ทุกคนก็ตื่นเต้นมากที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เขาบอกว่ามันเหมือนอินเดียน่าโจนส์ (หัวเราะ)ผมก็ไม่เคยคิดว่าผมจะได้ฟี้ดแบ็กนี้กับแคมป์นั้น นับเป็นอีกหนึ่งแคมป์ที่ประทับใจ

9. หลังจากที่คลุกคลีกับเขาใหญ่มาระยะเวลาหนึ่ง จนถึงกับเปรยว่า เขาใหญ่เหมือนบ้านหลังที่สอง รู้สึกยังไงกับป่าแห่งนี้

อเล็กซานเดอร์: มันเป็นป่าที่สมบูรณ์มาก ป่าเขาใหญ่เป็นที่ที่สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่ได้ แล้วระบบการดูแลค่อนข้างดี คนก็ให้ความเคารพนับถือเจ้าหน้าที่อุทยาน เขาก็ทำหน้าที่ของเขาได้ดี แล้วคนก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับป่าเขาใหญ่ ที่สำคัญมันสวย ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางมาได้ง่ายๆ ค้างคืน 1 วันก็ยังได้ ผมสามารถทำงานเสร็จแล้วขับรถไปแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง เขาใหญ่เป็นที่ที่สุดยอดมาก ไม่มีที่ไหนแล้วที่เหมือนเขาใหญ่ อาจจะมีเรื่องที่พักโดยรอบที่อาจจะราคาสูงนิดหนึ่ง แต่โดยรวมแล้วผมมองว่ามันสมบูรณ์ มันสวย อากาศดี ทุกอย่างครบ

10. สำหรับคุณแล้วธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปรียบเหมือนกับอะไร

อเล็กซานเดอร์: เปรียบเหมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งที่ถ้าขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่ง ครอบครัวนั้นจะไม่ครบองค์ประกอบ ผมเป็นคนโชคดีที่เกิดมาในบ้านที่อบอุ่นมาก พี่น้องทุกคนรักกันมาก ผมคิดไม่ออกเลยว่าถ้าเกิดวันหนึ่งมีใครสักคนหนึ่งไม่อยู่แล้ว ผมจะอยู่ได้ยังไง ก็เหมือนสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างต้องพึ่งพากัน เมื่อไหร่ที่คนๆ หนึ่งมองไม่เห็นถึงครอบครัวนี้ มันก็จะลำบากกันหมดในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook