“ถ้าความสุขเราพอ เราก็ไม่จําเป็นต้องมีเยอะ” ทันตแพทย์ สุวชัย พฤกษ์กานนท์

“ถ้าความสุขเราพอ เราก็ไม่จําเป็นต้องมีเยอะ” ทันตแพทย์ สุวชัย พฤกษ์กานนท์

“ถ้าความสุขเราพอ เราก็ไม่จําเป็นต้องมีเยอะ” ทันตแพทย์ สุวชัย พฤกษ์กานนท์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณหมอแซม–ทันตแพทย์ สุวชัย พฤกษ์กานนท์ เริ่มแนะนําตัวกับเราว่า “ผมเป็นทันตแพทย์เอกชนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง มีงานพิเศษบ้างเช่น เป็นวิทยากรแนะนําวิทยาการใหม่ ๆ ให้ทันตแพทย์ เป็นอาจารย์พิเศษบ้างบางโอกาส เป็นอาจารย์ที่ตรวจวิทยานิพนธ์ในการจบของบัณฑิตปริญญาโทบ้าง เหล่านี้คือทั้งอาชีพส่วนตัวและงานส่งเสริมงานรับราชการต่าง ๆ และยังมีการดูแลงานเก่า ๆ ของคุณพ่อเป็นพวกอสังหาริมทรัพย์บ้างเล็กน้อย เลยทําให้ชีวิตมีความหลากหลาย ได้ทําอะไรหลาย ๆ อย่าง เจอโลกหลาย ๆ แบบครับ”

จากเด็กที่เติบโตในร้านโชห่วยช่วยพ่อแม่ขายของ สร้างฐานะและทําธุรกิจเปิดคลินิกทันตกรรม และร้านอาหารไซลิพลัส มาจนถึงปัจจุบันโดยยึดหลักคําสอนของพ่อ คือความซื่อสัตย์ อดทน ชีวิตของคุณหมอแซมอาจจะไม่ได้โดดเด่นเป็นที่รู้จักเหมือนนักแสดงหรือคนดังในสังคม แต่สิ่งที่ทําให้คุณหมอน่าสนใจคือเรื่องราวการดําเนินชีวิต ทั้งในแง่ส่วนตัวและการทําธุรกิจ ที่อยู่บนพื้นฐานเริ่มต้นจากการให้เป็นสําคัญ และนั่นนํามาซึ่งสิ่งที่เรียกว่าความสุขบนหลักการใช้ชีวิตพอเพียงเปิดใจสนทนา ต้อนรับปีใหม่ กับแง่มุมในการใช้ชีวิตที่ทุกคนสามารถจะเป็นได้ หรือเริ่มต้นใหม่ได้ ด้วยหลักในการใช้ชีวิตของคุณหมอที่ถือเป็นแบบอย่างของการสร้างบรรทัดฐานที่ดี ซื่อสัตย์ อดทน และเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ให้..

ก่อนอื่นให้คุณหมอเริ่มต้นเล่าถึงพื้นฐานครอบครัวก่อนค่ะว่าเป็นอย่างไร
ผมเกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้สบายครับ เป็นครอบครัวคนจีนที่ต้องช่วยกันสร้างฐานะ เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่เคยได้เงินจากคนอื่น ทุกอย่างเกิดมาจากการสร้างฐานะด้วยตนเองล้วน ๆ ที่บ้านทําอาชีพค้าขายอิสระ เป็นร้านโชห่วยก่อสร้าง ผมต้องช่วยพ่อแม่ขายของ ต้องช่วยส่งของตั้งแต่เด็ก ส่งสี ส่งตะปู อีกอย่างผมเป็นลูกคนโตไม่ช่วยไม่ได้ครับ ตั้งแต่ ม.1 จําได้ว่าผมต้องไปนอนเฝ้าโกดัง แต่สมัยก่อนถือว่าไม่ได้อันตรายเหมือนสมัยนี้ การเดินทางไปโรงเรียนก็เดินทางไปเอง เป็นเด็กที่ต้องทําอะไรด้วยตัวเองทั้งหมด

มีช่วงวัยเด็กที่ได้ไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ ไหม
มีครับ บางทีก็เล่นแทบจะไม่ได้ใส่ใจเรื่องการเรียน สมัยตอนอยู่ ป.2 ผมเคยเรียนตกด้วยนะ เรียนซ้ำชั้นเพราะว่าไม่ตั้งใจเรียน แต่พอเรียน ป.4 ป.5 ป.6 ได้ที่ 1 ได้ครูดี หลังจากนั้นเรียนอยู่ในอันดับต้น ๆ มาตลอด เพราะรู้แล้วว่าตกคืออะไร พอเรียนอุดมศึกษาก็เรียนดี ผมพลิกวิกฤตไม่มีตกอีกแล้ว จะบอกตรงนี้เลยว่าเด็กที่เคยเรียนตก ไม่ใช่เด็กที่มีปัญหา ถ้าเด็กที่เคยเรียนตกและผ่านวิกฤตได้ เขาจะไม่ตกอีกตลอดชีวิต เพราะเขารู้แล้วว่าตกคืออะไร เขารู้แล้วว่าความรับผิดชอบต้องมาตอนไหน อย่างลูกสาวผมคนโตเรียนได้ที่ 1 ตลอด จนอยู่ ป.6-ม.1 เริ่มมีเรียนตก ผมดีใจมากที่เขาเรียนตก แต่ตอนนี้อยู่ ม.3 กลับมาได้ที่ 1 ใหม่ การที่เขาเรียนตกผมไม่ต้องไปดุเขาว่าต้องไปอ่านหนังสือ เขาจะอยากอ่านของเขาเอง เขารู้แล้วว่าต้องทํายังไง

ส่วนลูกชายอีก 2 คนค่อนข้างเก่งเรื่องคณิตศาสตร์ เรื่องวิทยาศาสตร์ ผมก็ภาวนาให้ลูก 2 คนนี้รู้จักตกเหมือนกัน (ยิ้ม) ตอนนี้คนกลางตกประวัติศาสตร์ หลังจากตกเขาเริ่มหันมาอ่านมากขึ้น เพราะเขารู้แล้วว่า ตกคืออะไร ผมรู้สึกดี เพราะเด็กที่ไม่เคยตก คือเด็กที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกได้ที่ 1 ตลอด ถ้าลูกได้ที่ 1 ตลอด ลูกจะไม่มีภูมิคุ้มกัน ลูกจะไม่รู้ว่าความเสียใจเป็นยังไง ต้องมองต่างมุมบ้าง คนที่ไม่เคยตกซ้ำชั้น ไม่เคยผิดพลาดอะไรเลย คนที่โดนตามใจตลอด เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความอดทน และจะไม่รู้จักว่าการสูญเสียคืออะไร หรือการได้มาคืออะไร และการรักษาต่อไปจะเป็นยังไง ทฤษฎีเหล่านี้ผมนํามาจากตัวเองถ้าเรารู้จักคําว่าตก เราจะรู้จักคําว่าแสวงหา และเราจะรู้ว่าต้องรักษามันเป็นยังไง เพราะถ้าไม่รักษา ไม่มีความมั่นคง ไม่มีความอดทน มันจะอยู่ได้ไม่นาน

วิธีเลี้ยงลูกของคุณหมอที่ยังคงยึดหลักตามแบบครอบครัวคืออะไรคะ
ผมยังสนับสนุนเรื่องการตีนะ ผมก็โดนเลี้ยงมาด้วยการโดนตี แต่สมัยก่อนคุณพ่อจะใช้อาวุธ เวลาใช้อาวุธเรารู้สึกไม่แฟร์ คุณตีเรา คุณใช้อาวุธ คุณไม่เจ็บมือ แต่ในขณะที่ผมตีลูก ผมใช้มือตี ตีให้แรงเพื่อที่เราจะได้เจ็บมือ แล้วลูกก็เจ็บเหมือนกัน อย่างที่บอกลูกเจ็บ เราก็เจ็บ สําหรับผมเชื่อว่าการตียังเป็นเรื่องสําคัญ การตีจะเป็นการบอกตัวเราเองด้วยว่าเขาก็เจ็บ เราก็เจ็บ แปลว่าที่เราสอนเขา มันไม่ได้ผล แต่ต้องให้เขาเข้าใจด้วยว่าเราตีเพราะว่าเรารักนะ เขาก็จะไม่ทําผิดซ้ำสมัยก่อนลูกผมอยากได้ของเล่น ไม่รู้ไปเอามาจากไหน ดิ้นกลางห้าง ผมก็ตีกลางห้างเลย ใครจะมองผมเป็นพ่อใจร้ายก็แล้วแต่ ผมตีด้วยมือ ให้เขาเจ็บ เราก็เจ็บ แปลว่าเราสอนไม่ดี ทําให้เด็กมีพฤติกรรมแบบนี้ แล้วก็สอนเขาว่าทําแบบนี้เพราะอะไร พฤติกรรมคุณมันผิด ดิ้นที่พื้นแบบนี้ใช้ไม่ได้ แต่เชื่อไหมเป็นครั้งเดียวที่เกิดขึ้นกับลูกเรา หลังจากนั้นไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยกับสถานการณ์แบบนั้นสอนทีเดียวแล้วจบเลย เพราะพอคนโตโดนตี ลูกคนกลางเห็นสภาพนั้นก็ไม่กล้าทํา

เพราะรู้ว่าผลลัพธ์คืออะไร การทําโทษของผมจะมีการตี แต่ว่าการตีจะไม่เคยใช้ไม้ หรือไม่เคยใช้อาวุธ จะตีด้วยมือเราเอง แต่แม่เขาไม่เคยตีนะ จะมีแค่ผมที่ตี เพราะอยากให้พ่อคนหนึ่งดุ หรือแม่คนหนึ่งดุ แต่เหลืออีกคนหนึ่งไว้ให้ลูกมีทางออก อย่าดุพร้อมกัน อย่างผมเป็นคนตี แม่เขาก็จะไม่ตี เวลาตีลูกผมจะตีส่วนที่ควรจะตี เช่น แขน ขา ก้น การตีจะตีด้วยมือ ตีให้แรง แต่ตีไม่กี่ครั้ง ผมจะบอกลูกว่าเราตีคุณ ไม่ใช่คุณเจ็บอย่างเดียว เราก็เจ็บ ส่วนหนึ่งที่เรายอมเจ็บ เพราะว่าเป็นความผิดพลาดของเราที่สอนคุณได้ไม่ดี หลังจากนั้นลูกไม่เคยโดนตีอีกเลย เพราะเราตีเขามาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาก็จะรู้แล้ว ถ้าเด็ก ๆ เกินวัยควบคุมแล้วนี่ คุณไม่มีสิทธิ์ไปตีเขาแล้วนะ มันเกินลิมิตแล้ว…


อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่ขวัญเรือน no.1059 vol.45 January 2015

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook