Smart Farming ฟาร์มฉลาดเพื่อเกษตรกรโคนมไทย

Smart Farming ฟาร์มฉลาดเพื่อเกษตรกรโคนมไทย

Smart Farming ฟาร์มฉลาดเพื่อเกษตรกรโคนมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ที่อาคารสระบุรี 2 ภายในพื้นที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคจุฬาฯ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น เจ้าหน้าที่ศูนย์รับน้ำนมจะนำน้ำนมดิบบรรจุขวดจากฟาร์มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 200 ราย ในจังหวัดสระบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมาตรวจคุณภาพน้ำนม ทั้งปริมาณโปรตีน ไขมัน แคลเซียม น้ำตาลนม และเม็ดเลือดขาว เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าน้ำนมดิบมีคุณภาพก่อนส่งป้อนโรงงานผลิตนม

“ศูนย์วิจัยนี้มีเครื่องมือทันสมัยที่ตรวจคุณภาพน้ำนมได้ในปริมาณมาก รู้ผลเร็ว เกษตรกรจึงสามารถส่งน้ำนมมาตรวจได้เดือนละ 2-3 ครั้ง ซึ่งความถี่ในการตรวจขนาดนี้จะบอกได้ถึงสถานภาพของคุณภาพน้ำนมที่ดีและสุขภาพของโคนม เพื่อที่เกษตรกรสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพน้ำนมให้ ดีขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าให้น้ำนมที่จะนำไปขายต่อไป” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

581280

การตรวจวัดคุณภาพน้ำนมดิบเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของโครงการศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรโคนมไทย ที่ต้องจัดการฟาร์มโคนมในบริบทที่ท้าทาย

“การเลี้ยงโคนมในสภาพอากาศร้อนชื้นทำให้โคเครียด กินอาหารได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตน้ำนมลดลง ความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ และมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ หัวหน้าโครงการศูนย์วิจัยฯ อธิบาย

ด้วยเหตุนี้ คณาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ ผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและจัดการสุขภาพโคนม และผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยทุกภาคส่วน จึงรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการออกแบบงานวิจัยเชิงบูรณาการสำหรับการจัดการฟาร์มโคนมตามบริบทของสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทย

“งานวิจัยของโครงการเป็น Tropical dairy research platform ใช้ข้อมูลในบ้านเราเพื่อให้การเลี้ยงโคนมของเกษตรกรไทยได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งผลงานวิจัยในโครงการฯ จะเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลวิชาการด้านการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้นทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว

พื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการจัดตั้งศูนย์วิจัยคือจังหวัดสระบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดการเลี้ยงโคนม อันเป็นอาชีพพระราชทาน จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2505 นอกจากนี้ จุฬาฯ ก็มีอาคารสถานที่ของศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคจุฬาฯ สระบุรีอยู่แล้ว

cuaround7_1

ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 (ปีงบประมาณ 2559-2563) โครงการศูนย์วิจัยฯ เริ่มจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพน้ำนมและห้องปฏิบัติการคุณภาพอาหารสัตว์ เพื่อให้บริการตรวจวัดคุณภาพน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรและภาคเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยข้อมูลจากการตรวจคุณภาพน้ำนมจะเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์วิจัยเพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพน้ำนม
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังชวนเกษตรกรให้เข้าโรงเรียนโคนม (Dairy school) หลักสูตร 6 เดือน ที่คณาจารย์ นักวิชาการ และเกษตรกรจะได้เรียนรู้ร่วมกัน

“คณาจารย์ที่ทำงานด้านโคนมได้ร่วมกันสร้างบทเรียน บูรณาการการเรียนการสอนและการวิจัยเข้าด้วยกัน เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมได้มาถอดบทเรียนให้กับผู้ร่วมโครงการ” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ อธิบาย “เราจะเอาปัญหาที่เกษตรกรกำลังประสบมาเป็นโจทย์ แล้วร่วมกันวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้หาคำตอบ ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรได้ดีกว่าแนวทางที่เรา (คณาจารย์) ตั้งโจทย์มา แล้วให้เกษตรกรเอาไปทำตาม”

1000898

รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ เล่าต่อว่า “เมื่อสรุปปัญหาหลักๆ ของเกษตรกรได้แล้ว 4 เรื่อง คือ ปัญหาคุณภาพน้ำนม ระบบผสมพันธุ์ ปัญหาเรื่องการจัดการอาหาร และความเครียดจากความร้อน คณาจารย์ของโครงการฯ จะลงพื้นที่ไปร่วมวิจัยศึกษาปัญหาในภาคสนามกับเกษตรกร แล้วถอดบทเรียนให้กับเกษตรกรผู้ร่วมโครงการ”

ผลตอบรับในการดำเนินโครงการโรงเรียนโคนมเป็นที่น่าพอใจ “เกษตรกรสามารถแก้ไขจัดการปัญหาง่ายๆ เช่น การรักษาความสะอาดของฟาร์มและสุขภาพสัตว์ได้ภายในเวลา 6 เดือน แต่ปัญหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างใหญ่ เช่น เรื่องอาหารสัตว์ การปรับปรุงสภาพฟาร์มต้องใช้เวลาจัดการเป็นปี ซึ่งเราก็จะคอยเข้าไปให้คำแนะนำช่วยเหลือจนกว่าจะแล้วเสร็จ”

ตลอดระยะเวลา 3 ปี (2560-2562) ที่ดำเนินโครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมเรียนรู้ในโรงเรียนโคนม และเป็นสมาชิกเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงโคนมกว่า 200 ราย ซึ่งเครือข่ายที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นโครงข่ายความร่วมมือการเรียนรู้และวิจัยระหว่างเกษตรกรและนักวิชาการ อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นิสิตของจุฬาฯ เข้าฝึกปฏิบัติงานภาคสนามด้วย

cuaround8_1

สุดท้ายแล้ว ในยุค 4.0 การเรียนรู้ของเกษตรกรต้องไปควบคู่กับเทคโนโลยี ปลายทางของโครงการศูนย์วิจัยฯ ที่กำลังวิจัยและผลักดันอยู่ คือ การปฏิรูปฟาร์มโคนมในประเทศไทยให้เป็น “ฟาร์มโคนมอัจฉริยะ” หรือ Smart Farming และเกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer

“ศูนย์วิจัยฯ สร้าง Smart Farming เพื่อให้เป็นแหล่งอ้างอิงและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรเป็น Smart Farmer แต่สิ่งที่จะทำให้ Smart ไม่ใช่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่คือความคิดของเรา Smart Farmer ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว

ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ว่าเทคโนโลยีใดเหมาะสมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย ศูนย์วิจัยฯ จึงนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาติดตั้งในฟาร์มวิจัย อาทิ อุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้แรงงานภายในฟาร์ม อุปกรณ์ตรวจจับเซนเซอร์ต่างๆ ระบบการติดตามตัวสัตว์ รวมถึงระบบซอฟแวร์ที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ซึ่ง รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ คาดว่า ศูนย์ฯ จะสามารถนำผลการทดลองใช้เทคโนโลยีในฟาร์มวิจัยมาถ่ายทอดให้เกษตรกรได้ราวปี 2563

“Smart Farming จะตอบโจทย์สูงสุดของโครงการฯ คือ เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น ต้นทุนการผลิตถูกลง ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องน้ำและที่ดิน ตลอดจนรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ของเสียจากฟาร์มสามารถแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ทั้งหมดนี้จะทำให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง : ขนิษฐา จันทร์เจริญ
ภาพ : ผศ.น.สพ.ธนศักดิ์ บุญเสริม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook