วิษณุมีชื่อปธ.กรธ.3-4คนรอนายกฯดู-จ่ายเยียวยาจบปี58

วิษณุมีชื่อปธ.กรธ.3-4คนรอนายกฯดู-จ่ายเยียวยาจบปี58

วิษณุมีชื่อปธ.กรธ.3-4คนรอนายกฯดู-จ่ายเยียวยาจบปี58
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองนายกฯวิษณุ แจงมี 3-4 ชื่อ ลุ้นประธาน กรธ. ขณะส่งชื่อให้นายกรัฐมนตรี พิจารณา 30-40 รายชื่อ เชื่อพล.อ.ประยุทธ์ มีตัวบุคคลในใจ ขณะจ่ายเยียวยาเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ยันเรียกเก็บค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวแน่ รอสรุปก่อน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงทางการเมือง ว่า สืบเนื่องจากการประชุมครั้งก่อนที่มีขออนุมัติเงินจำนวน 120 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายนนี้ เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองปี 2556-2557 โดยที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยา รวมถึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารเพื่ออนุมัติจ่ายเงิน โดยจะมีการเร่งรัดให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ขณะเดียวกันอาจมีความล่าช้า เนื่องจากบางรายมีเอกสารทางการแพทย์ชัดเจน แต่บางรายที่ประสบเหตุไม่ได้เข้ารับการรักษาและไม่มีใบรับรองแพทย์ยืนยัน แต่ต้องการรับเงินเยียวยาจึงต้องตรวจสอบให้ชัดเจน ซึ่งจะมีการเปิดรับรายชื่อในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า เท่าที่ทราบนั้นขณะนี้มีชื่อบุคคลที่เป็นประธานอยู่จำนวน 3-4 คน และรายชื่อกรรมการร่างฯ 30-40 คน แต่ทั้งนี้เชื่อว่านายกรัฐมนตรีมีรายชื่ออยู่แล้ว เพราะจะต้องใช้อำนาจในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งอำนาจในการตั้ง กรธ. เป็นส่วนของหัวหน้า คสช. ส่วนการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นอำนาจในส่วนของนายกรัฐมนตรี


นายวิษณุ ยังกล่าวถึง กรณีการฟ้องค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ขณะยังไม่สามารถระบุถึงตัวเลขความเสียหายได้ แต่ยืนยันว่าจะมีการเรียกค่าเสียหายแน่นอน ซึ่งทางคณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ จะกลับไปทำบันทึกสรุปความเสียหาย เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีประจำกระทรวง ต่อจากนั้นจะเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อร่วมกันพิจารณา ซึ่งหากเห็นว่าจะต้องสอบสวนเพิ่มเติม ก็จะส่งเรื่องกลับ แต่หากเห็นว่า มีข้อมูลเพียงพอแล้ว ก็จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการพิจารณาการรับผิดทางแพ่ง ซึ่งหากคณะกรรมการพิจารณาฯ เห็นด้วยจะส่งกลับมายังนายกรัฐมนตรี เพื่อออกคำสั่งทางปกครองให้รับผิดทางแพ่ง ซึ่งคดีดังกล่าวควรที่จะจบลงในปีนี้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องอายุความ


นอกจากนี้ นายวิษณุ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเชิญตัวแทนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง 
กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มาพูดคุยแล้ว ซึ่งทั้งสองหน่วยงานยืนยันในแนวทางของตนเอง ที่ต้องการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรต์ กลับไปดำเนินการต่อ โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมายตนเองชี้ขาดไม่ได้ ซึ่งกสทช. ก็ระบุว่าต้องเดินหน้าตามมติ ส่วนใครเห็นว่าทำไม่ได้ จะฟ้องร้องอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ขององค์กรนั้น


ขณะเดียวกัน นายวิษณุ ยืนยันว่า ปัญหาเรื่องนี้ใช้มาตรการของรัฐบาลไปบังคับไม่ได้ และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีตัดสินไม่ได้ และปฏิเสธแสดงความคิดเห็นในการนำมาตรา 44 แก้ปัญหาเรื่องนี้


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook