เทียนฉายไม่ชงตั้งรบ.แห่งชาติปัดถามพ่วงประชามติ
ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ไม่เสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติแน่นอน ชี้ไม่ใช่หน้าที่ ปัดถามพ่วงประชามติ ถกวิป สปช. 25 - 26 ก.ค.นี้ ขณะที่ 'มานิจ' ปัดปรับร่างรธน.อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ก.ต.
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยืนยันว่า สปช. ไม่ได้เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และไม่มีแนวคิดที่จะเสนอประเด็นนี้ เป็นคำถามพ่วงในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน จะไม่มีการหารือประเด็นดังกล่าวในการประชุม สปช. เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ สปช.
นอกจากนี้ นายเทียนฉาย ยังเปิดเผยอีกว่า ในวันที่ 25-26 ก.ค. นี้ อาจจะมีการหารือกับวิป สปช. เพื่อปรับระยะเวลาในการดำเนินงานของ สปช. ซึ่งจะนำวาระการประชุมที่เตรียมพิจารณา ในต้นเดือน ส.ค. มาพิจารณาก่อน เพื่อให้การพิจารณาวาระการปฏิรูปแล้วเสร็จภายในวันที่ 6 ส.ค. ตามกรอบเวลาในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับเดิมกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม สปช. จะเร่งจัดทำเอกสาร 4 ชุด คือ เอกสารวิสัยทัศน์อนาคตประเทศไทย ซึ่งเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปประเทศ, เอกสารที่เป็นการสรุปวาระสำคัญในการปฏิรูป โดยจัดลำดับความเร่งด่วนของการปฏิรูป, เอกสารรวบรวมทุกวาระการปฏิรูปที่มีการพิจารณาในที่ประชุม สปช. และเอกสารจัดกลุ่มประเด็นสำคัญในการปฏิรูปที่จะมีการอธิบายวิธีการปฏิรูป เพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานของ สปช. แล้วเสร็จทันตามกรอบระยะเวลาดังกล่าวอีกด้วย
'มานิจ'ปัดปรับร่างรธน.อุทธรณ์คำสั่งลงโทษก.ต.
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกรรมาธิการยกร่าง คนที่ 2 เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตามรายมาตรา ว่า ในวันนี้จะมีการเริ่มในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาลและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ เรื่องหลักนิติธรรมของประเทศ โดยเฉพาะนิติกระบวน ซึ่งมีการร่างไว้ว่าต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทางอาญาแก่บุคคล และต้องให้บุคคลมีสิทธิ์ในการป้องกันตนเองเมื่อสิทธิและเสรีภาพถูกกระทบ ส่วนที่กำลังเป็นประเด็น เรื่องการให้อุทธรณ์การพิจารณาการบริหารบุคคลของคณะกรรมการตุลาการ ไม่เป็นความจริง แต่อย่างใด ส่วนการพิจารณาในบางประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกัน และได้มีการแขวนไว้นั้นจะมีการนำไปหารือถึงรายละเอียดกันต่อที่พัทยา หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ต้องใช้วิธีการถามเป็นรายบุคคลว่ามีการเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร
ทั้งนี้ คาด 19 ก.ค. จะเสร็จสิ้น ก่อนส่งให้ สปช. ได้พิจารณาและเตรียมลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามโรดแมป
กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ไปแล้ว 12 มาตรา
ความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาปรับปรุงเป็นรายมาตรา ตามข้อเสนอแนะและคำขอแก้ไขที่ภาคส่วนต่าง ๆ เสนอ โดยวันแรกเริ่มพิจารณาในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ล่าสุด เสร็จสิ้นไปแล้วในหมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 1 บททั่วไป มี 12 มาตรา ตั้งแต่ 217-228 มีประเด็นสำคัญที่ปรับแก้ไขให้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะผู้พิพากษา ตุลาการ ว่าด้วยการอุทธรณ์หรือทบทวนมติของ ก.ต. ในคำสั่งลงโทษทางวินัย และองค์ประกอบของกรรมการในงานบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม หรือของตุลาการศาลปกครอง สัดส่วนบุคคลภายนอก นอกจากนั้น ยังมีบทเปลี่ยนแปลงว่าองค์กรบริหารข้าราชการอัยการ ที่ได้ปรับแก้ไขให้นำรายละเอียดและองค์ประกอบไปเขียนไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องแทนการบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่สาระอื่น ๆ เช่น การกำหนดกรอบเวลาการพิจารณาคดี, ห้ามอัยการเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ยังบัญญัติไว้เช่นเดิม