ไมเคิลร่วมแลกเปลี่ยนรูปแบบลต.-บรรเจิดมองระบบสภาเยอรมันดี
ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ บอกถือเป็นเรื่องดีที่ไทยนำรูปแบบเลือกตั้งเยอรมัน มาปรับใช้ ด้าน 'บรรเจิด สิงคะเนติ' มอง โมเดลระบบสภาเยอรมัน ดีกว่าไทย ต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหา
บรรยากาศการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ กับการปฏิรูปการเมืองไทย ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ล่าสุด นายไมเคิล วินเซอร์ ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะได้มีการหารือถึงการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ และเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะนำเอารูปแบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันนีมาปรับใช้เพื่อให้เข้ากับประเทศไทย ทั้งนี้ ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนี นี้มีเสถียรภาพ แต่ก็มีความซับซ้อนเช่นกัน ซึ่งก็จะได้พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งร่วมกัน
นอกจากนี้ นายไมเคิล กล่าวว่า มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ เป็นมูลนิธิทางการเมืองและคุ้นเคยกับพรรคการเมืองสำคัญๆ ในประเทศเยอรมนี เป็นองค์กรที่เสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
บรรเจิด มอง โมเดลระบบสภาเยอรมัน ดีกว่าไทย ต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหา
บรรยากาศการสัมมนาทางวิชาการเรื่องศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองไทย ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ล่าสุด นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างยกร่างรัฐธรรมนูญ และในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บรรยายพิเศษ โดยกล่าวว่า โมเดลระบบรัฐสภาของประเทศเยอรมัน นี้ เป็นการปฏิรูปโครงสร้าง รูปแบบการปกครองพื้นฐานของประเทศที่ดี โดยสร้างระบบศาลรัฐธรรมนูญมาถ่วงดุลเสียงข้างมากของระบบรัฐสภา ซึ่งสภาพการณ์แตกต่างจากประเทศไทย ที่มีปัญหาอย่างมาก เพราะต้องมุ่งปฏิรูปตั้งแต่ระดับล่าง ไม่เพียงแค่โครงสร้างอย่างเดียว และที่ผ่านมา ประเทศเกิดวิกฤติทางเมืองและเจอปัญหาใหญ่ เพราะเกิดจากโครงสร้างพื้นฐานของระบบรัฐสภา จึงจำเป็นหาแนวทางในการแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม ระบบรัฐสภานั้น มี 3 รูปแบบ คือ ระบบรัฐสภาอำนาจคู่ ระบบรัฐสภาอำนาจเดียว และระบบรัฐสภาสมัยใหม่
นายบรรเจิด ยังกล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ในการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งประเทศไทยนั้น ได้นำเอารูปแบบประเทศเยอรมนีมาปรับใช้ และที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการวินิจฉัย เพราะยังเป็นระบบอุปถัมภ์ และไม่มีความเป็นกลางเหมือนประเทศเยอรมนี แต่ขณะนี้ก็ได้มีการปรับปรุงและออกแบบศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจแล้ว ทั้งนี้ กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คน โดยส่วนตัวต้องการให้ยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ไม่ต้องมีความหลากหลาย และหากมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งร่างรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีก
ทั้งนี้ประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปในเรื่องดังกล่าว พร้อมเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความมั่นคงขึ้น
ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตัวบทกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนคุณสมบัติผู้ที่มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องมีการวางหลักการที่มีความโปร่งใส และคณะกรรมการสรรหานั้น ต้องไม่การคัดเลือกกันเอง แต่จะมีคณะกรรมการเป็นผู้คัดเลือกอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ต้องทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องปฏิบัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติเอาไว้