"จอร์เเดน คิลกาน่อน" : GOD OF DUNK... ผู้รับข้อแลกเปลี่ยนจากพระเจ้า

"จอร์เเดน คิลกาน่อน" : GOD OF DUNK... ผู้รับข้อแลกเปลี่ยนจากพระเจ้า

"จอร์เเดน คิลกาน่อน" : GOD OF DUNK... ผู้รับข้อแลกเปลี่ยนจากพระเจ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นธรรมเนียมของ NBA ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะต้องมีเกม ออล สตาร์ จากโซนตะวันออก และโซนตะวันตกเพื่อดวลกันต่อหน้าสายตาแฟนๆ จุดประสงค์ของเกมนี้เพื่อที่จะโชว์ความเอ็นเตอร์เทนแบบเต็มรูปแบบด้วยกลุ่มนักบาสฯ ตัวท็อป มันจะเป็นเกมที่มีแต่การ บุก บุก แล้วก็บุก เท่านั้น ทุกลีลาจะถูกจัดเต็มและคำนึงถึงความสนุกก่อนชัยชนะ เช่นเดียวกับเมื่อฤดูกาล 2016

ขณะที่การเเข่งขันเล่นไปได้ครึ่งทางก็ถึงเวลาของอีกหนึ่งช่วงที่แฟนๆรอคอย นั่นคือ ดั๊งค์คอนเทสต์ (Dunk Contest) ที่จะเป็นการโชว์ลีลาการยัดห่วงของเหล่าซูเปอร์สตาร์ ที่ร่างกายของพวกเขาแทบจะถูกสั่งการให้ดั๊งค์อย่างง่ายดายจากการฝึกซ้อมและอยู่กับลูกบาสทุกเมื่อเชื่อวัน  

ลีลาของ แซค ลาวีน จากมินเนโซต้า ทิมเบอร์วูล์ฟส์ (ขณะนั้น), เทอร์เรนซ์ รอสส์ จากโตรอนโต้ แร็ปเตอร์ส และ จอห์น วอลล์ จาก วอชิงตัน วิซาร์ด  ทำให้แฟนๆอ้าปากค้าง เพราะความสะใจที่ยัดห่วงอย่างหนักหน่วงและสวยงาม ทุกชื่อที่กล่าวมาเดินลงมาดั๊งค์ด้วยชุดแข่งของทีม ตามกฎของ NBA เสื้อผ้าของพวกเขาอำนวยความสะดวกต่อการกระโดดและเคลื่อนไหว

ทว่ามีชายคนหนึ่งลงมาพร้อมการสวมเสื้อกล้าม 1 ตัวสกรีนชื่อด้านหลังว่า "จอร์เเดน" และสวมกางเกงยีนส์ทรงเดฟที่อย่าว่าแต่กระโดดเลย เอาแค่วิ่งให้ได้อย่างคล่องเเคล่วก็เป็นเรื่องยากเเล้ว ...เขาคนนี้ไม่มีต้นสังกัด ไม่ได้เป็นนักบาสเก็ตบอลอาชีพ แต่กล้าท้าชนเหล่าซูเปอร์สตาร์ด้วยโจทย์ที่ว่าจะทำท่าที่ยากและลอยตัวให้สูงกว่าทุกคน...และยังบอกกับปากตัวเองว่า "ผมดั๊งค์ได้ดีกว่าไมเคิล จอร์เเดน"

จิ๊กโก๋บ้านนอกสะดุดรัก...
อันนี้จริง...จอร์แดน คิลกานอน ก็เป็นเหมือนกับเด็กหนุ่มอเมริกันทั่วไป เขาเล่นกีฬาทุกอย่าง แค่ว่าตอนเด็กๆ ยังไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ คือ สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุด  

การเกิดและโตในเมืองเล็กๆที่มีประชากร 160,000 คนทำให้เขาเป็นเหมือนปลาน้อยในอ่างแก้ว นั่นคือเก่งทุกอย่างชนิดที่ว่าได้รางวัล MVP ระดับไฮสคูลทั้งการเเข่งบาสเก็ตบอล, เบสบอล และ วอลเล่ย์บอล จนกระทั่งเจอจุดเปลี่ยนจากการไปเที่ยวพักร้อนและพบว่าแท้จริงเเล้วเขาเองก็ไม่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ

"ตอนอายุ 16 ผมสูง 180 เซ็นติเมตร ครอบครัวเราไปเที่ยวน้ำตกไนแองการ่า ระหว่างนั้นมีการเล่นบาสฯกลางแจ้งที่แป้นเตี้ยกว่าปกติ แต่ผมกลับดั๊งค์ไม่เป็น นี่คือเรื่องที่น่าผิดหวังมากสำหรับผม" เจ้าของฉายา "ดังค์ก๊อด" เริ่มเล่าถึงวันที่เขาไต่บันได สู่สถานะพระเจ้าแห่งการยัดห่วง

jordan-kilganon2
"หลังจากจบไฮสคูลผมเลิกเล่นกีฬาทุกอย่างเลย แล้วได้แต่คิดทบทวนว่าควรจะทุ่มพลังทั้งหมดให้กับสิ่งไหนดี อะไรคือสิ่งที่ผมรักที่สุด ผมพบคำตอบว่ามันคือการเป็นนักดั๊งค์นี่แหละที่ตามหา หลังจากนั้นก็ได้เวลาลุยไปข้างหน้าเท่านั้น"

ปี 2010 คือปีที่ คิลกาน่อน เริ่มหยุดที่จะวิ่งแต่เปลี่ยนมาเป็นการกระโดดเเทน เเละเขาให้คำจำกัดความว่าการฝึกซ้อมของเขาขั้นระดับใช้คำว่า "บ้า" ได้อย่างไม่เคอะเขิน นั่นคือเขาฝึกกระโดดทั้งวันชนิดที่ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย เขาไม่ได้ทำเพราะอยากจะเก่งเท่านั้น แต่ทุกการกระโดดทำให้อะดรีนาลีนหลั่งไหลไปทั่วร่างกาย เขาไม่เบื่อกับการทำสิ่งเดิมซ้ำๆเลยแม้แต่น้อย

ยิ่งกระโดดก็ยิ่งสูง ยิ่งฝึกดั๊งค์ยิ่งแม่นยำมากขึ้น หนึ่งสิ่งที่ติดตัวเขามาตลอดคือ เขาเป็นคนที่มีความมั่นใจสูงมาก และไม่เคยรีรอโอกาส เขาเริ่มคิดเเล้วว่าตัวเองในช่วงวัยรุ่นนั้นสามารถดั๊งค์ได้ดีกว่าเหล่า “ดั๊งค์เกอร์” มืออาชีพ แม้จะยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่นักก็ตาม แต่มีบางสิ่งบอกว่าเขาทำได้แน่หากพัฒนาอย่างถูกต้อง  

"ผมเริ่มรู้สึกว่าผมน่าจะทำได้เทียบเท่าหรือดีกว่าพวกมืออาชีพ เพียงแต่มันยังมีบางสิ่งในตัวผมที่ยังไม่ถูกค้นพบ จากนั้นผมแค่รอให้ใครสักคนหยิบผมขึ้นมา เเละมอบในสิ่งที่ช่วยให้ผมก้าวขึ้นไปอีกระดับได้" เขาเล่าย้อนความถึงจุดที่เริ่มรู้ว่าถ้าพยายามต่อไปจะต้องทำตามฝันได้แน่ เพียงแต่ว่ายังขาดบางสิ่งเท่านั้น

คิลกาน่อน เริ่มสร้างชื่อหลังยุค 2010 การลองผิดลองถูกของเขาถูกบันทึก และอัพโหลดลงยูทูบมาเป็นเวลานาน จึงเริ่มเข้าตาของทีมดั๊งค์มืออาชีพอย่าง "Dunk Elite" ซึ่งจัดการติดต่อเขาเข้าร่วมทีม และหลังจากนั้นเขาก็ได้ค้นพบการฝึกซ้อมที่ไม่ใช่แค่การกระโดดอย่างเดียวแบบที่เคยทำ

article-pic-1
เหลาจนเฉียบคม
การจะทำให้ร่างกายเเข็งแกร่งขนาดที่กระโดดสูงกว่านักบาสเก็ตบอล NBA ได้ไม่มีทางลัด คิลกานอน มีโปรเเกรมฝึกสุดโหดที่ถูกออกแบบมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ

เขาจะเริ่มต้นวันด้วยการอยู่ในห้องเวทเทรนนิ่งเพื่อให้ร่างกายงอตัวเพื่อดีดตัวให้สูงขึ้น เขาใช้เวลากับการอยู่ในยิมไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง และไม่จบเท่านั้นหลังจากออกจากยิมด้วยตัวที่เหงื่อชุ่มเเล้ว เขาจะมาซ้อมกระโดดดั๊งค์วันละ ครึ่งชั่วโมงบ้าง, 3-4 ชั่วโมง และบางครั้งก็มากถึง 9 ชั่วโมง เหตุผลที่ทำไมถึงต้องมากและหนักขนาดนั้น  คิลกาน่อน บอกว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างภาพในหัวให้ชัดเจนจนทำในสิ่งที่ยากให้ง่ายลงได้ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ จากหนุ่มไฮสคูลเขาก้าวกระโดดเข้ามาเป็นแชมป์รายการ Sprite Slam Dunk Showdown ในปี 2012 (ซึ่งขณะนั้นเขาอายุเพียง 20 ปี) ได้สำเร็จ 2 ปีแห่งความพยายามยืนยันกับเขาเเล้วว่าการที่เขาคิดว่าตัวเองเป็น “เทพเจ้าแห่งการดั๊งค์” ไม่ใช่เรื่องที่เข้าข้างตัวเองแต่อย่างใด

การเห็นภาพและสามารถจินตนาการท่าทางในการดั๊งค์อย่างเชี่ยวชาญ ทำให้ คิลกาน่อน เป็นผู้คิดท่าดั๊งค์ที่แตกต่างจากที่คนอื่นเห็น เขามีถึง 100 ท่าที่เขาทำมันเป็นคนแรกโดยเฉพาะท่า "แมงป่อง" นั่น คือ ท่ากระโดดให้ตัวเลยแป้นแล้วไขว้แขนอ้อมหลังยัดห่วง ที่เป็นเหมือนลายเซ็นของเขา  หลักการฝึกก็ง่ายๆ คือ การทำซ้ำเป็นพันๆครั้งในแต่ละท่าเท่านั้นเอง

แต่ละท่าจะถูกขยับความสูงของแป้นขึ้นเรื่อยๆ ระดับจะถูกปรับจนเท่าแป้นบาสที่เเข่งจริงในวันที่เขามั่นใจว่า "ระยะนี้เสร็จแน่" หลายครั้งที่เขาต้องบาดเจ็บจากความผิดพลาดในการฝึกซ้อม แต่เขาไม่หยุดมันง่ายๆ เป้าหมายที่แน่นอนว่าจะต้องการเป็นนักดั๊งก์ที่เก่งที่สุดในโลก คือ แรงผลักดันที่ทำให้เขา ไม่เพียงแต่ออกแบบการฝึกสุดหฤโหดเท่านั้น แต่ยังออกแบบโปรแกรมการรักษาสุขภาพกล้ามเนื้อของตัวเองให้ใช้งานได้อย่างยาวนาน เพราะไม่มีใครรู้ว่าเขาจะกระโดดสูงขนาดนั้นได้ถึงอายุเท่าไหร่ ทั้งการทรงตัว, การส่งพลังตอนกระโดด และตอนเท้าแตะพื้น ทุกอย่างมีการประมวลผลมาเป็นอย่างดี

ขณะที่ใครต่อใครหลายคนเริ่มรู้สึก “ว้าว” ต่อท่าทางการดั๊งค์ต่างๆที่เขาแสดงออกมา คิลกาน่อน ไม่แปลกใจ และไม่จำเป็นต้องถ่อมตัวใดๆทั้งสิ้น เขารับทุกคำชม แถมยังกล้าพูดว่าการฝึกแบบนี้ ทำให้เขาเป็นคนที่ “ดั๊งค์เก่งที่สุดในโลก”

kilganon-canon-500-320x486s
"การจะดั๊งค์ได้นั้นต้องระวังให้มากๆเลย การขึ้นดั๊งค์ในท่าทางที่บ้าและอันตรายต้องเกิดใจความรู้สึกที่เด็ดเดี่ยวด้วย ถามว่ามันเกิดขึ้นจากไหน มันก็เกิดขึ้นจากการทำซ้ำเป็นพันๆครั้งนั่นแหละ การซ้อมที่บ้าคลั่งทำให้ผมผิดพลาดเป็น 100 ครั้ง และเมื่อผมเห็นความผิดพลาดอย่างชัดเจน ผมจึงสามารถดั๊งค์ได้สมบูรณ์แบบ"

"ผมไม่เคยทำอะไรนอกจากการดั๊งค์ แม้วันรุ่งขึ้นขาของผมจะเจ็บจนต้องร้องโหยหวนยืนแทบไม่ไหว  ผมไม่เคยหยุดดั๊งค์แม้อากาศจะติดลบ 35 องศา และหิมะกองเป็นพะเนิน ผมไม่เคยหยุดดั๊งค์ในวันที่ฝนตก เที่ยงคืนถึง 10 โมงเช้าคือเวลาของผม...เอาง่ายๆผมเคยฝึกดั๊งค์แบบไม่หลับไม่นอนถึง 3 วันมาเเล้ว"  

นับตั้งแต่การฝึกอย่างจริงจังและเดินสายดั๊งค์อย่างเต็มตัว คิลกาน่อน คว้าแชมป์ Sprite Slam Dunk Showdown ถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปี 2016  รางวัลเหล่านี้ไม่แปลกอะไรเลย เมื่อได้เห็นว่าเขาซ้อมหนักดังที่กล่าวมาเป็นเวลาติดต่อกันเกือบ 8 ปี

ในทุกๆปีจะมีท่าใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ กระโดดข้ามมอเตอร์ไซค์ ,รถยนต์ หรือหมุนตัว 2-3 รอบ ก็มีมาเเล้ว จนกระทั่งมีการติดต่อให้เขาเข้ามาโชว์ในเกม ออลสตาร์ ปี 2016 ที่เขาจัดการขโมยซีนเหล่าดาวเด่นที่มารวมตัวกันจนดับสนิทเลยทีเดียว

วันนั้นการแข่งสเเลมดั๊งค์ 2016 ไฮไลตฺ์อยู่ที่การดวลกันระหว่าง แซ็ค ลา วีน กับ อารอน กอร์ดอน ว่าใครจะเป็นคนที่ดั๊งค์ได้หวือหวาฮือฮาที่สุด ก่อนการดวลจะเริ่มขึ้นทีมทาง NBA จัดการให้ทีม Elite Dunk ขึ้นโชว์ก่อนเพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อย ซึ่งแน่นอนว่าแฟนบาสเกตบอลไม่ได้สนใจนัก อาจถึงขั้นละสายตา เพราะพวกเขามารอดูเหล่าซูเปอสตาร์ไม่ใช่ทีมโชว์แบบนี้ เช่นเดียวกับทีมออลสตาร์ทั้ง 2 ฝั่ง ที่ซ้อมรับส่งลูกกันอย่างชิลๆ    

จอร์เเดน คิลกาน่อน ปรากฏตัวพร้อมสวมกางเกงยีน วิ่งเข้าไปกระโดดยัดห่วงด้วยท่า “โน ลุ๊ค ดั๊งค์” ด้วยความเร็ว และแรงเหลือเชื่อ ทันทีที่เสียงลูกบาสอัดกับตาข่าย สุบบบ! เสียงเฮก็ลั่นสนามทันที ไม่ใช่แค่เหล่าคนดูเท่านั้น ผู้เล่นระดับสตาร์ดังของ NBA อย่างดเวย์น เหวด, คริส บอช, รัสเซลล์ เวสต์บรู๊ค และอีกหลายๆคนถึงกับกรามค้างกับสิ่งที่พ่อหนุ่มจากโตรอนโต้คนนี้ได้ทำลงไป หลังจากนั้นชื่อของ จอร์เเดน คิลกาน่อน ก็ไม่ใช่นักยัดห่วงอินดี้อีกเเล้ว เขากลายเป็นดั๊งค์เกอร์กระแสหลักที่ใครก็พูด คลิปการดั๊งค์ในเกม ออลสตาร์ 2016 ตามยูทูปถูกอัพโหลดเป็นร้อยๆคลิปในคืนเดียว บางคลิปถึงกับใช้ชื่อว่า "Best Dunk Of NBA All Star Ever" (การดั๊งค์ที่สุดยอดที่สุดในการเเข่งขันออลสตาร์) เลยทีเดียว

rs-228905-gettyimages-5106015
ส่วนคอมเม้นต์บนโลกโซเชี่ยลส่วนใหญ่ลงมติสั้นๆว่า... "ถ้าหมอนี่ได้สิทธิ์แข่งขันสแลมดั๊งค์มันคงเป็นแชมป์ไปแล้ว" ซึ่งคำถามนี้ก็มีนักข่าวเอาไมค์ไปจ่อปากเขาว่าคิดว่าจะเอาชนะเหล่านักบาสเกตบอลอาชีพได้ไหม  สิ่งที่เขาตอบคือ “แหงซิ! ก็พวกเขาเป็นนักบาสฯ ผมเป็นนักดั๊งค์นี่หว่า"

แฟนๆหลายคนที่ไม่เคยติดตามวงการนักดั๊งค์จริงถึงกับสงสัยว่า คิลกาน่อน เล่นให้ทีมไหน? หรือมหาวิทยาลัยใด ทำไมจึงกระโดดได้สูงและดั๊งค์ได้เร็วทั้งที่สวมกางเกงยีนส์ .... แต่ที่น่าสงสัยที่สุด คือ ร่างกายของเขารับกับการฝึกที่เกินมนุษย์มนาขนาดนี้ได้อย่างไรต่างหาก?

วิทยาศาสตร์บอกได้...
ความพยายามอย่างหนักเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ คิลกานอน เป็นยอดนักดั๊งค์ แต่นั่นก็แค่ส่วนหนึ่ง ร่างกายของเขามีบางสิ่งที่พระเจ้ามอบให้เพื่อมาดั๊งค์เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งนี้จะเรียกว่าพรสวรรค์ได้หรือไม่? คงพูดได้ไม่เต็มปากมากนัก แม้ว่าเขาจะกระโดดได้สูงถึง 6 ฟุต 1 นิ้วก็ตาม

"เขาเป็นนักกระโดดที่โคตรสุดยอดมากๆและมีโครงสร้างเพื่อเป็นนักกีฬาโดยเฉพาะ" จอร์แดน แคนนอน นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู และ ศาสตราจารย์ สจ๊วร์ต แม็คกิล ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ชีวกลศาสตร์เกี่ยวกับกระดูกสันหลังที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งสองคือผู้เห็นพลังกระโดดของ คิลกาน่อน และอดสงสัยไม่ได้ว่าเขากระโดดสูงขนาดนั้นได้อย่างไร จนต้องขอวิจัยร่างกายของ "ก็อด ออฟ ดั๊งค์" เป็นกรณีพิเศษ เพราะหากไขความลับนี้ได้มนุษยชาติจะสามารถก้าวข้ามความสามารถทางกีฬาได้อีกขึ้น

แคนน่อน ได้ใช้เทคโนโลยี electromyography ที่ล้ำสมัยเพื่อวัดการกระตุ้นด้านกล้ามเนื้อของ คิลกานอน ซึ่งหลังจากทดสอบดูแล้วพบว่านี่คือความประหลาดที่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป...

กล้ามเนื้อของ คิลกาน่อน เป็นกล้ามเนื้อชนิดพิเศษที่มีความยืดหยุ่นสูงจนน่าตกใจ กล้ามเนื้อเขาสามารถหด และคลายตัวได้อย่างรวดเร็ว เส้นประสาทต่างๆก็ตอบสนองดีกว่าและเร็วกว่า แรงส่งจากกล้ามเนื้อที่เขาใช้กระโดดนั้น มาจากกล้ามเนื้อส่วนสะโพกในการยกตัวขึ้นสูงเหนือพื้น ขณะที่คนธรรมดาใช้แรงจากหัวเข่าร่วมกับการเก็บลำตัวให้ตรง

"ร่างกายของ คิลกาน่อน มีทักษะโดยธรรมชาติ เส้นประสาทและกล้ามเนื้อของเขาทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าคนปกติ กล้ามเนื้อของเขาหด และยืดตัวอย่างรวดเร็วมากในจังหวะที่จะกระโดดตัวขึ้นไป" แคนน่อน ตะลึงกับโครงสร้างพันธุกรรมของหนูทดลองของเขา

"การจะทำได้แบบนี้กล้ามเนื้อของเขาจะต้องเเข็งแรงมากและเขาสามารถควบคุมมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จังหวะระเบิดพลังกระโดดนี่แหละที่สุดยอดเขาสามารถเพิ่มความเร็วได้อีกในการดันตัวขึ้นมา"

"คำอธิบายที่ดีที่สุดเกี่ยวกับกล้ามเนื้อของเขาน่ะเหรอ? ....นี่แหละของขวัญจากพระเจ้าเลย" นักวิจัยสรุปอย่างเรียบง่ายแต่ได้ใจความ

เรียกได้ว่าการฝึกแบบที่ คิลกาน่อน ใช้พัฒนาศักยภาพตัวเองนั้น คือ สิ่งที่ใครก็ทำตามได้หากมีความอึด, ถึก และทนมากพอ ทว่าการจะทำให้กระโดดได้สูงและเร็วในแบบที่เขาทำคือสิ่งที่ "ยากมาก" ที่ใครจะลอกเลียนแบบ เพราะร่างกายที่เกิดมาเพื่อการกระโดดดั๊งค์โดยเฉพาะ แถมยังผ่านการฝึกแบบหฤโหดมาอีกด้วย

ข้อแลกเปลี่ยนกับพระเจ้า
ทุกอย่างบนโลกนี้ต่างมี 2 ด้าน ไม่มีสิ่งใดดีหมด 100% และการระเบิดพลังกระโดดของ คิลกาน่อน ก็เช่นกัน

8 ปีที่ผ่านมากับการทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นและประสาทสัมผัสเร็วจี๋ขนาดนี้มีส่งผลเสียกับเขาเหมือนกัน การกระโดดสุดตัวแต่ละครั้ง คือ การดึงเอาพลังจากอนาคตมาใช้ คุณจำที่เขาบอกได้ไหมว่า ทุกเช้าจะต้องตื่นมาพร้อมกับความเจ็บปวดกล้ามเนื้อ นั่นแหละคือข้อแลกเปลี่ยนของการเป็นอันดับ 1 ของโลก

oxp6w539zh5zxk7iher-o
การกระโดดก็เหมือนการทุบกล้ามเนื้อที่เดิมซ้ำๆเป็นพันๆรอบ ดังนั้นการพักผ่อนถือเป็นหนึ่งในการซ้อมของ คิลกาน่อน เหมือนกัน เวลากระโดดต้องกระโดดให้เต็มแรง และเวลาพักผ่อนเขาก็ต้องเคร่งครัดอย่างเต็มที่

คิลกาน่อน มีกฎเหล็กอยู่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาซ้อมหนักเพื่อออกงานใหญ่ หลังจากซ้อมอย่างหนักจนสามารถสร้างภาพในหัวจนเกือบอยู่ในระดับไม่ต้องมองแป้นดั๊งค์ได้ เขาจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูกล้ามเนื้อ 48 ชั่วโมงเลยทีเดียว แน่นอนว่าหากเขาคิดจะเป็นนักบาสเกตบอล NBA ขึ้นมา เขาไม่อาจสามารถมีเวลาฟื้นฟูร่างกายแบบนี้ได้แน่ๆ

แม้ดูน่าเสียดาย แต่ตัวของ คิลกาน่อน พอใจมากกับการเเลกเปลี่ยนกับพระเจ้าครั้งนี้ เขามีความสุขกับร่างกายของเขาที่กระโดดได้สูงกว่าใคร เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่เขาต้องการ เขาไม่ต้องการปอดใหญ่ๆอย่างนักกีฬาอาชีพ เพราะถึงมีเขาก็ไม่ใช้มันอยู่ดี ทุกวันนี้เขายังเป็นคนติดบุหรี่ และไม่ชอบเดินทางไปไหนไกลบ้าน เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการซ้อมกับแป้นส่วนตัว และท่องโลกอินเตอร์เน็ต ...ใครอยากจะเล่นบาสเก็ตบอลแกร่งจนครองโลกได้ก็ทำไป  ตัวเขาขอแค่เป็น “ราชาแห่งวงการดั๊งค์” แค่นี้ก็พอแล้ว

"การดั๊งค์คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตผม ผมพยายามจะผลักดันตัวเองให้เกินกว่าขีดจำกัดที่ทำได้ เชื่อสิ คุณจะได้เห็นการดั๊งค์เจ๋งๆจากผมมากกว่านี้อีก" นี่คือคำตอบของเขาที่ยืนยันว่าเล่นอย่างอื่นไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเลยแม้แต่น้อย

sssw
อย่างไรก็ตามที่สุดเเล้วสิ่งที่ คิลกาน่อน ทำคือประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ในอนาคตหากมีคนที่มีกล้ามเนื้อยืดหยุ่นประสาทสัมผัสที่ว่องไปเหมือนกับเขา ขณะเดียวกันก็มีความแข็งแกร่งสุดถึกระเดียวกับกับ เลบรอน เจมส์

"งานวิจัยของเราไม่หยุดแค่นี้แน่ วิธีการของเขาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกีฬาชนิดอื่นๆได้แน่นอนเพื่อเพิ่มการกระโดดที่มีประสิทธิภาพ การสร้างนักกีฬาที่ไร้เทียมทานนั้น เราจำเป็นต้องศึกษาจากกระบี่มือหนึ่งเสียก่อน นี่แหละเหตุผลที่เราต้องมาวิจัยกับชายที่ทื่อ จอร์เเดน คิลกาน่อน คนนี้ยังไงล่ะ" กลุ่มนักวิจัยกล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook