"มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า" : นักเทนนิสผู้นำเทรนด์ย้ายประเทศเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

"มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า" : นักเทนนิสผู้นำเทรนด์ย้ายประเทศเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

"มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า" : นักเทนนิสผู้นำเทรนด์ย้ายประเทศเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่มีกระแสใดที่จะร้อนแรงไปกว่า "ย้ายประเทศกันเถอะ" การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจต่อสิ่งต่างๆที่กำลังเป็นอยู่ในประเทศไทย และต้องการย้ายถิ่นฐานเพื่อค้นหาชีวิตที่ดีกว่า

กลุ่มบนเฟซบุ๊กภายใต้ชื่อเดียวกัน มีสมาชิกทะลุ 5 แสนรายในเวลาไม่กี่วัน นั่นหมายความว่า การย้ายประเทศไม่ใช่กระแสที่มาแล้วจากไป

แต่เป็นความต้องการของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยและคนทั่วโลก เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประเทศแห่งหนึ่งเริ่มเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม (ส่วนใหญ่เกิดจากอำนาจเผด็จการ) กระแสย้ายประเทศย่อมเกิดขึ้นทุกครั้งไป

มาร์ตินา นาฟราติโลวา นักเทนนิสเชื้อสายเช็ก เจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 18 รายการ นำเทรนด์ย้ายประเทศตั้งแต่ 46 ปีก่อน หลังทนภาพลวงตาของเผด็จการคอมมิวนิสต์ไม่ไหว และขอไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา

ประเทศไร้ประชาธิปไตย

ก่อนจะกล่าวถึงการย้ายประเทศของ มาร์ตินา นาฟราติโลวา ผู้อ่านควรเข้าใจภูมิหลัง และเรื่องราวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของเธอเสียก่อน

นาฟราติโลวา เกิดและเติบโตที่เชโกสโลวาเกีย ประเทศในภูมิภาคยุโรปกลาง ที่แยกตัวออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงในปี 1918 และสิ้นสุดลงหลังการแยกประเทศเป็นสาธารณรัฐเช็กและประเทศสโลวาเกีย ในวันที่ 1 มกราคม 1993  

1

ในช่วงแรก เชโกสโลวาเกียปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีทุกเจ็ดปี แม้ผู้ชนะจะเป็นคนหน้าเดิม โตมาช การ์ริก มาซาริค รัฐบุรุษที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลชั่วคราว และชนะการเลือกตั้งติดต่อกันสามสมัย ในปี 1920, 1927 และ 1934

แต่เชโกสโลวาเกียอยู่ห่างไกลจากคำว่าเผด็จการ เพราะมาซาริคให้ความสำคัญต่อเสรีภาพและประชาธิปไตย รวมถึงแนวคิดแบบสาธารณรัฐ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มาซาริคซึ่งเป็นชาวเช็ก รวบรวมชาวสโลวักเข้ามาอยู่ในประเทศของตน

อำนาจอธิปไตยของสาธารณรัฐเชโกสโลวาเกียคงอยู่ถึงปี 1938 ก่อนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังนาซีเยอรมันเข้ารุกรานซูเดเทินลันท์ พื้นที่ทางตอนเหนือ ใต้ และตะวันตกของประเทศ ก่อนยึดดินแดนเชโกสโลวาเกียเข้าเป็นอาณาเขตของตัวเอง

เชโกสโลวาเกียแตกออกเป็นสองรัฐบริวารของนาซีเยอรมัน ได้แก่ รัฐในอารักขาโบฮีเมียและมอเรเวีย กับสาธารณรัฐสโลวักที่ 1 อิทธิพลของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ปกคลุมพื้นที่แห่งนี้จนถึงปี 1945 เมื่อนาซีเยอรมันประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

ประเทศที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไทของเชโกสโลวาเกียคือ สหภาพโซเวียต ดินแดนมหาอำนาจทางตะวันออกของยุโรปที่แสดงความเกรียงไกรด้วยการเอาชนะนาซีเยอรมันราบคาบในปฏิบัติการบาร์บาร็อสซาเมื่อปี 1941

ความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตส่งผลโดยตรงต่อความนิยมต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ หรือลัทธิมากซ์-เลนิน อุดมคติทางการเมืองของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำเผด็จการของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

แม้จะได้รับอิทธิพลจากความคิดของ คาร์ล มากซ์ และ วลาดิเมียร์ เลนิน แต่ลัทธิมากซ์-เลนิน ในทางปฏิบัติห่างไกลจากโลกคอมมิวนิสต์ในอุดมคติที่ทุกคนเท่าเทียมกันเป็นอย่างมาก เพราะสหภาพโซเวียตภายใต้อำนาจของสตาลินเป็นรัฐเผด็จการจนถูกวิจารณ์เป็น "ฟาสซิสต์แดง"

2

ถึงจะเป็นเผด็จการไม่ต่างจากนาซีเยอรมัน แต่อำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินจินตนาการ ส่งผลให้เชโกสโลวาเกียเปิดรับแนวคิดของสหภาพโซเวียตเข้ามาแบบเต็มใจ ปี 1946 พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกีย (Komunistická strana Československa, KSČ) จึงชนะการเลือกตั้งในดินแดนเช็ก แต่ยังพ่ายแพ้ในสโลวาเกีย

เผด็จการย่อมเป็นเผด็จการวันยันค่ำ เพราะหลังจากชนะการเลือกตั้งเพียงสองปี พรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียรัฐประหารตัวเอง และเปลี่ยนเชโกสโลวาเกียที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียว ไม่ต่างจากสหภาพโซเวียต

ประเทศที่ชื่นชมความเป็นอำนาจนิยม ย่อมมีประชาชนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ แต่เนื่องจากรัฐบาลมีอาวุธและปืนคอยปิดปาก (ในกรณีนี้คือ รถถังของสหภาพโซเวียต) ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก หากคนรุ่นใหม่จะคิดถึงชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดน

นักเทนนิสชังชาติ

มาร์ตินา นาฟราติโลวา คือหนึ่งในหลายคนที่คิดเช่นนั้น เธอเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่กรุงปราก เมืองหลวงของประเทศ แต่ชีวิตกลับเต็มไปด้วยปัญหา

พ่อแม่ของเธอแยกทางกันตั้งแต่อายุสามขวบ, อาศัยอยู่กับคุณตาใจร้ายที่ชอบทุบตีแม่ และพ่อเลี้ยงที่เชียร์ให้เธอเป็นโสเภณี เนื่องจากไม่ยอมรับรสนิยมทางเพศของเธอ (นาฟราติโลวาเป็นเลสเบียน)

3

เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา นาฟราติโลวาจึงรู้ความจริงว่า พ่อบังเกิดเกล้าของเธอฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เสียชีวิตด้วยอาการป่วยแบบที่เธอเข้าใจมาตลอด 12 ปี

ความเจ็บปวดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอถูกบรรเทาโดยกีฬาเทนนิสซึ่งเป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวเธอมาแต่กำเนิด เพราะคุณแม่ของเธอคืออดีตนักเทนนิส, พ่อเลี้ยงของเธอเป็นครูสอนเทนนิส และคุณย่าคืออดีตนักเทนนิสระดับชาติในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

นาฟราติโลวาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 15 ปี จากการคว้าแชมป์แห่งชาติในรายการ Czech National Championship ปี 1972 ก่อนเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อลงแข่งขันระดับอาชีพในปีถัดมา โดยไม่รู้เลยว่า การเดินทางครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของเธอ

"นั่นคือครั้งแรกในชีวิตที่ฉันได้เห็นสหรัฐอเมริกา โดยปราศจากม่านบังตาของสหภาพโซเวียต ที่ยัดเยียดภาพเหล่านั้นผ่านการศึกษาและโฆษณาชวนเชื่อ" นาฟราติโลวา เขียนความรู้สึกแรกที่ได้เห็นสหรัฐอเมริกาในหนังสือชีวประวัติของเธอ

"ฉันรู้สึกว่าทุกอย่างมันถูกต้องและเชื่อสุดหัวใจว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นชาวอเมริกัน ด้วยความเคารพที่มีต่อบ้านเกิดของฉัน หลายสิ่งไม่เคยดำเนินไปอย่างที่ควร จนกระทั่งวันที่ฉันก้าวเท้าลงจากเครื่องบินที่ฟลอริดา"

ผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระในโลกประชาธิปไตย ไม่มีรัฐบาลหรือทหารคอยควบคุมชีวิต กลายเป็นภาพที่ทำให้นาฟราติโลวามองเห็นคุณภาพชีวิตที่แตกต่าง ระหว่างผู้คนในสหรัฐอเมริกาและเชโกสโลวาเกีย เธอหลงรักประเทศแห่งนี้มากพอกับที่เธอชิงชังบ้านเกิดของตัวเอง

4

เดือนพฤษภาคมปี 1975 นาฟราติโลวากลายเป็นฮีโร่ของคนทั้งประเทศ หลังพาเทนนิสทีมชาติเชโกสโลวาเกียคว้าแชมป์ เฟด คัพ หรือเทนนิสทีมหญิงชิงแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ แต่อีกไม่กี่เดือนถัดมา เธอกลับถูกขับไล่ออกจากประเทศ ในข้อหา "ชังชาติ"

ท่ามกลางความมืดในเดือนสิงหาคม หญิงสาววัย 18 ปี ที่เพิ่งตกรอบรองชนะเลิศเทนนิส ยูเอส โอเพน เดินทางสู่สำนักบริการตรวจคนเข้าเมืองและแปลงสัญชาติที่เขตแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก เพื่อแจ้งความจำนงขอแปรพักตร์ จากคอมมิวนิสต์เชโกสโลวาเกียสู่สหรัฐอเมริกา

"โฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน ฉันเคยเห็นหนังสือพิมพ์ของเช็ก มันมีแต่เรื่องเหลวไหลเต็มไปหมด" นาฟราติโลวา กล่าวถึงเหตุผลของการแปรพักตร์ในหนังสือ Martina ที่ตีพิมพ์ในปี 1986

"ฉันดีใจทุกครั้งที่หวนนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ฉันหนีออกมา ลืมเรื่องเทนนิสไปได้เลย ฉันแค่ไม่อยากใช้ชีวิตกับโฆษณาชวนเชื่อไปมากกว่านี้"

ชีวิตใหม่ที่อเมริกา

ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากขอแปรพักตร์ มาร์ตินา นาฟราติโลวา ได้รับเอกสารกรีนการ์ด หมายความว่า เธอมีสถานะเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย และทำงานในสหรัฐอเมริกาเป็นการถาวร

5

ถึงจะปันใจให้สหรัฐอเมริกา แต่นาฟราติโลวายังคิดถึงหลายสิ่งหลายอย่างในบ้านเกิด โดยเฉพาะครอบครัวของเธอที่อาศัยอยู่ในเชโกสโลวาเกีย

นาฟราติโลวาจึงเดินทางสู่สถานฑูตเชโกสโลวาเกียเพื่อขอวีซ่า แต่นอกจากจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการแล้ว เธอยังถูกเนรเทศจากบ้านเกิด และสิ้นสุดสถานภาพการเป็นพลเมืองเชโกสโลวาเกียนับแต่นั้น

"มาร์ตินา นาฟราติโลวา กระทำสิ่งที่น่าอับอายต่อหน้าสังคมเชโกสโลวาเกีย เธอสามารถพัฒนาฝีมือได้ตามต้องการในเชโกสโลวาเกีย แต่เธอกลับเลือกอาชีพในสหรัฐอเมริกาที่มาพร้อมกับเงินสดก้อนโตในบัญชี" คำแถลงการณ์จากรัฐบาลเชโกสโลวาเกียต่อการแปรพักตร์ของนาฟราติโลวา

เมื่อไม่มีบ้านให้หันหลังกลับ นาฟราติโลวาเลือกจะโฟกัสไปกับการใช้ชีวิตในฐานะนักเทนนิสชาวอเมริกัน หลังได้รับสัญชาติอย่างเป็นทางการในปี 1981 เธอจึงกลายเป็นความภาคภูมิใจของแดนลุงแซม จากผลงานแชมป์แกรนด์สแลม 18 สมัย แบ่งเป็น วิมเบิลดัน 9 สมัย, ยูเอส โอเพน 4 สมัย, ออสเตรเลียน โอเพน 3 สมัย และเฟรนช์ โอเพน 2 สมัย

นาฟราติโลวา กลายเป็นตำนานนักเทนนิสหญิงที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่สำหรับเชโกสโลวาเกีย ชื่อของเธอถูกลบออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ส่งผลให้นาฟราติโลวาออกมาโจมตีบ้านเกิดของเธอแบบจัดเต็ม โดยไม่เหลือเยื่อใยให้กันและกันอีกต่อไป

6

"ชาวเช็กและสโลวักเรียนรู้ที่จะกล้ำกลืนความรู้สึกของตัวเอง นับตั้งแต่ปี 1968 (ที่ถูกสหภาพโซเวียตรุกราน) สังคมของพวกเราช่างน่าหดหู่ ผู้คนไม่เคยมองเห็นอนาคตของตัวเอง ทุกอย่างมันมืดหม่นไปหมด"

"การเดินทางออกจากเชโกสโลวาเกีย ประเทศที่ผู้คนแต่งตัวด้วยชุดสีเทาและดำจนพวกเขาหมองหม่นแบบนั้น มันทำให้ฉันแทบจะต้องใส่แว่นดำทันทีที่ได้เห็นความสดใสของเมืองฟอร์ตลอเดอร์เดล"

กว่านาฟราติโลวาจะได้รับสัญชาติเช็กกลับคืน เธอต้องรอถึงปี 2008 หรือ 33 ปี หลังจากยื่นเรื่องขอแปรพักตร์ ด้วยเวลาที่ยาวนานขนาดนั้น นาฟราติโลวาจึงปฏิเสธจะสละสัญชาติอเมริกันและไม่สนใจจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด แม้สาธารณรัฐเช็กจะกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้วก็ตาม

ความเจ็บปวดที่เธอได้รับจากสังคมเผด็จการคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักกิจกรรมการเมืองที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมและพรรคเดโมแครต

นาฟราติโลวาเคยโจมตี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรครีพับลิกันว่าเป็นความอับอายของชาวอเมริกัน เพราะนี่คือผู้นำฝ่ายขวาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแต่งตั้งแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์

7

แม้จะถูกเสียดสีว่ายุ่มย่ามกับการเมืองอเมริกันราวกับเกิดบนแผ่นดินแห่งนี้ แต่การแสดงออกของนาฟราติโลวายืนยันว่า การเมืองเป็นของเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอเมริกันแท้หรือผู้อพยพ

เมื่อเห็นความไม่ถูกต้องในสังคม ประชาชนอันเป็นเจ้าของประเทศย่อมมีสิทธิ์จะแสดงความไม่พอใจเพื่อเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

แต่สำหรับบางประเทศ (เช่น เชโกสโลวาเกีย ในอดีต) ที่อำนาจเผด็จการกดทับผู้คนจนหมดหวัง การย้ายถิ่นฐานจึงดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เหมือนกับที่นาฟราติโลวาเคยทำเมื่อปี 1975

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ "มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า" : นักเทนนิสผู้นำเทรนด์ย้ายประเทศเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook