บุญธรรม ภาคโพธิ์ : เชฟกระทะเหล็กที่นำแนวคิดร้านอาหาร มาทำธุรกิจมวยไทยออนไลน์

บุญธรรม ภาคโพธิ์ : เชฟกระทะเหล็กที่นำแนวคิดร้านอาหาร มาทำธุรกิจมวยไทยออนไลน์

บุญธรรม ภาคโพธิ์ : เชฟกระทะเหล็กที่นำแนวคิดร้านอาหาร มาทำธุรกิจมวยไทยออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จะมีสักกี่คนที่พลิกวิกฤติถึงสองครั้งให้เป็นโอกาส ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ?

บุญธรรม ภาคโพธิ์ เชฟกระทะเหล็กอาหารญี่ปุ่น และเจ้าร้านอาหารฮอนโมโน ซูชิ คือ คน ๆ นั้น จากยอดขายที่ลดเหลือวันละ 0 บาท เขาปรับตัวสู่รูปแบบออนไลน์ มาขายอาหารเดลิเวอรี่ จนกลับมามียอดวันละหลายแสนบาท

ในเวลาเดียวกัน วงการมวยไทยต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถจัดแข่งขันได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ เชฟบุญธรรม ในฐานะหัวหน้าค่ายมวยศิษย์เชฟบุญธรรม และโปรโมเตอร์เวทีมวยราชดำเนิน 

แทนที่เขาจะจำนนกับปัญหา บุญธรรม ภาคโพธิ์ เลือกเดินหน้าจัดมวยไทยรูปแบบใหม่ ที่ถ่ายทอดสดบนแพลทฟอร์มออนไลน์ บน Youtube และ Facebook “ช่อง 44 เชฟบุญธรรม” 

พร้อมกับเดิมพันครั้งสำคัญ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งผู้จัดในเวทีราชดำเนิน เพื่อมาลุยสุดตัวกับการจัดมวยผ่านทางออนไลน์อย่างเต็มตัว ที่รับชมได้ทั่วโลก 

เชฟบุญธรรม บอกกับเราว่า “นี่ไม่ใช่การทดลอง แต่คือก้าวใหม่ทางธุรกิจ” หลังมองเห็นความสำเร็จ จากการปรับตัวขายอาหารแบบเดลิเวอรี่่

เพียงแค่เดือนแรก ศึกเชฟบุญธรรม มวยไทยออนไลน์ ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี และเสียงชื่นชม ถึงมาตรฐานการตัดสินตามอาวุธ โดยไม่สนราคาหน้าเสื่อ 

น่าสนใจว่า เชฟบุญธรรม นำแนวคิด และวิธีบริหารธุรกิจร้านอาหาร มาปรับใช้กับการจัดศึกมวยไทยออนไลน์ของเขาได้อย่างไร ? 

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นแนวคิดการจัดมวยไทยออนไลน์ของคุณ 

ผมไม่เคยมีแนวคิดทำร้านอาหารแบบเดลิเวอรี่ หรือโฆษณาทางออนไลน์ แต่พอเกิดโควิด หน้าร้านเปิดไม่ได้ รายได้ที่เคยมีก็ขาดหาย พูดตรง ๆ คือ ต้องดิ้นรน 

ร้านของผม (ฮอนโมโน ซูชิ) จึงเข้าสู่ระบบเดลิเวอรี่ ขายอาหารออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมตั้งเป้าขายได้วันละ 2 หมื่น เนื่องจากใช้พนักงานน้อยลง ตอนนั้นไม่มีแผนการตลาด อยากขายอะไรก็ขาย เพราะว่าเวลานั้น ไม่มีรายรับทางอื่น มีแต่รายจ่าย

เวลาผ่านไป ยอดขายเราเพิ่มเป็นวันละ 4 หมื่น 5 หมื่น ขยับเป็นหลักแสน จนถึง 5 หรือ 6 แสนบาทต่อวัน ผมจึงมองว่า การโปรโมตทางออนไลน์เต็มรูปแบบ คนสามารถเข้าถึงและซื้ออาหารเหมือนขายหน้าร้าน 

เมื่อเราปรับซ้ายขวา ธุรกิจเดินไปได้ ประจวบกับช่วงนั้น มวยไม่มีการแข่งขัน ทุกอย่างหยุดไปหมด ผมก็มองว่าวันหนึ่ง มวยอาจจะกลับมาชก แต่เป็นในระบบปิด ไม่มีคนดู ผมจึงคิดว่า ทำมวยออนไลน์ด้วยดีกว่า ถ่ายทอดให้ผู้ชมทางบ้านดูฟรี รายได้ก็มาจากการขายสปอนเซอร์

หลังจากปรึกษากับเพื่อนฝูง ผมมาวิเคราะห์ต่อว่า โอกาสการจัดมวยออนไลน์เป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งผมมองว่า มันเป็นไปได้ 

เพราะค่าสปอนเซอร์คงไม่แพงเหมือนทีวี อิสระการทำงานก็มากขึ้น เช่น เรื่องเวลา เพราะเราไม่ต้องไปซื้อจากใคร ใช้การไลฟ์สดทาง Facebook และช่อง Youtube ที่มีอยู่ 

 


 

การจัดมวยออนไลน์ ถือว่าใหม่มากในบ้านเรา คุณมองเห็นอะไรจากธุรกิจรูปแบบนี้

เหตุผลแรกคือ ผมอยากทำให้วงการมวยกลับมาคึกคัก คนที่อยู่ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ เขาจะได้ดูมวยไทยของแท้ มวยค่าตัว เรือนหมื่น เรือนแสน ผมเชื่อว่ามันต้องเกิดขึ้นได้ แม้ในวงการมวยบ้านเรา จะยังไม่เคยมีใครถ่ายออนไลน์ เพื่อขายโฆษณา 

ถ้าเราตั้งราคาให้ต่ำ ไม่แพงมากเหมือนทีวี ผมมองว่า มีโอกาสที่สปอนเซอร์จะเข้ามาหาเรา เพราะเป้าหมายของเรา คือ การทำให้แฟนมวยหันมาดูเยอะๆ โดยที่เขาไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท

อย่างที่สองคือ ผมต้องการต่อยอดทางธุรกิจ ผมเป็นโปรโมเตอร์เวทีราชดำเนินมา 2 ปี ผมเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร และรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ 

การอยู่ตรงนั้น ผมเป็นได้แค่โปรโมเตอร์ ต่อยอดได้แค่ชื่อเสียง แต่ต่อยอดธุรกิจไม่ได้ การออกมาจัดมวยออนไลน์ ผมมองว่า โมเดลธุรกิจนี้ หรือแพลตฟอร์มการถ่ายทอด มันเป็นสมบัติของเราทั้งหมด ผมว่ามันน่าจะดีกว่า

 

ก่อนจะออกมาเป็น “ศึกเชฟบุญธรรม มวยไทยออนไลน์” ในแบบที่ผู้ชมเห็น ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ? 

ผมเริ่มต้นด้วยการเปิดธุรกิจ เป็นรูปแบบบริษัท หาผู้ลงทุนร่วมกัน โดยที่ผมถือหุ้นใหญ่ ใครสนใจก็เข้ามา ก็มีเพื่อนที่ชื่นชอบมวย และพาร์ทเนอร์ที่ทำธุรกิจด้วยกัน เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งต้องแยกให้ชัดเจนว่า คนเหล่านี้คือหุ้นส่วน ไม่ใช่สปอนเซอร์ 

หลังจากนั้น ผมเริ่มฟอร์มทีมงานขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น กรรมการ, นักมวย หรือออแกไนซ์ ที่จะเข้ามาจัดโชว์ของเรา 

สำหรับนักมวย ผมโทรหาโปรโมเตอร์ใหญ่ตามค่ายต่าง ๆ เพื่อถามความเป็นไปได้ในการดึงนักมวยแต่ละคน โชคดีที่ตอนนั้น มวยเวทีใหญ่ยังไม่จัด ทุกคนก็เห็นว่าส่งมวยมาต่อยกับผม ค่าตัวอาจจะไม่มากเท่าที่เคยได้ อาจจะลดครึ่งหนึ่ง ก็ดีกว่าซ้อมอยู่เปล่าๆ ถือว่าช่วยเหลือกัน

 


 

ไม่มีใครเคยทำมวยออนไลน์มาก่อน คุณมองว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

ถามว่ามีความเสี่ยงไหม มีแน่นอน แต่มวยฟรีก็มีให้เราเห็น อย่างมวยช่อง 7 เขาไม่ได้เก็บค่าตั๋ว อยู่ได้เงินจากเพราะสปอนเซอร์เหมือนกัน ความแตกต่าง คือ เขาถ่ายทอดทางทีวี ส่วนผมถ่ายออนไลน์ 

ผมเป็นโปรโมเตอร์มวยเวทีมาตรฐานมา มองเห็นว่า มวยในเมืองไทยต่อให้เก็บค่าตั๋ว ใช่ว่าจะรอด ถ้ามันจะรอด ก็จำเป็นต้องพึ่งพาสปอนเซอร์ด้วย ผมคิดว่านี่คือแนวทางใหม่ ตอนนี้มีสปอนเซอร์หลายราย ติดต่อเข้ามา เพียงแต่ว่าเขาขอดูยอดผู้ชมของเราก่อน

หากมองในรูปแบบธุรกิจ การจัดมวยออนไลน์วันนี้ ถือเป็นการลงทุน ผมมีงบอยู่ก้อนหนึ่งที่กำหนดว่า เงินก้อนนี้สามารถทำมวยได้กี่เดือน 

เพราะการทำธุรกิจ ตัวเลขต้องชัดเจน เราจะหว่านไม่ได้ ผมต้องขีดเส้นว่า แต่ละไตรมาสใช้เงินเท่านี้ ส่วนนี้คือ เงินของเราที่ลงทุนไป โอเค ช่วงแรกอาจขาดทุนหลักแสน หลักหมื่น แต่ถ้าสปอนเซอร์เข้ามา ไตรมาสหน้า อาจจะไม่ขาดทุน ก็ว่ากันเป็นไตรมาสไป 

 

จุดขายของร้าน ฮอนโมโน ซูชิ คือวัตถุดิบสด และคุณภาพดี แล้วจุดขายของ ศึกเชฟบุญธรรม มวยไทยออนไลน์ คืออะไร ?

อันดับแรก มวยเราต้องดีก่อน คู่มวยเราเปิดออกมา คนดูต้องรู้สึกว้าว,  อยากดู อย่าง ร้าน ฮอนโมโน ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ขายแต่อาหารคุณภาพดี 

ช่วงที่ผมขายเดลิเวอรี่ ทำโปรโมชั่นข้าวหน้าปลาไหล 1 แถม 1 บางคนอยู่สมุทรสาคร ยอมจ่ายค่าส่ง 550 บาท เพื่อซื้ออาหาร 450 บาท เดือนนั้นผมขายปลาไหลจนซัพพลายเออร์ไม่มีของส่ง (หัวเราะ)

ดังนั้น ผมมองว่า ถ้ามวยออนไลน์จะประสบความสำเร็จ ต้องเกิดจากการคู่มวยดี ๆ เหมือนกับวัตถุดิบที่เรานำมาทำอาหาร เมื่อไหรที่เราประกบคู่แบบสูสี มวยในสังกัดเราก็เจอของแข็งได้ โอกาสที่คนจะรู้จักศึกมวยเรา ก็เร็วขึ้น เมื่อมีคนติดตาม ก็เกิดกระแสขึ้นในวงการ

อันดับสอง คือ เรื่องการตัดสิน หลายครั้งที่ผมดูมวย ผมเห็นว่า มันมีหน้าเสื่อมาเกี่ยวข้อง ผมทำธุรกิจ ผมไม่เข้าใจว่า หน้าเสื่อคืออะไร ? 

ผมก็พยายามตีโจทย์ จนเห็นว่า ปัญหามันมาจากจุดเริ่มต้น คือ เรื่องราคาต่อรอง หน้าเสื่อ จนกลายเป็นบรรทัดฐานให้มวยคนจัดได้เปรียบ ถ้าเราทำให้เห็นว่า มวยของศึกเชฟบุญธรรม แพ้ชนะได้หมด ขึ้นอยู่กับการออกอาวุธของนักมวย ก็น่าจะละลายพฤติกรรมนี้ได้ไม่ยาก

ผมมาทำมวยออนไลน์ ผมยึดหลักความยุติธรรมในการตัดสิน เรื่องหน้าเสื่อไม่ต้องมี แพ้คือแพ้ ชนะคือชนะ เราต้องปรับให้เป็นสากลมากที่สุด 

หลายครั้งชาวต่างชาติมาดูมวยไทย เห็นคนเตะแทบตายแต่ไม่ชนะ เขาไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผมมองว่า วันนี้เราทำมวยแบบนั้นไม่ได้แล้ว ถ้าจะให้มวยไทยเติบโตในวันข้างหน้าจะตัดสินแบบนี้ไม่ได้

 


 

การทำธุรกิจร้านอาหาร กับธุรกิจมวยออนไลน์ ต่างกันมากน้อยแค่ไหน

มีทั้งแตกต่าง และไม่แตกต่าง ส่วนที่ไม่ต่างคือ การลงทุน ร้านอาหารเปิดมาช่วงเดือนแรก ไม่มีคนรู้จัก มันก็คือความเสี่ยงที่เราจ่ายเงินไปก่อน 

จากนั้นเราต้องพยายามหาลูกค้าเข้ามา อาจจะออกโปรโมชั่น หรือทำการตลาดเพื่อเข้าถึงคนหมู่มาก พอลูกค้าเข้ามาแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เขาซื้ออาหารจากเราอย่างต่อเนื่อง

มวยก็เหมือนกัน วันนี้ผมลงทุนไป ต้องหาจุดขายของรายการให้ได้ว่า คนดูเข้ามาดูแล้ว เขามั่นใจอะไร ทำไมเขาถึงอยากมาดู,  ทำไมเขาถึงต้องดูศึกมวยของเรา ถ้าผมตอบโจทย์นี้ได้ ยอดคนดูที่เข้ามาก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับส่วนที่แตกต่าง ธุรกิจมวยออนไลน์มันไม่เหมือนกับร้านอาหาร การขายอาหารคือ เราขายสินค้าแลกกับเงิน ขายได้กี่กล่อง ก็ได้เงินเท่านั้น มันมีกำไรในตัวมันเอง ขึ้นอยู่แค่ว่าจะขายได้มากหรือน้อย

แต่มวยออนไลน์ ตอนนี้เราขายอากาศ ขายความฝันไปก่อน ไม่รู้สปอนเซอร์จะเข้ามาไหม โอเค ตอนนี้เราตั้งเป้าอยากได้เจ้านี้เข้ามาสนับสนุน แต่การที่จะให้เขาซื้อเราไม่ใช่เรื่องง่าย 

มวยเราต้องมีอายุก่อน ชกมาแล้วกี่ไฟต์ ยอดคนดูตกลงไหม ส่วนนี้เราต้องเอาทั้งแพลทฟอร์มไปขายให้เขา ไม่เหมือนอาหารที่ขายเป็นจาน มันก็จะยากกว่า

 


 

หน้าที่ของคุณเปลี่ยนไปมากแค่ไหน จากฐานะโปรโมเตอร์ กับสู่การเป็น ผู้ทำธุรกิจสปอร์ตเอนเตอร์เทนอย่างเต็มตัว  

การจัดมวย กับ การทำธุรกิจมวย มันแตกต่างกัน คนเป็นโปรโมเตอร์ใจต้องใหญ่ เจอใครก็หยิบเงินให้ แต่การทำธุรกิจมวย เงินทุกบาทต้องลงบัญชีให้ชัดเจน มีการประชุมกันรายเดือน ดูว่าค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง ผมจะเห็นตัวเลขรายรับ-รายจ่ายทั้งหมด

ตอนที่ผมเป็นโปรโมเตอร์ในราชดำเนิน ตอนนั้นทำคนเดียว ไม่ได้อยู่ในรูปแบบบริษัท ผมมีงบเท่านี้ อยากจัดมวยดี ก็อัดเงินเข้าไป กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง ไม่เป็นไร แต่พอจัดมวยออนไลน์ในรูปแบบบริษัท มีการทำงบชัดเจน มันก็ต้องมีระเบียบมากขึ้น เพื่อผลดีของบริษัทที่จะได้รู้ทิศทางการเงินในวันข้างหน้า

ผมเองก็ชัดเจนว่า ถ้าธุรกิจนี้เดินต่อไม่ได้ มันก็ต้องปิดตัวลง หากเดินต่อได้ บริษัทก็เติบโต หุ้นส่วนทุกคนของผม ทำธุรกิจกันอยู่แล้ว เขาเข้าใจดีว่า การลงทุนมันเป็นอย่างไร

 


 

คุณจัด ศึกเชฟบุญธรรม มวยไทยออนไลน์ มาแล้ว 4 นัด เรียนรู้อะไรบ้างจากช่วงเวลาที่ผ่านมา

การทำมวยออนไลน์ ถือว่าใหม่สำหรับผมมาก ผมเรียนรู้อะไรหลายอย่าง พยายามดูมวยศึกต่างๆที่เขาทำกัน โดยเฉพาะมวยต่างชาติ เรียนรู้เรื่องมุมกล้อง การถ่ายทอดสด โปรดักชั่นรายการจากเขา เพื่อนำมาปรับแต่งเข้ากับมวยของเรา

ตอนนี้ผ่านมา 4 นัด หลังจบแต่ละนัด เราเอาเทปย้อนหลังมาดู เพื่อพูดคุยกันว่า อยากแก้ไขตรงไหนในที่ประชุม ยกตัวอย่าง เรื่องการถ่ายทอด 

จากที่ผมเคยทำแต่อาหาร วันนี้ต้องมานั่งดูมุมกล้อง ภาพที่ออกมามันสวยไหม ก็พูดคุยกับทีมงานออแกไนซ์ ทุกวันนี้ผมต้องดูแลมากขึ้น คุยกับทีมงานมากขึ้น เป็นระบบกว่าเดิม แม้กระทั่งนักมวย จากที่ขึ้นชกอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ต้องมาซ้อมคิว ซ้อมมุมกล้องกันก่อน

สำหรับผม มวยออนไลน์ มันไม่ใช่การตั้งกล้อง 4 ตัว แล้วถ่ายทอดสด แบบนั้นใครก็ทำได้ เหมือนคนไลฟ์สดมวยใน Facebook เราต้องมองว่ารอบเวทีคืออะไร ธุรกิจจะไปต่ออย่างไร เรื่องนั้นสำคัญกว่า

 


 

คุณตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ ศึกเชฟบุญธรรม มวยไทยออนไลน์ ไว้อย่างไรบ้าง

ผมอยากทำให้มวยไทยยกระดับขึ้น เลือกกลุ่มผู้ชมที่ต้องการ ผมตั้งค่าตั๋วเท่านี้ คุณอยากดูไหม ไม่อยากดูก็ไม่เป็นไร เพราะรายได้หลักของเรา มาจากสปอนเซอร์ ไม่ใช่จากคนซื้อตั๋ว เพราะฉะนั้น คนดูมวยเชฟบุญธรรมในสนาม ไม่ใช่ใครก็เข้าชมได้

สมมติ ผมเก็บค่าตั๋วหนึ่งพันบาท เพื่อเป็นการคัดเลือกคนเข้ามาดูมวย คุณอาจบอกว่า คนอื่นเก็บแค่สองร้อยบาท ทำไมเชฟบุญธรรมเก็บหนึ่งพัน ผมก็บอกว่า มวยของผมถ่ายทอดให้คุณดูฟรีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเงินสักบาท เงินที่คุณเสียแพงคือ คุณซื้อบรรยากาศ เพราะสิ่งที่เราทำ คือ มวยไทย คู่กับ ความบันเทิง

อีกหนึ่งสิ่งที่ตั้งใจคือ ผมอยากเปลี่ยนกลุ่มสปอนเซอร์ ? ดูมวยมาหลายสิบปี ผู้สนับสนุนที่เราเห็นในทีวี ก็ยังเป็น น้ำมันเครื่อง หรือยาฆ่าหญ้า เพราะทุกคนคิดว่า สินค้าแบบนี้มันตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ผมมองว่า ตอนนี้มันไม่ใช่

เราต้องมองว่าธุรกิจอย่าง Nike หรือ adidas หรือแม้กระทั่งรถเบนซ์ เป็นไปได้ไหมที่เขาจะเข้ามาสนับสนุนมวยไทย 

เพราะถ้าธุรกิจเหล่านี้เข้ามา เราจะได้กลุ่มลูกค้าใหม่ เพราะจริง ๆ คนดูมวยไม่ได้มีแค่คนรอบนอก คนมีศักยภาพด้านการเงิน, มีกำลังใช้จ่าย ก็ดูมวยเป็นจำนวนไม่น้อย  เพียงแต่ว่า มวยไทยต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่

 


 

ดูเหมือนว่า เป้าหมายที่คุณเล่ามา มีโมเดลมาจากแนวคิดในการทำธุรกิจร้านอาหาร คุณแน่ใจได้อย่างไรว่า แนวคิดนี้จะได้ผลในวงการมวย

ผมทำธุรกิจร้านอาหาร ถ้าเอ่ยชื่อ ฮอนโมโน คนจะบอกว่า ราคาแพง แต่คำถามคือ จ่ายแพงแล้ว คุณได้อะไร

ถ้าคุณไปกินร้านอาหารที่ราคาถูกกว่า เห็นเส้นผมหล่นอยู่ในจาน คุณบอกตัวเองว่า กินไปเถอะ ไม่เป็นไรหรอก ใช่ไหมครับ ?

แต่สำหรับ ฮอนโมโน เมื่อเส้นผมอยู่ในอาหารจานละหลายพัน ถึงมีแค่เส้นเดียว เราเปลี่ยนให้ไม่คิดเงิน บางครั้งให้กินฟรีทั้งโต๊ะ มันคือเรื่องของการรักษาคุณภาพ

มวยมันก็เหมือนกับร้านอาหาร มีสองด้านทั้งถูก และแพง ถ้าผมวางคุณภาพให้ดี ทำทุกอย่างให้มีระบบตามต้องการ ผมคิดว่าวันหนึ่ง เราจะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่รู้สึกว่า มวยไทย มันเปลี่ยนไปจริงๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook