นัคเคิลบอล : ลูกยิงปีศาจที่ใกล้เคียงกับท่าไม้ตายสุด "ล้ำ" ใน "กัปตันสึบาสะ" มากที่สุด

นัคเคิลบอล : ลูกยิงปีศาจที่ใกล้เคียงกับท่าไม้ตายสุด "ล้ำ" ใน "กัปตันสึบาสะ" มากที่สุด

นัคเคิลบอล : ลูกยิงปีศาจที่ใกล้เคียงกับท่าไม้ตายสุด "ล้ำ" ใน "กัปตันสึบาสะ" มากที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“กัปตันสึบาสะ” คือหนึ่งการ์ตูนฟุตบอลที่เว่อร์และยากจะเลียนแบบได้ ลูกยิงท่าไม้ตายสารพัดไอเดีย ...จากปลายปากกาของอาจารย์โยอิจิ ทาคาฮาชิ พาเอานักอ่านทั้งหลายลอยไปไกลถึงไหนต่อไหน

อย่างไรก็ตามอย่าดูถูกวิวัฒนาการของมนุษย์ หากไม่แน่จริง มนุษยชาติไม่อาจเติบโตมาจนถึงยุคนี้ได้แน่...ภายใต้คำที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ หลายสิ่งมนุษย์สามารถทำมันมาเเล้วมากมาย 

และนี่คือเรื่องของฟุตบอลในโลกของความจริงที่ผูกกับโลกการ์ตูน จากความเว่อร์ของ "สกายวิง ช็อต" สู่ "นัคเคิลบอล" ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ... เกิดขึ้นได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

"สกายวิง ช็อต" vs "นัคเคิลบอล" อะไรเกิดก่อนกัน?   

"สกายวิง ช็อต" กับ "นัคเคิลบอล" นั้นเป็นการยิงประตูระยะไกลที่มีความคล้ายกันมาก โดยหลังจากที่เท้าของผู้ยิงสัมผัสกับบอลเเล้วบอลจะพุ่งเป็นเส้นตรงด้วยความแรง แต่เมื่อถึงระยะหนึ่งลูกจะส่ายและเปลี่ยนทิศทางแบบคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นหากการยิงเข้าข้อถูกจังหวะเเล้วล่ะก็ "สกายวิง ช็อต" และ "นัคเคิลบอล" จะยากต่อการป้องกันสำหรับผู้รักษาประตูเป็นอย่างมาก


Photo : www.manga99.com

"สกายวิง ช็อต" คือท่าไม้ตายที่ โอโซระ สึบาสะ ตัวเอกของเรื่อง ได้มาจากฝึกซ้อมด้วยตัวเองอย่างหนักหน่วงตลอด 3 ปีที่บราซิล ลูกยิงนี้ปรากฎขึ้นครั้งแรกในเรื่องกัปตันสึบาสะภาคเยาวชนโลก หรือ "World Youth" 

แต่สำหรับฟุตบอลในโลกแห่งความจริงนั้นมันยากที่จะบอกว่า "ใครเป็นคนยิงคนแรก?" หรือมันเริ่มขึ้นเมื่อไหร่? เพราะโลกฟุตบอลมันกว้างเกินกว่าที่จะบันทึกข้อมูลได้ชัดเจนถึงขั้นที่เอามาการันตี 100% ได้ 

อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์จากเว็บไซต์ knuckleballfreekick.com ไว้อย่างน่าสนใจว่า การเตะลูกนัคเคิลบอลเริ่มแพร่หลายเข้ามาในโลกฟุตบอลไม่ใช่เพราะนักเตะคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากนวัตกรรมซึ่งมาพร้อมกับฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมัน และนวัตกรรมนั้นคือ "ลูกฟุตบอล" ที่ชื่อว่า "ทีมไกส์" (Teamgeist)


Photo : www.worldcupballs.info

ทีมไกส์นั้นผลิตโดยแบรนด์ อาดิดาส และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในลูกบอลที่ดีที่สุดของฟุตบอลโลก โดยมาในแบบไม่มีตะเข็บ ใช้กาวอัดความร้อน รวมถึงใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบให้ใช้แผ่นหนังน้อยชิ้นกว่าเดิมจนมีทรงกลมมากขึ้น ทำให้การเตะมีความแม่นยำมากขึ้น ที่สำคัญคือลูกฟุตบอล "ทีมไกส์" นั้นมีน้ำหนักเบาเนื้องจากไม่มีหนังซ้อนข้างในเหมือนกับรุ่นก่อนด้วย 

ดังนั้นเมื่อลูกฟุตบอลมีน้ำหนักเบาลงกว่าปกติ เหล่านักเตะชื่อดังสามารถทำอะไรกับมันได้มากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับทิศทาง ไซด์โป้ง ไซด์ก้อย และแน่นอนว่ามันทำให้เกิดการยิงแบบนัคเคิลบอลขึ้นมา 

เดวิด เบ็คแฮม จาก อังกฤษ และ โยฮัน โวเกิล จาก สวิตเซอร์แลนด์ 2 นักเตะที่ได้เล่นในฟุตบอลโลกครั้งนั้นได้ลองเทสต์ทีมไกส์ก่อนที่การเเข่งขันจะเริ่ม และพวกเขาบอกว่ายอดเยี่ยม แต่ก็มีนักเตะดังหลายคนออกมาค้านไม่ว่าจะเป็น โรเเบร์โต้ คาร์ลอส นักเตะของ บราซิล หรือ พอล โรบินสัน นายทวารของอังกฤษเอง

"นักเตะทุกวันนี้ (ปี 2006) คุณภาพสูงมาก พวกเขาสามารถจะทำอะไรกับลูกฟุตบอลรุ่นนี้ก็ได้ มันยากที่ผู้รักษาประตูจะหยุดมัน ทีมไกส์ไม่มีรอยตะเข็บตัดเย็บใดๆ แถมยังมีพลาสติกเคลือบอยู่รอบๆ อีก และถ้ามันเปียกขึ้นมา บอลลูกนี้จะไม่เป็นมิตรกับผู้รักษาประตูแน่นอน"


Photo : www.eurosport.com

หลังจากฟุตบอลโลก 2006 จบลง เทรนด์การใช้ลูกฟุตบอลก็เปลี่ยนไป ทีมไกส์ เป็นเหมือนลูกบอลต้นแบบที่หลายลีกทั่วโลกเอามาใช้กัน หลังจากนั้นเราจึงได้เห็นการยิงลูกแบบนัคเคิลบอลกันหลากหลายมากขึ้น ซึ่งดูจากรายชื่อนักเตะที่ชอบยิงลูกนักเคิลบอลทั้ง คริสเตียโน่ โรนัลโด้, จูนินโญ่ แปร์นัมบูกาโน่, หลุยส์ นานี่, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช หรือแม้กระทั่ง ดาวิด ลุยซ์ จะเห็นได้ว่านักเตะเหล่านี้ต่างก็มีประตูจากนัคเคิลบอลหลังจากช่วงปี 2006 ทั้งสิ้น 

ดังนั้นคงพอบอกได้อย่างไม่เคอะเขินว่าว่า "สกายวิง ช็อต" ของ โอโซระ สึบาสะ คือลูกยิงที่มาก่อนกาล และคือจินตนาการที่กลายเป็นจริงได้ในอีกราวๆ 5-6 ปีให้หลัง โดยเหล่านักเตะระดับท็อปทั้งหลาย

อธิบายความเว่อร์วัง

ฟุตบอลในยุค '90s มีนักเตะยิงฟรีคิกดีๆ หลายคุณ ทว่าหากคุณสังเกตดีๆ จะพบว่าส่วนใหญ่จะเเบ่งเป็น 2 แบบ มีทั้งแบบที่ชอบยิงปั่นโค้ง กับอีกแบบที่ชอบยิงแบบอัดเต็มแรง 


Photo : sports.yahoo.com

วิถีของลูกยิงทั้ง 2 แบบที่กล่าวมาเป็นไปตามการวางเท้าและเปิดหน้าเท้า ไม่ต้องคาดเดาอะไรมากมายนัก เตะหลังเท้าก็แรง เตะข้างเท้าด้านในก็ปั่นไซด์โป้ง เตะข้างเท้าด้านนอกก็ปั่นไซด์ก้อย ง่ายๆ แค่นั้น 

ทว่า "นัคเคิลบอล" หรือ "สกายวิง ช็อต" เป็นอะไรที่อธิบายให้เห็นภาพได้ยากกว่าลูกที่กล่าวมาก่อนหน้านี้เยอะ เพราะอยู่ๆ บอลก็เปลี่ยนเส้นทางแบบเลื้อยเป็นงูจนดูเว่อร์เหลือเชื่อ 

มีการอธิบายถึงวิธียิงจาก เซซาร์ พราเตส โค้ชผู้เป็นคนสอนวิธียิงฟรีคิกให้กับ โรนัลโด้ สมัยอยู่กับ สปอร์ติ้ง ลิสบอน ที่เล่าว่า สิ่งที่เขาถ่ายทอดให้กับโรนัลโด้มีอยู่ทั้งหมด 4 ขั้นตอนได้แก่ การวางเท้า, การก้าว, รอเวลา และทำให้ผู้รักษาประตูวิตก 

การสอนนี้เริ่มต้นขึ้นในสมัยที่ โรนัลโด้ ยังเป็นนักเตะดาวรุ่ง ก่อนย้ายสู่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปี 2003 ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปและลูกฟุตบอลน้ำหนักเบาลง โรนัลโด้ ก็พัฒนาการยิงลูกนัคเคิลบอล ให้กลายเป็นลายเซ็นของเขาได้ในท้ายที่สุด

"เขายิงได้ดีกว่าผม คนที่สอนวิธียิงฟรีคิกให้ผมคือ ดอรินโญ สมัยอยู่กับ อินเตอร์นาซิอองนาล เขาบอกว่า 'วางเท้าตรงนี้, ก้าว 3 สามแบบนี้, รอเวลาที่เหมาะเจาะ และทำให้ผู้รักษาประตูวิตก' ผมได้รับคำแนะนำมาแบบฟรีๆ ผมจึงถ่ายทอดไปแบบฟรีๆ เช่นกัน นั่นคือตัวผม" พราเตส กล่าว

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเว็บไซต์ที่พยายามอธิบายลูกยิงนัคเคิลบอลว่าว่าเเท้จริงแล้วทำอย่างไร ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่มักจะชี้ชัดเริ่มไปตั้งแต่ท่ายืนก่อนวิ่งเข้ามายิงเลยทีเดียว โดยการยิงเเบบนัคเคิลบอลนั้นจะถอยเป็นเส้นตรงจากลูกฟุตบอลแตกต่างจากการยิงแบบอื่นชัดเจน (อาทิ การยืนรอยิงฟรีคิกของเบ็คแฮมที่ต้องเอียงไปด้านซ้ายเพื่อปั่นไซด์โป้ง) 

หลังจากยืนเเล้วพวกเขาจะวิ่งเข้ามาและซัดเต็มแรงด้วยการส่งพลังจากข้อเท้า ก่อนจะปิดท้ายด้วยสิ่งสำคัญอย่าง "ฟอลโลว์ทรู" หรือหากจะอธิบายให้เข้าใจคือการวาดวงสวิงเหมือนในกีฬากอล์ฟนั่นเอง 

การฟอลโลว์ทรูของ นัคเคิลบอล นั้นจะไม่ปล่อยให้เท้าเหวี่ยงไปตามธรรมชาติ สังเกตได้จากนักเตะอย่าง จูนินโญ่ หรือ โรนัลโด้ หากเท้าของเขาสัมผัสบอลแล้ว พวกเขาจะไม่เหวี่ยงเท้าที่ยิงไปตามธรรมชาติ แต่เป็นการฝืนให้เท้าของพวกเขาพุ่งไปเป็นแนวตรง และจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ากำลังขาและข้อเท้าของใครจะเเกร่งขนาดไหน  


Photo : bigwnews.com

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยากจะอธิบายคือ เรื่องทิศทางหลังจากบอลออกจากเท้า เพราะมันแทบคาดเดาไม่ได้ว่าลูกจะไปทางไหนเลย เพราะการโดนบอลผิดหรือฟอลโลว์ทรูผิดนิดเดียว การยิงนัคเคิลบอลก็จะเปลี่ยนผลลัพธ์ทันที 

ด้วยการยากจะคาดเดาเช่นนี้จึงทำให้ลูกยิงดังกล่าวถูกเรียกว่า "ปีศาจลวงตา" นั่นเอง ...

การเล่าผ่านประสบการณ์ของอดีตนักเตะและการจดบันทึกและวิเคราะห์ของเหล่ากูรูได้ผ่านไป ต่อจากนี้เราจะลองมาดูว่าในทาง ฟิสิกส์ พวกเขาอธิบาย "ลูกบอลที่วิ่งมั่วๆ เดาทางไม่ได้" ว่าอย่างไร

แคโรไลน์ โคเฮน นักศึกษาปริญญาเอกจาก École Polytechnique's Hydrodynamics Laboratory เขียนเรื่องนี้ลงในเว็บไซต์ phys.org เธอยืนว่า นัคเคิลบอลเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่จะใช้ฟิสิกส์ไขความลับของมัน 

"เราตัดสินใจศึกษานัคเคิลบอลเพราะวงการฟิสิกส์เกี่ยวกับกีฬายังมีอีกหลายสิ่งให้ค้นหา เริ่มจากลูกยิงนี้" โคเฮน กล่าว และหลังจากรวมหัวกันกับนักฟิสิกส์หลายคนเธออธิบายให้เข้าใจกับคนธรรมดาง่ายที่สุดว่าสิงนี้เรียกว่า "นัคเคิลเอฟเฟ็กต์" หรือการเดินทางของวัตถุทรงกลมในวิถีซิกเเซ็กนั่นเอง

ทีมวิจัยเผยว่า สามารถเกิดนัคเคิลได้กับทรงกลมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะลูกปัดพลาสติก หรือลูกเหล็ก แต่ยิ่งเบามาก การส่ายก็ยิ่งมากตามไปด้วย โดยในการทดลองนี้พวกเขาทดลองกับวัสดุทรงกลมตั้งแต่เมล็ดพลาสติกขนาดเล็กไปจนถึงลูกเหล็กทรงกลมน้ำหนัก 7 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อโยนลงจากที่สูง 150 เมตรก็พบว่าเกิด "นัคเคิลเอฟเฟ็กต์" ทั้งหมด

คำอธิบายของฟิสิกส์ก็มีส่วนสอดคล้องการยุคของการ "บูม" สำหรับลูกยิงนัคเคิลบอลตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ... เมื่อลูกบอลมีน้ำหนักเบาลง นัคเคิลบอลก็ถือกำเนิด

ยิ่งค้นคว้าเรายิ่งค้นพบ

เชื่อว่าอาจมีบางท่านที่ยังไม่เข้าใจถึงการอธิบายความหมายของ "นัคเคิลบอล" ทั้งในแง่วิธีการยิง และการหาคำตอบจากฟิสิกส์ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะสุดท้ายสิ่งที่คุณควรรู้คือ การยิงลูกฟุตบอลให้เปลี่ยนทิศทางได้แบบเหลือเชื่อเหมือนกับการ์ตูนนั้นสามารถเกิดขึ้นจริงได้ก็พอ


Photo : www.independent.co.uk

เรื่องความเว่อร์ในโลกของการ์ตูนสึบาสะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะเดิมทีผู้เขียนมีความรู้ทางฟุตบอลน้อยมาก ในวันที่เริ่มแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา โยอิจิ ทาคาฮาชิ ยังบ้าเบสบอลอยู่เลยด้วยซ้ำ และด้วยความที่เขาไม่ค่อยรู้จักฟุตบอลเขาจึงตั้งใจทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ขายความเว่อร์เป็นหลักอยู่เเล้ว

"ผมคิดว่าความจริงที่ผมไม่เคยเล่นฟุตบอล ทำให้ผมมีไอเดียเกี่ยวกับรูปแบบการเล่นประหลาดๆ ถ้าคุณเคยเล่นฟุตบอลมาก่อน คุณจะรู้ข้อจำกัดของมัน ผมสามารถมีไอเดียแบบนักเขียนการ์ตูนดิบๆ เพราะว่าผมไม่รู้พรมแดนของมัน" อาจารย์โยอิจิ ยอมรับว่านี่คือจุดเเข็งของการ์ตูนเรื่องนี้ ที่มีท่าไม้ตายเกินมนุษย์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นไดร์ฟชูตครึ่งสนามของสึบาสะ, ไทเกอร์ช็อตที่ยิงจนทะลุตาข่ายของ ฮิวงะ โคจิโร หรือ สกายแลบเฮอร์ริเคน ที่ต่อตัวขึ้นไปของสองพี่น้องทาจิบานะ หรือท่าไม้ตายสุดพิสดารของหลายตัวละคร  

ทว่าเรื่องราวความเว่อร์เหล่านี้เองที่ได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง และเข้าไปอยู่ความทรงจำของผู้อ่านทุกคนจนกระทั่ง สึบาสะ ได้กลายเป็นเหมือนการ์ตูนที่จุดประกายให้วงการฟุตบอลของญี่ปุ่นกลายเป็นที่นิยมเลยก็ว่าได้

และเมื่อการเวลาผ่านไปตามวิถีของมนุษยชาติที่พัฒนาไปไม่หยุดยั้ง สิ่งที่ไม่มีใครเคยคิดว่าเป็นไปได้ก็เป็นไปได้ขึ้นมาหลายอย่าง หลากหลายลูกยิงในเรื่อง สึบาสะ ที่เกิดจากจินตนาการของผู้เขียนก็เป็นเรื่องจริงในท้ายที่สุด

นอกจาก "สกายวิง ช็อต" ที่ถูก "นัคเคิลบอล" ตามรอยแล้ว ยังมีการจักรยานอากาศคู่ทำประตู แบบที่ มิซากิ ทาโร และ โอโซระ ซึบาสะ ทำร่วมกัน ก็ถูกเลียนไปแบบล่าสุดโดย เลอันโดร อัสซัมเซา และ กฤษฏา เหมวิพัฒน์ เป็นต้น นอกจากนี้ทาง เจลีก ลีกสูงสุดของญี่ปุ่น ยังเคยมีการให้นักเตะของทีมต่างๆ ในลีกมาทำแชลเลนจ์ด้วยการยิงประตูตามรอยการ์ตูนเรื่องสึบาสะ ซึ่งหลายแชลเลนจ์ก็จบลงไปด้วยการยิงเข้าประตูไปจริงๆ แทบไม่ต่างกับการ์ตูนเลย 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าจินตนาการนั้นสำคัญกว่าความรู้แค่ไหน บางครั้งการคิดอะไรที่มันแปลกผิดแผกไปจากชาวบ้านชาวช่องก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือน่าอายอะไรนัก การค้นคว้าและค้นพบคือธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเคยทำสิ่งใดก็ตามซ้ำๆ มนุษย์เราจะก็จะหาสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถทุ่นแรงและมีประสิทธิภาพกว่าวิธีเก่าๆเสมอ 

หากอาจารย์ โยอิจิ มัวแต่กลัวว่าจะโดนหาว่าบ้าที่ใส่ท่าไม้ตายสุดเพี้ยนเป็นไปไม่ได้ลงไปในการ์ตูนเรื่องสึบาสะ ไม่แน่ทุกวันนี้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นอาจจะไม่ตื่นตัว และก้าวหน้าไปถึงขั้นกล้าหวังถึงแชมป์โลกก็ได้ 

"สกายวิง ช็อต" มีแล้ว, "ลูกยิงใบมีดโกน" มีเเล้ว, "ทวินช็อต" ก็เกิดขึ้นจริงเเล้ว และอีกหลายๆ ประตูก็ถูกทดลองให้เห็นเเล้วว่ามันทำได้จริงๆ ... เป็นเช่นนั้นเองที่ทำไมคนเราจึงมักพูดกันว่า "ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้"

"นัคเคิลบอล" เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น หลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นลูกยิงอย่าง "ไดรฟ์ชู้ต" ที่มีการยืนยันว่า "ล้ำ" ขนาดหนัก และผิดหลักฟิสิกส์อย่างแรง เกิดขึ้นจริงๆจากฝีมือมนุษย์ก็เป็นได้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook