อย่าโป๊ะ!!! 10 ภาพจำที่พาเข้าใจผิด บนจอสื่อ

อย่าโป๊ะ!!! 10 ภาพจำที่พาเข้าใจผิด บนจอสื่อ

อย่าโป๊ะ!!! 10 ภาพจำที่พาเข้าใจผิด บนจอสื่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หมดเทศกาลลอยกระทงแล้วก็เต็มไปหมดเลยนะคะ ทั้งกระทงที่ลอยเต็มคลอง ไปยันโคมลอยละล่อง ที่ไปลุกพรึ่บไหม้เสาไฟ หลังคาบ้าน ยันเครื่องบินที่กัปตันก็ออกอาการฟิวส์ขาดกับทัศนวิสัยที่โดนรบกวนบนน่านฟ้ามาแล้ว แต่ก็เอาเถอะค่ะ เทยก็ขอไม่แพแว่ดมาก ใครทำอะไรลงไปแค่ไหน รับผิดชอบตัวเองและสภาพแวดล้อมกันเองเอานะคะคุณขา โตโตกันแล้ว แต่จากความโกลาหลหลังเทศกาล มันก็ทำให้เทยพาลนึกถึงเรื่องที่คนมักจะติดภาพจำความสวยงามจากจอละคร แล้วดันเอาออกไปใช้ในชีวิตจริง จนเกิดความโป๊ะ โก๊ะกัง ลามไปยันสร้างความเดือดร้อน ผิดพลาด ได้ด้วยล่ะ 

มาค่ะ วันนี้เรามาเมาท์มอยเรื่องภาพจำในสื่อ ในละคร ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดได้หลายอย่าง

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือ “ภาพจำ” เป็นสิ่งที่ยังไงเสีย ในหนัง ในละคร ในสื่อ ต้องหยิบมาใช้ เพื่อทำให้เวลาที่มีจำกัดในสื่อ ทำการสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้คนดูอย่างเราๆ ที่นั่งอยู่หน้าจอ เห็นปุ๊บแล้วก็ อ้ะ เอ๊ะ โอ้ เข้าใจสิ่งใดใดได้โดยทันที บวกกับในหนึ่งหน้าจอ หรือหนึ่งเฟรมนั้น การวางตำแหน่งวัตถุของภาพ ของคนในจอละคร มันก็มีผลต่อความสวยงาม และการเล่าเรื่องอยู่มาก จนเกิดเป็นคำในกองเบื้องหลังที่ว่า “มันมีผลใน Visual” หรือแปลง่ายๆ ก็คือ ในภาพสวยดี แต่ชีวิตจริง ไม่มีใครทำแบบนี้หรอก 

ซึ่งหลายๆ ภาพจำ ก็ฝังหัวมาในความคิดของคนดูละคร จนยากจะถอนคืนได้ในหลายๆ เรื่องเลยทีเดียว ซึ่งวันนี้ เทยก็จะขอคัดมา 10 อย่าง สำหรับภาพจำที่อาจกลายเป็นความเข้าใจผิด

 

10. โคโยตี้ ไม่ใช่นักเต้นยั่ว

ภาพยนต์เรื่อง Coyote UglyIMDbภาพยนต์เรื่อง Coyote Ugly

ความเข้าใจผิดมหันต์นี้ เริ่มต้นมาจากภาพยนต์เรื่อง Coyote Ugly ในปี 2000 ซึ่งเป็นเรื่องราวของบาร์นักเต้น ส่ายสะโพก ยั่วยวน ในบาร์แห่งหนึ่ง ซึ่งบาร์แห่งนั้นชื่อ “Coyote Ugly” หรือ “เจ้าหมาป่าน่าเกลียด” ซึ่งเป็นการตั้งชื่อร้านเพื่อเสียดสี เหล่าชายหื่นที่มาหิวกระหายนักเต้นในร้าน แต่เพราะความโด่งดังของภาพยนตร์เรื่องนี้มาแพร่หลายในไทย เลยทำให้ชื่อหนัง กลายเป็นภาพจำของ “นักเต้น” แนวยั่วยวน แต่งตัววับแวมไปเสีย ซึ่งจริงๆ แล้ว คำว่า โคโยตี้ (Coyote) เป็นชื่อเรียกของสุนัขจิ้งจอกชนิดหนึ่งเท่านั้น 

กระนั้น มันก็สายไปแล้วแหละ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คำว่า โคโยตี้ ก็ถูกใช้เพื่อเรียกนักเต้นหญิงไปแล้ว และก็มีแค่ในไทยเท่านั้นด้วยนะ ที่ใช้คำนี้อ่ะเธอ เด๋อด๋ากันสุด

9. ล้มทับกัน มองตา

พระ-นางจากละคร ภารกิจลิขิตหัวใจพระ-นางจากละคร ภารกิจลิขิตหัวใจ

ซีนโรแมนติกหากินได้ถมไปจากละครไทย กับการเข้าพระนาง หรือพระนาย ก็ตาม จะจิ้นเพศไหน ซีนล้มทับกัน ตาชนตา ปากชนปากยังได้ผลเสมอ ซึ่งการกระทำนี้ เป็นการบล็อคกิ้งกันหลังกอง เพื่อหาองศาการรับหน้าตัวละครแบบใกล้ชิดกันได้ทั้งคู่ แต่แน่นอนว่าความเป็นจริงแล้ว การล้มทับกันนั้น เป็นไปได้ยากมากที่มุมหน้าของคนสองคนจะมาอยู่ในจุดที่พอดีกันขนาดนั้น เพราะคงต้องหักลบความสูงของคนสองคนออกไปด้วย นี่ยังไม่รวมว่า การล้มทับนี่ น้ำหนักทั้งหลายทั้งปวง ข้าวของโดยรอบ นี่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุเลือดตกยางออกมากกว่าโรแมนติกนะเธอ

แต่เทยก็ไม่เข้าใจนะ ทำไมต้องจิกหมอนทุกทีกะซีนนี้

8. สีแดงวายร้าย

ปรากฎการณ์เริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey เมื่อหุ่นยนต์จะคิดร้ายเมื่อไหร่ สัญญาณไฟในตัวมันก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง หลังจากนั้นก็เป็นอันรู้กันว่า หากงานภาพ เลือกใช้สีแดงกับอะไร ก็มักจะทำให้สิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ คุกคาม เกรี้ยวกราด หรือกลายเป็นสิ่งที่มีอารมณ์รุนแรง ซึ่งมันก็ดันไปสอดคล้องกับสีสัญญาณไฟจราจรที่ให้สีแดงเป็นสีของการหยุด และห้ามเช่นกัน 

ภาพจากหนัง 2001: A Space Odysseyภาพจากหนัง 2001: A Space Odyssey

ซึ่งในส่วนของละครไทย ก็หยิบยืมภาพจำสีนี้มาใช้เหมือนกัน กับการที่นางร้ายไทย ก็ต้องแต่งตัวแดงจัดเข้าไว้ ทาปากแดง ชุดแดง เพื่อจะขับชูว่านี่คือตัวละครที่มาเพื่อเป็นตัวร้าย เพราะเป็นการร้าย + อารมณ์นั่นเอง

7. นั่งริมน้ำสองต่อสอง ยามอาทิตย์ตก

โอ๊ย แค่คิดถึงบรรยากาศก็ชวนฝันมากแม่ ริมน้ำในสวนสาธารณะ ริมแม่น้ำ หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่งจับมือมองออกไป ดูแสงตะวันที่สาดส่องรำไรกับสายน้ำ แล้วพอฟีลลิ่งของเราได้ที่ เราก็หันไปสบตาคนข้างๆ เบาๆ จับมือของเขาหรือเธอช้าๆ กระซิบข้างหูว่า... ยุงเยอะเนอะ

คุณเอ้ย การนั่งริมน้ำตอนเย็นเนี่ย มันได้ผลในเชิง Visual ก็จริง แต่ในบ้านเมืองนี้นะคะคุณขา ยุงทั้งนั้นค่ะ ไข้เลือดออกจะพาลถามหาเอา ในละครที่เห็นภาพสวยๆ แบบนั้น แน่นอนค่ะว่ามันไม่ง่าย ไม่โรแมนติกเลยค่ะคุ๊ณ

6. เดินเรียงสามสี่ห้า

ฉันมาเป็นทีม ฉันมาเป็นแก๊ง สับเท้าเชิ่ด เฉิดฉาย ทุกสายตาจะต้องจับจ้องมาที่ฉันและผองเพื่อน สปอตไลท์อยู่ไหน แบคดรอปล่ะ ช่างภาพล่ะ ถึงแม้ว่าเราจะมาในชุดทำงาน หรือชุดอยู่บ้าน แต่การเดินแผ่สามสี่ห้าคนกับเพื่อนฝูงเวลาเดินตามถนนนั้น มันคนละฟีลกับในละครหรือในหนังนะคะเธอ ในละคร การวางบล็อคกิ้งการเดินเรียง เพื่อขับเน้นให้คนดูสามารถเห็นตัวละครชัดเจนได้แบบเรียงหนึ่งในหนึ่งเฟรม แต่ถ้าเราไปเดินตามถนนล่ะก็ มันก็กินพื้นที่ตามทางเท้ากับคนด้านหลังได้นะเออ

หดแถวกันหน่อยแม่ ไม่ได้กำลังเล่น Sex and the city อยู่นะคะ

5. โคมลอย ฟุ้งฟ้า

อย่าว่าแต่ละครไทยเลยค่ะ ที่สร้างภาพจำนี้ มันไปไกลยันการ์ตูน Disney อย่าง Rapunzel เลยล่ะค่ะ เพราะก็เคยทำฉากตราตรึงอย่างการปล่อยโคมลอยนับพันดวงขึ้นพร้อมกัน เป็นอีกความเข้าใจผิดในเชิง Visual เอามากๆ เพราะการปล่อยโคมลอยขึ้นฟ้านั้น นอกจากมันมีสิทธิจะไปสร้างเพลิงไหม้ในที่ต่างๆ ได้แล้ว การปล่อยพร้อมๆ กันนับพันๆ ดวง ดีไม่ดีมันจะไหม้กันเองก่อนแบบยังไม่ทันลอยไปไหนเลยค่ะ และหากทุกคนจำวิชาวิทยาศาตร์ประถมได้ การจุดไฟมันใช้ออกซิเจนนะคะ การยืนอยู่ท่ามกลางดวงไฟที่ใช้ออกซิเจนในการจุดเผาไหม้นับพันดวงพร้อมกัน โอ๊ยยย เทยไม่อยากจะคิดสภาพ

ดีดีไม่ดีจะต้องถวายชีวิตให้กับพระเพลิง เพื่อแลกกับภาพสวยๆ ลง IG งั้นเหรอคะ ไม่ได้นะคะคุณ

ภาพจากหนัง Tangled หรือ Rapunzel นั่นเองภาพจากหนัง Tangled หรือ Rapunzel นั่นเอง

4. ลง-หยุดจากบันไดเลื่อน หรือประตูรถสาธารณะ หยุดซักหนึ่ง

เป็นอีกหนึ่งบล็อกกิ้งจากละครและหนังที่สร้างความเคยชิน เมื่อตัวละครเอกเดินออกจากรถไฟฟ้า หรือขึ้นจากบันไดเลื่อน ก็จะต้องหยุดยืนชะเง้อมองไปมา หรือยืนคุนกันอยู่ตรงนั้นจนหมดไดอาล็อค และคนที่เดินตามหลังมา ก็พร้อมใจกันแหวกทางออกซ้ายขวา ให้ตัวละครเรายืนคุยกันอยู่อย่างนั้นประหนึ่งเส้นทางนี้ คุณพ่อคุณแม่สร้างมาให้เป็นของส่วนตัว ซึ่งในความจริงแล้ว มันไม่ใช่นะเธอ เมื่อเธอออกจากเส้นทางเข้าออกใดใดในที่สาธารณะ มันไม่มีกล้องมารับหน้าเธอ เพราะฉะนั้น เมื่อออกมาจากประตูหรือทางเลื่อนแล้ว ก็กรุณาหลบซ้ายหรือขวาแล้วแต่สมควรด้วยนะคะ

ไม่เช่นนั้น กองทัพคนอีกมหาศาลที่ตามหลังหล่อนมา ก็จะพากันเหยียบย่ำหล่อนให้จมอยู่อย่างนั้น

3. คนสัก ไม่ใช่คนคุก

หมาก ปริญ กับบทบาทใน จอมขมังเวทย์ 2020หมาก ปริญ กับบทบาทใน จอมขมังเวทย์ 2020

เรื่องนี้เกิดจากหลายองค์ประกอบร่วมกัน และมันสร้างภาพจำอันตรายเป็นอย่างมากค่ะ สมัยก่อน คนที่ต้องอาญาจะมีการสักเลขสักคอไว้ เพื่อทำเครื่องหมาย ดังนั้นคนโบราณจะรู้ว่าใครเคยทำผิดจากการดูรอยสักที่คอ แต่คุณขานี่มัน 2019 แล้ว การสัก ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนคุกแล้วค่ะ แต่การสร้างภาพจำนี้ ในละครยังคงเลือกคาแรกเตอร์คนร้าย คนฉุด คนขี้คุก ให้วนเวียนอยู่แบบเดิมๆ และมักจะมีรอยสักด้วย จนกลายเป็นภาพจำติดตา เลยเถิดไปถึงการแปะป้าย และสร้างความรังเกียจในสังคมด้วย ไม่น่ารักเลยนะคะ

ในปัจจุบัน การสักมีหลากหลายมาก ทั้งในเชิงความเชื่อวัฒนธรรม การสักห้าแถวตั่งต่าง หรือจะเป็นสักแนวศิลปะ ร่วมสมัย ก็สวยงามถมเถไปนะ

2. เมาแล้วมี sex โดยไม่รู้ตัว มันไม่จริง!!!

ละครหลายๆ เรื่อง ยังคงผลิตภาพจำและไดอาล็อคที่คุ้นหู “คืนนั้นผมเมามาก ผมจำอะไรไม่ได้เลย” ซึ่งการภาพตัดจากการดื่มเหล้าหนักนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่ะ แต่หากเป็นประโยคที่ว่า “คืนนั้นผมเมามาก ผมจำไม่ได้เลยว่าทำอะไรคุณไป” นั่นไม่ใช่แล้ว และไม่จริงค่ะ การที่ผู้ชายจะมี sex ได้นั้น ล้วนมีสติเสมอ ไม่มากก็น้อย แต่การกระทำนั้นจะเรียกว่าสติครบ หรือขาดสตินั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น การยกไดอาล็อคแบบนี้ขึ้นมา เพื่อจะหลบเลี่ยงการกระทำชำเรา หรือ “การข่มขืน” ให้กลายเป็นเรื่องแบบ ตายจริง ผมเมา! ผมไม่ได้ตั้งใจ นั้น ก็ต้องหยุดเลย พอค่ะ มันไม่ใช่

เมาจริงต้องน็อคหลับ ไม่ใช่การหงี่ และใช้กำลังทำร้ายร่างกาย หรือบังคับขืนใจนะคะยู

ภาพจากหนัง Friends with Benefitsภาพจากหนัง Friends with Benefits

1. กะเทย ตุ๊ด แต่งหญิง = ตลก ออกสาว และเป็นรับ

แม้ว่าในละครไทย จะมีตัวละครกะเทย ตุ๊ด เก้ง กวาง โผล่ออกมาจนเกลื่อนไปหมด บางก็ออกสาวสนั่น บ้างก็ตลกจนมือไม้ไปหมด หรือทำท่าทางหิวผู้ชายในเรื่องไปทั่ว แต่การจะบอกว่ารูปลักษณ์ภายนอก และการแต่งตัว หรือคาแรกเตอร์ที่เพศหลากหลายเหล่านั้นได้รับ จะเป็นการผลักให้พวกนางกลายเป็น “ร่างทรงความเป็นหญิง” ล่ะก็ โน๊ววววว! หยุดเลยค่ะ ลบภาพจำออกไปเดี๋ยวนี้ เพราะไม่มีอะไรการันตีเลยว่า การออกสาว แต่งหญิง ของตุ๊ดและเกย์ที่ยังไม่มีไอเดียที่จะ Trans ตัวเองไปเป็นผู้หญิงข้ามเพศเหล่านั้น จะเป็นการบอกว่าพวกเขาเป็นฝ่ายรับ หรืออยากเป็นผู้หญิงเสมอไป

ในยุคนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า Cross-Dress (การแต่งตัวข้ามเพศ) และการ DRAG (การแต่งตัวขับเน้นเป็นเพศหญิง) ซึ่งเป็นรสนิยมและไลฟ์สไตล์ที่เป็นเพียงบทบาทที่เขาและเธอเหล่านั้น เอามาแต่งองค์ทรงเครื่องชั่วครั้งชั่่วคราวเท่านั้น เพื่อความบันเทิงเท่านั้นจ้ะ ไม่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ตัวตนอันแท้จริง แต่อย่างใดเลย

ภาพจาก ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟคภาพจาก ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค

อย่างไรก็ตาม การสร้างภาพจำแบบชั่วครั้งชั่วคราว มันก็ยังพออนุโลม อะลุ่มอล่วยกันได้ในงานสื่อ ที่ต้องการภาพชัดในเวลาที่จำกัด แต่ถ้าเมื่อไหร่ภาพจำนั้น กลายเป็น “ภาพซ้ำ” และ “ถูกผลิตซ้ำ” อย่างมีนัยยะสำคัญ และไม่ยอมรับชุดความจริงใหม่ นั่นก็ถือว่า สื่อเจ้านั้นๆ ก็เริ่มจะไร้ซึ่งจรรยาบรรณ และความรับผิดชอบต่อผู้รับสารเหมือนกันนะเออ เพราะคนเสพย์มันไปมากๆ ก็จะกลายเป็นการเหมารวม หรือที่เราเรียกกันว่า “Stereotype” นั่นเอง

ขณะเดียวกัน คนรับสื่อ ดูหนังดูละครอย่างเราๆ ก็ต้องมีสติตลอดเวลาในการดูนะคะ จะไปทึกทักเอาว่าทุกสิ่งอย่างที่โผล่มาในหน้าจอของเราเป็นเรื่องจริงแท้อันล้นพ้น เห็นเขาบอกว่าเป็นรายการที่จะให้ความสุขเข้าหน่อย ก็เชื่อหัวปักหัวปำ สุขมากล้นเว่อไป

ถ้าเป็นอย่างนั้นหล่อนก็ขาดสติแล้วแหละ 

เทยว่าคงไม่มีใครสิ้นสติสมประดีขนาดนั้นหรอกเนอะ

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ อย่าโป๊ะ!!! 10 ภาพจำที่พาเข้าใจผิด บนจอสื่อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook