รู้จักเทคโนโลยี IoT ความอัจฉริยะที่หลายคนคาดไม่ถึง

รู้จักเทคโนโลยี IoT ความอัจฉริยะที่หลายคนคาดไม่ถึง

รู้จักเทคโนโลยี IoT ความอัจฉริยะที่หลายคนคาดไม่ถึง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่โลกนี้รู้จักกับอินเทอร์เน็ตเมื่อราว ๆ 52 ปีก่อน วิวัฒนาการของมันไม่เคยหยุดพัฒนา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย ทั้งยังเข้ามาอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มากขึ้นทุกที ก็อย่างที่เราใช้อินเทอร์เน็ตกันในชีวิตประจำวันนั่นเอง สำหรับบางคน หากไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ล่ะก็ แทบไม่ต่างอะไรจากการหูหนวกตาบอดเลย

นวัตกรรมที่ตามมาหลังจากที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ค่อย ๆ มีขึ้นมาทีละอย่างสองอย่าง แรก ๆ เราจะคุ้นเคยกับการเข้าเว็บไซต์ (www) ต่อมาก็เริ่มมีอีเมล มีเกมออนไลน์ มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย สามารถซื้อสินค้า ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโลกออนไลน์ ดูหนังฟังเพลง จนมาถึงการนั่งเรียน นั่งทำงานผ่านทางออนไลน์ ด้วยการใช้งานที่หลากหลาย ทำให้อุปกรณ์ที่จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกการใช้งาน เราอาจไม่ทันได้สังเกต ว่ามันจะรุกคืบมาถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้ในบ้านเกือบทุกอย่างแล้ว

IoT คืออะไร

ด้วยพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และยังขยายการใช้งานไปอย่างไม่มีขีดจำกัด หากลองจินตนาการว่าในอนาคต ข้าวของต่าง ๆ ที่เราจับต้องได้จะเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายเท่าไรนัก ฉะนั้น IoT นี่แหละจะเป็นเทคโนโลยีอีกรูปแบบหนึ่งที่จะเปลี่ยนโลกของเราไปตลอดกาล

IoT ย่อมาาก Internet of Things ภาษาไทยจะแปลออกมาเป็น “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” คือ เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลระหว่างกันผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถสั่งการควบคุมอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย หรือคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คือ สิ่งของทุกอย่างบนโลกที่สามารถเชื่อมอินเทอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลได้ โดยมีเงื่อนไขการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันว่า มีมนุษย์เกี่ยวข้องน้อยที่สุด และเชื่อมโลกดิจิทัลกับโลกชีวิตจริงเข้าด้วยกัน

การใช้อินเทอร์เน็ตในยุคแรก ๆ ที่เราคุ้นเคยจะเป็นการเชื่อมต่อระบบผ่านคอมพิวเตอร์ ต่อมาที่เราใช้กันทุกวันนี้ก็คือโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน มาถึงข้าวของเครื่องใช้อย่างนาฬิกา กล้องบันทึกภาพ  หลอดไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น กาต้มน้ำ หม้อหุงข้าว โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า รุ่นใหม่ ๆ ที่ผลิตมาสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้หมดแล้ว (แม้ว่าที่บ้านเราจะยังเป็นแบบธรรมดาก็ตาม)

ซึ่งการเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น สามารถเก็บและรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ โดยมีระบบคลาวด์ที่ใช้จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลทางออนไลน์ โดยเราสามารถควบคุม เข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา หรือกำหนดความเป็นส่วนตัวได้เช่นกัน

แม้ว่า IoT จะยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ต่อผู้ใช้งานในบ้านเรา แต่บริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ ก็เริ่มทยอยนำมาใช้งานเพื่อช่วยในการบริหาร จัดการที่มีประสิทธิภาพ และหากทำงานร่วมกับ AI แล้วล่ะก็ แรงงานคนก็ไม่จำเป็นอีกแล้ว

ระบบการทำงานของ IoT

สำหรับการทำงานของ IoT นั้นจะเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ซึ่งถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็จะเกิดความบกพร่องในการใช้งาน องค์ประกอบทั้งหมดจะต้องทำงานประสานกันเพื่อให้ระบบทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ ผู้ใช้งานมีหน้าที่เพียงติดตั้ง ซ่อมแซม รับข้อมูล ควบคุม สั่งการ และอัปเดตการทำงานของ Smart Device ผ่าน Dashboard เท่านั้น  โดยองค์ประกอบของ IoT ปัจจุบัน จะประกอบด้วย

  • Smart Device หรือก็คืออุปกรณ์ที่มีหน้าที่เฉพาะ ภายในจะมีส่วนประกอบอย่าง Microprocessor และ Communication Device เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ Smart Device ส่งต่อไปยังระบบ ไม่ได้แสดงเพียงแต่ข้อมูลตามหน้าที่เท่านั้น แต่ยังแสดงสภาพอุปกรณ์ด้วย ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ด้วยตัวเอง
  • Cloud Computing หรือ Wireless Network เป็นสื่อกลางที่รับส่งข้อมูลจาก Smart Device ไปยังผู้ใช้ ซึ่งมีทั้งการส่งข้อมูลผ่านระบบ Wireless และการส่งผ่าน Cloud Computer ไปยังผู้ใช้งาน ซึ่งการส่งข้อมูลไปยัง Cloud มีข้อดีที่สามารถรองรับการใช้งาน Smart Device ได้จำนวนมากกว่า ส่งได้ระยะทางไกลกว่า และอาจมีการติดตั้งระบบแปลงการแสดงผลข้อมูลให้เหมาะกับผู้ใช้งานได้
  • Dashboard คือ ส่วนแสดงผลและควบคุมการทำงานในมือของผู้ใช้งาน จะอยู่ในรูปของอุปกรณ์ (Device) หรือแอปพลิเคชันในคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ผู้ใช้งานจะสามารถดูข้อมูลที่ Smart Device ส่งมา หรือตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์และระบบ รวมถึงถ่ายทอดคำสั่งใหม่ไปยัง Smart Device ได้จากส่วนนี้

เมื่อ IoT ชนกับ AI ได้ความอัจฉริยะแบบคูณสอง

ถ้าหากนำ IoT มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์แล้ว เราจะได้ Smart Device หรืออุปกรณ์ที่ฉลาดแบบคูณสอง เช่น ระหว่างอยู่ที่ทำงาน เราสามารถสั่งให้เครื่องซักผ้าทำงานได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เครื่องจะซัก ปั่น อบ ตามขั้นตอน (อาจฉลาดกว่านี้โดยมีโรบอทนำผ้าออกจากเครื่องมาตากหรือพับเก็บให้ได้ด้วยซ้ำ)

หรือตู้เย็น ที่ฉลาดถึงขั้นแนะนำเมนูอาหารที่เหมาะสมสำหรับเราตามวัตถุดิบที่มี เสนอเมนูทางเลือก หรือตรวจจับอาหารสดที่อยู่ในตู้ว่าอะไรที่ใกล้หมดอายุ ก็จะแจ้งเตือนให้เอาไปทิ้งจะได้ไม่เน่าคาตู้เย็น หรือถ้าจำได้ว่าของหมด แต่จำไม่ได้ว่าต้องซื้ออะไรบ้าง ก็สั่งงานผ่านสมาร์ทโฟนในมือให้สำรวจสิ่งของภายในตู้เย็น ก็จะรู้ว่าอะไรที่หมดแล้วต้องซื้อเข้าบ้านบ้าง

หากมองในมุมของผู้บริโภค เทคโนโลยีสุดอัจฉริยะอย่าง IoT และ AI นี้ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ได้ใจคนขี้เกียจหยิบจับอะไรเอง เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีกำลังครองโลก

การใช้ประโยชน์จาก IoT

นอกเหนือจากการใช้งาน IoT ให้ทำงานในบ้าน โลกยุคใหม่ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ก็ได้เริ่มนำ IoT ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานแล้ว เพราะเทคโนโลยีนี้ช่วยบริหารจัดการต้นทุน ลดการจ้างแรงงานคน ชาญฉลาดในการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกินความสามารถคนคนเดียว ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ทั้งยังประโยชน์ในด้านความสะดวกสบาย โดย IoT สามารถสามารถนำไปใช้ได้มากกว่าที่เราคิด เช่น

  • รับส่งข้อมูลแบบดิจิทัล IoT มีคุณสมบัติในการเก็บข้อมูลทางภายภาพให้อยู่ในรูปดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันข้อมูลดิจิทัลสามารถนำไปใช้กับเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้ทันที เพราะระบบคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการแปลรหัสดิจิทัลอยู่แล้ว
  • ส่งข้อมูลแบบ Real-Time ข้อมูลจาก IoT สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วแบบ Real-Time ใช้งานได้ตลอดเวลา และมีความแม่นยำสูง
  • ลดภาระแรงงานคน การใช้งาน IoT ไม่เพียงแต่สั่งให้ทำงาน แต่มันยังเรียนรู้ความผิดปกติหรือการทำงานที่บกพร่องด้วยเทคโนโลยี เช่น AI จากนั้นจะแจ้งเตือนให้เราทราบ โดยไม่ต้องใช้คนคอยเข้าไปตรวจสอบ
  • ทำงานตรวจสอบในจุดที่เกินความสามารถคน อุปกรณ์ขนาดเล็กสามารถเข้าถึงในจุดที่คนเข้าถึงยาก หรือจุดที่อันตรายเกินความสามารถคน คนไม่ต้องทำเอง แค่ควบคุมการทำงาน และดูผลลัพธ์ที่แสดงออกมาก็พอ

คนขี้เกียจคือเหยื่อการตลาด

ถ้าได้รู้จักแบรนด์ Xiaomi จากจีนแล้ว นี่แหละคืออุปกรณ์เครื่องใช้เพื่อคนขี้เกียจอย่างแท้จริง อุปกรณ์ที่ Xiaomi ผลิตขึ้นมา เรียกได้ว่าตอบโจทย์ชีวิตของคนขี้เกียจโดยเฉพาะ เพราะถ้าเราจะถูบ้าน แต่ขี้เกียจเอาผ้าขี้ริ้วไปชุบน้ำ Xiaomi ทำหัวสเปรย์ฉีดน้ำมาให้ แค่ฉีดน้ำให้พื้นเปียก ก็ใช้ไม้ลากผ้าถูกได้เลย หรือถ้าขี้เกียจกว่านั้นก็ไม่ต้องใช้ไม้ถู แค่ซื้อเครื่องทำความสะอาดที่มีลักษณะเป็นโรบอทกลม ๆ แบน ๆ กดปุ่ม แล้วปล่อยให้มันวิ่งกวาดถูไปทั่วบ้าน พอแบตเตอรี่หมดมันก็พาตัวเองกลับไปหาแท่นชาร์ตได้เองอีกต่างหาก

นี่ขนาดยังไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เหล่านี้ยังพัฒนามาอำนวยความสะดวกสบายได้ขนาดนี้ แล้วถ้าเราสั่งงานมันผ่านอินเทอร์เน็ตได้ล่ะ เช่น ก่อนออกจากบ้านลืมกดปุ่มให้โรบอททำความสะอาดทำงาน ก็แค่หยิบสมาร์ทโฟนออกจากกระเป๋า แล้วกดสั่งงานให้โรบอทเริ่มทำความสะอาด มันก็จะเริ่มเดินเข้าซอกนั้นออกซอกนี้ไปทำความสะอาดทั่วบ้าน โดยที่ตัวเราไม่ต้องอยู่บ้าน

เมื่อเราเสพติดความสะดวกสบาย ทำให้ความต้องการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้อาจมากขึ้นจนขาดไม่ได้ แน่นอนว่าส่งผลดีต่อตลาดของสินค้าประเภทนี้ โดยเฉพาะโลกแห่งอนาคตอันใกล้ การใช้งาน IoT จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำงาน ลองคิดดูว่าในเมื่อเราสั่งการให้โรบอททำความสะอาดทำงานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน กับการจ้างแม่บ้านที่เราเองก็ไม่มั่นใจว่าจะไว้ใจได้มากน้อยแค่ไหน อะไรน่าลงทุนกว่ากัน

หลักการใช้งานของ IoT สามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย การเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน ในอนาคตอาจจะพัฒนาจนแทบไม่มีขีดจำกัดในการใช้งานเลยก็ได้ ทำให้มันมีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีมีทั้งประโยชน์และโทษ การใช้งานทุกอย่างผ่านทางออนไลน์ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภัยคุกคามที่มาพร้อมเทคโนโลยี โดยเฉพาะความเป็นส่วนตัว ควรเลือกใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น และเตรียมความพร้อมรับมือภัยทางออนไลน์ เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกยุคดิจิทัล

และที่สำคัญ คือการปรับตัวเองให้พร้อมรับเทคโนโลยีเหล่านี้ มั่นใจได้เลยว่าการพัฒนาจะไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ ยิ่งอุปกรณ์เหล่านี้ฉลาดมากขึ้นเท่าไร ความสำคัญของคนก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook