รีวิว Tales of Vesperia Definitive Edition คุ้มค่าถ้าไม่เคยเล่นมาก่อน

รีวิว Tales of Vesperia Definitive Edition คุ้มค่าถ้าไม่เคยเล่นมาก่อน

รีวิว Tales of Vesperia Definitive Edition คุ้มค่าถ้าไม่เคยเล่นมาก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Tales of Vesperia เป็นหนึ่งในเกมจากซีรีส์ Tales of ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากแฟน ๆ และนักวิจารณ์มากที่สุดภาคหนึ่ง เพราะด้วยการออกแบบตัวละครและเนื้อเรื่องที่ถูกจริตคนรักอนิเมะ ระบบการต่อสู้สุดแสนเป็นเอกลักษณ์ ฯลฯ ซึ่งการนำกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้งในฉบับรีมาสเตอร์ที่เพิ่มชื่อพ่วงท้ายเข้าไปว่า Definitive Edition ก็เป็นเครื่องการันตีชั้นเยี่ยมถึงคุณภาพในเกมภาคดังกล่าว

แต่กระนั้นการกลับมาในครั้งนี้จะมีสิ่งปรับปรุงพัฒนาขึ้น คงไว้ดังเดิมตอบโจทย์แรงถวิลหาแฟน ๆ ได้หรือไม่ เชิญหาคำตอบในบทความรีวิวนี้ได้เลยครับ

การเดินทาง ไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง

ตัวละครหลักทั้งหมดในกลุ่มของเราอยู่กันครบหน้า

Tales of Vesperia: Definitve Edition เป็นการนำตัวเกมจากเวอร์ชั่นที่ลงให้กับเครื่องเล่น PlayStation 3 กลับมาอีกครั้งในฉบับรีมาสเตอร์ที่ก็แน่นอนว่าการนำเกมกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งในประเภทนี้ จะไม่ค่อยเกิดผลกระทบใด ๆ กับแกนหลักทั้งหมดในเกมสักเท่าไหร่ (ระบบการเล่น, เนื้อเรื่อง, เสียง ฯลฯ)

โดยเรื่องราวใน Tales of Vesperia ว่าด้วย Terca Lumireis (โลกพื้นหลังของเกมในภาคนี้) โลกที่ประชาชนต่างใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีจากอารยธรรมโบราณเมื่อ 1,000 ปีก่อนอย่าง Blastia ที่ต้องดูดซับพลังงาน Aer ให้กลายเป็นแหล่งให้พลังงานต่าง ๆ นา ๆ อีกทอด ไล่ตั้งแต่การผลิตน้ำโดยไม่ต้องพึ่งแหล่งกำเนิด, การนำมาใช้เป็นพลังงานให้กับเครื่องจักรขนาดมหึมา ไปจนถึง “การสร้างบาเรียขนาดใหญ่เพื่อใช้ป้องกันเหล่าอสูรร้ายจากโลกภายนอก” 

แต่แล้ววันหนึ่ง Blastia จากเมือง Zaphias ในเขตชนชั้นล่างได้ถูกขโมยไปอย่างปริศนาจนส่งผลให้เขตดังกล่าวขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดที่ไว้ใช้อุปโภคและบริโภค Yuri Lowell (ตัวเอกของเกม) อดีตทหารองค์รักษาเมืองมากฝีมือที่ทั้งชีวิตอาศัยอยู่ ผูกพันและมีใจรักในการช่วยเหลือเพื่อนพ้องในเขตเดียวกัน จึงจำต้องออกตามหาและทวงมันกลับคืนมาผ่านการเดินทางที่ได้พบเจอมิตรภาพและเหตุการณ์ที่เกินกว่าที่ตัวเขานั้นจะคาดคิด

ผู้เขียนว่าเส้นเรื่องหลักในภาคนี้ยังสู้ภาคอื่น ๆ ไม่ได้สักเท่าไหร่ อาจด้วยจังหวะการเล่าของเนื้อเรื่องหลักที่ไปอย่างเชื่องช้า และมักจะถูกแทรกด้วยหลายเหตุการณ์ แต่กระนั้นก็มีสิ่งที่ทำออกมาได้ประทับใจผู้เขียนเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเหล่าตัวละครในกลุ่มของเราที่มีติและเคมีที่เข้ากันอย่างลงตัว พระเอกของเกมที่เกลียดชังผู้ดีมีชาติตระกูลแต่ต้องจับพลัดจับผลูได้ร่วมเดินทางไปกับเจ้าหญิงผู้ไร้อ่อนต่อโลกที่พร้อมเปิดใจรับมิตรภาพจากผู้คนทุกรูปแบบไม่เว้นแม้กระทั่งจอมเวทย์สาววัยเยาว์ผู้มันสมองเป็นเลิศที่แม้ตัวเธอจะชอบแสดงกิริยาแข็งกร้าวและขี้รำคาญผู้คนรอบข้าง แต่แท้จริงแล้วเธอกลับรู้สึกผูกพันกับกลุ่มก๊วนของเรา ฯลฯ

“การเดินทาง อาจไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง” นี่แหล่ะคือวลีที่เหมาะสมกับ Tales of Vesperia อย่างถึงที่สุด ซึ่งความดีงามในส่วนนี้ก็ยังจะถูกค้ำชูด้วยฟีเจอร์ตลอดมาของซีรีส์อย่างคัทซีนเสริม ที่สามารถเลือกจะดูหรือไม่ก็ได้เพราะไม่ส่งผลกระทบใดต่อเนื้อเรื่อง ที่แม้จะเป็นเพียงตัวละครในกลุ่มของเราพูดคุยและแสดงจริตของตนเองถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นๆ แต่หากเราเข้าถึงหรือว่าชอบเคมีของกลุ่มตัวละครแล้ว ฟีเจอร์นี้ก็จะทำให้เรารู้สึกผูกผันกับพวกเขาเข้าไปอีกขั้น

เกม RPG ที่มีลูกล่อลูกชนด้วยระบบต่อสู้แอกชั่น

นอกเหนือจากการนำเสนอเรื่องราวและมิติของตัวละคร ระบบการต่อสู้แบบแอกชั่นคือจุดเด่นตลอดมาของซีรีส์ Tales of ที่มีเอกลักษณ์มากพอจนโดดเด่นกว่า JRPG เจ้าอื่นด้วยกัน แถมระบบดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกทำออกมาแบบขอไปที แต่มันคือแอกชั่นที่มีตรรกะของเกมแนวนี้จริง ๆ หลบเป็นหลบ โดนเป็นโดน ไม่ได้วัดผลลัพธ์ด้วยค่าสเตตัสตัวละคร (แต่ถ้าเป็นพลังเวทย์นี่หลบไม่ได้นะ)

ซึ่งใน Tales of Vesperia และในเวอร์ชั่น Definitve Edition นี้ ก็ยังคงไว้ซึ่งของเดิมทุกระเบียดนิ้ว โดยจากในต้นฉบับของภาคดังกล่าวนั้นได้เพิ่มความยืดหยุ่นในการต่อสู้เข้าไปอีกขั้นด้วยการเคลื่อนที่ได้ถึง 8 แกนทิศทาง (ขึ้น, ลง, ซ้าย, ขวา, เฉียงล่าง, เฉียงบน) จากที่แล้วมาจะเคลื่อนที่ได้แค่แนวนอน ซึ่งก็ทำให้การต่อสู้มีความคล่องแคล่วและสร้างความได้เปรียบในการต่อสู้ได้มากขึ้น เช่นการอ้อมหลังแนวหน้าศัตรูไปโจมตีตัวที่อ่อนแอกว่า, เคลื่อนที่เพื่อหลบโจมตีที่หนักหน่วงและกินพื้นที่ในจังหวะที่เฉียดฉิว เป็นต้น

หาก Yuri หรือตัวละครเอกของเกมใช้ Dragon Swarm ด้วยอาวุธประเภทขวานก็จะเบรคการการ์ดของศัตรูได้ง่ายกว่าการใช้ดาบ

แถมทั้งการต่อสู้ในเกมก็ยังถูกส่งเสริมด้วยระบบพัฒนาตัวละคร (Progression) ที่ชักชวนให้ติดพันไปกับการเล่นนอกเหนือจากการตามติดความสนุกด้านเรื่องราวของเกม ไม่ว่าจะทั้งการปลดล็อค Artes (สกิลใช้ในตอนต่อสู้นั่นแหล่ะ แต่ซีรีส์ Tales of ใช้คำนี้เรียกแทน) ขั้นสูง เมื่อทำตามเงื่อนไขสำเร็จที่ค่อนข้างคุ้มค่าเหนื่อย อาทิ ใช้สกิล A และ B ให้ครบ 100 รอบ, สวมใส่อาวุธประเภทนี้ถึงจะใช้ได้ ฯลฯ, สกิลเสริมที่จะฝังมากับอาวุธ/เครื่องแต่งกายแต่สามารถเรียนรู้ติดตัวได้เมื่อได้รับแต้มจากการต่อสู้ครบตามจำนวน ซึ่งก็จะช่วยกำหนดทิศทางการต่อสู้ของผู้เล่นในระดับหนึ่ง เช่น ทำให้ตัวละครของเราเก่งด้านการตั้งรับทั้งท่ากดหลบการโจมตีที่เพิ่มเข้ามา หรือจากการได้รับค่าสถานะที่มากขึ้น เป็นต้น

ประสิทธิภาพที่ไม่น่าพอใจสักเท่าไหร่

เมื่อเวอร์ชั่น Definitive Edition คือการขยายความละเอียดภาพจาก 1280 x 576 จากเวอร์ชั่น PlayStation 3 ซึ่งภาพที่ได้ก็จะเบลอ ๆ แบบนี้แหล่ะครับ

ผู้เขียนรีวิว Tales of Vesperia Definitive Edition ในฉบับ PlayStation 4 และได้ใช้เครื่องเวอร์ชั่น Slim ในการเล่น โดยสิ่งที่เห็นจากการเพิ่มเสริมเข้ามาเลยคือเรื่องของเฟรมเรตที่ถูกดันขึ้นให้กลายเป็น 60 fps แต่กระนั้นในหลายจังหวะของการเล่น ตัวเกมก็มีปัญหาเฟรมเรตร่วงหล่นลงมาที่มีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงล่วงหล่นจนน่าใจหาย ซึ่งในส่วนนี้ไม่รู้ว่าเป็นเพราะตัวเครื่องของผู้เขียนเป็นรุ่น Slim หรือเปล่า? แต่ถ้าเป็นเพราะเช่นนั้น มันก็ควรจะถูกนับเป็นข้อสังเกตอยู่ดี เพราะอย่าลืมว่าเครื่องเล่นคอนโซลมีสเปคและฮาร์ดแวร์ตัวเดียวกัน ไม่ได้มีปัญหาจิปาถะนานาจิตตังเหมือนเวอร์ชั่น PC

ในขณะที่ด้านความละเอียดของภาพที่ถูกปรับให้เป็น FullHD ก็กลับเป็นขยายสัดส่วนที่ไม่ได้ทำให้ตัวเกมดูคมชัดหรือสวยขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดเท่าที่ควร “แต่ด้านประสิทธิภาพในข้อนี้ ผู้เขียนมองได้สองแง่นะ” คือถ้าในมุมที่เข้าใจ เราก็จะรู้กันว่าเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์นี้เป็นการนำภาคที่วางจำหน่าบน PlayStation 3 ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งมันก็เก่ามากแล้วและตัวเกมมันมีสัดส่วนภาพเพียง 1280 x 576 แต่หากมองในมุมความคุ้มค่าที่วัดจากราคาเป็นหลัก ผู้เขียนบอกได้คำเดียวเลยครับว่าไม่คุ้มอย่างแรง

คุ้มค่าถ้าไม่เคยเล่นมาก่อน

โดยรวม Tales of Vesperia Definitive Edition อาจเป็นการรีมาสเตอร์ที่ไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่หากวัดจากด้านประสิทธิภาพ แต่หากคุณไม่เคยได้สัมผัสซีรีส์นี้มาก่อน “นี่คือภาคที่คู่ควรแก่การเปิดศักราชเป็นอย่างยิ่ง” หรือหากคุณต้องซื้อมาสะสมเพื่อย้อนวันวานที่เคยมีความสุขไปกับตัวเกมนี้แล้วล่ะก็ “ซื้อเถอะครับเพราะนี่ความทรงจำของคุณนะ”

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook