เสน่ห์ของแผ่นอนาล็อก 7 นิ้ว โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

เสน่ห์ของแผ่นอนาล็อก 7 นิ้ว โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

เสน่ห์ของแผ่นอนาล็อก 7 นิ้ว โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดือนนี้ขอนำบทสัมภาษณ์ของคอมโพสเซอร์ชาวญี่ปุ่น มิสเตอร์แชปปี้ คาโต เกี่ยวกับเสน่ห์ของแผ่นอนาล็อก และแผ่นซิงเกิล 7 นิ้วที่เขาสะสมไว้กว่า 5,000 แผ่นมาถ่ายทอดให้อ่านกันครับ เพราะขึ้นชื่อว่าคนญี่ปุ่นแล้ว ถ้าชอบอะไร รักอะไรก็คลั่งไคล้เอามากๆ จนอยู่ในระดับแมนิแอกกันเลยทีเดียว

แม้แต่ยุคนี้ การฟังหรือเล่นแผ่นเสียงจะกลายเป็นแฟชั่นไปแล้ว แต่คุณค่าของมันไม่ได้ลดหรือถูกด้อยค่าลงเลย ตรงกันข้าม คนรุ่นหลังที่หันมาสนใจและจริงจังกับการเล่นแผ่นเสียงมีมากขึ้น โดยที่คนรุ่นเก่าที่โตมากับแผ่นเสียงก็ยังยืนหยัดเล่นแผ่นเสียงต่อไป โดยมีซีดีและสตรีมมิงเป็นตัวเลือกรองลงมา


มิสเตอร์แชปปี้ คาโต

ยุคนี้เป็นยุคที่ฟังเพลงที่เป็นไฟล์ดิจิตัลผ่านโทรศัพท์มือถือก็จริง แต่ทำไมคุณยังเลือกฟังแผ่นเสียงอยู่

จะว่ายังไงดีล่ะ คือมันเป็นสุ้มเสียงที่มีรสชาติน่ะครับ ระบบของแผ่นเสียงล้วนเรียบง่าย แค่เราปล่อยให้เข็มวิ่งผ่านร่องเสียงบนผิวแผ่น มันก็เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าที่ได้จากแรงสั่นสะเทือนออกมาเป็นเสียงได้แล้ว และยิ่งมีสำโพงและชุดเครื่องเสียงที่ดีด้วยแล้ว สุ้มเสียงและอารมณ์มันจะออกมาเต็มที่ครับ บางเพลงเรายังได้ยินเสียงคนร้องหายใจเข้าปอดเลยด้วยซ้ำ และเนื้อเสียงก็ออกมาชัดเจนตรงกับความเป็นจริงสุด ๆ ซึ่งจุดนี้ ดิจิตัลสื่อออกมาไม่สุดเท่า ตรงนี้แหละที่ผมยกให้อนาล็อกเหนือกว่าครับ

การสะสมแผ่นเล็ก 7 นิ้วของคุณถือเป็นปัญหาใหญ่ไหม เมื่อต้องคำนึงถึงพื้นที่จัดเก็บ

กรณีของผมจะตรงกันข้ามกับความนิยมของคนในยุคนี้ที่เน้นความสะดวกสบายและใช้พื้นที่น้อยเป็นหลักนะครับ ผมให้ความสำคัญกับอนาล็อกที่เราจับต้องได้ สนุกกับมันได้ ช่วยเติมเต็มความต้องการใฝ่รู้ของผมได้ อย่างเช่น ปกแผ่นเสียงก็บอกอะไรเราหลายอย่าง ทั้งวัฒนธรรมและแฟชั่นอะไรต่อมิอะไรในยุคที่มันถูกผลิตออกขาย แค่เรามองดูรายละเอียดของปกก็ทำให้เราย้อนเวลากลับไปได้แล้วครับ มันนำเรากลับไปสู่โลกยุคที่เราเติบโตมากับมันครับ พื้นที่เก็บแผ่นจึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาครับ

แล้วรสนิยมของคุณสมัยที่ยังเรียนล่ะครับ

ยังไม่มีซีดีขาย ไม่ต้องนึกถึงเพลงที่ฟังผ่านอินเตอร์เน็ตเลยครับ ผมเติบโตมากับแผ่นเสียง ผ่านช่วงเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ธุรกิจแผ่นเสียงรุ่งเรืองสุด ๆ เป็นเม็ดเงินกว่า 2,000 ล้านเยน (ราว 600 ล้านบาท) พอ ๆ กับในสหรัฐฯมาแล้ว ยุคนี้ก็มีโอกาสเติบโตขึ้นไปอีก ศิลปินใหม่ก็ออกผลงานมาเป็นแผ่นเสียงเพื่อตอบสนองคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ไม่ได้น้อยหน้ากว่าคนที่อายุเกิน 50 แต่อย่างใด ข้อได้เปรียบของแผ่นเสียงก็คือ ก๊อปปียากมาก แต่อนาคตก็ไม่แน่นะครับ

มองตลาดออดิโอทุกวันนี้แล้ว คุณคิดว่าการฟังเพลงต้องลงทุนหนักไหมครับ

กรณีของแผ่นเสียง ผมรู้สึกว่าร้านขายแผ่นมือสองลดจำนวนลงไปเหมือนกัน ช่วงที่แผ่นเสียงบูม มีร้านเกิดใหม่ขึ้นไม่น้อย แต่ตอนนี้เราสามารถซื้อแผ่นเสียง 100 แผ่นในราคา 2,000 เยน (ราว 600 บาท) ได้ในเว็บประมูล และบนเว็บพวกนั้นก็มีคนขายแบบเหมาลังเหมาเข่งทีละมาก ๆ อยู่ด้วย ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็มีขายในราคาไม่เกิน 10,000 เยน (ราว 3,000 บาท) อีกทั้งมี PC ที่มีช่องเสียบ USB ที่ใช้ฟังเพลงได้อีกต่างหาก มันไม่ได้เป็นความสนุกสนานที่สิ้นเปลืองอย่างที่คิดอีกแล้วครับ

หนังสือ "สนุกกับ 1,000 แผ่นเสียงยุคโชวะ" ของคุณกำลังได้รับความนิยม อันนี้มาได้ข้อมูลจากแผ่นเสียงที่สะสมเลยใช่ไหมครับ

เพลงญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมอยู่ แล้วก็เป็นเพลงที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของยุคโชวะด้วยครับ ผมเติบโตมากับตู้เพลง หลงใหลและฝันว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ผมจะหาซื้อแผ่นที่อยู่ในตู้เพลงเหล่านั้นมาให้หมด ผมจึงเริ่มสะสมแผ่นเสียงนับแต่นั้นมา เริ่มจากเก็บแผ่นของ Julie, Yumin ยุคแรก, จิอากิ นาโอมิ, RC Succession ซึ่งเป็นศิลปินที่ออกแผ่นเสียงในช่วงนั้น และผมก็ฟังบ่อยมาก หนังสือเล่มนี้จะช่วยถ่ายทอดความหมายของคำว่า "รัก" ที่สื่อโดยนักร้องและนักแต่งเพลงยุคนั้นออกมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมกันครับ

832112

128595

ปกและเนื้อในของหนังสือ "สนุกกับ 1,000 แผ่นเสียงยุคโชวะ" วางตลาดเมื่อ 30 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ 303Books ราคา 1,650 เยน (ราว 495 บาท) พิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งเล่ม

เป็นหนังสือที่แชปปี คาโตเขียน บันทึกเรื่องราวในฐานะนักจัดรายการเพลงมา 31 ปี รวบรวมแผ่นโดนัท (แผ่น 7 นิ้ว) ที่เขาชื่นชอบ มีทั้งแนวป็อป ไอดอล เองกะ โฟล์ก ร็อค มู้ด GS เพลงการ์ตูน ตลอดจนเพลงเทคโน


กรณีของผมก็คุ้นเคยกับตู้เพลงมาแต่เด็กเช่นกัน ในตลาดโต้รุ่งแถวบ้านมีตู้เพลงตั้งอยู่ หยอดครั้งละ 1 บาท แล้วกดเลือกเพลง ซึ่งยืนยันได้เลยว่าทุกแผ่นทุกเพลงในตู้ล้วนเป็นเพลงฮิตของปีนั้น ยุคนั้นทั้งสิ้น ทั้งเพลงไทยลูกทุ่ง ลูกกรุง เพลงสากลที่ฮิตติดอันดับทั้งหลาย ปัจจุบัน ตู้เพลงสูญพันธุ์ไปจากตลาดคนฟังเพลงแล้วครับ แต่แผ่น 7 นิ้วที่ผลิตในไทยเพื่อนำมาใช้เปิดกับตู้เพลงยังคงกระจายในตลาดคนซื้อของเก่าและคนเล่นแผ่นเสียงอยู่ สนนราคาก็ไม่ใช่ถูก ๆ ครับ มีตั้งแต่หลักสิบไปถึงหลักร้อย ทั้งที่ยุคของมัน ไปเดินเซ็นทรัล ไดมารู ก็มีวางขายในราคา 25-30 บาท เทียบกับค่าเงินตอนนี้ก็น่าจะประมาณ 100 บาท

ผมเก็บแผ่น 7 นิ้วอยู่บ้าง ไม่กี่ร้อยแผ่น ทั้งเพลงไทยและสากล เก็บเฉพาะเพลงที่ชอบและมีความหลังกับมันเท่านั้น และส่วนใหญ่ซื้อหามาในยุคที่คนเลิกฟังแผ่นเสียง หันไปฟังซีดีกันหมด ราคาจึงค่อนข้างถูก แต่คุณภาพก็ตามราคาครับ แผ่นมือสองที่บางแผ่นก็โดนเปิดมาเป็นร้อยครั้ง คุณภาพเสียงจึงแค่พอฟังได้ แต่มันคงเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์เพลง ที่เชื่อว่าคนเติบโตมากับยุคตู้เพลงและแผ่น 7 นิ้วก็อยากมีไว้ฟังกันทุกคนครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook