เมื่อศิลปินเปลี่ยนแนวเพลง “โตขึ้น” หรือ “สูญเสียความเป็นตัวเอง” | Sanook Music

เมื่อศิลปินเปลี่ยนแนวเพลง “โตขึ้น” หรือ “สูญเสียความเป็นตัวเอง”

เมื่อศิลปินเปลี่ยนแนวเพลง “โตขึ้น” หรือ “สูญเสียความเป็นตัวเอง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าเราเป็นลูกค้าประจำของร้านอาหารร้านหนึ่ง มีอยู่หลายเมนูที่เด็ดโดนใจจนเราต้องชวนเพื่อนมากินกันบ่อยๆ แต่วันหนึ่งรสชาติของอาหารเปลี่ยนไป ไม่คุ้นลิ้นเหมือนเดิม แน่นอนว่าลูกค้าเหล่านั้นอาจจะมีอาการช็อกกันเล็กน้อย คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อรสชาติอาหารใหม่ๆ ย่อมตามมาแน่นอน

เฉกเช่นเดียวกันกับงานเพลงที่แฟนเพลงกลุ่มแรกๆ ที่ชื่นชอบรสชาติของผลงานชิ้นแรกๆ ของศิลปินเหล่านั้น ฟังซ้ำวนไปเรื่อยๆ ได้โดยไม่มีเบื่อ อาจจะแนะนำให้เพื่อนรอบข้างฟังไปด้วย แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่ผลงานใหม่ของศิลปินเหล่านั้นมีแนวทางที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่รสมือเดิมอย่างที่คุ้นชินหู แฟนเพลงกลุ่มนั้นย่อมมีปฏิกิริยาต่อต้านเบาๆ

>> 5 ศิลปินเปลี่ยนแนวเพลงจนแฟนเพลง(เกือบ)จำไม่ได้

 

สำหรับศิลปินสากลที่มักจะเกิดเหตุการณ์ราวๆ นี้อยู่บ่อยๆ บวกกับการมาของ social media ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงตัวเป็นนักวิจารณ์ออนไลน์ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอนักเขียนสายดนตรีตามหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารเพลงกันอีกต่อไป ทำให้ผลตอบรับของแฟนๆ จากผลงานใหม่ๆ ที่ศิลปินเพิ่งปล่อยออกมานั้นผุดขึ้นมาบนหน้าจออย่างรวดเร็ว เราอาจเห็นคอมเมนต์จากแฟนเพลงหลังจากปล่อยเพลง หรือมิวสิควิดีโอลงในแพลตฟอร์มออนไลน์เพียงไม่กี่นาที หากเป็นกลุ่มแฟนเพลงที่สามารถยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเพลงของศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบได้ มันก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่มันก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคนที่ยังอยากได้ซาวด์เดิมๆ ที่เคยทำให้ประทับใจมาแล้วก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปในปี 2012 อัลบั้ม Red ของสาว Taylor Swift เป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของเธอในฐานะป็อปสตาร์ แทนที่จะเป็นคันทรี่พริ้นเซสอย่างที่แฟนๆ เคยได้ยินในเพลงในอัลบั้มก่อนๆ อย่าง Fearless หรือ Speak Now นอกจากเสื้อผ้าหน้าผมจะเปลี่ยนให้สาวน้อยแสนหวานคนนี้กลายเป็นป็อปสตาร์วัยรุ่นสุดฮอตที่มีชื่อปรากฏอยู่บนหน้าแทบลอยด์ของสื่ออเมริกาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว เนื้อเพลงชวนฝันอย่างใน Love Story”, “You Belong With Me” ก็ถูกแทนที่ด้วยเพลงไม่ง้อผู้ชายคนไหนอย่าง We Are Never Ever Getting Back Together” ในภาคของดนตรีที่เคยกัดผู้ชายด้วยคำพูดเจ็บแสบภายใต้แบ็คกราวด์ของดนตรีสไตล์คันทรี่ กีตาร์นิดๆ เครื่องสายหน่อยๆ ในเพลง Mean” ถูกแทนที่ด้วยการแสดงความกราดเกรี้ยวเล็กๆ ผ่านดนตรีอิเล็กทรอนิกป็อปพร้อมดับสเต็ปใน I Knew You Were Trouble” และหลังจากนั้นกลิ่นอายของความเป็นคันทรี่ของสาวน้อยคนนี้ก็ค่อยๆ จางลงไปเรื่อยๆ จนแทบจะไม่เหลือให้ได้กลิ่นอีกเลย แต่สิ่งที่สาว Taylor Swift ได้กลับมาคือการเป็นป็อปสตาร์ชื่อดัง ความสวย ความรวย และทีมงานสุดแกร่งของเธอ ทำให้เธอเป็นศิลปินที่กอบโกยรายได้ไปมากที่สุดในปี 2016 โดยรับไปเต็มๆ 170 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5.3 พันล้านบาท และยังมีทีท่าว่าจะฮอตขึ้น รวยขึ้นอีกเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดไม่หย่อน

 

 

 

แม้แต่ Ed Sheeran ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นศิลปินป็อปที่งานล้นมือมากที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลง จากที่เป็นหนุ่มเกลากีตาร์เหงาๆ อย่างใน The A Team” และ “Lego House” จากอัลบั้ม + ในปี 2011 แต่อีก 3 ปีต่อมา เจอกับเพลงSing” เข้าไป แฟนเพลงก็เริ่มงงว่าฉันกำลังฟังเพลงของศิลปินคนเดิมกันอยู่หรือเปล่า ซาวด์อะคูสติกหม่นๆ หายไป แต่ถูกแทนที่ด้วยจังหวะแดนซ์สุดป็อปที่นึกว่ากำลังฟังเพลงของ Justin Timberlake อยู่ จากนั้นคงไม่ต้องพูดถึงเมื่อ “Shape of You” ปล่อยออกมาในปี 2017 ชื่อของ Ed Sheeran ก็เข้าไปอยู่ในหัวใจของแฟนเพลงป็อปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว อัลบั้ม ÷ ล่าสุดของเขากวาดยอดขายอันดับ 1 ใน 10 ประเทศทั่วโลก ยอดสตรีมมิ่งถล่มทลาย แม้ว่าเขาจะปล่อยเพลงให้แฟนๆ ฟังฟรีผ่าน Youtube ด้วย ทำให้ชื่อของ Ed Sheeran กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกที่ใครๆ ก็อยากเข้าใกล้ ขยับตัวไปไหนก็เป็นข่าว รวมไปถึงการร่วมงานกับศิลปินชื่อดังทั่วโลกที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากการประสบความสำเร็จทางดนตรีของเขา ยิ่งถ้าหากมองว่าเขาเป็นศิลปินสายผลงานมากกว่าหน้าตามาตั้งแต่ต้นแล้วด้วยนั้น การเปลี่ยนแนวเพลงในครั้งนี้ของ Ed Sheeran อาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่เขาตัดสินใจได้ถูกต้องแล้ว

 

 

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแนวเพลงของศิลปินบางคนก็อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อพวกเขาเสมอไป กรณีของ Linkin Park ที่เรียกได้ว่าเป็นศิลปินที่ปลุกกระแสนูเมทัลในช่วงที่เพลงป็อปกำลังครองเมืองในปี 2000 ไม่ใช่แค่แฟนเพลงชาวไทยที่มีเทปและซีดีอัลบั้ม Hybrid Theory และ Meteora ของพวกเขากันเกลื่อนราวกับเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่แฟนเพลงทั่วโลกก็พร้อมใจโยกหัว และร้องว้ากไปกับพวกเขาจนเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ของวงการเพลงนูเมทัลของโลกเลยก็ว่าได้ ความเปลี่ยนแปลงไปในทางป็อปเริ่มเกิดขึ้นหลังจากอัลบั้ม Minutes to Midnight (2007) เป็นต้นมา ที่มีเพลงที่สาวก LP เรียกว่าโครตป็อปอย่าง Shadow of the Day” หรือจะเป็นอัลบั้ม A Thousand Suns ที่บทบาทของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นจนกลบเสียงกีตาร์ กลอง และเบสไปเยอะ จนแฟนเพลงรู้สึกว่าเพลงไม่หนักแน่นบ้าระห่ำเหมือนเคย ยิ่งมาถึงอัลบั้มล่าสุดอย่าง One More Light ก็ยิ่งโดนแฟนเพลงถล่มคอมเมนต์เสียเละ ตอกย้ำด้วยประโยคเดิมๆ ว่า “เอาแบบ Hybrid Theory กลับมาเถอะ” จนสมาชิกของวงออกมาประชดโดยการเล่นเพลงใหม่ Heavy” ในแบบ Hybrid Theory โดยบอกว่า “เล่นให้เด็กๆ มันดู” เป็นข้อพิสูจน์ว่าพวกเขามาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปแบบเดิมอย่างที่ทุกคนถวิลหากันแล้ว แม้ว่าถ้าจะให้เล่นแนวเพลงแบบเก่า พวกเขาก็ยังเล่นได้ดีเหมือนเดิมก็ตาม

 

 

 

Chester Bennington นักร้องนำหัวหอกคนสำคัญของ Linkin Park เคยให้สัมภาษณ์กับ MTV ว่า “สำหรับอัลบั้มนี้ (One More Light) เราไม่ได้จำกัดว่ามันจะเป็นเพลงแนวไหน เหมือนว่าส่วนไหนของเพลงควรจะเพิ่มเสียงกีตาร์เข้าไปไหม เผื่อใครอยากจะได้ยินแบบนั้น เราไม่คิดจะทำอะไรแบบนั้นเลย มันไม่เหมือนคุณเดินเข้าไปสั่งโดนัท หรือแฮมเบอร์เกอร์ (ที่มันทำสำเร็จรูปเอาไว้ มากินทีไรก็ได้เหมือนเดิม รสชาติเดิม) แต่มันเหมือนเมนูตามใจเชฟมากกว่า เหมือนเข้ามาที่ร้านของ Linkin Park แล้วรอให้พวกเราเสิร์ฟอาหารให้พวกคุณทานเอง ไม่ว่าเมนูนั้นคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม (หัวเราะ)” ส่วน Mike Shinoda ก็เสริมว่า “ผมเคยเข้าไปทานซูชิที่ร้านหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย พวกเขามีเมนูแบบตามใจเชฟ ขึ้นป้ายไว้เลยว่าวันนี้ไม่มีสไปซี่ทูน่า และแคลิฟอร์เนียโรล ห้ามถาม จากนั้นเชฟก็จะจัดอาหารเป็นเซ็ตให้เรา โดยใช้ชื่อเมนูว่า Trust Me ซึ่งมันก็อร่อยทุกครั้งที่ผมไปทาน แต่หากคุณถามหาสไปซี่ทูน่า หรือแคลิฟอร์เนียโรล คุณจะโดนไล่ตะเพิดออกไปจากร้าน (หัวเราะ) เราจะไม่ใจร้ายกับแฟนเพลงขนาดนั้น เพราะถ้าคุณมาดูคอนเสิร์ตของพวกเรา ยังไงคุณก็ได้ฟังเพลงเก่าๆ ของพวกเราด้วยแน่นอน แค่เราขอเล่นเพลงใหม่ของเราด้วยก็เท่านั้น” นั่นเป็นข้อพิสูจน์ว่าพวกเขาเลือกที่จะเดินไปในแนวดนตรีสายนั้นด้วยตัวของพวกเขาเองจริงๆ แม้ว่ามันอาจจะแลกมากับความเสี่ยงที่จะสูญเสียฐานแฟนเพลงเก่าไปบ้างหรือไม่ก็ตาม แต่พวกเขาเชื่อว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาอยากทำ และพวกเขาจะพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด

ทางด้านของ James Bay นักร้องหนุ่มชาวอังกฤษที่มีผลงานเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ถึง 3 รางวัลจากอัลบั้มแรกของตัวเองอย่าง Chaos and the Calm (2015) ที่มาในแนวของอินดี้โซลร็อค มีความนุ่มลึกทั้งดนตรี เนื้อร้อง และเสียงร้องอย่างที่เราได้ยินกันใน Hold Back the River”, “Let It Go และ “Scars” แต่เมื่อเขาปล่อยซิงเกิลใหม่สำหรับอัลบั้มที่ 2 อย่าง Electric Light ด้วยเพลง Wild Love” และ Pink Lemonade” คอมเมนต์จากแฟนเพลงใน social media ถล่มทลาย ก่นด่าว่าเพลงใหม่ของเขาแย่ลง ต่ำกว่ามาตรฐานที่เขาเคยทำไว้ ตอกย้ำว่าสำหรับพวกเขาแล้ว อัลบั้ม Chaos and the Calm คือที่สุด (ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฟังอัลบั้มใหม่แบบเต็มๆ) แสดงความตกใจต่อการเปลี่ยนแปลงของเขา (ทั้งทรงผม และเสื้อผ้า) และหนักข้อถึงขั้นประกาศตัวว่าจะเลิกชอบเลิกติดตามผลงานของเขาต่อ ซ้ำร้ายคอมเมนต์เหล่านี้มีคนกดถูกใจมากมายอีกด้วย จนเราอ่านแล้วพบว่าบางคำทำร้ายจิตใจกันเข้าขั้น Cyberbullying กันเลยทีเดียว

 

 

 

James Bay ให้สัมภาษณ์กับ NME ถึงการเปลี่ยนแปลงแนวดนตรีในอัลบั้มที่ 2 ของเขาว่า “มันเป็นการเอาตัวเองออกมาจากสิ่งที่ผมเคยทำ ถ้าผมไม่ก้าวไปข้างหน้า นั่นหมายความว่าผมกำลังย่ำอยู่กับที่ และการย่ำอยู่กับที่มันน่าเบื่อนะ สำหรับผมอัลบั้มแรกมันเป็นการรวมเอาทุกอย่างจาก Ryan Adams ไปจนถึง Bruce Springsteen และ Kings of Leon อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วผมก็ชอบ Prince, Michael Jackson และ LCD Soundsystem ด้วย แต่สไตล์เพลงเหล่านี้ไม่ได้ผสมรวมอยู่ในอัลบั้มแรกด้วยเพราะมันไม่เข้ากัน ดังนั้นหลังจากจบทัวร์ Chaos and the Calm สิ่งแรกที่ผมตื่นเต้นที่จะทำมากๆ ก็คือการเริ่มมุ่งหน้าสู่ดนตรีแนวนั้นที่เป็นอิทธิพลในการทำเพลงใหม่ของผมอย่างจริงจัง ผมรู้ว่าผมอาจจะช้าไปนิด แต่อัลบั้ม Channel Orange ของ Frank Ocean มันยอดเยี่ยมมากๆ และอัลบั้มนั้นมีอิทธิพลในการทำเพลงในอัลบั้มใหม่ของผมมาก” นอกจากนี้เขายังให้เหตุผลต่อการตัดผม และเลิกใส่หมวกที่เป็นลุค signature ของเขาด้วยว่า “เป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับผมมากที่ตัดสินใจตัดผมของตัวเอง และโยนหมวกใบเก่าทิ้งไปราวกับดึงกระดาษวาดภาพเก่าออกแล้วเปลี่ยนเป็นกระดาษแผ่นใหม่ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ศิลปินที่ผมชอบหลายคนเขาทำกัน ทั้ง David Bowie หรือ Michael Jackson พวกเขาก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ เหมือนเขาสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยตัวของเขาเองเช่นกัน”

 

james-bay

James Bay ในปี 2015 (ซ้าย) กับในปี 2018 (ขวา) ลุคต่างกันตั้งแต่หัวจรดเท้า รวมถึงแนวดนตรีด้วย ศิลปินหลายคนก็เปลี่ยนการแต่งตัวไปพร้อมแนวดนตรีเช่นกัน

 

 

ถึงกระนั้น การเปลี่ยนแปลงในแนวดนตรีของศิลปินเหล่านี้ก็ย่อมสร้างผลกระทบต่อแฟนเพลงในทางที่ทั้งดีและร้าย กรณีของศิลปินบางคนอย่าง Taylor Swift และ Ed Sheeran ที่พูดถึงก่อนหน้านี้ เป็นตัวอย่างของศิลปินที่เปลี่ยนแนวเพลงแล้วรุ่ง (ยิ่งในกรณีของ Ed Sheeran ที่เพลงอื่นๆ ในอัลบั้มยังไม่เปลี่ยนแนวไปจากอัลบั้มแรกๆ มากนัก แฟนเพลงเก่าๆ จึงยังติดตามงานของเขาอยู่เหมือนเดิม บวกเพิ่มด้วยแฟนเพลงใหม่ๆ เข้าไปอีก) อาจจะรวมถึง Katy Perry ที่เปลี่ยนจากแนวเพลงคริสเตียนมาเป็นป็อปอย่างเต็มตัวแล้วก็โด่งดังขึ้นในทันที หรือจะเป็นหนุ่ม Robin Thicke นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ที่ดังระเบิดระเบ้อจาก Blurred Lines” เพลงอิเล็กทรอนิกป็อปสุดเร่าร้อน ก็เคยออกอัลบั้มแนวอาร์แอนด์บี-โซล มาก่อนตั้ง 5 อัลบั้ม โดยที่ก่อนหน้านี้หลายคนยังไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเลยด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาเหล่านี้สามารถกำหัวใจของแฟนเพลงเก่าๆ เอาไว้ได้อยู่หมัด บวกกับกอบโกยแฟนเพลงใหม่ๆ จำนวนมากได้สำเร็จ หลังจากการเริ่มหย่อนขาลงมาในวงการเพลงป็อป แม้ว่าบางคนกระแสวิจารณ์จากนักวิจารณ์เพลง หรือจากแฟนเพลงเก่าๆ จะสวนทางกันกับยอดขาย และรายได้ของศิลปินเหล่านั้นก็ตาม

ในขณะที่ศิลปินหลายคนก็กระแสตกลง หรือได้รับคำวิจารณ์ในทางที่แย่ลงหลังจากเปลี่ยนจากแนวเพลงเฉพาะกลุ่ม มาเป็นแนวที่ป็อป หรือแมสมากขึ้น ไม่อยากจะยกตัวอย่างเท่าไร แต่นอกจาก Linkin Park กับ James Bay แล้ว อาจจะรวมถึง Maroon 5, Lady Gaga, Miley Cyrus, 30 Seconds to Mars และอีกหลายๆ คน โดยเฉพาะศิลปินแนวอื่นที่อยากก้าวขาเข้ามาในแนวป็อป และอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น พวกเขาเหล่านี้ไม่ถึงกับกระแสตกหายเข้ากลีบเมฆ แต่ก็พูดได้ว่าไม่สามารถกลับมาเปรี้ยงปังดังเป็นกระแสได้เหมือนผลงานในช่วงอัลบั้มแรกๆ ซึ่งทั้งหมดก็มาจากแนวคิดของศิลปินเหล่านี้ที่ว่า พวกเขาเติบโตขึ้น เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น ได้รับอิทธิพลในการทำเพลงมาจากศิลปินใหม่ๆ เรื่องราวในชีวิตใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงอยากจะก้าวต่อไปข้างหน้า เพราะการย่ำอยู่กับที่มันน่าเบื่อ เพราะฉะนั้นจะสรุปว่าศิลปินเหล่านี้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปก็ไม่ได้ เพราะผลงานใหม่ๆ ของพวกเขาก็สะท้อนความเป็นตัวของพวกเขาเองอยู่ดี เพียงแต่พวกเขาอาจจะมีอีกตัวตนที่ซ่อนอยู่ หรืออาจจะมีอะไรใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในชีวิตของพวกเขา จนทำให้ซาวด์ เนื้อร้อง ทำนอง เทคนิคดนตรีต่างๆ ของพวกเขาเปลี่ยนไปด้วย ที่สำคัญตัวตนใหม่ของเขาอาจเป็นการเปิดโอกาสให้ได้แฟนเพลงใหม่ๆ มากขึ้น แม้บางครั้งจะไม่มากเท่าจำนวนแฟนเพลงเก่าๆ ก็ตาม เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับเรามาแล้วกับเพลง Pink Lemonade” ของ James Bay ที่เอาใจเราไปตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง แต่กลับเป็นเพลงที่โดนคอมเมนต์ในทางลบหนักมากจากแฟนเพลงเก่าๆ เช่นกัน

ทีนี้แฟนเพลงอย่างพวกเราก็ต้องถามตัวเองแล้วล่ะว่า พร้อมจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของศิลปินที่คุณชอบหรือไม่ เพราะไม่ว่าผลงานเพลงใหม่จะออกมาไม่ถูกใจเหมือนก่อน แต่นั่นก็คือผลงานที่ศิลปินที่คุณรักทำด้วยใจ และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของพวกเขาเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมก็แค่พวกเขามีอีกด้านให้เราได้เรียนรู้ก็เท่านั้นเอง (Ed Sheeran ประกาศแล้วว่าอัลบั้มต่อไปของเขาจะไม่แมสมากเท่าเก่า เพราะฉะนั้นเรามาตามดูกันต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง)

ที่อยากจะฝากไว้อีกนิด คือการคอมเมนต์วิจารณ์งานของคนอื่น ไม่ใช่ว่าจะติเตียนกันไม่ได้ แต่หากเลือกใช้คำที่เหมาะสม การติชมผลงานจะเป็นไปอย่างมีเหตุผล และน่าอ่านมากขึ้น อย่าทำร้ายศิลปินที่คุณชอบผลงานของเขาด้วยคำพูดแรงๆ ที่คอยแต่จะบั่นทอนจิตใจของคนทำงานอีกเลย หากวันใดที่เขาเลิกทำเพลงขึ้นมา พวกเราเองนี่แหละที่จะเศร้ากันไปอีกนาน

 

 

____________________

Story : Jurairat N.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook