ค่าเงินบาทวันนี้ 22/7/65 แข็งค่าขึ้นที่ 36.78 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ 22/7/65 แข็งค่าขึ้นที่ 36.78 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ 22/7/65 แข็งค่าขึ้นที่ 36.78 บาทต่อดอลลาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 22 ก.ค. 65 เปิดที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ พลิกแข็งค่าจากก่อนหน้านี้ปิดที่ระดับ 36.87 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ 36.87 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่ 0.5% มากกว่าตลาดคาดการณ์กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่า-บอนด์ยีลด์ร่วง

ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินบาทได้บ้าง แต่โดยรวมเงินบาทยังมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง โดยหลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าไปทดสอบระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในกรณีที่เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด หรือ ในกรณีที่สินทรัพย์ฝั่ง EM Asia เผชิญแรงเทขาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นหากทางการจีนตัดสินใจใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ตามดี ในช่วงที่ราคาทองคำรีบาวด์ปรับตัวขึ้นมาบ้างนั้น ผู้เล่นบางส่วนที่ได้เข้าไปซื้อในจังหวะย่อตัว (และเป็นโฟลว์ธุรกรรมที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา) อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรราคาทองคำได้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน 1,730-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (คิดเป็นกำไร 3%-4% จากจุดรีบาวด์) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ หากตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยง นักลงทุนต่างชาติก็อาจกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยได้เช่นกันในระยะนี้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาทต่อดอลลาร์

บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมาขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ อาทิ Tesla +9.8% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นสไตล์ Growth (Amazon และ Apple +1.5%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากมุมมองที่คาดว่าเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่เคยกังวล ดังจะเห็นได้จากโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย 1.00% โดย CME FedWatch Tool ได้ลดลงเหลือ 27% จาก 45% ในสัปดาห์ก่อนหน้า หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.36% ส่วนดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.99%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นราว +0.44% โดยผู้เล่นในตลาดได้คลายกังวลวิกฤติพลังงาน หลังจากที่รัสเซียกลับมาดำเนินการส่งแก๊สผ่านท่อ Nord Stream 1 อีกครั้ง ขณะที่ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก จากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤติหนี้ยุโรป (EU Debt Crisis)

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.5 แสนราย แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมถึง คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 โดย Atlanta Fed (GDPNow) ที่จะหดตัวกว่า -1.6% แย่ลงจากประมาณการครั้งก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.88% ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของผู้เล่นในตลาดช่วงนี้ที่จะเน้นซื้อ ขาย ในกรอบ (Buy on Dip & Sell on Rally)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนหนักโดยเฉพาะในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก่อนที่จะทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 106.9 จุด กดดันโดยภาพรวมของตลาดการเงินที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามมุมมองของตลาดที่กังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นและทยอยปรับลดคาดการณ์โอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรและลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจถูกนำไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะนี้) นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงนั้น ก็ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับหลัก อนึ่ง เรามองว่ามีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะทยอยขายทำกำไรทองคำจากการรีบาวด์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจจากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing and Services PMIs) ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ ในฝั่งสหรัฐฯ นักวิเคราะห์มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งภาคการผลิตและการบริการมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่จะลดลงสู่ระดับ 52 จุด และ 52.5 จุด ตามลำดับ (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด กอปรกับข้อมูลคาดการณ์เงินเฟ้อระยะกลางในสัปดาห์ก่อนหน้าที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.8% ก็อาจทำให้ตลาดปรับลดโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 1.00% ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินดอลลาร์ได้ ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการอาจลดลงสู่ระดับ 51 จุด และ 52 จุด ในเดือนกรกฎาคม

สำหรับในฝั่งไทย ตลาดมองว่า แม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง แต่ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนมิถุนายนยังโตราว +10%y/y ทว่า ราคาสินค้าพลังงานรวมถึงผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทกลับยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้า (Imports) เพิ่มสูงขึ้น +19%y/y ทำให้ ดุลการค้ายังคงขาดดุลราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook