ทั่วโลกพร้อมใจรื้อถอนหลักฐานสนับสนุน “การค้าทาสผิวดำ” จากกรณี "จอร์จ ฟลอยด์"

ทั่วโลกพร้อมใจรื้อถอนหลักฐานสนับสนุน “การค้าทาสผิวดำ” จากกรณี "จอร์จ ฟลอยด์"

ทั่วโลกพร้อมใจรื้อถอนหลักฐานสนับสนุน “การค้าทาสผิวดำ” จากกรณี "จอร์จ ฟลอยด์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำวัย 46 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวด้วยการใช้เข่ากดที่คอจนขาดอากาศหายใจ ที่เมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา นอกจากจะนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนผิวดำ และการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงของตำรวจแล้ว ยังก่อให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้รื้อถอนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสผิวดำและการเหยียดเชื้อชาติ ที่เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อบุคคลและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไปโดยสิ้นเชิง

อนุสาวรีย์เอ็ดเวิร์ด โคสตัน ถูกดึงลงจากฐานโดยกลุ่มผู้ประท้วงAnticapitalist Platformอนุสาวรีย์เอ็ดเวิร์ด โคสตัน ถูกดึงลงจากฐานโดยกลุ่มผู้ประท้วง 

อนุสาวรีย์เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน

กระแสการรื้อถอนหลักฐานเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติครั้งล่าสุด เกิดขึ้นที่เมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ เมื่อผู้ประท้วง Black Lives Matter ราว 10,000 คน บุกเข้าทำลายอนุสาวรีย์ของเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน พ่อค้าทาสในศตวรรษที่ 17 และโยนทิ้งลงแม่น้ำเอวอน บริเวณท่าเรือบริสตอล ท่ามกลางเสียงเชียร์อึกทึก เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความพอใจให้กับประชาชนในเมืองเป็นอย่างมาก โดยบัญชีทวิตเตอร์ของ Momentum Bristol ได้โพสต์ภาพเหตุการณ์ทำลายอนุสาวรีย์ดังกล่าว พร้อมระบุว่า “พ่อค้าทาสไม่ใช่วีรบุรุษ”

ประวัติศาสตร์ของบริสตอลเกี่ยวข้องกับการค้าทาสผิวดำอย่างเหนียวแน่น โดยในศตวรรษที่ 18 เมืองแห่งนี้เป็นหนึ่งในเมืองท่าที่ส่งออกทาสที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร และโคลสตันเองก็สั่งสมความมั่งคั่งของตัวเองจากการค้าทาสผิวดำตั้งแต่ทศวรรษ 1600s ในฐานะสมาชิกของบริษัท Royal African Company และดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการขององค์กรนี้ในปี 1680 ทาสจากแอฟริกาตะวันตกจะถูกตีตราด้วยอักษรย่อของบริษัท และนำตัวใส่เรือเพื่อส่งไปยังสหรัฐอเมริกา เชื่อกันว่ามีทาสทั้งชาย หญิง และเด็ก ราว 84,000 ถูกขายในลักษณะนี้ และ 10 – 20% เสียชีวิตระหว่างทาง

ก่อนที่โคลสตันจะเสียชีวิต เขาได้อุทิศทรัพย์สมบัติมหาศาลให้กับเมืองบริสตอล บ้านเกิดของเขา รวมทั้งมีการใช้ชื่อของเขาตั้งชื่ออาคาร ถนน และอนุสาวรีย์หลายแห่ง ทว่าประชาชนในเมืองบริสตอลมองอนุสาวรีย์นี้อย่างรังเกียจและเต็มไปด้วยความโกรธแค้นมานานหลายสิบปี มีความพยายามที่จะทำลายอนุสาวรีย์นี้อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพ่นกราฟิตีคำว่า “พ่อค้าทาส” ลงบนอนุสาวรีย์ เอาสีขาวสาด หรือนำกรวยจราจรไปประดับ ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์ครั้งล่าสุด มีผู้ลงชื่อสนับสนุนให้รื้อถอนมากถึง 7,000 รายชื่อ

อนุสาวรีย์นายพลโรเบิร์ต อี. ลี แห่งสมาพันธรัฐอเมริกาAFPอนุสาวรีย์นายพลโรเบิร์ต อี. ลี แห่งสมาพันธรัฐอเมริกา

อนุสาวรีย์นายพลโรเบิร์ต อี. ลี

อนุสาวรีย์นายพลโรเบิร์ต อี. ลี แห่งสมาพันธรัฐอเมริกา เป็นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของบุคคลสำคัญในสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย ทว่าเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ราล์ฟ นอร์ธแฮม ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย ได้ประกาศแผนการรื้อถอนอนุสาวรีย์แห่งนี้ รวมทั้งอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับสมาพันธรัฐอเมริกาอีก 4 แห่ง หลังจากการประท้วงเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ จากกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน สาธุคุณโรเบิร์ต ดับเบิลยู. ลี ที่ 4 ทายาทของนายพลโรเบิร์ต อี. ลี ก็กล่าวปราศรัยบริเวณฐานของอนุสาวรีย์โรเบิร์ต อี. ลี สนับสนุนให้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์บรรพบุรุษของตน

จากข้อมูลของหน่วยงานจดทะเบียนสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ (National Register of Historic Places) ระบุว่า แนวคิดในการจัดตั้งอนุสาวรีย์ของนายพลลี เริ่มขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการเสียชีวิตของเขา มีการระดมทุนเพื่อสร้างอนุสาวรีย์นานกว่า 15 ปี และพื้นที่สำหรับจัดตั้งอนุสาวรีย์ก็ถือเป็นของขวัญชิ้นใหญ่จากนักธุรกิจคนหนึ่งในเมืองริชมอนด์

ตัวอนุสาวรีย์นำเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศส และประชาชนหลายพันคนต้องใช้เกวียนในการบรรทุกชิ้นส่วนต่างๆ เป็นระยะทางกว่า 1 ไมล์ เพื่อนำมาประกอบในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน และทำพิธีเปิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 1890

สำหรับคนผิวขาวในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อนุสาวรีย์ของนายพลลีถือเป็นอนุสรณ์ของวีรบุรุษสงครามกลางเมืองและเป็นบรรพบุรุษของชาวเวอร์จิเนีย ทว่าในมุมมองของคนผิวดำ อนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นการเชิดชูการค้าทาส สงครามกลางเมือง และระบบที่ทำให้พวกเขาเป็นประชากรชั้นสอง

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองฝ่ายรีพับลิกัน กลุ่มอนุรักษ์มรดกสมาพันธรัฐ และกลุ่มอนุรักษ์ถนนโมนูเมนต์ พากันวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจครั้งนี้ บางส่วนระบุว่า การรื้อถอนอนุสาวรีย์อาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยว และเป็นการลบประวัติศาสตร์ แต่นอร์ธแฮมกล่าวว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดทั้งในอดีตและปัจจุบัน ดังนั้น เราจึงควรรื้อถอนออกไป

ธงสมาพันธรัฐอเมริกาAFPธงสมาพันธรัฐอเมริกา 

ธงสมาพันธรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา เหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ มีคำสั่งอย่างเป็นทางการให้ถอดธงสมาพันธรัฐอเมริกาออกจากพื้นที่กองกำลังและสำนักงานต่างๆ เนื่องจากธงดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มเหยียดเชื้อชาติ ซึ่ง “ขัดต่อคุณค่าหลักของกองทัพ” หลังจากที่การเคลื่อนไหว Black Lives Matter จุดประกายภาพสงครามกลางเมืองในศตวรรษที่ 19

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน หน่วยบริการระบุว่า “ธงรบของสมาพันธรัฐอเมริกาถูกนำมาใช้โดยกลุ่มเหยียดเชื้อชาติสุดโต่งหัวรุนแรง ที่มีความเชื่อเรื่องการแบ่งแยก ซึ่งขัดกับแนวทางของหน่วยงานของเรา”

คำสั่งของเหล่านาวิกโยธินสหรัฐครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อรื้อถอนสัญลักษณ์ของสงครามกลางเมืองในพื้นที่สาธารณะทั่วสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นธงหรืออนุสาวรีย์ผู้นำของสมาพันธรัฐที่สนับสนุนการค้าทาส

นอกจากนี้ ในบันทึกข้อความเมื่อเดือนเมษายน นายพลเดวิด เบอร์เกอร์ ผู้บัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐ กล่าวถึงเจตนาในการห้ามติดตั้งธงดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะว่า เขามุ่งเน้นเพียงการสร้างหน่วยรบที่มาจากกลุ่มคนทุกหมู่เหล่า และเรียนรู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กัน สัญลักษณ์ดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นถึงอำนาจของความรู้สึกแบ่งแยก ซึ่งต้องถอดออกไป

อนุสาวรีย์กษัตริย์เลโอโปลด์ ที่ 2 แห่งเบลเยียมAFPอนุสาวรีย์กษัตริย์เลโอโปลด์ ที่ 2 แห่งเบลเยียม

อนุสาวรีย์กษัตริย์เลโอโปลด์ ที่ 2 แห่งเบลเยียม

นอกจากการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ในสหรัฐฯ และอังกฤษแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวเล็กๆ เกิดขึ้นในประเทศเบลเยียม เมื่อชาวเบลเยียม 30,000 คน ลงชื่อใน change.org เรียกร้องให้รื้อถอนอนุสาวรีย์กษัตริย์เลโอโปลด์ ที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์ในยุคล่าอาณานิคม ที่ยกกองทัพบุกคองโกในช่วงปลายทศวรรษ 1800s

ข้อเรียกร้องดังกล่าวเริ่มขึ้นโดย “โนอาห์” เด็กชายวัย 14 ปี ที่ไม่เปิดเผยตัวตน เรียกร้องให้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์ทั้งหมดในกรุงบรัสเซลล์ รวมทั้งรูปปั้นในเมืองฮัลเลอ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน พร้อมระบุว่า กษัตริย์เลโอโปลด์ ที่ 2 ไม่ควรมีพื้นที่ในสังคมพหุวัฒนธรรมของกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของประเทศเบลเยียม

นอกจากนี้ รูปปั้นของกษัตริย์เลโอโปลด์ ที่ 2 ในเมืองเกนต์ ยังถูกสาดด้วยสีแดง พร้อมป้ายข้อความ “ฉันหายใจไม่ออก” ซึ่งเป็นประโยคที่ฟลอยด์พูดก่อนเสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เข่ากดคอ ขณะเดียวกัน อนุสาวรีย์ของกษัตริย์พระองค์นี้ในเมืองแอนต์เวิร์ป ก็ถูกเผาเช่นกัน

วัยรุ่นชาวเบลเยียมหลายคนกล่าวว่า พวกเขารู้สึกอับอายที่กษัตริย์พระองค์นี้ได้รับการยกย่องอย่างต่อเนื่อง จากการสังหารชาวคองโกหลายล้านคนในช่วงปี 1885 – 1908 หลังจากที่พระองค์ประกาศอำนาจเหนือคองโก และกองทัพของพระองค์ก็ได้รับคำสั่งให้สะสมมือของเหยื่อ ที่เป็นกลุ่มต่อต้านการใช้แรงงานทาส รวมทั้งยังส่งชาวคองโกให้กับสวนสัตว์มนุษย์ในเบลเยียมอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook